ทำขวัญนาค ยกย่อง ‘แม่’ | สุจิตต์ วงษ์เทศ

ในฤดูบวชนาคบางแห่งมีพิธีทำขวัญนาค ต้องใช้เพลงนางนาคบรรเลงตอนเวียนเทียน

นาคเป็นสัญลักษณ์ของชนพื้นเมืองดั้งเดิมของอุษาคเนย์ แต่ในอินเดียมีชนเผ่านาคอยู่จริงๆ

ทุกวันนี้มีชนเผ่านาคอยู่เมืองนาค หรือ Naga Land ใกล้กับอัสสัม (หรืออาหม) พวกนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับนิทานเรื่องนาคแปลงร่างเป็นคนมาบวชในพระพุทธศาสนา ครั้นถูกจับได้ว่าไม่ใช่คนจึงไม่ให้เป็นพระภิกษุ ฝ่ายนาควิงวอนร้องขอให้เรียกชื่อผู้จะขอบวชว่านาคก็พอ

นิทานเรื่องนี้สืบหาต้นตอไม่ได้ว่าเกิดขึ้นอย่างไรแน่ เพราะสอบถามผู้รู้หลายท่านว่าอินเดียกับลังกามีการบวช แต่เรียกผู้จะบวชว่านาคหรือไม่? และมีพิธีทำขวัญนาคหรือไม่? ผู้รู้เหล่านั้นต่างยืนยันว่าไม่มี

ชื่อนาคกับพิธีทำขวัญนาคเห็นจะเป็นประเพณีพื้นเมืองของผืนแผ่นดินใหญ่ภูมิภาคอุษาคเนย์ โดยเฉพาะเขมร ลาว และไทย

พิธีทำขวัญนาคเกี่ยวข้องกับเพลงนางนาค เป็นพิธีกรรมเก่าแก่ที่สืบทอดประเพณีความเชื่อเกี่ยวกับนางนาคผู้เป็น “แม่” เพราะบททำขวัญนาคเกี่ยวข้องกับกำเนิดที่เริ่มปฏิสนธิในท้องแม่

บวชเป็นพิธีกรรมสำคัญของสังคมที่นับถือพระพุทธศาสนา เพราะคนคนหนึ่งจะเปลี่ยนสถานะจากคนธรรมดาๆ ไปเป็นพระภิกษุที่ได้รับการเคารพนับถือกราบไหว้จากคนอื่นๆ ที่ไม่ได้บวช

ประเพณีบวชสมัยก่อนใช้เวลาอย่างน้อย 3 วัน คือ วันแรก ทำขวัญ วันที่สอง บวช วันที่สาม ฉลองพระ

แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไป บางรายทำขวัญตอนสายแล้วบวชตอนบ่ายวันเดียวกัน แต่บางรายไม่ทำขวัญ เมื่อโกนหัวก็แห่เข้าโบสถ์บวชเลยก็ได้

ทำขวัญนาคตามความเชื่อของกลุ่มชนในภูมิภาคอุษาคเนย์โบราณ แต่ไม่มีในอินเดีย

ตามประเพณีเก่า ทำขวัญนาควันแรกตอนกลางคืน เพราะว่าพรุ่งนี้คือวันบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนานับเป็นวันสำคัญ คำทำขวัญนาคบอกว่า “…พ่อนาคเอ่ย วันพรุ่งนี้แล้วพ่อจะบรรพชาสิ้นมัวหมอง ทรงผ้ากาสาวพัสตร์ห่มครองเป็นภิกษุสงฆ์ นับเข้าเป็นญาติโดยตรงกับพระศาสนา อันหมู่มารร้ายนานาจงแพ้พ่าย…”

ฉะนั้น วันนี้จึงต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่ง เช่น ทำขวัญ ฯลฯ เพื่อให้ผู้จะบวชในวันพรุ่งนี้รำลึกถึง

สิ่งที่ควรให้ความสำคัญและควรแก่การรำลึกถึงก็คือความเป็นมนุษย์ คำทำขวัญบอกว่า “…พ่อนาคเอ่ย อันการที่จะได้เกิดเป็นมนุษย์นี้นับว่ายาก โดยอเนกจำนวนส่วนมากมักไปต่ำ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะอดีตอกุศลกรรมนำส่ง ให้ลงไปสู่ภูมิต่ำในอบายเหลือจะนับ นี่เป็นเพราะผลแห่งกุศลจึงได้กลับเกิดมาเป็นคน”

แต่ที่สำคัญอย่างยิ่งคือเป็นคนมีบุญ ได้พบพระพุทธศาสนา นับว่าพ่อนาคมีบุญมากจึงจะได้บวช ดังคำทำขวัญพรรณนาว่า “การที่จะได้พบพระพุทธศาสน์ก็ยิ่งล้นยากแสนยาก แม้ครั้งพุทธกาลก็มีอยู่มากเดียรถีย์ จึงนับว่าพ่อนาคนี้พ่อมีบุญ ได้เป็นหน่อเนื้อเชื้อพุทธางกูรอริยวงศ์ พ่อจึงมิได้ไปใหลหลงให้เนิ่นนาน”

“คนมีบุญ” ที่จะได้บวชเป็นผู้ชาย ไม่ใช่ผู้หญิง

แต่พื้นฐานทางสังคมของภูมิภาคอุษาคเนย์ให้ความสำคัญผู้หญิงสูงกว่าผู้ชาย เมื่อเป็นเช่นนี้สังคมจำเป็นต้องปรับประเพณีมิให้ขัดแย้งกัน นั่นก็คือยกย่อง “คนมีบุญ” นั้นแท้ที่จริงมีปฏิสนธิแล้วถือกำเนิดมาจากผู้หญิงผู้เป็นแม่นั่นเอง

ถ้าพิจารณาอีกทางหนึ่ง ประเพณีทำขวัญนาคก็คือพิธีให้ความสำคัญแก่ผู้เป็นแม่ เพราะวันพรุ่งนี้เมื่อนาคเข้าโบสถ์แล้วแม่จะหมดหน้าที่ ความสำคัญจะโอนไปอยู่ที่พ่อซึ่งเป็นผู้ชาย

นาคในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ เพิ่มเนื้อหา พร้อมคำอธิบาย บั้งไฟพญานาค และ นาค ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในโลกของความจริง นาคอาจเป็นเรื่องเหลวไหล ไร้สาระ แต่ในโลกของความเชื่อ นาคเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ ขลัง และมีอำนาจน่าเกรงขาม มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชุมชนบ้านเมืองและไพร่ฟ้าประชากรในภูมิภาคอุษาคเนย์ นี่แหละนาค — หนังสือ นาค มาจากไหน? ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ สำนักพิมพ์นาตาแฮก พิมพ์ครั้งที่สี่ พ.ศ.2565 ราคา 350 บาท

พิธีทำขวัญที่ให้ความสำคัญผู้เป็นแม่ เริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิ มีคำทำขวัญพรรณนาเป็นลำดับดังนี้

เรื่องปฏิสนธิ “…พ่อนาคเอ่ย เมื่อพ่อจะมาปฏิสนธิในครรภ์ของมารดา วิญญาณพ่อจะเวียนมาอยู่ตามทิศ ครั้นเมื่อแม่เอนกายสนิทลงหลับใหล ปฏิสนธิวิญญาณจึงเข้าสู่ได้ทางจมูก ถ้าเป็นหญิงก็เข้าถูกทางเบื้องซ้าย หากแต่ว่าพ่อนี้เป็นชายทางเบื้องขวาปฏิสนธินี้จึงบันดาลให้มารดานิมิตฝัน ถ้าหากได้แก้วอันแพรวพรรณก็เป็นชาย หากได้แหวนเครื่องอาภรณ์ท่อนสไบกลายเป็นหญิง

…ว่าครุวนาดังน้ำล้างเนื้อ ก่อตั้งขึ้นนับเป็นเยื่อหน้าผากก่อน ต่อจากนั้นจึงค่อยแตกตอนเบญจสาขา มีรูปร่างครบอาการมาสามสิบสอง นั่งผินหลังให้ทางหน้าท้องของมารดาประดุจวานรที่หวาดผวากลัวฝน เข้าหลบลี้หนีซ่อนตนในโพรงพฤกษา ตามคำโบราณท่านกล่าวมาเป็นดังนี้…

บัดนี้ ข้าพเจ้าจะขอกล่าวอีกทีถึงปัจจุบัน เพื่อให้รู้ทั่วกันประดับไว้ แพทย์พิสูจน์ว่าสตรีนั้นมีไข่ได้โปรดฟัง ไข่นั้นตั้งอยู่ที่รังที่ปีกมดลูก มีเอ็นยึดดังผูกไว้สองข้าง ตัวมดลูกนั้นมีรูปร่างคล้ายค้างคาว ปลายที่สุดคือปากมดลูกนั้นเล่าจรดช่องคลอด ปีกทั้งสองข้างคือที่ก่อหวอดตั้งรังไข่ ยามเมื่อสตรีเจริญวัยสู่ความสาว ครั้นเมื่อประจำเดือนมานั้นเล่าเกิดรังไข่ ไข่จะสุกทุกคราวไปยี่สิบแปดวัน พอสุกแล้วก็เลื่อนหลั่นลงมากลางมดลูก รออยู่ที่จะผสมให้เกิดลูกกับเชื้อชาย เมื่อไม่ได้ผสมก็ฝ่อไหลไปกับประจำเดือน เป็นที่สุดหยุดเคลื่อนตั้งต้นใหม่ อันเชื้อของฝ่ายชายแพทย์มุ่งมอง เมื่อนำมาส่องด้วยกล้องจึงเห็นครบว่ามีรูปร่างเหมือนลูกกบมีหางยาว เมื่อจะผสมก็ว่ายเข้าทางมดลูก พบเมล็ดไข่ที่สุกก็กัดหาง แล้วจึงแฝงตัวฝังในเมล็ดไข่ จึงเกิดแววขึ้นข้างในแต่โดยพลัน แล้วค่อยเจริญเติบโตขึ้นทุกคืนวันกลายเป็นหัว ต่อไปก็เกิดลำตัวหุ้มภายใน…

เมื่อตั้งครรภ์แล้วก็ถึงเวลาแพ้ท้อง จนกระทั่งคลอด หมอขวัญจะพรรณนาเป็นขั้นเป็นตอน มีตัวอย่างตอนคลอด ดังนี้

พอมีลมกัมมัตชวาตมาพัดพาเป็นยามปลอด พ่อร้อยชั่งพ่อก็คลอดเคลื่อนออกมาเป็นเพศชายร่างโสภางามยิ่งนัก แม่นี้ให้แสนนึกรักดังดวงใจ เอาลงอ่างอาบน้ำใสแล้วขัดสีขมิ้นดินสอพองขยี้ชโลมถู แล้วก็นำพ่อลงใส่อู่เปลที่นอน ยามเมื่อเจ้าร้องไห้อ้อนทำโยเยแม่ก็แกว่งไกวเปลแล้วเห่กล่อม หากเมื่อยามพ่องามละม่อมเจ้าผวา แม่ก็กอดเจ้าเข้าไว้แนบอุราอกสัมผัส ในเมื่อเจ้านี้เป็นหวัดได้รัดรุม แม่ก็จะหายาเอาสุมให้ผ่อนคลาย จนพ่อเติบโตเจริญวัยถึงเพียงนี้…”

จากนั้นก็เชิญขวัญ เบิกบายศรี แล้วทำพิธีเวียนเทียนด้วยการขับร้องและบรรเลงเพลงนางนาค ก็เป็นอันเสร็จพิธีทำขวัญนาคที่เน้นพระคุณแม่คือนางนาค

[สรุปจากหนังสือ นาค มาจากไหน? ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ สำนักพิมพ์นาตาแฮก พิมพ์ครั้งที่สี่ พ.ศ.2565] •