ตามหา ‘ผาสะแคง’ อีกหนึ่งลายแทง ช่วยไขปริศนา ‘กู่เวียงยิง’

เพ็ญสุภา สุขคตะ

หลายท่านที่ตามอ่านคอลัมน์ปริศนาโบราณคดี คงเฝ้ารอคอยคำตอบที่ดิฉันตั้งคำถามค้างไว้นานหลายฉบับแล้วว่า

“ตกลง ‘กู่เวียงยิง’ จุดที่พระญามังรายสั่งให้ประหารราชบุตรองค์โตนาม ‘ขุนเครื่อง’ นั้นอยู่ที่ไหนกันแน่ ระหว่างเวียงพร้าว กับเวียงฝาง?”

โดยที่ดิฉันได้ค้นพบลายแทง (แบบอ้อมๆ ไม่ใช่สายตรง) จาก “ระฆังสำริดสองใบ” (ล้านนาเรียก “เด็ง”) ที่มีการกล่าวถึงชื่อของ “เวียงยิง” ผ่าน “ลายแทงซ้อนลายแทง” ชนิดที่ว่าต้องถอดรหัสกันหลายชั้นเลยทีเดียว ทำให้เบื้องต้นนี้ค่อนข้างเทใจไปทาง “เวียงฝาง” มากกว่าทฤษฎีเดิมที่เคยเชื่อกันว่า “เวียงพร้าว”

ใบแรกเป็นระฆังแขวนอยู่ที่ลานเจดีย์วัดพระธาตุสบฝาง อ.แม่อาย ทำขึ้นในปี พ.ศ.2166 ใบนี้ระบุชื่อพระภิกษุผู้หล่อระฆังถวาย ทิ้งรหัสไว้ว่ามาจากวัดแถว “ป่ากวาว” กับ “เวียงยิง” ชี้ให้เห็นว่า หากอยากตามหา “เวียงยิง” ก็ต้องตามหาว่า “ป่ากวาว” อยู่ที่ไหนให้พบก่อนด้วยไปโดยปริยาย

สำทับด้วยหลักฐานของสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ขุดค้นพบจารึกบนแผ่นดินเผา บริเวณวัดร้างพระอารามส้มสุก อ.แม่อาย ก็มีการระบุถึงคำว่า “ป่ากวาวเมืองยิง” ตามมาแบบเป็นคู่ดูโอ้กันด้วยอีกครั้ง ซึ่งดินเผาชุดนี้มีอายุกว่า 500-600 ปี

ระฆังใบที่สองจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ใบนี้สำคัญมาก เพราะเป็นประเด็นที่เรากำลังจะพิสูจน์กันอยู่ในบทความชิ้นนี้ น่าเสียดายที่เราไม่ทราบว่าตัวระฆังค้นพบที่จุดไหนอย่างแน่ชัด ทราบพอเลาๆ แค่ว่าได้มาจาก อ.ไชยปราการ

สิ่งที่ชวนให้อยากพิสูจน์ลายแทงที่ทิ้งไว้ในจารึกบนระฆังใบที่สอง นอกจากจะสะดุดใจกับคำว่า “เมืองยิงเจ้า” แล้ว ยังพบลายแทงเพิ่มอีกหนึ่งคีย์เวิร์ด คือคำว่า “ผาสะแคงขุนฝาง”

ขอนำข้อความในจารึกระฆังสำริดชิ้นที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มาให้ดูแบบเต็มๆ อีกครั้ง เผื่อว่าบางท่านไม่ได้ติดตามอ่านต้นเรื่องเดิม จะได้เห็นความเชื่อมโยงของชื่อสถานที่ต่างๆ

“จุลศักราช 976 (พ.ศ.2157) พระมหาป่าใหม่ เมืองยิงเจ้า และพระมหาเถรเจ้าวัดหนองผา วัดก่อน้อย… พร้อมกันสร้างเด็งลูกนี้ นำมาไว้ตีบูชาพระบาทเจดีย์เจ้าผาสะแคงขุนฝาง..”

จารึกนี้ทำให้เราได้ลายแทงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งจุดว่า นอกจากสถานที่ตั้งของเวียงยิงจะต้องอยู่ใกล้ป่ากวาวแล้ว ยังจะ “ต้อง” (หรือใช้คำว่า “ควร”) อยู่ไม่ไกลจาก “ผาสะแคง” อีกด้วย ฉะนี้แล้วหากอยากตามหา “เวียงยิง” เราก็ต้องช่วยกันตามหา “ผาสะแคง” ให้พบก่อนใช่หรือไม่? (นี่แหละ! จึงเรียกว่าลายแทงซ้อนลายแทง)

ปฏิบัติการตามหา “ผาสะแคง”

หลังจากที่ดิฉันได้เปิดประเด็นเรื่องอยากตามหา “ป่ากวาว” และ “ผาสะแคง” ให้พบสักที เพื่อจะได้ทราบว่า “เวียงยิง” จุดที่ขุนเครื่องถูกลอบปลงพระชนม์อยู่ที่ไหนกันแน่ ในบทความที่ชื่อ “กู่เวียงยิง” อยู่ที่ไหน เมืองฝาง vs เมืองพร้าว? จำนวนสองตอนในปริศนาโบราณคดีตอนที่ 601 และ 602 เมื่อปีกลายไปแล้วนั้น

ดิฉันได้รับการประสานจาก คุณภูติพงศ์ ภูชนะกิจ (คุณบอย) เจ้าของรีสอร์ต “กุ๊กกูแคมป์ป่า” (Kookoo ForestCamp) หมู่ 14 บ้านปางมะขามป้อม ต.ศรีดงเย็น อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ ว่าเขาได้พบเบาะแสของ “ผาสะแคง” ที่นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ภาษาจารึก กำลังตามหาอยู่

ด้วยหน้าผาขนาดใหญ่ที่อยู่ด้านหลังรีสอร์ตของเขานั้น พบก้อนหินคล้ายรอยพระบาทที่ตะแคงเอียงอยู่ ซ้ำปราชญ์ชาวบ้านและคนในพื้นที่จำนวนมากยังเรียกหน้าผาก้อนนี้ว่า “ผาแคง” อีกด้วย เขาจึงอยากทราบว่าจะเป็นสถานที่แห่งเดียวกันกับ “รอยพระพุทธบาทผาสะแคง” ที่นักวิชาการหลายท่านกำลังตามหาอยู่หรือไม่

ดิฉันรู้สึกสนใจมาก ด้วยตอนแรกหมดหวังไปแล้วเพราะเข้าใจว่า “ผาสะแคงอาจอยู่ในฝั่งพม่ารอยต่ออำเภอฝางก็เป็นได้” เหตุที่พยายามสอบถามใครต่อใครถึงชื่อ “ผาสะแคง” ในแถบเมืองฝาง แม่อาย หลายต่อหลายครั้ง แทบทุกคนบอกว่าไม่เคยได้ยิน ไม่เคยรู้จัก

หาก “ผาแคง” ลูกดังกล่าวในเขต อ.ไชยปราการเป็น “ผาสะแคง” เดียวกันกับที่ปรากฏชื่อในระฆังสำริดจริง ก็จะช่วยขมวดสถานที่ตั้งของ “กู่เวียงยิง” ให้ชัดขึ้น และมีความเป็นไปได้สูงทีเดียวหากผาสะแคงจะตั้งอยู่แถว อ.ไชยปราการ ด้วยเหตุที่ในอดีตอาณาบริเวณเมืองฝางยุครุ่งเรืองครอบคลุมพื้นที่ถึงสามอำเภอได้แก่ ฝาง แม่อาย และไชยปราการ

ดิฉันได้ทำหนังสือถึงสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ขออนุญาตบุคลากรคือ นายสายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีชำนาญการ ให้ร่วมเดินทางไปสำรวจข้อเท็จจริงด้วยกันในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 คณะของเรายังมีนายนับเก้า เกียรติฉวีพรรณ นักศึกษาปี 2 (ขณะนั้น) คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมไปด้วย

เมื่อถึงรีสอร์ต เราได้สัมภาษณ์คนเฒ่าคนแก่ละแวกนั้น ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าหน้าผาดังกล่าว มีชื่อเรียกหลายชื่อทั้ง ผาสะแคง/ผาแคง/ผาแดง/ผาเด็ง โดยที่ชาวบ้านไม่เคยทราบเรื่องราวเกี่ยวกับ เวียงยิง หรือป่ากวาว อะไรนั่นด้วยแต่อย่างใดเลย

สระมรกต ถ้ำห้อ ปากทางขึ้นผาสะแคง

ก่อนจะถึงจุดปีนขึ้นผาสะแคง คณะเราต้องผ่านสิ่งที่น่าสนใจสองสิ่ง 1.สระมรกต 2.ถ้ำห้อ

สระมรกต อยู่ด้านขวาของถ้ำห้อ ทั้งสองจุดนี้มีการตั้งศาลหรือหอบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไว้ 1 ศาล ตัวสระมรกตตั้งอยู่ในป่ารกชัฏ มีลักษณะเป็นตาน้ำผุด (น้ำจำ/น้ำซับ) แม้หน้าแล้งก็ไม่เหือดแห้ง (ยกเว้นหากมีคนประพฤติตัวไม่ดี พูดจาลบหลู่) มีสีเขียวใสเหมือนมรกต น้ำจากสระนี้ไหลลงสู่แม่น้ำฝาง

ถ้ำห้อ เป็นถ้ำหินปูนมีหินงอกหินย้อยโดดเด่นอยู่ด้านหน้าถ้ำ ผนังด้านขวาของถ้ำพบประติมากรรมปูนปั้นรูปกลุ่มบุคคลจำนวน 7 นาย (ปัจจุบันเหลือไม่ครบ) สวมเครื่องแต่งกายละม้ายชุดเกราะนักรบจีน

ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นรูปของนักรบจีนห้อ อันเป็นที่มาของชื่อ “ถ้ำห้อ” พิจารณาดูแล้วประติมากรรมนูนต่ำเหล่านี้มีอายุเก่าถึงยุคล้านนาราว 500 ปี

ก้อนหินคล้ายรอยพระพุทธบาท

การปีนป่ายสู่ผาสะแคงนั้นค่อนข้างลำบาก แม้ว่าจุดที่เป็นหน้าผาจะตั้งอยู่ไม่สูงมากเกินไปนัก ความที่ภูเขาเป็นโขดหินมากกว่าดินและแทบไม่มีต้นไม้ให้เกาะยึด บวกกับความชันมากถึง 45 องศา ทำให้การเดินทางขึ้นลงเขา รวมทั้งการศึกษาร่องรอยต่างๆ บนยอดเขารวมแล้วต้องใช้เวลานานกว่า 4-5 ชั่วโมง

ตลอดเส้นทางขึ้นสู่หน้าผานั้น ได้พบก้อนหินที่มีร่องรอยคล้าย “รอยเท้า-รอยมือ” หรือที่ชาวล้านนาเรียกกันว่า “หัตถบาท” เป็นระยะๆ แต่น่าจะเป็นก้อนหินที่เกิดจากการกร่อนเซาะโดยธรรมชาติมากกว่า

เจดีย์บนผาสะแคง เก่าหรือใหม่?

มีเจดีย์สีขาวบนยอดดอยผาสะแคง ซึ่งดิฉันไม่สามารถปีนไปจนถึงจุดนั้นได้ เนื่องจากเส้นทางหฤโหดเกินพรรณนา ยิ่งปีนสูงก็ยิ่งมีแต่ก้อนหินขรุขระ แต่คุณสายกลาง จินดาสุ กับเจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่อีกคน พร้อมด้วยนับเก้า ปีนป่ายไปจนถึง จึงขออนุญาตใช้ภาพถ่ายของนับเก้ามาประกอบในบทความนี้

พบว่าเป็นเจดีย์ใหม่ที่สร้างครอบทับองค์เดิมข้างในเมื่อ พ.ศ.2565 บูรณะโดยพระครูสถิตธรรมาภิรักษ์ (ดวงคำ ฐานิสฺสโร) เจ้าคณะอำเภอไชยปราการ

จากหนังสือประวัติเมืองฝางของ อ.อินทร์ศวร แย้มแสง ระบุว่าเจดีย์บนดอยนี้สร้างโดยท้าวเสมอใจราช (ยุคฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่) แคว่นบ้านทะลบ (แคว่นหมายถึงกำนัน)

ซ้ำยังเรียกดอยลูกดังกล่าวว่า “ดอยปางขามป้อม” อีกด้วย น่าสงสัยว่าทำไม อ.อินทร์ศวร ปราชญ์เมืองฝางจึงไม่เรียกดอยลูกนี้ว่า ดอยผาสะแคง? อาจเป็นไปได้ว่าชื่อ “ผาสะแคง” อาจลบเลือนไปบางช่วงบางตอนของการรับรู้?

จึงเหลือเพียงชื่อ “ดอยปางขามป้อม” อันเป็นการเรียกตามสภาพูมิศาสตร์

ดอยผาสะแคงในความเป็นจริง กับในตำนานพระเจ้าเลียบโลก

ใกล้กับพระเจดีย์มีแผ่นหินที่ตะแคงขนานกับหน้าผา มีรูปร่างเป็นขีดยาวๆ คล้ายแผ่นรอยเท้า ซึ่งคนในพื้นที่เชื่อกันว่าคือ “รอบพระบาทผาสะแคง” ที่ปรากฏในตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับวัดพระเกิดที่กล่าวว่า

พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาบิณฑบาตที่บ้านกอก แล้วเสด็จมาประทับนั่งฉันข้าวยังหินกว้าง 12 ศอก เหนือดอยแห่งหนึ่ง พระสารีบุตรว่าที่นี่ไม่มีน้ำ เทวดาเนรมิตเป็นหมูมาดันหินในห้วยทางทิศตะวันออกทำให้น้ำผุดไหลออกมา (จุดนี้จะสอดคล้องกับสระมรกตด้านล่างได้หรือไม่ เพราะมีน้ำผุดขึ้นมาเองเหมือนกัน?)

พระสารีบุตรนำบาตรไปตักน้ำมาถวายให้พระพุทธเจ้าฉันและสรง ทรงทำนายว่าที่นี่ต่อไป 2,000 ปีจะมีพระญาธัมมิกราชมาสร้างบูรณะให้รุ่งเรือง พร้อมกับประทับรอยพระบาทไว้ ต่อมาเทวดากลัวจะเป็นสาธารณะแก่คนทั้งหลาย จึงมาพลิกสะแคง (ตะแคง) หินพระบาทไว้ จึงเรียกพระบาทผาสะแคง

จากภาพที่คณะสำรวจถ่ายมาให้ผู้อ่านได้เห็นนี้ พอจะอนุมานว่าเป็น “รอยพระพุทธบาท” ได้หรือไม่ ดิฉันจึงลองพลิกภาพจากแนวตะแคงให้เป็นแนวตั้ง แล้วลากเส้นรอบนอกตามแนวหินให้ชัดขึ้น ก็เห็นว่าคล้ายรอยพระบาทอยู่ไม่น้อย

ยังมีอีกหนึ่งลายแทงที่ขอบันทึกไว้เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบกันกับอีกหลายๆ หลักฐานในการสืบค้นหา “เวียงยิง” นั่นคือในตำนานพระเจ้าเลียบโลกอีกฉบับที่ปริวรรตโดย อาจารย์ชัยวุฒิ ชัยชนะ กล่าวถึงคำว่า “ดอยท่าข่ามะเมืองยิง” อันเป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่มีการบรรจุพระธาตุโดยพระเจ้าอโศกมหาราช

“…แล้วพระญาอโสกะราชะหื้อผะจุไว้ธาตุในดอยคูนแห่ง 1 ดอยพังแห่ง 1 ไว้ในดอยม่วงพ่อลุงแห่ง 1 ไว้ในผากุบเมืองฝางแห่ง 1 ไว้ดอยท่าข่ามะเมืองยิงแห่ง 1 ไว้ถ้ำพระเมืองหราวแห่ง 1…”

ชื่อแปลกๆ ของ “ดอยท่าข่ามะเมืองยิง” จะเป็นดอยลูกเดียวกับ “ดอยปางขามป้อม” ได้หรือไม่ (ข่ามะ = มะขาม?) ถ้าใช่ ดอยลูกนี้ก็อาจเป็นที่ตั้งพระบาทผาสะแคง

การศึกษาเรื่องนี้ยังไม่มีข้อยุติ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น

หากสิ่งที่พวกเราตามหา ณ บ้านแม่ทะลบ ไชยปราการ (ดอยปางขามป้อม) นั้นคือ “รอยพระพุทธบาทผาสะแคง” จริง สิ่งที่ต้องค้นหาต่อไปก็คือ แล้วกู่เวียงยิงนั้นเล่าตั้งอยู่ตรงไหน ในจุดที่คิดว่าใกล้ผาสะแคง

ในทางกลับกัน หากหน้าผาที่ชวนกันไปปีนป่ายนี้ยังไม่อาจสรุปได้ว่า จะใช่ผาสะแคงจริงหรือไม่ ก็คงทิ้งโจทย์ที่ยากขึ้นกว่าเก่า ทุกอย่างจักกลับไปสู่อีหรอบเดิม ต้องมาตั้งหลักใหม่คลำทางตามหา “กู่เวียงยิง” พ่วงด้วย “ป่ากวาว-ผาสะแคง-ดอยท่าข่ามะ” ท่ามกลางความมืดมนอนธกาลผ่าน “ลายแทงซ้อนลายแทง” อีกมิรู้จบ •

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ