“พลังลาว” ในราชสำนักสยาม และในความเป็นไทย | สุจิตต์ วงษ์เทศ

(ภาพประกอบ ภาพลายเส้นชาวลาว จากหนังสือ บันทึกการเดินทางของ อ็องรี มูโอต์ ในสยาม กัมพูชา ลาว และอินโดจีนตอนกลางส่วนอื่นๆ กรรณิกา จรรย์แสง แปล. สนพ.มติชน 2558)

“พลังลาว” จากลุ่มน้ำโขง มีอยู่ในตัวตนและสำนึกของกลุ่มคนที่เคลื่อนย้ายมาอยู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ไม่ได้สูญหายไปทางไหน

ต่อมาเมื่อรับวัฒนธรรมมอญ-เขมร เต็มที่แล้ว แม้จะเรียกตัวเองด้วยชื่อสมมุติขึ้นใหม่ว่า “คนไทย” แต่ “พลังลาว” ทั้งหลายบ้างก็ยังตกค้าง และบ้างก็ปรับเปลี่ยนเป็นวัฒนธรรมใหม่แล้ว แต่ยังเหลือเค้าให้เห็นได้ไม่น้อย

ดังที่สำรวจพบ เช่น แถน, เซิ้ง, ขับลำ, สำเนียงลาว, โคลงกลอน ฯลฯ

 

แถน เป็นขุนแผน

โองการแช่งน้ำ เรียก พระพรหม ว่า ขุนแผน ในโคลงสองฝั่งโขง ตอนไฟบรรลัยกัลป์ล้างโลก แล้วมีฝนมาดับไฟ เมื่อเย็นลงก็เกิดสวรรค์ จากนั้นพระพรหมเริ่มเนรมิตสร้างโลกมีดินมีฟ้า ว่า

ขุนแผน แรกเอาดิน ดูที่

ทุกยั้งฟ้า ก่อคืน

ขุนแผน ตรงนี้คือ แถน ผีฟ้าผู้สร้างโลก, คน และทุกสิ่งทุกอย่างในวัฒนธรรมลาว แต่เมื่อแพร่มาอยู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลางแล้วคนออกเสียงเพี้ยนเป็น แผน

เป็นพยานว่ากวีปราชญ์ราชบัณฑิตในราชสำนักอโยธยา-ละโว้ ยุคก่อนกรุงศรีอยุธยา ที่แต่งโองการแช่งน้ำยังยกย่องแถน แล้วบรรดาเจ้านายขุนนางและทหารใหญ่ที่ต้องเข้าพิธีถือน้ำฯ ยุคนั้นก็ยกย่องแถนเป็นผีสูงสุด เมื่อจะเรียกพระพรหมเทวดาสูงสุดของพราหมณ์

จึงเรียกด้วยความคุ้นชินของคนเคยอยู่ในวัฒนธรรมลาวด้วยคำว่าแถน แต่ออกสำเนียงเพี้ยนเป็นแผน ซึ่งเป็นสิ่งปกติทุกยุคทุกสมัย

 

เซิ้ง เป็น ร้องระเบ็ง

เซิ้ง เป็นพิธีกรรมสื่อสารด้วยการวิงวอนร้องขอโดยกลุ่มคนหลายคน เพื่อความอยู่รอดของชุมชนเป็นส่วนรวม เช่น เซิ้งบั้งไฟ, เซิ้งนางแมว ฯลฯ ที่เชื่อกันว่าเป็นพิธีกรรมขอฝน

ราชสำนักโบราณก่อนยุคอยุธยา ยกย่องเซิ้งไปปรุงให้ประณีตเพื่อใช้ในพิธีหลวง มีระบุอยู่ในกฎมณเฑียรบาลว่า ระเบ็ง หรือ โอละพ่อ

สมมุติผู้เล่นกลุ่มหนึ่งเป็นกษัตริย์มาจากหลายเมือง ต่างก็ถืออาวุธคือคันศรพร้อมกันเดินทางจะไปเฝ้าพระอิศวรที่เขาไกรลาส แล้วถูกขัดขวางจากผู้มีฤทธิ์ที่สาปจนสลบไปทั้งหมด ในที่สุดผู้มีฤทธิ์สงสารจึงถอนคำสาปให้กษัตริย์ต่างๆ ฟื้นขึ้นมาแล้วพากันกลับบ้านกลับเมืองของตน

การละเล่นมีเครื่องมือตีประกอบอย่างเดียวคือฆ้อง 3 ใบเถา ที่เรียกกันต่อมาว่า ฆ้องระเบ็ง ตีเป็นเสียง สูง กลาง ต่ำ กำกับจังหวะร้อง (หรือเซิ้ง) และรับร้องของผู้เล่น ซึ่งเริ่มด้วยบทถวายบังคมว่า

โอละพ่อถวายบังคม โอละพ่อประนมกรทั้งปวง โอละพ่อบัวตูมทั้งปวง โอละพ่อบัวบานทั้งปวง ฯลฯ

เพราะบทระเบ็งมักขึ้นต้นด้วยคำว่า โอละพ่อ บางทีจึงเรียกการละเล่นระเบ็งนี้ว่า โอละพ่อ ต่อจากนั้นเป็นบทเดินดงหรือชมดงว่า

โอละพ่อเทวัญมาบอก โอละพ่อยกออกจากเมือง โอละพ่อจะไปไกรลาส รักแก้วข้าเอยจะไปไกรลาส ฯลฯ รักแก้วข้าเอยจะไปชมนก รักแก้วข้าเอยจะไปชมไม้ ฯลฯ

แล้วก็ถึงบทปะทะ (หรือรบ), บทสาป, แล้วจบลงด้วยบทคืน

วิธีเล่นมีง่ายๆ ให้ผู้เล่นต้นเสียงคนหนึ่งร้องนำขึ้นก่อนว่า โอละพ่อถวายบังคม แล้วผู้เล่นทั้งหมดร้องรับทวนซ้ำเป็นลูกคู่ขึ้นพร้อมกัน พร้อมกับทำท่าถวายบังคม เมื่อจบคำร้องแต่ละวรรค ผู้บรรเลงจะตีฆ้อง 3 ใบเถาไล่จากเสียงต่ำไปหาสูง และจากเสียงสูงลงมาหาต่ำ เป็นหนึ่งชุดทุกวรรค

ต่อจากนั้นต้นเสียงเริ่มร้องวรรคต่อไป ผู้เล่นทั้งหมดก็ร้องรับเป็นลูกคู่ทวนซ้ำพร้อมกันเหมือนเดิม แล้วลุกขึ้นยืนยกเท้าย่างก้าว เข้าจังหวะแสดงกิริยาตามคำร้อง

เมื่อถึงบทถูกสาปให้สลบก็ให้ผู้เล่นทุกคนลงนอนทำท่าเหมือนสลบ เมื่อถอนคำสาปให้ฟื้น ผู้เล่นก็ลุกขึ้นมาเพื่อเตรียมทำท่าเต้นตามบทต่อไป

คำร้อง (เซิ้ง) คือภาษาร่ายเสรีที่ไม่เน้นสัมผัสระหว่างวรรค

ส่วนระเบียบและทำนองร้องนำแล้วมีลูกคู่ร้องทวน ก็คือประเพณีเซิ้งในวัฒนธรรมลาวของชุมชนชาวบ้านตระกูลไทย-ลาว ลุ่มแม่น้ำโขงที่ยังมีเหลืออยู่ทุกวันนี้นั่นเอง

 

ขับลำ เป็นขับเสภา

เสภา เป็นคำแผลงจากภาษาสันสกฤต แล้วขอยืมใช้เรียกการขับลำอย่างตระกูลลาวชนิดหนึ่งว่า ขับเสภา ที่มีกรับขยับกรอประกอบอย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีเครื่องดนตรีอย่างอื่น

แม้จะยืมคำว่าเสภามาจากภาษาสันสกฤต แต่ก็มิได้หมายความว่าประเพณีขับเสภามีแบบแผนมาจากอินเดียดังที่เชื่อกันมานาน เพราะในอินเดียไม่มีขับเสภา

แต่คำว่าเสภา มีหลายอย่าง เช่น เสภาดนตรี, เสภามโหรี, และเสภาอื่นๆ ฯลฯ แล้วมีในเอกสารครั้งกรุงศรีอยุธยา เช่น กฎมณเฑียรบาล, บทละคร, พระราชกำหนดเก่า ฯลฯ ทั้งหมดนั้นล้วนไม่เกี่ยวข้องกับการขับเสภาที่มีกรับ แต่หมายถึง เจ้าพนักงาน, เจ้าหน้าที่, นักดนตรี, ฯลฯ

ขับเสภา พร้อมขยับ กรับ มีพัฒนาการมาจากประเพณีขับลำคำขับของชาวบ้านในวัฒนธรรมลาว เช่น ขับซอ และหมอลำ ฯลฯ

ขับและลำ เป็นการละเล่นดั้งเดิมของประชาชนชาวสยามในตระกูลไทย-ลาว ที่มีความหมายเดียวกันมาแต่ยุคเริ่มแรก คือการเปล่งเสียงและถ้อยคำเป็นทำนองอย่างเสรี มีความยาวไม่แน่นอน โดยเน้นถ้อยคำเป็นหลักนำทำนอง มักเล่นเล่าเรื่องและโต้ตอบระหว่างหญิง-ชาย

การขับหรือลำยุคแรกๆ ใช้กรับทำด้วยกระบอกไม้ไผ่หรือซีกไม้ไผ่กระทบกันเป็นทำนองหรือจังหวะ มีร่องรอยเหลืออยู่ในกลุ่มชนเผ่าต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะที่อยู่ทางตอนใต้ของจีนทุกวันนี้

ลาวอีสานมีไม้สองอันเรียก กั๊บแก้บ ตีกระทบประกอบจังหวะลำ เรียก หมอลำกั๊บแก้บ หรือ หมอลำกรับ แต่ชาวไทยใหญ่ในพม่ามีประเพณีการเล่นเพลงพร้อมด้วยกรับเรียกว่าขับ โต้ตอบระหว่างชาย-หญิง

ประชาชนชาวบ้านบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเคยมีประเพณีขับลำคำกลอนต่างๆ มานานมากทีเดียว อาจมีมาแล้วตั้งแต่บ้านเมืองยุคแรกๆ จึงมีประเพณีขับซออยู่ในราชสำนักรุ่นเก่าแล้วต่อเนื่องมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ดังมีร่องรอยอยู่ในอนิรุทธคำฉันท์ ว่า “ปี่แคนซอลอง สำหรับลบอง เลบงเฉ่งฉันท์”

แต่ในชุมชนชาวบ้านพลิกแพลงการละเล่นได้เสรีและโลดโผนมากกว่าราชสำนัก จึงมีการละเล่นว่าเพลงสดด้นพร้อมกับกรอกรับสลับมโหรี ดังมีบันทึกของลาลูแบร์เล่าบรรยากาศสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ไว้

นานเข้าช่างขับชาวบ้านก็รับแบบแผนของชนชั้นสูงไปทีละน้อยๆ โดยพัฒนาคำขับพื้นเมืองให้เป็นกลอนที่มีระเบียบคำส่งสัมผัสต่อเนื่องอย่างบทละคร หรือกลอนเพลง (ปัจจุบันเรียก กลอนแปด)

แต่ถึงกระนั้นช่างขับก็ยังคงรักษาประเพณีขับลำลาวดั้งเดิมไว้อย่างเหนียวแน่น เช่น

คำขับลำดั้งเดิม มักขึ้นต้นว่า “แต่นั้น จักกล่าวเบื้องตามเรื่องนิทาน…” หรือ “บัดนี้ จักกล่าวเบื้องตามเรื่องนิทาน…”

ช่างขับก็จะปรุงให้มีเค้าเดิม มีตัวอย่างอยู่ในบทเสภาสมัยต่อมาว่า “จะกล่าวถึงเรื่องขุนแผนกับขุนช้าง ทั้งนวลนางวันทองผ่องศรี” หรือ “ทีนี้จะกล่าวถึงนายจันศร กล้าหาญมาแต่ก่อนดังราชสีห์” หรือ “ทีนี้จะกล่าวเรื่องเมืองสุพรรณ ยามสงกรานต์คนนั้นก็พร้อมหน้า”

ในที่สุดชื่อเสภาก็ถูกริบเป็นของช่างขับ ดังบทพระราชนิพนธ์เรื่องสังข์ทองของรัชกาลที่ 2 บอกว่า “เจ้าเงาะหัดตีกรับขับเสภา รจนาปั่นฝ้ายสบายใจ”

 

สำเนียงลาว เป็นสำเนียงหลวง

สําเนียงพูดของคนไทยสมัยแรกเคลื่อนย้ายลงมาอยู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นสำเนียงลาวหลวงพระบาง

แล้วมีตำนานสนับสนุนสอดคล้องกันเรื่องขุนบรม (อยู่หลวงพระบาง)ให้ลูกชายคนหนึ่งแยกครัวมาสร้างบ้านแปลงเมืองทางลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ส่งผลให้สำเนียงชาวสยามยุคอยุธยาใกล้เคียงสำเนียงลาว ฟังได้จากคำ “เจรจาโขน” ที่ไม่เปลี่ยนแปลงขนบ จึงเป็นพยานว่าสำเนียงหลวงในราชสำนักอยุธยาก็ใกล้เคียงสำเนียงลาว แต่ทุกวันนี้เรียก “เหน่อ” อย่างเดียวกับสำเนียงสุพรรณ

(ควรอ่านเพิ่มเติมอีกในบทความเรื่อง สืบสำเนียงชาวกรุงเก่าจากเสียงเจรจาโขนและจินดามณี โดย วริษา กมลนาวิน ภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิมพ์ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2547 หน้า 44-47)

 

โคลงกลอน

โคลงกลอนที่มีบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ไม่มีในคัมภีร์อินเดีย เพราะเป็นฉันทลักษณ์ดั้งเดิมสองฝั่งโขงที่มี “พลังลาว” เป็นรากฐานสำคัญ เช่น ร่าย, โคลง, กลอน (มีรายละเอียดอีกมากในหนังสือ โองการแช่งน้ำ ของ จิตร ภูมิศักดิ์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2525)

ทั้งหมดที่บอกมา ย่อมเป็นพยานว่าในราชสำนักสยามและในความเป็นไทยมี “พลังลาว”