ประวัติศาสตร์สังคมไทย หลากหลาย ‘ร้อยพ่อพันแม่’

ฝรั่งจากยุโรปประเทศทางตะวันตก เดินทางเข้าไปถึงอยุธยาครั้งแรกราว 500 ปีมาแล้ว เมื่อเรือน พ.ศ.2000 หลังจากนั้นต่างเรียกอยุธยาตามที่รู้มาว่าสยาม หมายถึงประเทศสยาม, ราชอาณาจักรสยาม แล้วเรียกสืบเนื่องจนถึงกรุงธนบุรี, กรุงรัตนโกสินทร์ กระทั่งทุกวันนี้เรียกประเทศไทย

สยามเป็นชื่อดินแดนหรือประเทศ ส่วนคนในสยามถูกเรียกชาวสยาม มี 2 ความหมาย ดังนี้ (1.) ชาวสยามพูดภาษาไทยเป็นภาษากลาง (2.) ชาวสยามประกอบด้วยคนหลายชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” หลายชาติภาษา ต้องมีภาษากลางเพื่อสื่อสารกับคนต่างชาติพันธุ์ที่พูดต่างภาษาโดยเฉพาะทางการค้าดินแดนภายใน ภาษานั้นคือภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาง่ายที่สุดของภูมิภาคสมัยนั้น

สมัยรัตนโกสินทร์สืบชื่อประเทศว่าสยามจากกรุงศรีอยุธยา ชาวตะวันตกเรียก ร.4 ว่า “พระเจ้ากรุงสยาม” ต่อมาถึงแผ่นดิน ร.5 ทรงมีลายเซ็นว่า “สยามินทร์” (หมายถึงผู้เป็นใหญ่กรุงสยาม)

สยามยังไม่มีประวัติศาสตร์สยามแบบสากล เนื่องจากสมัยนั้นมีพงศาวดารซึ่งไม่ใช่ประวัติศาสตร์ ดังนั้น ถึงปลายแผ่นดิน ร.5 เมื่อมีพระราชดำรัสทรงเปิด “โบราณคดีสโมสร” พ.ศ.2450 จึงทรงแนะแนวทางศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์สยาม หรือประวัติศาสตร์ของไทย ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ของประเทศหรือของสังคมไทย ที่มีดินแดนอันประกอบด้วยผู้คนหลากหลาย โดยไม่มีชนชาติไทยเชื้อชาติไทยสายเลือดบริสุทธิ์, ไม่มีถิ่นกำเนิดชนชาติไทยอยู่ทางใต้ของจีน, ไม่มีการรุกรานของจีนต่อชนชาติไทย ฯลฯ จึงมีโครงเรื่องโดยสรุปกว้างๆ แบ่งเป็น 4 สมัย ดังนี้

1. สมัยการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนเริ่มแรก (หรือสมัยก่อนประวัติศาสตร์) ร.5 มีพระราชดำรัสอ้างถึงประเทศที่ก้าวหน้า มีการค้นคว้าย้อนหลังได้หลายพันปี แต่สยามยังค้นคว้าไม่ถึงขนาดนั้น ซึ่งต้องพยายามร่วมกัน ดังนี้

“เรื่องราวของประเทศทั้งหลายซึ่งมนุษย์อาจจะทรงจำได้ ย่อมมีหลักถานอยู่เพียง 6000 ปี แต่ย่อมประกอบด้วยเรื่องราวอันไม่น่าเชื่อเจือปนเปนนิทาน ข้อความซึ่งได้มั่นคงอย่างสูงก็อยู่ภายใน 3000 ปี แต่ประเทศโดยมากในชั้นประจุบันนี้มักจะตั้งตัวได้เปนปึกแผ่นราว 1000 ปี เมื่อมีหนังสือเรื่องราวซึ่งเปนหลักถานมั่นคง ไม่เปนแต่ใช้เครื่องหมายเปนรูปนกรูปกาฤๅรูปภาพที่เขียนต้องคิดประกอบ——-”

2. สมัยการค้าระยะไกลทางทะเลสมุทร (หรือสมัยโลหะ เช่น ทองแดง, เหล็ก เป็นต้น) มีระบุในเอกสารอินเดีย เรียกสุวรรณภูมิ ราว 3,000-2,500 ปีมาแล้ว

ร.5 มีพระราชดำรัสความว่าหลักฐานพอเชื่อถือได้มั่นคง “อย่างสูงก็อยู่ภายใน 3,000 ปี”

3. สมัยการค้าโลก หรือสมัยประวัติศาสตร์ เริ่มรับวัฒนธรรมอินเดีย ได้แก่ ศาสนาพุทธและพราหมณ์-ฮินดู (นักโบราณคดีประวัติศาสตร์ศิลปะ เรียกสมัยทวารวดี) ราว 1,500 ปีมาแล้ว หรือหลัง พ.ศ.1000

ร.5 มีพระราชดำรัสอ้างถึงเมืองนครชัยศรี (นครปฐมโบราณ) เมืองละโว้ (ลพบุรีโบราณ) เป็นต้น

4. สมัยการค้าสำเภากับจีน (หรือสมัยละโว้-อโยธยา สืบเนื่องถึงกรุงศรีอยุธยา) ราว 1,000 ปีมาแล้ว หรือหลัง พ.ศ.1500

ร.5 มีพระราชดำรัสอ้างถึงเมืองอโยธยา (ทางฟากตะวันออกของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีอยู่ก่อนกรุงศรีอยุธยา) สืบเนื่องถึงกรุงศรีอยุธยา

คนในอยุธยาเริ่มเรียกตนเองว่าไทย หรือคนไทย สืบเนื่องถึงปัจจุบัน สอดคล้องหลักฐานจากประเพณีพิธีกรรมทุกวันนี้เป็นมรดกตกทอด 3,000 ปีมาแล้ว ได้แก่

(1.) พิธีกรรมหลังความตายทางศาสนาผี เรียกการฝังศพครั้งที่ 2 ราว 2,500 ปีมาแล้ว และยังทำสืบเนื่องจนทุกวันนี้ ได้แก่ เก็บศพนานหลายวัน, เก็บกระดูกไว้ในภาชนะ, มีมหรสพงานศพ เป็นต้น

(2.) วัฒนธรรมอินเดีย รับศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จากอินเดีย ประสมกลมกลืนศาสนาผีพื้นเมือง โดยเฉพาะเรื่องขวัญ จึงเกิด “ลัทธิเทวราช” ทั่วอุษาคเนย์รวมถึงไทย เห็นได้จากพิธีบรมราชาภิเษก และพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

บรรพชนไทยหลากหลายชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” เมื่อ 3,000 ปีมาแล้ว ขุดพบในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.2504 ที่บ้านเก่า ต.บ้านเก่า อ.เมืองกาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี โครงกระดูกมนุษย์คู่แรก (ซ้ายบน) โครงกระดูกชุดหลัง (สามภาพที่เหลือ)

จะเห็นว่าทุกอย่างราบรื่นเข้ากันได้ดีกับหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีหลายพันปีมาแล้วถึงปัจจุบัน (ซึ่งต่างจากประวัติศาสตร์สำนวนคลั่งเชื้อชาติที่ขัดไปหมดทุกเรื่อง แต่ชนชั้นนำดันทุรังใช้งานครอบงำมานานนับ 100 ปี ตลอดศตวรรษ 20)

ความหลากหลายในสังคมไทย ร.5 มีพระราชดำรัสไว้แล้ว ว่าประวัติศาสตร์สยามหมายถึงประวัติศาสตร์ดินแดนสยามและผู้คนชาวสยาม ซึ่งประกอบด้วยคนหลายชาติพันธุ์ในรัฐโบราณ โดยมีพระราชดำรัสบางตอน ดังนี้

“เราจะค้นหาข้อความเรื่องราวของประเทศสยามไม่ว่าเมืองใดชาติใดวงษ์ใด รวบรวมเรียบเรียงขึ้นเป็นเรื่องราวของประเทศสยาม”

“กรุงสยามเป็นประเทศที่แยกกันบ้างบางคราว รวมกันบ้างบางคราว ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินผู้ที่ปกครองก็ต่างชาติกันบ้าง ต่างวงษ์กันบ้าง”

ยอมรับความจริงมีทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว ซึ่งพระราชดำรัสบางตอนมีดังนี้

“ประเทศทั้งหลายซึ่งได้ควบคุมกันเปนชาติแลเปนประเทศขึ้น ย่อมถือว่าเรื่องราวของชาติตนแลประเทศตน เปนสิ่งสำคัญซึ่งจะพึงศึกษาแลพึงสั่งสอนกันให้รู้ชัดเจนแม่นยำ เปนวิชาอันหนึ่งซึ่งจะได้แนะนำความคิดแลความประพฤติ ซึ่งจะพึงเหนได้เลือกได้ในการที่ผิดแลชอบชั่วแลดี เปนเครื่องชักนำให้เกิดความรักชาติ แลรักแผ่นดินของตัว ถึงว่าเรื่องนั้นจะเปนเรื่องที่ชั่วช้าไม่ดีอย่างใด ก็เปนเครื่องที่จะจำไว้ในใจ เพื่อจะละเว้นเกียจกัน ไม่ให้ความชั่วความไม่ดีนั้นมาปรากฏขึ้นอีก”

 

บรรพชนร่วม

ประวัติศาสตร์ คือเรื่องราวความเป็นมาของประเทศชาติบ้านเมืองหรือสังคม รวมทั้งผู้คนที่มีทั้งความสำเร็จและล้มเหลว ซึ่งเกี่ยวข้องกับพื้นที่หรือดินแดนและคนหลากหลายชาติพันธุ์ในดินแดนนั้น

ไทยมีบรรพชนร่วมอุษาคเนย์ และมีวัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์ เพราะไทยมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาทั้งของพื้นที่และของผู้คนหลายชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” เป็นส่วนหนึ่งที่แยกไม่ได้จากภูมิภาคอุษาคเนย์ ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์หลายพันปีมาแล้วสืบเนื่องจนปัจจุบัน ซึ่งเชื่อมโยงสัมพันธ์เป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองโลกในประวัติศาสตร์โลก •