สุจิตต์ วงษ์เทศ : ประเพณี 12 เดือน แข่งเรือเสี่ยงทาย ในเศรษฐกิจการตลาด

หลังปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป ตรงกับปลายยุคกรุงธนบุรี ความรู้ทางเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น การค้าโลกขยายตัวกว้างขวางมากกว่าแต่ก่อน พิธีกรรมย่อมลดความศักดิ์สิทธิ์

ความเชื่อแข่งเรือเพื่อเสี่ยงทายลดลง คำทำนายก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยปรับให้เข้ากับเศรษฐกิจการตลาดที่กำลังมีบทบาทสูงและกว้างขวาง

 

คำทำนายใหม่

คําทำนายใหม่ในยุคนี้ไม่ให้ความสำคัญเรืออัครมเหสีเหนือเรือทรงพระเจ้าแผ่นดิน (เหมือนยุคอยุธยา) แต่ให้เสมอภาคกัน เรือลำไหนชนะก็ดีทั้งนั้น โดยให้ความสำคัญกับการค้ากับนานาประเทศ

ดังพบในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือนางนพมาศ พระราชนิพนธ์ ร.3 ให้ความสำคัญเสมอกันทั้งเรือพระเจ้าแผ่นดิน (หรือเรือพระยา) และเรืออัครมเหสี (เรืออัครชายา) จะคัดมาดังนี้

“เรือพระที่นั่งชัยเฉลิมธรณิน ชัยสินธุพิมาน ทั้งสองลำนี้เป็นที่เสี่ยงทายแสดงความจำเริญและมิจำเริญแก่บ้านเมือง พลทหารชำนาญพายๆ แข่งกันมิได้ละลด

ถ้าเรือทรงพระนารายณ์คือเรือพระยามีชัยชำนะ ก็ทำนายว่าสมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้าจะแผ่ผ้านพระเดชเดชานุภาพไปทั่วทิศานุทิศ ลูกค้าพาณิชนานาประเทศจะแตกตื่นกันมาเชยชมบรมโพธิสมภารพระเจ้าแผ่นดิน บ้านเมืองจะบริบูรณ์ด้วยสรรพสิ่งของต่างประเทศ ราคาซื้อขายจะย่อมเยาเบาค่า ทุกสิ่งสินค้าธัญญาหารมัจฉมังสาหารผลาหารพานจะเสื่อมทรามฝืดเคืองไม่สู้อุดม เศษทำนายว่าสตรีจะมีบุตรเป็นชายโดยมาก

หนึ่งโสดแม้ว่าเรือทรงพระลักษมีคือเรือพระอัครชายามีชัยชำนะ ในตำรับทำนายทายว่าบ้านเมืองจะบริบูรณ์ด้วยธัญญาหาร มัจฉมังสาหาร ผลาหารน้ำอ้อยน้ำตาลสารพัดของบริโภค อันลูกค้าพาณิชซึ่งจะมาค้าขายชายจะเบาบาง สิ่งของต่างประเทศมิได้อุดมมัธยม เศษทำนายว่าสตรีจะมีบุตรเป็นธิดาโดยมาก

ผิว่าเรือพระที่นั่งทั้งสองแข่งเสมอลำกัน ก็ทำนายว่าบ้านเมืองจะมิได้บริบูรณ์ทุกสิ่ง มีอาหารการกินเป็นต้นในขวบปีนั้น

แลธรรมเนียมทหารจำนำประจำพายนาวาคู่แข่ง ถ้าเรือพระที่นั่งลำใดได้ชัยชนะ ทหารพลพายประจำลำก็ได้รับพระราชทานขนอนในกรุงเช้าชั่วค่ำในวันนั้นเป็นรางวัล ไปแบ่งปันกันตามบานแพนกนายและไพร่”

จะเห็นว่าครั้นยุคต้นกรุงเทพฯ ให้ความสำคัญกับ “ลูกค้าพาณิชย์นานาประเทศ” ที่คับคั่งเข้ามาค้าขายในยุค ร.3 แล้วต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจการตลาด สมัย ร.4

เดือน 11 เป็นช่วงเวลาปลายพรรษา น้ำนองหลากทั่วไป รวงข้าวเริ่มเปลี่ยนสีจากเหลืองอ่อนๆ เป็นเหลืองเข้ม และเมล็ดอวบอ้วนอุดมสมบูรณ์

แต่ยังวางใจไม่ได้ว่าธรรมชาติจะอำนวยให้ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วย ชาวบ้านต้องร่วมทำพิธีเสี่ยงทายเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ เรียกพิธีแข่งเรือ แต่ในประเพณีพราหมณ์เรียกอาสยุชพิธี มีในกฎมณเฑียรบาล ยุคต้นอยุธยา ดังนี้

01

แข่งเรือ (เพื่อ) เสี่ยงทายแบบเก่า

พิธีแข่งเรือเสี่ยงทาย เป็นของชุมชนชาวบ้านยุคดึกดำบรรพ์มาก่อน เมื่อราชสำนักมีขึ้นในสุวรรณภูมิก็ยกพิธีพราหมณ์จากชมพูทวีป (อินเดียโบราณ) เข้ามาผสมเพิ่มให้ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นอีก แล้วเรียกอย่างขลังๆ ว่า อาสยุชพิธี (อาสยุช แปลว่า เดือนสิบเอ็ด)

ข้อความในกฎมณเฑียรบาลพรรณนาไว้สั้นๆ ห้วนๆ โดยสรุปสาระสำคัญว่า

สมรรถไชยเป็นเรือพระเจ้าแผ่นดิน ส่วนไกรสรมุกข์ป็นเรือพระอัครมเหสี เรือทั้งสองลำ “เป็นเรือเสี่ยงทาย” ให้ฝีพายแข่งกัน

มีคำทำนายเป็นจารีตที่รู้กันก่อนแล้ว ว่าถ้าเรือสมรรถไชยของพระเจ้าแผ่นดินพ่ายแพ้เรือไกรสรมุกข์ของพระอัครมเหสี บ้านเมืองจะเป็นสุขเกษมเปรมประชา มี “ข้าวเหลือ เกลืออิ่ม”

แต่ตรงข้ามถ้าเรือสมรรถไชยของพระเจ้าแผ่นดินชนะ บ้านเมือง “จะมียุค” หมายความว่าเกิดยากแค้นแสนสาหัส ข้าวไม่เหลือ เกลือไม่อิ่ม อดอยากปากแห้งเป็นกลียุค