ศึกศิลาจารึก สองตระกูลรัฐสุโขทัย แข่งบารมีทางการเมือง | สุจิตต์ วงษ์เทศ

จารึกวัดศรีชุม

วรรณกรรมเรื่องแรกของไทยไม่มีที่สุโขทัย เพราะสุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแห่งแรกของไทย และอักษรไทยไม่ได้มีกำเนิดที่สุโขทัย

ราชธานีแห่งแรกของไทยอยู่ที่ไหน? ไม่มีใครบอกได้ ไม่เคยพบหลักฐาน แต่ความเป็น“คนไทย”มีพัฒนาการขึ้นบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตอนล่าง พร้อมๆกับ“อักษรไทย”มีวิวัฒนาการขึ้นที่รัฐอโยธยา-ละโว้ ซึ่งอยู่บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตอนล่าง

รัฐอโยธยา-ละโว้ เป็นรัฐใกล้ทะเลอ่าวไทย มีการค้าขายทางทะเลกับบ้านเมืองห่างไกลไปทางตะวันออก(คือ จีน ฯลฯ) และทางตะวันตก(คือ อินเดีย ฯลฯ) ต้องการทรัพยากรมีราคาเพื่อส่งขายจำนวนมาก จึงอุดหนุนบ้านเมืองภายในให้รวบรวมทรัพยากรส่งลงมา

นานเข้าบ้านเมืองหล่านั้นก็เติบโตเป็นรัฐ เช่น รัฐสุโขทัย แล้วรับตัวอักษรไทยจากรัฐอโยธยา-ละโว้ ไปดัดแปลงสลักบนแผ่นหิน เรียกศิลาจารึก แล้วเกิดศึกศิลาจารึกแข่งบารมีทางการเมือง

 

ศึกศิลาจารึกสองตระกูล

ความเป็นมาของรัฐสุโขทัยเกี่ยวข้องกับอำนาจของ 2 ตระกูล ตือ ตระกูลศรีนาวนำถุม กับตระกูลศรีอินทราทิตย์

ยุคแรกๆ ตระกูลศรีนาวนำถุมมีอำนาจ แต่ยุคหลังๆ ตระศรีอินทราทิตย์ มีอำนาจ ทำให้ตระกูลศรีนาวนำถุมถูกบั่นทอนอำนาจจนหมดไป

หลังสุดท่านศรีศรัทธา(หลานพ่อขุนผาเมือง) เป็นคนสำคัญของตระกูลศรีนาวนำถุม เพราะเป็นนักรบระดับขุนศึกชนช้างชนะศึกหลายครั้ง แต่หมดบทบาทลงไปเพราะออกบวชด้วยเหตุผลทางการเมืองภายในของสองตระกูล แล้วต้องเนรเทศตัวเองโดยออกธุดงค์ไปลังกานานราว 10 ปี ถึงกลับมาอยู่รัฐสุโขทัย
พระยาลิไทยในตระกูลศรีอินทราทิตย์ ยึดอำนาจ(มีจารึกระบุว่า “ให้ไพร่พลทั้งหลายเข้าระดมฟันศัตรู ประหารศัตรูทั้งหลาย”) เป็นกษัตริย์รัฐสุโขทัย ราว พ.ศ. 1890 ย่อมหมายความว่าปราบปรามกำจัดตระกูลศรีนาวนำถุมได้หมด

ขณะนั้นเชื้อสายตระกูลศรีนาวนำถุมองค์สำคัญที่เหลืออยู่ และเป็นที่เคารพเลื่อมใสอย่างสูง ก็คือสมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาฯ เรียกย่อๆว่า ท่านศรีศรัทธา ซึ่งบวชเป็นภิกษุและเคยธุดงค์ไปถึงลังกาทวีปมาแล้ว
บรรดาเจ้านายระดับล่างๆกับขุนนางข้าทาสบริวารจำนวนหนึ่งที่เป็นฝ่ายสนับสนุนตระกูลศรีนาวนำถุม แล้วเชิดชูท่านศรีศรัทธา จึงร่วมกันทำจารึกจาก “คำบอกเล่า”ขึ้นมา เพื่อเผยแพร่ความเป็นมาของตระกูลศรีนาวนำถุมว่าเป็นผู้ก่อตั้งสถาปนาทั้งศรีสัชนาลัยและสุโขทัย แล้วสรรเสริญท่านศรีศรัทธามีบุญญาธิการเป็น “หน่อพุทธางกูร”แท้จริง เท่ากับบอกเป็นนัยว่า“ทวงสิทธิ์”สมควรได้ครองรัฐสุโขทัย
ศิลาจารึกไม่ได้ทำขึ้นเองมาให้ข้าคนพลเมืองอ่านโดยตรง เพราะไม่มีใครรู้หนังสือ อ่านไม่ออก แต่ทำขึ้นมาเพื่อ“พิธีกรรม”อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ประกาศให้ผีสางเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์รู้ถึงบุญบารมีที่ได้กระทำ ฯลฯ แล้วมีพระสงฆ์ที่อ่านออกเขียนได้จดจำเนื้อหาสาระไปเทศนาเผยแพร่ต่อให้เจ้านายขุนนางและไพร่บ้านพลเมืองทั่วไป

ฉะนั้นศิลาจารึกต้องตั้งอยู่ในวัดอันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์

แต่ไม่มีหลักฐานผูกมัดว่าแรกทีเดียวจารึกที่ทำขึ้นนี้ตั้งอยู่วัดไหน? ในเมืองสุโขทัย หรือ“สรลวงสองแคว” อันเป็นถิ่นฐานบ้านเมืองเดิมของตระกูล?

แต่เมื่อพบในอุโมงค์มณฑปวัดศรีชุม เมืองสุโขทัย จึงเรียกจารึกวัดศรีชุม ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะต้องอยู่ในวัดนี้มาแต่ดั้งเดิมเริ่มทำขึ้นมา เพราะอาจมีการเคลื่อนย้ายในสมัยหลังก็ได้ ถึงพบในอุโมงค์ที่ไม่มีใครเห็น

จารึกวัดศรีชุมที่ยกย่องเชิดชูท่านศรีศรัทธาอย่างมีเลศนัยว่าเป็น“หน่อพุทธางกูร”แท้จริง ย่อมส่งผลกระทบกระเทือนถึงฐานะของพระยาลิไทยโดยตรง

เป็นเหตุให้พระยาลิไทยต้องทำศิลาจารึกขึ้นมาแสดงบุคลาธิษฐานของตนบ้าง เพื่อประกาศให้ผีสางเทวดารู้ทั่วกันว่าตนก็มีบุญญาธิการอันสูงยิ่งหรือสูงกว่า ซึ่งเท่ากับตอบโต้ฝ่ายสนับสนุนตระกูลศรีนาวนำถุมที่ยกย่องท่านศรีศรัทธาพระยาลิไทยโปรดให้ทำศิลาจารึกขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1900 แล้วกำหนดเรียกกันต่อมาว่าจารึกนครชุม(หรือศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 3) พบที่เมืองนครชุม จ. กำแพงเพชร

 

วรรณกรรมสร้างบารมีทางการเมือง

วรรณกรรมสุโขทัยเก่าสุดเท่าที่พบคือ จารึกวัดศรีชุม (ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 2) อักษรไทย ภาษาไทย นักปราชญ์เชื่อว่าน่าจะทำขึ้นเมื่อราวหลัง พ.ศ. 1890

เนื้อหาจารึกวัดศรีชุม เป็นความเรียงร้อยแก้วเล่าเรื่องการเดินทาง“จาริกแสวงบุญ” สร้างบารมีทางการเมืองของท่านศรีศรัทธา ซึ่งน่าจะอายุสูงมากแล้ว ได้เล่าเรื่องและประสบการณ์ต่างๆในอดีตให้ญาติโยมฟัง ซึ่งจะเรียกว่าเทศนาก็ได้ แล้วมีบุคคลกลุ่มหนึ่งจดไว้ ภายหลังได้เรียบเรียงสลักข้อความเทศนาลงบนแผ่นหินที่มีรูปแบบอย่างแท่งหินขนาดใหญ่ ทุกวันนี้เรียกจารึกวัดศรีชุม

สาระสำคัญคือยกย่องสรรเสริญบุญญาภินิหารของท่านศรีศรัทธา แต่มีรายละเอียดเคล้าคละปะปนหลาย
อย่างอยู่ด้วยกัน มีผู้จับสาระสำคัญเป็นช่วงๆได้ ดังนี้

1. เกริ่นนำเรื่องไปลังกา

2. เล่าประวัติพ่อขุนศรีนาวนำถุม ผู้สถาปนาเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัย

3. เล่าเรื่องพ่อขุนผาเมืองกับพ่อขุนบางกลางหาวร่วมกันชิงเมืองสุโขทัยคืนจากขอมสบาดโขลญลำพง

4. เล่าเรื่องประวัติพ่อขุนผาเมือง แล้วกล่าวถึงพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พ่อขุนรามราช กับธรรมราชา กล่าวถึงพ่อขุนผาเมืองสร้างเจดีย์ไว้ในเมืองศรีสัชนาลัย

5. เล่าเรื่องสรรเสริญ“หลานพ่อขุนผาเมือง” ชื่อ “สมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนีศรีรัตนลงกาทีปมหาสามี” ทำบุญทำทาน รักษาศีล และกระทำบางสิ่งบางอย่างทางศาสนาไว้ในเมืองต่างๆ เช่น ศรีรามเทพ ลังกาทวีป ฯลฯ

6. เล่าประวัติสมเด็จพระมหาเถรฯ เมื่อยังหนุ่มมีความเก่งกล้าสามารถ เป็นนักรบบนหลังช้าง ได้กระทำยุทธหัตถีกับขุนจังครั้งหนึ่ง กับท้าวอีจานอีกครั้งหนึ่ง

7. เล่าประวัติสมเด็จพระมหาเถรฯ ย้อนไปตั้งแต่รุ่นเยาว์ แล้วเจริญวัยขึ้น ครั้นอายุได้ 31 ปี ก็บังเกิดศรัทธา (จบข้อความด้านที่ 1 แล้วขึ้นด้านที่ 2) สละลูกเมียทรัพย์สมบัติเป็นทานแล้วออกบวช จาริกแสวงบุญบำเพ็ญกุศลสร้างถาวรวัตถุต่างๆ เช่น ศาลาวัด สะพาน ฯลฯ

8. เล่าเรื่องสมเด็จพระมหาเถรฯไปปฏิสังขรณ์พระมหาธาตุหลวงที่“ขอมเรียกพระธม” อยู่“กลางนครพระกฤษณ์” ในป่าดงแห่งหนึ่ง แล้วสืบค้นหาพระพุทธรูปหินเก่าแก่มารวบรวมไว้ในที่แห่งหนึ่งเพื่อซ่อมแซม

9. กล่าวถึงพระศรีรัตนมหาธาตุ ชื่อ“ศรีธาญกดกา”ในปาตลีบุตรนคร ใกล้ฝั่งน้ำอโนมานที

10. กล่าวว่า พระกฤษณ์คือตนสมเด็จพระมหาเถรฯ เหมือนพระรามพระนารายณ์มาจุติ

11. กล่าวถึงพระเจดีย์สูงใหญ่ มีรูปสลักหินห้าร้อยชาติ แต่ถูกทำลายด้วยคนกลุ่มหนึ่ง

12. เล่าเรื่องสมเด็จพระมหาเถรฯมาจากลังกา ซ่อม“พระเก้าท่าน” แล้วประดิษฐานพระธาตุ“สองลูก”จากลังกาลงที่นั้น

13. เล่าเรื่องสมเด็จพระมหาเถรฯเมื่ออยู่ในลังกา ได้ซ่อม“มหิยังคณมหาเจดีย์” แล้วมีพรรณนาปรากฏการณ์พระธาตุเสด็จปาฏิหาริย์

14. กล่าวถึง“พระคีวาธาตุ”ที่ลังกากระทำปาฏิหาริย์ให้เห็น ชาวสิงหลเคารพนับถือสมเด็จพระมหาเถรฯยิ่งนักว่าเป็น“หน่อพุทธางค”

15. เล่าเรื่องสมเด็จพระมหาเถรฯเสด็จไปนมัสการพระมหาธาตุนอก“เมืองกำ พไล” ในลังกา
จารึกวัดศรีชุมมีข้อความสำคัญมากเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับประวัติศาสตร์แท้จริงของรัฐสุโขทัย

คือเรื่องพ่อขุนศรีนาวนำถุม(พระราชบิดาของพ่อขุนผาเมือง) เป็นผู้สถาปนารัฐสุโขทัยขึ้นมา ไม่ใช่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์อย่างที่ตำราเรียนประวัติศาสตร์ของทางการเขียนไว้