มวยไทย-มวยเขมร วัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์

ความบาดหมางทางวัฒนธรรมกับเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกัมพูชา ตั้งแต่กรณีโขนละครและอื่นๆ จะทยอยมาไม่จบสิ้น ล่าสุด เรื่องมวยไทยกับมวยเขมร ล้วนมีต้นตอจากสมัยชาตินิยมคลั่งเชื้อชาติทั้งของไทยและกัมพูชารับจากเจ้าอาณานิคมสั่งสมมามากกว่า 100 ปี

สำหรับไทยมีต้นตอจากประวัติศาสตร์ชนชาติไทยเชื้อชาติไทยสายเลือดบริสุทธิ์ ผู้ยิ่งใหญ่ไม่เหมือนใครในโลก และเป็นเจ้าของวัฒนธรรมไทย ใช้ครอบงำสังคมไทยนานนับศตวรรษถึงปัจจุบันยังไม่เปลี่ยนแปลง ทั้งๆ ไม่มีหลักฐานวิชาการสนับสนุน

คนไทยในวงวิชาการสากลเป็นที่รู้ทั่วไปคือลูกผสมนานาชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” เช่น เขมร, มอญ, มลายู-จาม เป็นต้น มีหลักฐานวิชาการรองรับสนับสนุนหนักแน่นทางประวัติศาสตร์, โบราณคดี, มานุษยวิทยา ชาติพันธุ์เหล่านั้นมีวัฒนธรรมการต่อสู้ด้วยอวัยวะตนเอง มือ-ตีน-แขน-ขา มาแต่ดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ก่อนกลายตนเป็นคนไทย ดังนั้น การต่อสู้ด้วยอวัยวะต่างๆ ที่มีในตัวคน ได้แก่ มือ-ตีน-แขน-ขา เป็นวัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์ ซึ่งมีในทุกชาติพันธุ์

แต่รัฐคลั่งเชื้อชาติไทยแบบยกตนข่มท่าน ไม่รับความเป็นลูกผสมของคนไทย จึงครอบงำเรื่องชนชาติไทยเชื้อชาติไทยสายเลือดบริสุทธิ์อย่างมีพลังทุกวันนี้ ทำให้หลงทางตีขลุมว่าวัฒนธรรมทุกอย่างเป็นของไทยแต่ผู้เดียว ส่วนคนอื่นรับไปจากไทย ดังนั้น การต่อสู้ด้วย มือ-ตีน-แขน-ขา คือมวยไทย เป็นสมบัติของไทยเท่านั้น ถ้าเพื่อนบ้านมีการต่อสู้อย่างนี้ถือว่าลอกเลียนจากมวยไทย ซึ่งเคยถูกต่อต้านมีหลักฐานดังนี้

“เดิมทีกีฬามวยหรือมวยไทยนั้น ถูกบรรจุเข้ามาอยู่ในกีฬาซีเกมส์ ตั้งแต่ครั้งที่ 23 ที่ประเทศฟิลิปปินส์เป็นเจ้าภาพ ที่กรุงมะนิลา เมื่อปี พ.ศ.2548 ซึ่งกว่าจะบรรจุเข้ามาได้ มีการต่อต้านอย่างมากมาย เพราะว่าแต่ละประเทศต่างก็เคลมกันว่าตัวเองมีมวยแบบประจำชาติตัวเองแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา, พม่า, ลาว ก็ตาม จนสุดท้ายจึงต้องใช้ชื่อการแข่งขันว่า มวย แทนที่จะใช้มวยไทยแทน” (จากคอลัมน์ เขย่าสนาม ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3-9 กุมภาพันธ์ 2566 หน้า 78)

 

ต่อสู้ด้วยมือ-ตีน-แขน-ขา

การต่อสู้ด้วยอวัยวะในตนเอง ได้แก่ มือ, ตีน, แขน, ขา เป็นวัฒนธรรมร่วมของอุษาคเนย์-อาเซียน จึงมีในทุกประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบ ซึ่งแต่ละประเทศมีชื่อเรียกต่างกัน โดยไทยเรียกว่ามวยราว 500 ปีมาแล้ว

การต่อสู้ด้วยมือ-ตีน-แขน-ขา เป็นวัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์ [ลายเส้นเชิงมวยหมัดเท้าเข่าศอก จากหนังสือสารานุกรมไทย เล่ม 17 ของ อุทัย สินธุสาร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2521 หน้า 3344-3346]

“มวย” เป็นคำเขมร

คำว่ามวยมีรากเหง้าจากคำเขมรแปลว่า รวบเป็นกลุ่มหรือก้อน มีความหมายตรงกับคําว่า หมัด หมายถึงมือที่กํารวบเป็นปั้น เรียก กําปั้น หรือ กําหมัด ใช้เป็นอาวุธในการต่อสู้ บางทีใช้ซ้อนกัน เรียก หมัดมวย [มวย ยังหมายถึง เกล้าผม หรือรวบผมเป็นมุ่นขมวด หรือเป็นกลุ่มบนกระหม่อม หรือท้ายทอย เรียกมวยผม, มุ่นผม, ขมวดผม]

ในไทย คําว่า มวย พบเป็นลายลักษณ์อักษรเก่าสุดอยู่ในกฎมณเฑียรบาล ราวเรือน พ.ศ.2000 เรียกปล้ำมวย หรือมวยปล้ำ ในบันทึกของลาลูแบร์ (ราชทูตฝรั่งเศส) เล่าการละเล่นสมัยพระนารายณ์ฯ ความว่ามวยที่ต่อสู้กันด้วยศอกและหมัด ในการชกมวยหมัดนั้น นักมวยพันมือของตนด้วยด้ายดิบ 3 หรือ 4 รอบแทนกําวงแหวนทองแดง

ยุคต้นอยุธยา ราวเรือน พ.ศ.2000 การต่อสู้ด้วยหมัดมวยขึ้นสังกัดกรมทนายเลือก มีหน้าที่ป้องกันพระเจ้าแผ่นดิน (ปัจจุบันเรียกทหารรักษาพระองค์) กรมทนายเลือก เป็นทหาร มีอาวุธประจําตัวคือหอก และมวย ได้แก่ หมัด เท้า เข่า ศอก

มวยไทย หมายถึง การต่อสู้กันด้วยอวัยวะที่มีอยู่ในตัวเอง ได้แก่ มือ-ตีน-แขน-ขา เหตุที่เรียกมวยไทยมีขึ้นหลังรู้จักมักคุ้นดีแล้วกับมวยสากลที่ใช้หมัดอย่างเดียวในการต่อสู้ ห้ามใช้อวัยวะอย่างอื่น

ก่อนหน้ารู้จักคุ้นเคยมวยสากล ไม่มีคําว่ามวยไทย มีแต่มวยเฉยๆ

 

มวยเขมร

“กุน ขแมร์” เป็นศิลปะการต่อสู้พื้นบ้านของประเทศกัมพูชา มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Kbach Kun Pradal Khmer มีความหมายว่า “การต่อสู้อย่างอิสระ” เป็นศิลปะการต่อสู้ท่ายืน มีเป้าหมายเพื่อน็อกคู่ต่อสู้ บีบให้ยอมแพ้หรือการชนะคะแนน

รูปแบบการแข่งขันของกุน ขแมร์ ที่จะใช้ในซีเกมส์ครั้งนี้ กัมพูชาได้ใช้ระเบียบการแข่งขันในซีเกมส์หนก่อนๆ มาใช้ในครั้งนี้ทั้งหมด แต่ส่วนที่แตกต่างกันคือไม่มีการไหว้ครูก่อนแข่ง และเปลี่ยนชื่อเป็นกุน ขแมร์ เท่านั้น

พอกัมพูชาทำแบบนี้ ทำให้เกิดข้อขัดแย้งขึ้นทันที เพราะเดิมทีกีฬามวยไทย (มวย) ถูกบรรจุเข้าอยู่ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์มาตั้งแต่เมื่อปี 2005 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ และมีกันมาโดยตลอด (มติชน วันจันทร์ที่ 30 มกราคม 2566 หน้า 12) •