พระพิราพ มาจากลัทธิเทวราช ในโลกอุษาคเนย์ยุคโบราณ

รามายณะฉบับไทย หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “รามเกียรติ์” นั้น มีปรากฏชื่อของยักษ์ตนหนึ่งชื่อว่า “พิราพ” โดยมีฐานะเป็น “ยักษ์เฝ้าสวนต้นพวาทอง” ซึ่งฟังดูแล้วก็ไม่น่าจะสลักสำคัญอะไรนักนะครับ

แต่ว่าในพิธีไหว้ครูโขน ละคร หรือดนตรีไทยต่างๆ นั้น “เศียร” คือหัวโขนของพระพิราพ กลับถูกยกย่องว่าเป็นเศียรของยักษ์ผู้ใหญ่ ที่ออกจะถูกนับถือยำเกรงเสียยิ่งกว่าเศียรของเทพเจ้าชั้นผู้ใหญ่ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเสียด้วยซ้ำไป

ที่สำคัญก็คือ ท่ารำพระพิราพนั้นก็ถูกถือว่าเป็นท่ารำชั้นสูงสุด ที่จะไม่ต่อท่าให้ใครได้รำกันง่ายๆ ถึงขนาดที่ว่า ตามหลักการแห่งธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว ผู้ที่จะได้รับการต่อท่ารำพระพิราพนั้น จะต้องได้รับการโปรดเกล้าฯ โดยพระมหากษัตริย์เท่านั้นเลยทีเดียว (เป็นที่แน่นอนด้วยเช่นกันว่า ถ้าไม่ว่ากันตามหลักการ ก็มีผู้ที่ได้รับการต่อท่ารำพระพิราพจากครูโขนละคอน โดยที่ไม่รับการโปรดเกล้าฯ ด้วยเช่นกัน)

แล้วอย่างนี้จะบอกว่า “พระพิราพ” เป็นเพียง “ยักษ์เฝ้าสวน” กิ๊กก๊อกไปได้อย่างไรกัน?

 

ในหนังสือ “รามายณะ” ของอินเดียฉบับสำคัญทุกสำนวน ไม่ว่าจะเป็นฉบับวาลมิกิ เบงกอล กัมปัน ฯลฯ เรียกพระพิราพด้วยชื่อในภาษาสันสกฤตว่า “วิราธ”

แต่ “วิราธ” ไม่ได้เป็นยักษ์เฝ้าสวนเหมือนกับในรามเกียรติ์ของไทยหรอกนะครับ เพราะรามายณะฉบับอินเดียเล่าว่าท่านเป็นคนธรรพ์ (สิ่งมีชีวิตในปรัมปราคติจากชมพูทวีปที่เก่งกาจในเชิงดนตรีการ) ชื่อ “ตุมพุรุ” ที่ถูกสาปลงมาเป็นรากษส (คล้ายยักษ์แต่ดุร้ายกว่า และชื่นชอบในรสชาติของเนื้อสด มากกว่าเนื้อสุก) อยู่ใน “ป่าทันฑกะ”

“ตุมพุรุ” ตามความเชื่อของพ่อพราหมณ์ทั้งหลายในอินเดียนั้น เป็นราชาแห่งคนธรรพ์ ผู้ขับกล่อมเพลงดนตรีได้ไพเราะที่สุดในโลกทั้งสาม รายละเอียดที่เล่าอยู่ในรามายณะเองก็อธิบายไม่ต่างออกไปนัก

ส่วนในมหากาพย์ของอินเดียอีกเรื่องคือ มหาภารตะ พรรณนาว่า ตุมพุรุคือหนึ่งในสี่คนธรรพ์ที่ยอดเยี่ยมที่สุด ตุมพุรุมักปรากฏตัวคู่อยู่กับพระนารทฤาษี ซึ่งในแวดวงดนตรี และการละครต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก็ถือเป็นครูของการดนตรีของไทยเราเช่นกัน

แต่ชื่อของตุมพุรุไม่ได้ปรากฏอยู่เฉพาะเรื่องราวในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเท่านั้น เพราะปรากฏในพระสูตรของศาสนาพุทธคือ สักกปัญหสูตร อีกด้วย

 

พระสูตรดังกล่าวเรียก “ตุมพุรุ” ว่า “ติมพรุ” เป็นราชาแห่งคนธรรพ์ มีลูกสาวชื่อนางสุริยวัจฉสา และเป็นพ่อตาของพระปัญจสิขร คนธรรพ์ผู้ดีดพิณถวายพระพุทธเจ้า ณ ถ้ำอินทสาล พระปัญจสิขรนี้ก็เป็นครูทางดนตรีการ และนาฏศิลป์ที่คนไทยนับถือด้วยเช่นกัน

ชาวอุษาคเนย์ในชั้นหลังหลงลืมชื่อ “ตุมพุรุ” ไปหมดแล้ว อย่างน้อยในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ รามเกียรติ์ฉบับรัชกาลที่ 1 ก็ไม่มีเรื่องของตุมพุรุเหลืออยู่ แต่หลักฐานว่าชาวอุษาคเนย์เคยมีการรู้จักชื่อตุมพุรุมีอยู่ในจารึกภาษาเขมร และสันสกฤตจากปราสาทสด๊กก๊อกธม จังหวัดสระแก้ว ที่เรียกกันว่า จารึกสด๊กก๊อกธม หลักที่ 2 สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.1595 ปรากฏข้อความว่า

“ศาสฺตฺรํศิรศเฉทวินาสิขาขฺยํ สํโมหนามาปนโยตฺตราขฺยมฺ ตตฺตุมฺวุโรรฺวฺวกฺตฺรจตุษฺกมสฺย สิทฺธฺเยววิปฺรสฺสมทรฺศยตฺสะ ฯ”

สรุปอย่างกระชับข้อความข้างต้นกำลังพูดถึงการที่พราหมณ์ชื่อหิรัณยทามะกำลังประสิทธิ์ประสาทสรรพวิชาใน “ลัทธิเทวราช” ที่ในจารึกเรียกว่า “พักตร์ทั้งสี่แห่งตุมพุรุ” อันประกอบไปด้วย ศิรัจเฉท วินาศิขะ สัมโมหะ และนโยตตระ ให้แก่ลูกศิษย์ที่ชื่อว่าพราหมณ์ศิวะไกวัลย์ ผู้เป็นปุโรหิตคนสำคัญของพระเจ้าชัยวรมันที่ 2

ความตรงนี้สำคัญนะครับ เพราะบ่อยครั้งที่จารึกขอมโบราณจะกล่าวถึงพระอิศวรในฐานะเทพผู้มี 4 พักตร์ และในหนังสือ โยคะวศิษฐ รามายณะ ที่เก่าแก่ก่อนจารึกสด๊กก๊อกธมราว 200 ปีเศษนั้น ระบุว่า “ตุมพุรุ” ก็คือ “รุทร” หรือ “พระอิศวร” (องค์เดียวกันกับ พระศิวะ)

และนี่ก็ย่อมหมายความด้วยว่า “พระพิราพ” นั้น ก็คือพระภาคหนึ่งของ “พระอิศวร” ด้วยเช่นกัน

หัวโขนพระพิราพทรงเครื่อง

คําว่า “พักตร์ทั้งสี่ของตุมพุรุ” ที่ในจารึกสด๊กก๊อกธมอ้างว่าพราหมณ์หิรัณยทามะถ่ายทอดให้แก่พราหมณ์ศิวไกวัลย์ อันได้แก่ ศิรัจเฉท วินาศิขะ สัมโมหะ และนโยตตระ นี้ ทำให้เข้าใจต่อๆ กันมาว่า ชื่อทั้งสี่นี้เป็นชื่อคัมภีร์ไปโดยปริยาย

แต่ผลการศึกษาในชั้นหลังชวนให้เชื่อว่า สัมโมหะ และศิรัจเฉท น่าจะเป็นกลุ่มลัทธิประเพณีที่เกี่ยวข้องกับลัทธิศักติ ส่วนวินาศิขะเป็นชื่อคัมภีร์แน่ เพราะในภายหลังได้มีการค้นพบต้นฉบับของคัมภีร์วินาศิขะตันตระ ซึ่งเขียนด้วยอักษรเทวนาครี ที่เมืองกาฏมัณฑุ ประเทศเนปาล ส่วนนโยตตระเป็นชื่อคัมภีร์เช่นกัน เพราะมีอ้างถึงอยู่ในต้นฉบับของวินาศิขะตันตระ แต่ยังไม่มีรายงานการค้นพบต้นฉบับของคัมภีร์เล่มดังกล่าวนี้

ที่สำคัญก็คือ วินาศิขะตันตระนั้น เป็นคัมภีร์ที่เล่าถึงการสถาปนา “พระอิศวร” ในฐานะของ “ตุมพุรุ” ขึ้นเป็นราชาเหนือเทพเจ้าทั้งหลาย ซึ่งก็ต้องกันกับชื่อ “ลัทธิเทวราช” ที่กล่าวถึงอยู่ในจารึกสด๊กก๊อกธมนั่นเอง

พูดง่ายๆ ว่า นอกเหนือจากที่ “พระพิราพ” จะเป็น “พระอิศวร” แล้ว ยังเป็นพระอิศวรในฐานะ “เทวราช” คือราชาเหนือเทพเจ้าทั้งปวงในจักรวาลของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูอีกต่างหาก

 

น่าสนใจว่า พระอิศวรในฐานะของตุมพุรุ ผู้เป็นเทวราช ตามความเชื่อของขอมโบราณนั้น คงจะมีรูปลักษณ์ที่ดุร้าย ซึ่งก็ใกล้เคียงกับรูปลักษณ์ของพระพิราพอย่างที่รู้จักกันในปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากการศึกษาของ Teun Goudriaan นักวิชาการผู้สนใจเกี่ยวกับคัมภีร์วินาศขะตันตระ และได้รวบรวมข้อมูลที่มีการกล่าวถึงตุมพุรุในคัมภีร์ต่างๆ พบว่า การปรากฏกายของตุมพุรุสามารถจำแนกได้เป็นสองกลุ่ม

กลุ่มที่หนึ่ง เป็นคนธรรพ์หรือราชาแห่งคนธรรพ์

ส่วนกลุ่มที่สองคือ เป็นภาคหนึ่งของพระอิศวร ซึ่งก็มีพบอยู่มากพอดู

รูปลักษณ์ของพระอิศวร ในฐานะตุมพุรุตามที่ Goudriaan รวบรวมไว้ทั้งหมดมีลักษณะที่ดุร้าย ที่น่าสนใจคือในหนังสือศตธรรมตีปิกา ซึ่งเล่าว่า “ตุมพุรุ” ปรากฏกายในรูปของ “ไภรวะ” สามเนตร ทรงโค พระหัตถ์ทั้งสี่ทรงไว้ด้วยศูล มาลัย คัมภีร์ และหม้อน้ำอมฤต

ในขณะที่หนังสือโยคะวาศิษฐะ รามายณะ (เล่มเดียวกับที่มีข้อความระบุว่า ตุมพุรุ ก็คือพระรุทร ที่ผมอ้างถึงข้างต้น) กล่าวถึงการปรากฏกายพร้อมกันของตุมพุรุ และพระไภรวะ ในขณะที่นักประวัติศาสตร์ศิลปะ ชาวฝรั่งเศสอย่าง Marie Th. de Mallmann ได้กล่าวถึงลักษณะทางประติมานวิทยาของตุมพุรุในอัคนิปุราณะว่าหยิบยืมลักษณะของพระวีรภัทร พระภาคที่ดุร้ายอีกพระภาคหนึ่งของพระอิศวรมาใช้ด้วย

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจอะไรนัก “พระพิราพ” ตามอย่างที่เรารู้จักกันในปัจจุบันนั้น จะมีลักษณะเป็นยักษ์ที่ดุร้าย

 

ชื่อตุมพุรุยังมีพบที่ในจารึกเกาะบาหลี ซึ่งเป็นเครือข่ายของรัฐในเกาะชวา โดยในจารึกสด๊กก๊อกธมหลักเดิมนั้นมีข้อความอ้างไว้ด้วยว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 เสด็จมาจากชวา (อย่างไรก็ตาม คำว่า “ชวา” ในจารึกหลักนี้อาจจะไม่ได้หมายถึงเกาะชวาอย่างที่เคยเข้าใจกันมาในอดีต แต่หมายถึงรัฐของพวกจาม เพราะในภาษาเขมรนั้นเรียกพวกจามว่า “ชเวีย” ซึ่งก็ตรงกับคำว่า ชวา ในสำเนียงไทย) ก่อนได้พบกับพราหมณ์หิรัณยทามะ ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาในลัทธิเทวราช ให้ลงหลักปักฐานอยู่ในวัฒนธรรมขอมยุคที่สร้างปราสาทหิน

การที่จารึกสด๊กก๊อกธม ซึ่งเป็นจารึกหลักที่พรรณนาถึงประวัติของลัทธิเทวราช ที่สำคัญยิ่งในวัฒนธรรมขอมดั้งเดิม (ซึ่งก็สำคัญมากพอที่จะทำให้มีการไพร่พลไปสร้างปราสาทหินขนาดมหึมาหลายๆ หลังขึ้นตามความเชื่อในลัทธิที่ว่านี้ เช่น ปราสาทนครวัด, ปราสาทบายน ที่ตั้งอยู่ตรงศูนย์กลางของเมืองนครธม เป็นต้น) อย่างละเอียดที่สุด ได้อ้างถึง “พักตร์ทั้งสี่ของตุมพุรุ” และเอ่ยถึงชื่อ “วินาศิขะ” ทำให้แน่ใจได้ว่าพวกขอมในยุคคลาสสิครู้จัก “ตุมพุรุ” ในฐานะพระภาคหนึ่งของ “พระอิศวร” แน่

และยิ่งไม่ต้องสงสัยว่า พวกขอมย่อมรู้จักรามายณะ (ไม่ว่าจะเป็นฉบับใดก็ดี) ที่ “พระพิราพ” ซึ่งเพี้ยนมาจาก “วิราธ” เป็น “ตุมพุรุ” ในฐานะ “ราชาแห่งคนธรรพ์” ถูกสาปลงมา เครือข่ายของรัฐในเกาะชวา-บาหลี ก็คงไม่ต่างกันนัก

ชาวอุษาคเนย์จึงเคยรู้จัก “พระพิราพ” ทั้งในฐานะ “ราชาแห่งดนตรีการ และนาฏศิลป์” และในฐานะพระภาคหนึ่งของ “พระอิศวร” ที่เป็น “เทวราชา” มีพยานยืนยันอยู่ในวัฒนธรรมขอมยุคเก่า ที่ส่วนหนึ่งสืบสายและคลี่คลายมาเป็นอยุธยา และต่อเนื่องมาเป็นรัตนโกสินทร์ในที่สุด เพียงแต่ว่าหลงลืมรายละเอียดไปเสียหมด ที่ยังพอจำได้คลับคล้ายคลับคลาก็คือว่า พระพิราพไม่ใช่ยักษ์ธรรมดา แต่เป็นเทพผู้ยิ่งใหญ่ มีร่องรอยอยู่ในบทละคอนรามเกียรติ์ฉบับรัชกาลที่1 และประเพณีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระพิราพ เช่น พิธีไหว้ครู เป็นต้น

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกอะไรเลยที่ทั้ง “เศียร” และ “ท่ารำ” ของพระพิราพนั้น จะถูกทำให้ทั้งเฮี้ยน ทั้งศักดิ์สิทธิ์ ถึงเพียงนี้ •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ