รอยพระพุทธบาท กับศาสนาผี บนเขายี่สาร

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

“ยี่สาร” เป็นชื่อของภูเขาแห่งเดียวในเขตพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม และถึงแม้ว่าจะเรียกกันว่าเป็นภูเขา แต่ก็เป็นเพียงแค่เนินเขาเตี้ยๆ เท่านั้นนะครับ ไม่ได้มีขนาดสูงใหญ่อะไรเลยสักนิด

อย่างไรก็ตาม พื้นที่บริเวณโดยรอบนั้นเป็นที่ราบลุ่ม จึงทำให้เขายี่สารกลายเป็นจุดหมายตา (landmark) ที่สำคัญของพื้นที่บริเวณนั้น ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรเลยสักนิดที่เราจะพบชุมชนโบราณตั้งอยู่โดยรอบเขายี่สาร และก็มีชื่อเรียกว่าชุมชนยี่สารไปด้วย

มีผู้อธิบายถึงความหมายของคำว่า “ยี่สาร” แตกต่างกันออกไปหลายความคิดเห็น บ้างก็ว่า กลายมาจากคำว่า “ปสาน” ที่แปลว่า ตลาด โดยเพี้ยนมาจากคำว่า “บาซาร์” ในภาษาเปอร์เซีย ที่ก็หมายความว่าตลาดเช่นกัน อีกทอดหนึ่ง เพราะพื้นที่บริเวณเขายี่สารนี้พบหลักฐานทางโบราณคดี ที่แสดงให้เห็นถึงการเป็นชุมทางทางการค้าในพื้นที่บริเวณนี้อย่างมากมายมาตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างน้อย

แต่บางท่านก็ว่าคำว่า “ยี่สาน” ควรจะกลายมาจากคำว่า “อี้ซาน” ในภาษาจีน โดยหมายถึง เขาลูกโดด มากกว่า เพราะยี่สารนั้นเป็นเขาแห่งเดียวในพื้นที่บริเวณนี้ จึงเป็นจุดหมายตาสำคัญของคนเรือในโลกยุคก่อนสมัยใหม่ ที่จะเข้ามาทำการค้าในพื้นที่บริเวณดังกล่าวนั่นเอง

ที่บอกว่าเป็นจุดหมายตาของคนเรือก็เพราะว่าเขายี่สารตั้งอยู่ติดกับคลองยี่สาร แถมยังตั้งอยู่ตรงบริเวณที่คลองอีกสายหนึ่งคือ คลองจั่น มาสบเข้ากับคลองยี่สาร จนเกิดเป็นเส้นทางคล้ายสามแยกของการคมนาคมทางน้ำ เรียกได้ว่าเขายี่สารนั้นตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่สำคัญสำหรับการคมนาคมในอดีตเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม คลองจั่นที่ว่านี้เป็นคลองที่ขุดขึ้นเพื่อเชื่อมกับคลองยี่สาร ส่วนคลองยี่สารนั้น ก็เกิดจากการขุดด้วยน้ำมือของมนุษย์ โดยใช้แรงงานควายให้ย่ำดินจนเกิดเป็นร่องน้ำ หมายความว่า แต่เดิมนั้นเขายี่สารอยู่ห่างไกลจากน้ำมากกว่าในปัจจุบัน แต่เพราะความสำคัญของเขาลูกนี้ ด้วยโทษฐานที่เป็นจุดหมายตาสำคัญในพื้นที่ จึงต้องมีการขุดคลองลัดให้เข้ามาอยู่ใกล้เขายี่สารมากยิ่งขึ้นกว่าในอดีต

ชุมทางน้ำอันเป็นที่ตั้งของเขายี่สารนี้ มีชื่อเรียกตามที่ปรากฏอยู่ใน “นิราศยี่สาร” ของ ก.ศ.ร.กุหลาบ (มีชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ.2377-2464) ว่า “อ่าวยี่สาร” ซึ่งก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าเนินเขาเตี้ยๆ ลูกนี้สำคัญขนาดไหน

กองหินที่ถูกรื้อมาจากหินตั้ง ประเภทเนินหิน ในศาสนาผี แล้วนำมาใช้รองเป็นฐานของวิหารพระพุทธบาท วัดเขายี่สาร

ในบริเวณพื้นที่ชุมชนยี่สารนี้ มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาผีประจำการอยู่ด้วยนะครับ นั่นก็คืออะไรที่คนในท้องที่เรียกว่า “พ่อปู่ศรีราชา”

ทุกวันนี้ศาลของพ่อปู่ศรีราชาตั้งไว้ที่เนินเขา โดยมีการสร้างอาคารให้ประดิษฐานใหม่อย่างใหญ่โตเลยทีเดียว

แต่ก่อนหน้าศาลของพ่อปู่ท่านไม่ได้ตั้งอยู่ตรงนี้ แต่ตั้งอยู่ตรงบริเวณที่ปากคลองจั่นที่มาสบเข้ากับคลองยี่สารจนเกิดเป็นทางสามแพร่ง ก่อนจะถูกย้ายออกไปเพราะการขยายตัวของชุมชน

อย่างไรก็ตาม ศาลที่เคยตั้งอยู่บนฝั่งที่ทางสามแพร่งนั้นก็น่าจะไม่ใช่นิวาสสถานเดิมของเจ้าพ่ออีกเหมือนกัน

เพราะบนเขายี่สารเองก็มีร่องรอยของสิ่งปลูกสร้างในศาสนาผีอยู่ด้วย

ร่องรอยที่ว่าก็คือก้อนหินจำนวนมาก ที่ปัจจุบันถูกนำมาก่อเป็นเหมือนหินรองพื้น เพื่อปรับพื้นที่สำหรับสร้างวิหารพระพุทธบาทบนยอดเขา อันเป็นสิ่งปลูกสร้างประธานของวัดเขายี่สาร

หินเหล่านี้ถูกขนย้ายมาจากที่อื่น เพราะเป็นหินคนละประเภทกับตัวเขายี่สารเอง ลักษณะแบบนี้แสดงเห็นว่าเคยมีสิ่งปลูกสร้างที่ก่อขึ้นจากหินอยู่บนยอดเขา แต่ถูกรื้อออกมาแล้วสร้างวัดในพระพุทธศาสนาขึ้นแทนที่

แน่นอนว่าสิ่งปลูกสร้างจากหินที่ว่านี้ย่อมเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาผีมาก่อน โดยลักษณะแบบนี้สามารถเปรียบเทียบได้กับที่วัดตะพานหิน และปรางค์เขาปู่จ่า จ.สุโขทัย ซึ่งต่างก็ตั้งอยู่บนยอดเขา, วัดเขาดีสลัก จ.สุพรรณบุรี (นี่ก็อยู่บนยอดเขา แถมยังเป็นการสถาปนารอยพระพุทธบาท ขึ้นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใหม่แทนที่ของเดิมเหมือนกับที่เขายี่สารอีกต่างหาก) เป็นต้น

ถูกต้องแล้วนะครับ ก่อนที่ “พ่อปู่ศรีราชา” จะต้องย้ายบ้านไปนั่งเฝ้าทางสามแพร่งที่ ก.ศ.ร.กุหลาบ เรียกว่า อ่าวยี่สารนั้น ที่ทำการของท่านน่าจะประจำอยู่บนยอดของเนินเขายี่สารมาก่อน แต่ต่อมาได้ถูกศาสนาพุทธเทกโอเวอร์ทั้งสถานที่ทำการ และความศักดิ์สิทธิ์ของพื้นที่ยอดเขาไปแทนนั่นแหละ

รอยพระพุทธบาทที่วัดเขายี่สาร

สิ่งที่ควรจะพิจารณาอีกอย่างก็คือ ตัววิหารพระพุทธบาท ที่วัดเขายี่สารนั้น ตั้งอยู่บนส่วนยอดของเนินเขา และตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำ ชวนให้นึกถึงตำนานเรื่องพระพุทธเจ้าประทับรอยพระพุทธบาทบนเขาสัจจพันธ์คีรี ดังมีปกรณัมเล่าไว้ในคัมภีร์ทางศาสนาพุทธที่ชื่อ ปปัญจสูทนี ในปุณโณวาทสูตรว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าพร้อมพระสงฆ์ผู้เป็นสาวกจำนวน 499 รูป ได้เสด็จไปเยือนวัดไม้จันทน์หอม ด้วยบุษบกลอยฟ้า

ระหว่างทางพระพุทธองค์และคณะได้หยุดพักที่เขาสัจจพันธ์ อันเป็นที่อยู่ของฤๅษีตนหนึ่งที่ชื่อว่า สัจจพันธ์ดาบส อันเป็นชื่อเดียวกันกับชื่อของภูเขา

พระพุทธเจ้าได้เทศนาสั่งสอนธรรมให้แก่ฤๅษีสัจจพันธ์จนยอมรับนับถือในพระพุทธศาสนา และยอมให้ติดตามพระองค์ไปยังวัดไม้จันทน์หอมพร้อมกันกับพวกของพระองค์ด้วย

โดยในขากลับนั้น พระองค์ได้แวะโปรดเหล่าพญานาคที่แม่น้ำนัมมทา แล้วได้ประทับรอยพระบาทไว้บนก้อนหินริมฝั่งแม่น้ำเพื่อให้เหล่านาคได้ใช้สักการะ ก่อนที่จะเสด็จขึ้นไปบนยอดเขาสัจจพันธ์คีรี แล้วประทับรอยพระบาทไว้บนก้อนหิน เพื่อไว้ให้สัจจพันธ์ดาบสใช้สำหรับเคารพบูชา ก่อนที่จะเสด็จกลับ

ชนชาวกรุงศรีอยุธยาเชื่อกันว่า พระพุทธบาทที่สระบุรีนั้น ซึ่งตามประวัติว่าพบในสมัยพระเจ้าทรงธรรม (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2153 หรือ 2154-2171) คือพระพุทธบาทบนเขาสัจจพันธ์คีรี ในขณะที่ผู้คนในประเทศเมียนมานั้น เชื่อว่าคือ รอยพระพุทธบาทที่ชเวเสตตอ (แปลตรงตัวว่า รอยพระพุทธบาททองคำ) ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำมาน ห่างออกไปทางตะวันออกของเมืองมินบู ในประเทศเมียนมา ราว 50 กิโลเมตร

โดยเฉพาะพระพุทธบาทที่ชเวเสตตอนั้น ได้สร้างขึ้นทั้งที่บนยอดเขา และที่ใกล้แม่น้ำมาน ต้องตรงกับเรื่องพระพุทธบาทบนเขาสัจจพันธ์คีรี และแม่น้ำนัมมทา ตามที่ระบุอยู่ในคัมภีร์ของพระพุทธศาสนาเลยทีเดียว

รอยพระพุทธบาทที่วัดเขายี่สาร ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับลำธารนั้น จึงควรที่จะสร้างขึ้นเพื่องจำลองความศักดิ์สิทธิ์ของรอยพระพุทธบาทบนเขาสัจจพันธ์คีรี เช่นเดียวกับที่สระบุรี และชเวเสตตอด้วยเช่นกัน

และก็ควรสังเกตด้วยว่า ในคัมภีร์ปปัญจสูทนีนั้นระบุว่า พระพุทธเจ้าได้ประทับรอยพระพุทธบาทลงบน “ก้อนหิน” ไม่ว่าจะเป็นบนฝั่งแม่น้ำนัมมทา หรือบนยอดเขาสัจจพันธ์คีรี โดยก้อนหิน โดยเฉพาะหินก้อนใหญ่นั้น เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาผีโบราณทั่วทั้งโลก

การที่พระพุทธเจ้าไปโปรดสัจจพันธ์ดาบส ให้ยอมรับนับถือศาสนาพุทธนั้นก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า แต่เดิมฤๅษีตนนี้นับถือศาสนาอื่น เช่นเดียวกับนาคที่แม่น้ำนัมมทา เพราะอะไรที่เรียกว่า “นาค” นั้นไม่ได้หมายถึงงูใหญ่เสมอไป แต่สามารถใช้เป็นภาษาสัญลักษณ์ของชนพื้นเมืองที่นับถือศาสนาผีดั้งเดิมของตนเองได้อยู่บ่อยครั้ง

ตำนานเรื่องการประทับรอยพระพุทธบาทที่บนยอดเขาสัจจพันธ์คีรี จึงเป็นเครื่องมือสร้างสิทธิธรรมอันดีในการอัปเปหิพ่อปู่ศรีราชา และสิ่งปลูกสร้างก่อด้วยหิน ซึ่งควรจะเป็นหินตั้ง ประเภทเนินหิน (cairn) ออกไปจากยอดของเนินเขาสำคัญอย่างยี่สาร พร้อมกับที่บรรจงปลูกวิหารประดิษฐานรอยพระพุทธบาทครอบทับเอาไว้แทน •

 

คำอธิบายภาพประกอบ

1-กองหินที่ถูกรื้อมาจากหินตั้ง ประเภทเนินหิน ในศาสนาผี แล้วนำมาใช้รองเป็นฐานของวิหารพระพุทธบาท วัดเขายี่สาร

2-รอยพระพุทธบาทที่วัดเขายี่สาร

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ