ต้อนรับทีปาวลี : เรียนรู้พระแม่ลักษมีในวิถีพุทธ (1)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

เนื่องด้วยวันที่ 12 พฤศจิกายนปี 2566 นี้เป็นเทศกาล “ทีปาวลี (Dipavali)” หรือทิวาลี (Divali/ดิวาลี) อันเป็นเทศกาลที่ชาวฮินดูจะจุดประทีปและบูชาพระลักษมีกันโดยทั่วไป

อย่างที่ผมเคยเขียนไว้ในบทความเรื่อง “พระลักษมีกำลัง ‘มา'” ว่า พระลักษมีจะกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นกระแสในบ้านเรา จึงคิดว่าเทศกาลทีปาวลีปีนี้ คนไทยจำนวนมากจะหลั่งไหลไปบูชาพระลักษมีตามเทวสถานต่างๆ รวมทั้งพื้นที่เอกชนที่มีรูปเคารพของพระองค์อย่างคับคั่งกว่าที่เคย

จึงขออนุญาตแทรกบทความนี้ระหว่างเรื่อง “จีนๆ” ที่กำลังอินอยู่ เพราะมีอะไรอยากเสนอให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันครับ หวังว่าท่านผู้อ่านจะเมตตา

 

ถามว่าเหตุใดพระลักษมีจึงกลายเป็นที่นิยมมากๆ ที่จริงผมเขียนไว้ในบทความชิ้นนั้นแล้ว สรุปโดยง่ายคือ คนเชื่อว่าท่านเกี่ยวข้องกับเงินทอง โชคลาภและความงาม ซึ่งป็นสิ่งยอดปรารถนาของผู้คนในยุคนี้ และสอดคล้องกับสิ่งที่อาจารย์ปีเตอร์ แจ๊คสัน เสนอไว้ในหนังสือ “เทวา มนตรา คาถา เกจิ : ไสยศาสตร์สมัยใหม่กับทุน (ไทย) นิยม” ว่า ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจไทยนับตั้งแต่ 2520 ได้ทำให้เกิด “ลัทธิบูชาความมั่งคั่ง” (cult of wealth) ซึ่งทำให้ผู้คนสนใจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีคุณสมบัติด้านนี้โดยตรง

นอกจากนั้นคือการเปลี่ยนแปลงบทบาทของเพศสภาวะ (gender) และอิทธิพลของสื่อและอินฟลูเรนเซอร์ทั้งหลาย

แน่นอนว่าเมื่อมีกระแสบูชาเทพเจ้าของศาสนาอื่น (ฮินดู) ในสังคมที่นิยามตนเองเป็นพุทธ (?) เช่นนี้ ศาสนิกชนผู้มุ่งหวังจะให้เกิด “พุทธแท้” อันผุดผ่อง ย่อมเดือดเนื้อร้อนใจว่าทำไมชาวพุทธจำนวนมากถึงไปกราบไหว้สิ่งอื่นนอกจากพระรัตนตรัย อันไม่สอดคล้องกับแนวคิดของพุทธศาสนา

ที่จริงแล้ว พระแม่ลักษมีหรือที่นิยมเรียกกันในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานว่า พระศรีมหาเทวี, พระศรีเทวี ดูจะเป็นเทพของศาสนาฮินดูที่มีความใกล้ชิดกับพุทธศาสนามากที่สุดพระองค์หนึ่ง

หรือต้องกล่าวว่า พระลักษมีเป็นเทวีของแทบทุกศาสนาที่กำเนิดในอินเดีย ไม่ว่าฮินดู พุทธ หรือไชนะต่างก็เคารพพระลักษมีในแบบของตัวเองทั้งสิ้น

สถูปที่ภารหุต (Bharhut) ซึ่งสร้างโดยพระเจ้าธนภูติ อันเป็นสถูปยุคแรกๆ ของพุทธศาสนาก็ปรากฏรูปสลักคชลักษมี (อภิเษกลักษมี) ซึ่งเป็นรูปช้างกำลังทรงอภิเษกพระลักษมีอันถือเป็นสัญลักษณ์มงคล และยังพบในพุทธสถานอีกหลายแห่งทั้งในและนอกอินเดีย

ในบ้านยังพบรูปพระลักษมีในธรรมจักรศิลาเก่าแก่ ศิลปะทวารวดี ที่นครปฐมและอีกหลายชิ้น พระลักษมีจึงไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมจากข้างนอก แต่อยู่คู่กับพุทธศาสนามาตั้งแต่ต้น

ยิ่งในฝ่ายมหายาน พระลักษมีดูมีความสำคัญมากขึ้นไปอีก ถึงกับมีพระสูตรที่กล่าวถึงพระองค์โดยตรงทั้งยังมีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องด้วย

 

เหตุใดพุทธศาสนาซึ่งปฏิเสธความปรารถนาทางโลกและความร่ำรวย กลับให้ความสำคัญกับพระลักษมีเช่นนี้

ดร.เทวทัตต์ ปัตตาไนยก์ (Devdutt Pattanaik) เขียนไว้ในบทความชื่อ “Goddess of Economics : The concept of Lakshmi signifies money has value only when it is circulated” หนังสือพิมพ์ The Economictimes ว่าอย่างน้อยๆ ทั้งพุทธศาสนาและศาสนาไชนะ มีความเป็นนักปฏิบัตินิยมมากพอที่จะทราบว่า หากปราศจาพระลักษมี ชีวิตก็ไม่อาจดำเนินไปได้

เหตุเพราะ ถ้าเราพิจารณาพระนาม “ลักษมี” ซึ่งมีที่มาจากคำว่า ลักษะ (ลกฺษฺ) อันหมายถึง เป้าหมาย จุดประสงค์ หรือสิริมงคล เราจะเห็นได้ว่า สิ่งมีชีวิตทั้งหลายต่างมีเป้าหมาย จุดประสงค์และสิ่งที่ต้องการ ต้นไม้ต้องการน้ำและแสงแดดเพื่อจะเติบโต สิ่งมีชีวิตต้องการอาหาร ทั้งหมดนี้คือพระลักษมี คือความอุดมสมบูรณ์ เป็นเป้าหมายของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย

ทว่ามนุษย์ซับซ้อนกว่าสิ่งอื่นๆ มนุษย์ต้องการมากกว่าแค่อาหาร พระลักษมีจึงครอบคลุมเป้าประสงค์ต่างๆ ของมนุษย์ วัวควายปศุสัตว์ อาหาร บ้านช่องยวดยาน ไปจนถึงสิ่งนามธรรมอย่างความรัก ความสมบูรณ์และสิริมงคล

แม้แต่นักบวชที่มักน้อยที่สุดก็ยังต้องการสิ่งพื้นฐานเพื่อจะดำรงชีวิตให้เอื้อต่อการปฏิบัติ และการไม่ต้องดิ้นรนแสวงหาสิ่งเพื้นฐานอย่างอาหารหรือเครื่องนุ่งห่มก็แปลว่าท่านต้องได้รับ “ทาน” จากทานบดีหรือสาธุชนทั้งหลาย แต่ทานบดีหากไร้ทรัพย์สมบัติ จะเอาจตุปัจจัยมาเจือจุนวัดวาอารามและนักบวชได้อย่างไร

พระลักษมีจึงมีความหมายสำคัญเช่นนี้

 

อีกทั้งผมคิดว่า พระลักษมีเกี่ยวข้องกับเทพพื้นเมืองซึ่งทั้งพุทธศาสนาและศาสนาไชนะมีความสัมพันธ์ที่ดีกว่าเทพของฮินดูอารยัน

พระลักษมีในหลายเทวตำนานเกี่ยวข้องกับท้าวกุเวร วรุณ อสูรฯลฯ และเกี่ยวข้องกับความเป็น “ยักษิณี” ด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้แสดงถึงความเป็นพื้นเมืองนั่นเอง

แม้พระองค์จะไม่ค่อยปรากฏในวรรณกรรมยุคต้นของพุทธศาสนา แต่ก็ปรากฏในทางสัญลักษณ์มาก กระนั้น เมื่อพุทธศาสนามหายานมีความแพร่หลายแล้วก็มีพระสูตรที่สำคัญอยู่สองพระสูตรที่กล่าวถึงพระลักษมีโดยตรง คือ “สุวรรณประภาโสตมสูเตรนทรราชสูตร” หรือเรียกย่อๆ ว่า “สุวรรณประภาสสูตร” และ “อารยศรีมหาเทวีวยากรณะ”

สุวรรณประภาสสูตรนั้น ชาวพุทธเนปาลีนับถือกันว่าเป็นหนึ่งในพระสูตรที่ยิ่งใหญ่ของพุทธศาสนามหายาน แม้เนื้อความจะเป็นพุทธตำนานและกล่าวถึงทวยเทพมากกว่าตัวคำสอน แต่ตำนานหล่านี้มีอิทธิพลต่อขนบประเพณีและพิธีกรรมของฝ่ายมหายานจวบจนถึงปัจจุบัน เช่น บทสวดในพิธีถวายธูปหอมของจีนนิกายก็นำบางส่วนมาจากพระสูตรนี้ หรือพิธีถวายเทวบูชาเหล่าธรรมบาล (กงจู่เทียน) ก็ได้รับอิทธิพลจากพระสูตรนี้เช่นกัน

ในปริเฉทที่เก้า “ศรีมหาเทวีปริวรรต” กล่าวถึงพระศรีมหาเทวีซึ่งเป็นอีกพระนามของพระลักษมี ได้มาทำความนอบน้อมต่อพระพุทธเจ้า พระองค์เล่าว่าได้สร้างกุศลมหาศาลไว้กับพระพุทธเจ้านามว่า “รัตนกุสุมคุณสาครไวฑูรยกนกคิริสุวรรณกาญจนประภาสศรี” และได้ปวารณาตนว่า จะบำรุงดูแลผู้เคารพสักการะต่อพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ ตลอดจนพระภิกษุผู้แสดงธรรม และผู้สักการะพระสูตรนี้มิให้ขาดแคลนยากจน ให้สรรพสัตว์ผู้ “สั่งสมกุศล” ได้รับความสุขทางโลกและทรัพย์สินอยู่เป็นนิตย์

ที่สำคัญ เมื่อสรรพสัตว์และมนุษย์ได้เสวยสุขแล้วจะเข้าถึงภาวะแห่งพระตถาคตในอนาคตกาล โดยไม่ล่วงเข้าอบายภูมิสามแต่อย่างใด

 

ในพระสูตรนี้ยังได้กล่าวถึงการบูชาพระพุทธเจ้า พระศรีเทวี และ “พระธารณีมนต์” ของพระองค์ ชาวพุทธฝ่ายมหายานจึงได้บรรจุพระศรีมหาเทวีธารณีเข้าในบทสวดทำวัตร ให้พระเณรสวดท่องทุกวันเพื่อเป็นผลานิสงส์มิให้สัตว์ทั้งหลายยากจนแร้นแค้น

ธารณีมนต์ คือมนต์สันสกฤตที่มักไม่มีการแปล แต่ถูกบรรจุไว้ในพระสูตรของฝ่ายมหายานในฐานะที่เป็น “ของขวัญ” จากพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ ให้สรรพสัตว์นำไปสวดท่องเพื่อจะบังเกิดอานุภาพต่างๆ นับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์มาก

ในมิติของการภาวนา ธารณีมนต์คือเครื่องปกป้องรักษาจิตใจ เป็นเสียงภายในที่ทำงานกับจิตใจของเราในระดับที่ลึกลงไปจนกว่าความหมายที่เร้นลับจะปรากฏขึ้น

ผมคิดว่า จากสุวรรณประภาสสูตร สะท้อนแนวคิดแบบพุทธศาสนาว่าพระลักษมีเป็นพระลักษมีได้ก็เพราะท่านได้ให้ทานและบำเพ็ญจริยากุศลสั่งสมยาวนาน และแม้เมื่อได้รับผลจากกุศลสมภารที่สั่งสมไว้แล้ว ก็ยังมีจิตปรารถนาจะช่วยเหลือสรรพสัตว์มิให้ยากจนขาดแคลนตามแนวคิดโพธิสัตวมรรค

ทว่าการที่พระองค์จะช่วยสรรพสัตว์ได้นั้น สรรพสัตว์เองก็ต้องมีเหตุปัจจัยพร้อมมูล เป็นต้นว่ามีความเคารพพระรัตนตรัย และต้องบำเพ็ญบุญกุศลด้วย อย่างน้อยก็ถวายสักการบูชา

 

หากเรามองจากมุมแบบฮินดู เราอาจรู้สึกแปลกๆ ว่าพุทธศาสนานำเทวีของศาสนาอื่นมารับใช้แนวคิดของตัวหรือไม่ ซึ่งเท่ากับได้ลดทอนความสำคัญลง ที่จริงผมกลับคิดว่า พุทธศาสนายังเข้าใจมโนทัศน์เกี่ยวกับพระลักษมีดีอยู่ และยิ่งให้ความสำคัญมากขึ้นไปอีก ผมยังไม่เคยเห็นตำนานของพุทธศาสนาที่มีพระพุทธเจ้าหรือโพธิสัตว์มาทรมานลงทัณฑ์พระศรีเทวีให้คลายมิจฉาทิฐิอย่างเทพองค์ฮินดูอื่นๆ พระองค์ได้รับการยกย่องให้เกียรติมาโดยตลอด

ยิ่งไปกว่านั้น พุทธศาสนาไม่เพียงจำกัดคุณสมบัติของพระศรีเทวีไว้เฉพาะเรื่องทางโลกหรือความสุขทางโลก แต่พยายามนำพระองค์ไปเชื่อมโยงกับโลกุตรธรรมและทานบารมี

ส่วน “อารยศรีมหาเทวีวยากรณะ” นั้น กล่าวถึงพุทธพยากรณ์แด่พระศรีมหาเทวีว่าจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต เนื้อหามีความวิจิตรและน่าสนใจมากๆ แต่เนื้อที่ในคราวนี้ใกล้หมดแล้ว ผมขอยกไปคราวหน้า

แม้จะให้พุทธศาสนิกชนสักการบูชาพระศรีมหาเทวีได้ กระนั้นท่าทีของพุทธศาสนาต่อเรื่องนี้ คือต้องไม่ยกทวยเทพเหนือพระรัตนตรัย ในขณะเดียวกันการเคารพพระรัตนตรัยก็ต้องไม่ใช่อย่างเทวนิยม คือถือพระรัตนตรัยเหมือนทวยเทพ

อันที่จริงแล้ว ผมคิดว่าหากมีท่าทีอย่างพุทธศาสนา คือไม่ได้หวังพึ่งเฉพาะอำนาจนอกตัวจนไม่ทำอะไร และมุ่งหวังทั้งประโยชน์ตนประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อม บำเพ็ญกุศลจริยา จะบูชาพระเทวีหรือทวยเทพและธรรมบาล

ก็ไม่ขัดกับพุทธศาสนา •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง