จารึกค้นพบใหม่ที่เวียงกุมกาม ระบุชื่อ ‘วัดอรรคมเหสี’ ฤๅจะเป็นคนเดียวกันกับ ‘นางอะตะปาเทวี’ แห่งวัดร่ำเปิง

พ่อหนานศรีเลา เกษพรหม นักอ่านจารึกภาษาโบราณ อดีตเคยทำงานที่สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แจ้งแก่ดิฉันนานหลายเดือนแล้วว่า ท่านได้ค้นพบจารึกบนแผ่นดินเหนียวจำนวน 2 ชิ้น พร้อมด้วยพระพิมพ์ดินเผากลุ่มหนึ่ง ในบริเวณเวียงกุมกาม จึงอยากเชิญดิฉันให้ไปช่วยศึกษาวิเคราะห์แลกเปลี่ยนความเห็นกัน

เนื่องจากเมื่อท่านได้ทำการอ่านข้อความของจารึก โดยเฉพาะชิ้นแรกแล้ว พบว่ามี “นัยยะอะไรบางอย่าง” ที่ละม้ายคล้ายคลึงกันอย่างมากกับ “จารึกวัดตะโปทาราม” หรือวัดร่ำเปิง ที่ทำขึ้นในปี 2035 ตรงกับสมัยพระญายอดเชียงราย อย่างมาก

จนพ่อหนานศรีเลาเชื่อว่าบุคคลผู้ที่สั่งให้ทำจารึกที่เวียงกุมกามนั้น น่าจะเป็นคนเดียวกันกับผู้สร้างวัดตะโปทาราม บุคคลผู้นั้นก็คือ “พระนางอะตะปาเทวี” อัครมเหสีชาวจีนห้อของพระญายอดเชียงรายนั่นเอง

ข้อความในจารึกวัดอรรคมเหสี

วันที่ 20 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ดิฉันมีโอกาสแวะไปขอข้อมูลและสัมภาษณ์พ่อหนานศรีเลาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ณ บ้านของท่านแถววัดไชยสถาน อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ท่านได้หยิบกระดาษ 4-5 แผ่นมาให้ดิฉันดู เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับจารึกสองชิ้นที่ท่านทำการปริวรรตถอดความไว้

สิ่งที่น่าสนใจคือจารึกชิ้นที่ 1 (ในที่นี้จะยังไม่ขอพูดถึงจารึกชิ้นที่ 2) ซึ่งพ่อหนานศรีเลาตั้งชื่อให้ไว้ว่า “จารึกวัดอรรคมเหสี” กำหนดอายุได้ราว พ.ศ.2035-2038 อันที่จริงตัวจารึกไม่ได้มีการจารปีศักราช แต่จากสำนวนเนื้อหาโดยรวมทั้งหมด ประกอบกับรูปแบบของตัวอักขระ ซึ่งเขียนด้วยอักษรฝักขามนั้น พ่อหนานศรีเลาฟันธงได้เลยว่า จารึกดินเหนียวชิ้นนี้ควรมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับจารึกวัดตะโปทาราม

เนื้อหาที่จารไว้มีเพียงด้านเดียว จำนวนก็ไม่ยาวนักแค่ 9 บรรทัด จากความสูงของแผ่นจารึก 25.5 เซนติเมตร กว้าง 24 เซนติเมตร และหนา 2 เซนติเมตร พ่อหนานถอดความและปริวรรตเป็นภาษาไทยได้ดังนี้

“ดูกรา ชาวเจ้าและนักบุญทั้งหลาย ในกาลเมื่อพระพุทธเป็นเจ้าประดิษฐานศาสนาไว้ วัดอรรคมเหสีเจ้า ก็หื้อ (ให้) อาราธนาสงฆ์เจ้าทั้งหลายมีประมาณ 100 ตน มาชุมนุมในฐานะที่นี้ เพื่อหื้อแล้วคำอนุญาตแห่งพระญาเจ้า หื้อแปลงรูป สร้างพระ สร้างวัด บุญทั้งมวลนี้ จงหื้อจำเริญสุข ต่อเท่าเถิงแดนนิรพานเทอญ”

เปรียบเทียบกับข้อความในจารึกวัดตะโปทาราม

พ่อหนานศรีเลากล่าวแก่ดิฉันว่า จารึกดังกล่าวมีคนในพื้นที่เวียงกุมกามขุดได้พร้อมกับกรุพระพิมพ์ดินเผาจำนวนหนึ่ง นำมาส่งมอบให้ท่านราวสองปีก่อน (ถือเป็นโบราณวัตถุที่ไม่ได้พบโดยเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร จากการขุดค้นทางโบราณคดี)

พ่อหนานศรีเลายินดีรับทั้งแผ่นจารึกและกลุ่มพระพิมพ์ดินเผามาศึกษา เมื่อทำการอ่านอย่างละเอียดหลายรอบจนแล้วเสร็จ ท่านได้นำจารึกนั้นไปมอบให้กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ เพื่อเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติต่อไป

พ่อหนานศรีเลากล่าวว่า จารึกชิ้นนี้ยังไม่เคยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่หรือหยิบมาพูดคุย ถกเถียงโดยนักวิชาการด้านล้านนามาก่อนเลย ทั้งๆ ที่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ ท่านก็พยายามเชิญคณาจารย์ นักวิชาการผู้สนใจเรื่องล้านนาศึกษามาพูดคุยถ่ายทอดข้อมูลหลายท่านแล้ว

สิ่งที่พ่อหนานศรีเลาตื่นเต้นดีใจก็คือ การปรากฏ “ลายแทง” หรือ “รหัส” หลายประโยค หลายวลี หลายวรรคตอน ในจารึกใหม่ชิ้นนี้ ที่สามารถนำไปเทียบเคียงได้กับข้อความที่ปรากฏในจารึกหลักสำคัญยิ่งคือจารึกตะโปทาราม

นับแต่ถ้อยคำแรกที่ใช้เป็นวลีเปิดประเด็น จารึกวัดอรรคมเหสีใช้ว่า

“ดูกรา ชาวเจ้าและนักบุญทั้งหลาย ในกาลเมื่อพระพุทธเป็นเจ้าประดิษฐานศาสนาไว้”

ในขณะที่วัดตะโปทารามเขียนว่า

“ดูกรา ชาวเจ้านักบุญทั้งหลาย ในกาลเมื่อพระพุทธศรีศากยมุนีโคตมะเป็นเจ้าประดิษฐานศาสนาไว้”

ข้อความถัดมา จารึกวัดอรรคมเหสีระบุว่า

“อาราธนาสงฆ์เจ้าทั้งหลายมีประมาณ 100 ตน มาชุมนุมในฐานะที่นี้”

ของวัดตะโปทารามเขียนด้วยสำนวนเดียวกันว่า

“เมื่อนั้นอะตะปาเทวีก็หื้ออาราธนาสังฆะทั้งหลายมีประมาณ 100 ตน (จากนั้นเป็นชื่อของพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ 5 รูป) มาชุมนุมในฐานะที่นี้”

ถัดมา จารึกค้นพบใหม่ที่เวียงกุมกามเขียนว่า

“เพื่อหื้อแล้วคำอนุญาตแห่งพระญาเจ้า หื้อแปลงรูป สร้างพระ สร้างวัด”

เมื่อเทียบกับจารึกตะโปทารามซึ่งเขียนว่า

“แล้วอะตะปาเทวีก็ขออนุญาตแห่งพระญาเจ้า พระญาเจ้าก็หื้ออนุญาต แล้วหื้อสร้าง (ศาสนวัตถุ) ประเทศที่นี้”

ข้อความสุดท้ายของจารึกดินเหนียวเวียงกุมกามเขียนว่า

“บุญทั้งมวลนี้ จงหื้อจำเริญสุข ต่อเท่าเถิงแดนนิรพานเทอญ”

ท่อนจบของจารึกวัดตะโปตารามเขียนว่า

“บุญทั้งมวลนี้ จุ่งหื้อจำเริญแก่พระเป็นเจ้า… จุ่งจักหื้อจำเริญสุข ต่อเท่าถึงแก่นิรพาน เทอญ”

ข้อควรวิเคราะห์ ความเหมือนในความต่าง

เมื่อดิฉันได้อ่านข้อความของจารึกทั้งสองชิ้นเปรียบเทียบกัน คำต่อคำ วลีต่อวลี ประโยคต่อประโยค ก็เห็นด้วยกับพ่อหนานศรีเลาว่า คนเขียนต้องเป็นคนเดียวกันแน่นอน มิใช่ว่าสำนวนดังกล่าวจักเป็นสำนวนมาตรฐานกลาง ที่ปรากฏในจารึกทุกหลักก็หาไม่

โดยเฉพาะร่องรอยของผู้สั่งให้ทำจารึกทั้งสองหลักใช้คำว่า “อรรคมเหสี” เป็นผู้มีอำนาจบารมีอย่างมาก ถึงขนาดที่ว่าสามารถอาราธนาพระสังฆราชาชั้นผู้ใหญ่ทั่วเชียงใหม่มารวมตัวกันได้ถึง 100 รูป ซึ่งข้อความเช่นนี้ไม่พบในจารึกหลักอื่นๆ

จารึกทั้งสองหลักมีความเหมือนในความต่างดังนี้

1 วัสดุที่ใช้แตกต่างกัน ของวัดตะโปทารามทำด้วยศิลา แต่ที่เวียงกุมกามทำด้วยดินเผา สีส้มอมเทามองเผินๆ แล้วคล้ายเนื้อปูน (ต้องขออภัยต่อผู้อ่านที่ในบทความนี้ไม่มีภาพประกอบตัวจารึกค้นพบใหม่ดังกล่าว เนื่องจากพ่อหนานศรีเลามอบจารึกจริงให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ไปแล้ว ภาพถ่ายที่ท่านมี ต้นฉบับไม่ค่อยชัดเจนเท่าใดนัก)

2 จารึกวัดตะโปทารามระบุศักราช แต่ของเวียงกุมกามไม่บอกปีที่จาร

3 จารึกวัดตะโปทารามมีขนาดใหญ่มาก เขียนข้อความเต็มทั้งสองด้าน ด้านแรก 23 บรรทัด และด้านหลัง 22 บรรทัด ถือว่าให้รายละเอียดชื่อบุคคล เหตุการณ์ สถานที่มากกว่าจารึกที่ได้จากเวียงกุมกามซึ่งเขียนไว้แบบย่นย่อเพียง 9 บรรทัด

4 จารึกวัดตะโปทาราม ระบุว่าสร้างโดย อรรคมเหสี (เขียน อรรค แบบสันสกฤต ไม่ได้ใช้ว่า อัคร แบบบาลี) และต่อมาก็บอกว่า อรรคมเหสีผู้นี้ชื่อ นางอะตะปาเทวี ส่วนของที่เวียงกุมกามระบุว่าเป็นวัดที่สร้างโดย อรรคมเหสี เช่นเดียวกัน

แถมวัดที่สร้างยังเรียกว่า วัดอรรคมเหสีเจ้า อีกด้วย ซึ่งตั้งอยู่ ณ จุดใดจุดหนึ่งในบริเวณเวียงกุมกาม เพียงแต่จารึกดินเหนียวไม่เอ่ยนามว่า อรรคมเหสีองค์นี้ชื่ออะตะปาเทวีแบบตรงๆ

ข้อควรพิจารณาและการศึกษาต่อยอด

หากสมมุติว่าจารึกที่พบใหม่ในเวียงกุมกามนี้เป็นของพระนางอะตะปาเทวี ผู้เป็นอรรคมเหสีของพระญายอดเชียงรายจริง ก็เท่ากับว่าเราได้พบหลักฐานชิ้นสำคัญเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์ โดยเรายังต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไปอีกหลายประเด็น อาทิ

การใช้คำว่า “อรรคมเหสี” นั้น หมายความว่าอย่างไรกันแน่ สรุปแล้วสถานะของพระนางอะตะปาเทวี อยู่สูงกว่า พระนางโป่งน้อย (สิริยศวดี แม่พระเมืองแก้ว) ผู้เป็นอัครชายาของพระยอดเชียงรายอีกองค์หรือเช่นไร? (ประเด็นนี้ยังมีการถกเถียงกันอยู่ บ้างว่าอะตะปาเทวีกับโป่งน้อยคือคนเดียวกัน?)

นอกเหนือไปจากบทบาทในการสร้างวัดร่ำเปิง (ตะโปทาราม) แล้ว จารึกวัดอรรคมเหสีที่ค้นพบใหม่ ยังทำให้เราทราบว่า พระนางผู้เป็นอรรคมเหสีของพระญายอดเชียงรายองค์นี้ยังไปสร้างวัดแห่งหนึ่งในเวียงกุมกามอีกด้วย

โดยเราไม่อาจมองข้ามบทบาทและความสำคัญของเวียงกุมกามไปได้เลย แม้ว่าเชียงใหม่จะเป็นราชธานีแทนที่เวียงกุมกามอย่างเป็นทางการแล้วก็ตาม ทว่าในสถานการณ์ช่วงหน้าสิ่วหน้าขวาน ยามเชียงใหม่มีภัยคุกคาม (เช่น ตอนที่พระไชยราชาแห่งกรุงศรีอยุธยายกทัพขึ้นมา “มหาเทวี” บางกลุ่มก๊วนก็ใช้เวียงกุมกามเป็นจุดหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า) พบว่าเจ้านายชนชั้นสูงมักไปหลบซ่อนตัวแถวเวียงกุมกาม คล้ายเป็นเซฟเฮาส์

ซึ่งเราไม่อาจทราบได้ว่า การมาสร้างวัดอรรคมเหสีของพระนางอะตะปาเทวีที่เวียงกุมกามนี้ มาด้วยเหตุผลใด หนีศึกหลบซ่อนตัวอะไรด้วยหรือไม่

การค้นพบกลุ่มโบราณวัตถุประเภท “พระพิมพ์ดินเผา” จำนวนมากพร้อมกับจารึกดินเหนียวสองแผ่น ที่มีรูปทรงและวัสดุแบบเดียวกัน สามารถใช้เป็นเครื่องบ่งชี้อะไรได้บ้างหรือไม่ เนื่องจากพระพิมพ์กลุ่มนี้ มีองค์ประกอบศิลปะที่แปลกแตกต่างไปจากพุทธศิลป์ล้านนาที่พบกันทั่วไปโดยสิ้นเชิง

กล่าวคือ พระพุทธรูปตอนกลางนั่งบนบัลลังก์สูงมาก ปรกโพธิ์ด้านหลังก็เน้นลวดลายที่แตกเส้นสายรายรวงเป็นกิ่งก้านช่อใบที่ดูโดยรวมแล้วคล้าย “ตาข่าย” ถักทอ

จุดเด่นคือฐานพระทุกองค์มักมีขีดสี่เส้นเสมอ จากการสอบถามพ่อหนานศรีเลาว่า “เซียนพระ” ให้ความเห็นอย่างไรต่อพระพิมพ์กลุ่มนี้ ท่านตอบว่า

“เซียนพระมีความเห็นแตกออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกบอกว่าไม่เคยเห็นพระพิมพ์ล้านนาที่มีรูปลักษณ์ประหลาดเช่นนี้มาก่อน จึงไม่ให้ราคา บางคนถึงขนาดตีเก๊ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง นำเนื้อดินไปพิสูจน์แล้วพบว่าเก่าถึง 500 ปีจริง เพียงแต่ไม่วายสงสัยว่าทำไมพิมพ์ทรงจึงแปลกพิสดารปานนั้น”

เป็นไปได้หรือไม่ว่า พระพิมพ์รูปแบบแปลกตากลุ่มนี้ เป็นอิทธิพลของศิลปะ “จีนห้อ” หรือกลุ่มคนจากสิบสองปันนา แถบยูนนาน อันเป็นถิ่นฐานบ้านเกิดเมืองนอนของนางอะตะปาเทวี ที่เราเคยตั้งข้อสันนิษฐานไว้ว่า พระนางน่าจะเป็นสตรีต่างแดนที่พระยอดเชียงรายมีจิตปฏิพัทธ์มากกว่าพระมเหสีโป่งน้อย?

เรื่องพระพิมพ์ดินเผาที่ค้นพบใหม่กลุ่มนี้ ควรมีการศึกษาเปรียบเทียบกับพระพิมพ์ในกลุ่มจีนใต้ต่อไป •

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ