ก้าวหน้าแบบสากล ประวัติศาสตร์ 115 ปีที่แล้ว

ประวัติศาสตร์ คือเรื่องราวความเป็นมาของประเทศชาติบ้านเมืองหรือสังคมและผู้คนที่มีทั้งความสำเร็จและล้มเหลว ซึ่งเกี่ยวข้องกับพื้นที่หรือดินแดนและคนหลากหลายไม่จำกัดชาติพันธุ์

ไทยมีบรรพชนร่วมอุษาคเนย์ และมีวัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์ เพราะไทยมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาทั้งของพื้นที่และของผู้คนหลายชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” เป็นส่วนหนึ่งที่แยกไม่ได้จากภูมิภาคอุษาคเนย์ (South East Asia) ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์หลายพันปีมาแล้วสืบเนื่องจนปัจจุบัน ซึ่งเชื่อมโยงสัมพันธ์เป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองโลกในประวัติศาสตร์โลก

 

ประวัติศาสตร์สยาม

“ประวัติศาสตร์สยาม” เป็นประวัติศาสตร์แนวก้าวหน้าแบบสากล ซึ่ง ร.5 ทรงบอกไว้ราว 115 ปีที่แล้วในพระราชดำรัสสถาปนา “โบราณคดีสโมสร” หรือ “สมาคมสืบสวนของบุราณในประเทศสยาม” เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2450

[“สยาม” ในที่นี้หมายถึงพระราชอาณาจักรสยามสมัยนั้นซึ่งมีพัฒนาการเป็นประเทศไทยสมัยนี้]

พระราชดำรัส ร.5 มีสาระสำคัญโดยสรุป ดังนี้

1. ประวัติศาสตร์สยามหมายถึงประวัติศาสตร์ดินแดนสยามและผู้คนชาวสยาม ซึ่งประกอบด้วยคนหลายชาติพันธุ์ในรัฐโบราณ โดยมีพระราชดำรัสบางตอน ดังนี้

“เราจะค้นหาข้อความเรื่องราวของประเทศสยามไม่ว่าเมืองใดชาติใดวงษ์ใด รวบรวมเรียบเรียงขึ้นเป็นเรื่องราวของประเทศสยาม”

“กรุงสยามเป็นประเทศที่แยกกันบ้างบางคราว รวมกันบ้างบางคราว ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินผู้ที่ปกครองก็ต่างชาติกันบ้าง ต่างวงษ์กันบ้าง”

นอกจากนั้น ในพระราชดำรัสกล่าวถึงความเป็นมาของสยามหลายพันปีมาแล้ว (สมัยก่อนประวัติศาสตร์) ต่อมาจึงเป็นบ้านเมือง ได้แก่ กรุงนครชัยศรี (นครปฐมโบราณ), กรุงลพบุรี (ละโว้), เมืองนครศรีธรรมราช, เมืองอโยธยา เป็นต้น

2. เรื่องราวประวัติศาสตร์สยามที่ต้องทำความเข้าใจยอมรับความจริงมีทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวซึ่งพระราชดำรัสบางตอนมีดังนี้

“ประเทศทั้งหลายซึ่งได้ควบคุมกันเปนชาติแลเปนประเทศขึ้น ย่อมถือว่าเรื่องราวของชาติตนแลประเทศตน เปนสิ่งสำคัญซึ่งจะพึงศึกษาแลพึงสั่งสอนกันให้รู้ชัดเจนแม่นยำ เปนวิชาอันหนึ่งซึ่งจะได้แนะนำความคิดแลความประพฤติ ซึ่งจะพึงเหนได้เลือกได้ในการที่ผิดแลชอบชั่วแลดี เปนเครื่องชักนำให้เกิดความรักชาติ แลรักแผ่นดินของตัว ถึงว่าเรื่องนั้นจะเปนเรื่องที่ชั่วช้าไม่ดีอย่างใด ก็เปนเครื่องที่จะจำไว้ในใจ เพื่อจะละเว้นเกียจกัน ไม่ให้ความชั่วความไม่ดีนั้นมาปรากฏขึ้นอีก”

3. ไม่มีชนชาติไทยเชื้อชาติไทยสายเลือดบริสุทธิ์

4. ไม่มีถิ่นกำเนิดชนชาติไทยอยู่ทางใต้ของจีน

5. ไม่มีการรุกรานของจีนต่อชนชาติไทย

 

ประวัติศาสตร์ไทย

“ประวัติศาสตร์ไทย” ที่ใช้งานทุกวันนี้ไม่เป็นไปตามแนวคิด “ประวัติศาสตร์สยาม” เมื่อ 115 ปีที่แล้ว แต่ดำเนินตามประวัติศาสตร์ “ชนชาติไทย” (เชื้อชาติไทยสายเลือดบริสุทธิ์) มีถิ่นเดิมอยู่ทางตอนใต้ของจีน มีความเป็นมาโดยสรุป ดังนี้

(1.) นักค้นคว้าชาวยุโรป “เจ้าอาณานิคม” ค้นคว้าไว้ว่าถิ่นเดิมของไทยอยู่ทางตอนใต้ของจีน

(2.) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงแปลและเรียบเรียงเรื่องชนชาติไทยที่ชาวยุโรปค้นคว้าไว้ แล้วรวบรวมไว้ในพระนิพนธ์เรื่องตำนานหนังสือพระราชพงศาวดาร ว่าถิ่นเดิมของชนชาติไทยอยู่ทางตอนใต้ของจีน ต่อมาสถาปนาอาณาจักรน่านเจ้า โดยมีเบ้งเฮ็กเป็นชนชาติไทย หลังจากนั้นถูกจีนรุกรานโจมตียึดได้น่านเจ้า

(3.) ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย ดำเนินเนื้อตามพระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

(4.) หนังสือเรียนประวัติศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินเนื้อหาหลักตามประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพมีพระนิพนธ์เมื่อ 100 ปีที่แล้ว (พ.ศ.2457) ว่าถิ่นเดิมของไทยอยู่ในจีนทางใต้ตั้งแต่แม่น้ำแยงซี ซึ่งเป็นดินแดนมณฑลเสฉวนและมณฑลยูนนาน เป็นต้น ขณะนั้นดินแดนที่เป็นประเทศไทยทุกวันนี้เป็นถิ่นฐานของขอมและลาว

จะคัดพระนิพนธ์เฉพาะตอนนี้มาไว้ด้วย (จัดย่อหน้าใหม่ ให้อ่านสะดวก) ดังนี้

“พงศาวดารสยามเมื่อก่อนพระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงศรีอยุธยา

แผ่นดินอันเป็นที่ตั้งสยามประเทศนี้ แต่เดิมเป็นที่อยู่ของประชาชน 2 ชาติ คือ ขอมชาติ 1 ลาวชาติ 1

ชาติภูมิของขอมอยู่ที่แผ่นดินต่ำข้างใต้ คือที่เป็นเมืองเขมรเดี๋ยวนี้ และตามชายทะเลเข้ามาจนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาข้างตอนใต้ ตลอดออกไปจนเมืองรามัญ

ชาติภูมิของลาวอยู่ที่สูงข้างเหนือ ทางลุ่มแม่น้ำโขง ตั้งแต่เขาบรรทัดต่อแดนเมืองเขมรขึ้นมา คือในท้องที่มณฑลนครราชสีมาและมณฑลอุบล ร้อยเอ็ด อุดร ตลอดออกไปจนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง

ทางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานี้ ท้องที่มณฑลพายัพก็เป็นเมืองลาวเดิม เขตลาวข้างใต้เห็นจะลงมาต่อขอมราวเมืองสวรรคโลกและเมืองตาก

ประวัติศาสตร์สยามแนวก้าวหน้าแบบสากล มีในพระราชดำรัสของ ร.5 เมื่อสถาปนา “โบราณคดีสโมสร” พ.ศ.2450 [ภาพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกประทับยังรัตนสิงหาสน์ พระที่นั่งสรรเพชญ์มหาปราสาท และโปรดให้ข้าราชการและราษฎรมณฑลกรุงเก่าเข้าเฝ้าฯ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ร.ศ.126 (พ.ศ.2450)

ชนชาติขอมและลาวเดิมเป็นอย่างไร

จะรู้ได้ในเวลานี้แต่เพียงว่า บุคคลจำพวกที่เราเรียกว่า ข่า ขมุ เขมร มอญ เม็ง เหล่านี้ ภาษาที่พูดเป็นภาษาขอม จึงเข้าใจได้ว่า ชนชาติเหล่านี้เป็นเชื้อสายสืบมาแต่ขอม

ส่วนลาวนั้น ลาวเดิมคือคนจำพวกที่เราเรียกทุกวันนี้ว่าลัวะ และ ละว้า เดี๋ยวนี้ก็ยังมีอยู่ตามป่าตามเขาแทบทุกมณฑลที่เป็นเมืองลาวดิม มีภาษาพูดภาษา 1 ต่างหากเหมือนกัน ชื่อที่เรียกว่า ลัวะ และ ละว้า ก็มาแต่คำเดียวกับลาวนั้นเอง จึงรู้ได้ว่าพวกนี้เป็นลาวเดิม

ข้อนี้ ไทยเราชาวใต้ยังมักเข้าใจกันอยู่โดยมาก ว่าชาวเมืองที่อยู่ในมณฑลพายัพ มณฑลอุดร มณฑลร้อยเอ็ด และมณฑลอุบลทุกวันนี้เป็นลาว และเรียกเขาว่าลาว

ที่จริงหัวเมืองมณฑลเหล่านั้นแต่โบราณเป็นเมืองลาวจริง แต่ชาวเมืองทุกวันนี้โดยมากเป็นไทย (และเขาถือว่าตัวเขาเป็นไทย) เหมือนกับเราชาวใต้

ส่วนไทยนั้น ทุกวันนี้ก็มีเป็นหลายพวก และเรียกกันเป็นหลายชื่อว่า โท ไทย ผู้ไทย พวน ฉาน เฉียง เงี้ยว ลื้อ เขิน เป็นต้น คนทุกจำพวกเหล่านี้ล้วนพูดภาษาไทย และมีเรื่องราวรู้ได้ว่าเป็นไทยทั้งนั้น

ชาติภูมิเดิมของไทย อยู่ในแว่นแคว้นดินแดนที่เรียกทุกวันนี้ว่าประเทศจีนฝ่ายใต้ ตั้งแต่แม่น้ำยางสีมาทางเมืองเสฉวน เมืองฮุนหนำตลอดจนจดเมืองลาว ที่เหล่านี้ล้วนเป็นอาณาเขตเดิมของไทยทั้งนั้น”

ประวัติศาสตร์ไทยสำนวนนี้ได้รับการสืบทอดต่อเนื่องยาวนานจนปัจจุบัน สร้างปัญหาบาดหมางกับเพื่อนบ้านโดยรอบ •