“ครุฑ” บนหน้าบันครูบาฯ ลีลา ลวดลาย ล้านนาต่อสยาม?

มีคำถามหนึ่งที่ดิฉันเฝ้าสงสัยในใจมาตลอด เวลามองดูงานสถาปัตยกรรมที่สร้างหรือบูรณะโดยครูบาเจ้าศรีวิชัย นั่นคือทำไมวัดหลายแห่งจึงปรากฏรูป “ครุฑ” ไม่ว่าจะบนหน้าบันของโบสถ์วิหาร หรือตามราวบันไดแทนที่ตำแหน่งของเศียรนาค

ในเมื่อครูบาเจ้าศรีวิชัย ประกาศตนแข็งข้อต่อสยามมาตลอด แล้วไฉนท้ายที่สุด จึงยอมสมาทานรับเอา “ครุฑ” สัญลักษณ์สำคัญที่สุดของงานสถาปัตยกรรมสยาม มาใช้ประดับตกแต่งตามวัดในสถาปัตยกรรมล้านนาอย่างกล่นเกลื่อน

ถูกใครบังคับ หรือนำมาใส่ครอบยุคหลัง มีวาระซ่อนเร้นทางการเมืองอะไรหรือไม่?

 

“ลายเซ็น” ครูบาคือ “ลายเสือ”

โดยปกติแล้ว วัดไหนก็ตามที่ได้รับการสร้างหรือบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่โดยครูบาเจ้าศรีวิชัย ย่อมมี “ลายเซ็น” ประดับไว้ด้วยรูปเสือ คล้ายกับเป็นสัญลักษณ์ประจำตัว ในฐานะที่ท่านเกิดปีขาล

ซึ่งลักษณะเช่นนี้ไม่เคยมีในประเพณีการสร้างวัดของล้านนามาก่อน

ตัวอย่างรูปเสือที่ปรากฏอยู่บนหน้าบัน (หน้าแหนบ) โบสถ์วิหารที่สร้างโดยครูบาเจ้าศรีวิชัย ก็เช่น หน้าแหนบจตุรมุขที่วัดพระบาทตากผ้า ป่าซาง วัดสวนดอก เชียงใหม่ วัดพระธาตุหริภุญไชย ลำพูน เป็นต้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่วัดบ้านปาง ต.ศรีวิชัย อ.ลี้ ลำพูน เป็นวัดบ้านเกิดของท่าน ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้นำรูปเสือในลักษณะประติมากรรมลอยตัว มาใช้ประดับแทนที่ตำแหน่งของ “มกรคายนาค” หรือพวก “สิงห์ไถ่บาป” ตรงบันไดทางขึ้นเขาสู่พระอารามอีกด้วย

หากถอดสัญลักษณ์ให้ดี พบว่านี่คือการประกาศเขตพื้นที่ทางการเมืองผ่านงานทางศาสนา พุทธสถาปัตย์ที่สร้างโดยครูบาเจ้าศรีวิชัยภายหลังจากที่ต้องอธิกรณ์ (ถูกฟ้องว่าทำความผิด) ครั้งแรกระหว่างปี พ.ศ.2452-2453 จึงเน้นการแสดงออกถึงลวดลายอัตลักษณ์ของท่านอย่างชัดเจน ส่งผ่านมายังลายเซ็นรูปเสือ

เพื่อเสริมสร้างบุญบารมีทั้งทางธรรมและทางโลก!

 

ครุฑแบก ครุฑยุดนาค ถึงครุฑพ่าห์

ชื่อเสียงของครูบาเจ้าศรีวิชัย แม้จะผ่านกระบวนการไต่สวนรับรองความบริสุทธิ์จากอำนาจรัฐสยามหลายครั้ง เห็นได้จากคำตัดสินขั้นเด็ดขาดของสมเด็จกรมพระวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราช ทรงมีพระวินิจฉัยเป็นที่ยุติว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยไม่มีความผิด

แต่เรามิอาจปฏิเสธได้เลยว่า ทุกความเคลื่อนไหวของครูบาเจ้าศรีวิชัยนั้น จักเป็นอิสระอย่างแท้จริงโดยไม่ถูกจับตามองจากคณะสงฆ์ที่สังกัดมหาเถรสมาคม

แน่นอนว่าแรงกดดันทางการเมืองนี้ ย่อมมีอิทธิพลครอบงำต่อการแสดงออกซึ่งสัญลักษณ์ในงานสถาปัตยกรรมของครูบาศรีวิชัยผ่านการใช้รูป “พระครุฑพ่าห์”

ครุฑ หรือการูด้า-Garuda ในภาษาชวา อันที่จริงเป็นอมนุษย์จำพวกกึ่งสัตว์กึ่งเทพ มีหัว ปีก เล็บ และปากเหมือนนกอินทรี แต่ตัวและแขนเหมือนคน แถมยัง “หน้าขาว” โดยไม่ต้องสวมหน้ากาก ปีกแดง ลำตัวเป็นสีทอง วางท่าดุร้าย สวมเครื่องประดับมากมายเหมือนเทพทั้งหลาย นับแต่สังวาล พาหุรัด ทองกร มงกุฎทรงน้ำเต้า แต่จักไม่สวมเสื้อ

ชาวฮินดูถือว่าครุฑเป็น “ราชา” แห่งนกทั้งหลาย โดยผูกนิทานให้ครุฑอยู่ใน “วิมานฉิมพลี” ดินแดนลี้ลับยากแก่การเข้าถึง แถมยังมีฤทธานุภาพสูง คือสยายปีกบินได้ระยะทาง “กวักละหนึ่งโยชน์”

การสมาทานรับเอาครุฑ ซึ่งเป็นเรื่องราวของฮินดูมาใช้กับศิลปกรรมในศาสนาพุทธนั้น ก็เพราะความเชื่อที่ตกค้างกันมาว่า พระมหากษัตริย์คือพระผู้เป็นเจ้าอวตารลงมาเพื่อปราบทุกข์เข็ญ เฉกเช่นการอวตารของพระนารายณ์

“พระนารายณ์” หรืออีกชื่อคือ “พระวิษณุ” นั้นถือเป็นเทพเจ้าสูงสุดหนึ่งในสามหรือ “ตรีมูรติ” ที่ชาวฮินดูเคารพศรัทธา โดยมี “ครุฑ” เป็นพาหนะ

การถ่ายทอดสัญลักษณ์รูปครุฑสู่งานศิลปกรรม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงกล่าวไว้ใน “สาส์นสมเด็จ” ว่า มีการทำรูปครุฑสองแบบ แบบแรกคือมีพระนารายณ์ประทับอยู่บนหลังครุฑ เรียกว่า “นารายณ์ทรงสุบรรณ”

แบบที่สองคือมีเฉพาะรูปครุฑเดี่ยวๆ ไม่มีเทพเจ้าตอนบน ซึ่งแบบหลังนี้ ยังแบ่งแยกย่อยออกเป็น 3 รูปแบบ คือครุฑแบก ครุฑยุดนาค และ “ครุฑพ่าห์”

ครุฑแบก แสดงท่ายกมือสองข้างเทินแบก “เขาพระสุเมรุ” ไว้บนหัว ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่คติของพราหมณ์ แต่เป็นคติพุทธ จากวรรณกรรมศาสนาเรื่องไตรภูมิ กล่าวถึงเทพผู้รักษาเขาพระสุเมรุตามชั้นต่างๆ หนึ่งในนั้นมีครุฑรวมอยู่ด้วย

ทำไมครุฑต้องยุดนาค เหตุเพราะสัตว์หิมพานต์สองจำพวกนี้เป็นอริกันมาช้านาน มีเรื่องวิวาทกันอยู่เนืองๆ ในที่สุดนาคเป็นฝ่ายแพ้และต้องตกเป็นอาหารของครุฑ ดังนั้น ทุกครั้งที่ครุฑพบนาค จึงต้องจับนาคกินเป็นอาหารจนหมดสิ้น

ครุฑยุดนาคอยู่ดีๆ แล้วนาคหายไปไหนเมื่อไหร่เล่า ไยจึงเหลือแต่ครุฑยืนกางกรเพียงเอกา ไม่มีทั้งเจ้านายและศัตรู แล้วเปลี่ยนชื่อเรียกใหม่เป็น “ครุฑพ่าห์” พ่าห์ หมายถึง “พาหนะ”

ที่มาของครุฑพ่าห์ สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงกล่าวไว้ในหนังสือเล่มเดิมว่า ในช่วงที่ต้องออกแบบรูปครุฑ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยทรงมีพระราชประสงค์จะนำไปใช้เป็นตราประทับกำกับพระปรมาภิไธยในหนังสือราชการแผ่นดินนั้น

รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า “ของเดิมเป็นครุฑจับนาค นาคที่ครุฑจับนั้นเป็นอะไร เป็นอาหารครุฑเท่านั้น ดูตะกลามเต็มที จะไปไหนนิดก็ต้องหิ้วของกินไปด้วย จึงโปรดให้ยกนาคออกเสีย”

วิวัฒนาการของครุฑ ที่เราเห็นคุ้นตาในปัจจุบัน จึงเป็นรูปครุฑตัวเดียว กางกรอยู่ในท่าร่ายรำตามแบบครุฑของเขมร

ครุฑไม่เพียงแต่เป็นดวงตราพระราชลัญจกร สำหรับประทับกำกับพระปรมาภิไธยของรัชกาลที่ 5 เท่านั้น แต่ยังได้ขยายผลกลายเป็นตราประทับหนังสือสำคัญของทางราชการไทย จวบมาจนปัจจุบันนี้

เห็นครุฑประดับตามอาคารสถานที่แห่งไหน เป็นที่เข้าใจกันได้ทันทีว่า สถานที่แห่งนั้นย่อมเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพราะถึงอย่างไรรูปครุฑก็สื่อความหมายว่า พระมหากษัตริย์คือสมมติเทพ

ตามธรรมเนียมแล้ว ผู้มีสิทธิ์นำรูปพระนารายณ์ทรงสุบรรณ มาใช้ประดับบนหน้าบันโบสถ์วิหารได้ก็มีเพียงแต่วัดหลวง หรือพระอารามที่สร้างและปฏิสังขรณ์โดยพระมหากษัตริย์เท่านั้น

แม้แต่พระบรมวงศานุวงศ์องค์อื่นๆ เช่น วังหน้า วังหลัง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช พระราชมารดา พระราชปิตุลา ฯลฯ ยังถูกกำหนด “ฐานานุศักดิ์” ให้ใช้ลวดลายอื่นๆ ตกแต่งในกรอบหน้าบันแทนรูปครุฑ ซึ่งสงวนไว้รองรับเฉพาะองค์พระมหากษัตริย์เท่านั้น

แต่ครั้นเมื่อครุฑได้รับการปรับเปลี่ยนหน้าที่ไปสู่ “ครุฑพ่าห์” ตามยุคสมัย จากที่เคยเป็นสัญลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์ ก็ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของรัฐบาลสยาม

คำถามที่ตามมา ต่อการประจักษ์รูปครุฑพ่าห์บนหน้าแหนบของวัดที่สร้างโดยครูบาเจ้าศรีวิชัย ก็คือเหตุไรจึงนำรูปครุฑมาใช้

ต้องการชิงดีกับอำนาจรัฐจากสยาม หรือเป็นตราประทับการยอมรับอำนาจของสยามที่มีต่อล้านนา?

ครุฑพ่าห์บนหน้าบัน
ช่วยลดแรงกดดันจากสยาม?

การนำครุฑพ่าห์มาประดับบนหน้าแหนบโบสถ์วิหารจำนวนหนึ่งที่สร้างโดยครูบาเจ้าศรีวิชัย น่าจะมีสาเหตุมาจากแรงกดดันจากภายนอก และยังสะท้อนถึงการดึงเอาสถาปัตยกรรมมารองรับเกมทางการเมืองอย่างชาญฉลาดของครูบาเจ้าศรีวิชัย

ครูบาเจ้าศรีวิชัยมิใช่คนแข็งขืนยืนขวางโลก ตึงแบบสุดโต่ง ดังที่ใครๆ เข้าใจและอยากให้ท่านเป็น

ท่านตระหนักดีว่า การที่สยามไม่สามารถลงโทษท่านได้เต็มที่นัก ไม่ว่าจะถูกต้องอธิกรณ์กี่ครั้งกี่ครา แต่ผลสุดท้ายก็ได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระทุกครั้งไป

มิใช่ว่าสยามเคารพยำเกรงในตัวท่าน หากแต่เพราะสยามกริ่งเกรงต่อพลังมวลชนที่หนุนอยู่เบื้องหลังของท่านจำนวนมหาศาลนั่นเอง เพราะหากเพลี่ยงพล้ำทำอะไรกับท่านเพียงคนเดียว ก็ย่อมหมายถึงการเป็นศัตรูกับชาวล้านนาทั้งหมด

หนึ่งในพลังมวลชนที่ช่วยเกื้อหนุนครูบาเจ้าศรีวิชัยอยู่ นอกเหนือจากกลุ่มนักบวช ชาวบ้าน ชนเผ่าจากที่สูงชาวปกากะญอ และคนพื้นเมืองล้านนาแล้ว ยังมีกลุ่มของชนชั้นกลาง คหบดีจีน ไปจนถึงชนชั้นปกครอง นักการเมืองท้องถิ่น และเจ้านายฝ่ายเหนืออีกด้วย

การประณีประณอมยอมรับเอารูปครุฑพ่าห์มาประดับบนหน้าแหนบโบสถ์วิหารล้านนา เห็นได้ว่าสร้างขึ้นในยุคที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้รับแรงสนับสนุนร่วมบูรณะจากกลุ่มชนชั้นสูงและเจ้านายฝ่ายเหนือในเชียงใหม่-ลำพูนแล้ว มิใช่เป็นการบูรณะโดยกลุ่มศิษยานุศิษย์ของครูบาเท่านั้น

วัดที่มีรูปครุฑพ่าห์ พบที่วัดพระสิงห์ เชียงใหม่ วัดพระแก้วดอนเต้า ลำปาง วัดศรีโคมคำ พะเยา ล้วนแต่เป็นวัดหลวง ที่ต้องใช้ทุนทรัพย์มาก รวมทั้งวัดเหล่านี้ ต่างก็มีผู้หวงแหนหลายฝักหลายฝ่าที่รู้สึกเป็นเข้าของ เกิดการถ่วงดุล แสดงบทบาทช่วงชิงพื้นที่ระหว่าง “หลวง” – “ราษฎร์” / “สยาม” – “ล้านนา” / “เจ้า” – “ไพร่”

ฉะนั้น การเลือกใช้สัญลักษณ์ รูปครุฑพ่าห์ตามวัดสำคัญเหล่านี้ แม้ถูกจัดอยู่ในทำเนียบว่าบูรณะโดยครูบาเจ้าศรีวิชัย แต่ก็หาใช่วัดที่ท่านสามารถนฤมิตแบบเบ็ดเสร็จตามมโนคติของท่านเพียงลำพังไม่

ถือเป็นการตัดสินใจทางการเมืองที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยยอมละทิ้งอัตลักษณ์ลายเซ็นรูปเสือ ยอมพบกันครึ่งทาง เพื่อต่อรองอำนาจกับรัฐบาลสยาม โดยหวังว่าจะช่วยลดแรงกดดันที่สยามเคยกระทำมาโดยตลอด

ไม่ใช่เฉพาะเพียงแค่ตัวท่าน หากหมายถึงการปลดปล่อยชาวล้านนาทั้งหมด