ชาวมลายู พ่อค้า, โจรสลัด และชาวเรือที่สุดขอบโลก ในทัศนะของฝรั่งเมื่อ พ.ศ.600

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

การที่กลุ่มชนที่พูดภาษาตระกูลมลายูนั้น กระจายตัวอยู่ตามคาบสมุทร หมู่เกาะ และชายฝั่งทะเลอันไพศาลของภูมิภาคอุษาคเนย์ ทำให้มีบทบาทสำคัญในการเดินเรือมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งก็ย่อมจะทำให้มีทรัพยากรที่หลากหลาย พร้อมๆ กับที่ทำให้ชุมชนของชาวมลายูกลายเป็นแหล่งการค้าที่สำคัญ

แต่บทบาทของชาวมลายูไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะแค่การเป็นแหล่งการค้าเท่านั้นนะครับ เพราะยังหมายรวมถึงการเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางเดินเรือของตลาดสินค้าสำคัญ และการเข้าไปมีบทบาทในการค้าระหว่างรัฐโบราณของชุมชนในภูมิภาคอุษาคเนย์นี้ด้วย

ชาวมลายูถนัดในการเดินเรือขนาดเล็กซึ่งมีทุ่นกันคลื่น (หรือ perahu ในภาษามลายูตอนล่าง) มาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์แล้ว เรือชนิดนี้สามารถแล่นเลียบชายฝั่งไปได้ไกล

ดังนั้น ชาวมลายูจึงมีบทบาทเป็นอย่างสูงในการแลกเปลี่ยนสินค้าภายในอุษาคเนย์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เช่น การกระจายตัวของกลองมโหระทึกตามแนวชายฝั่งที่กว้างไกลจากเวียดนาม มาจนถึงคาบสมุทรมลายู ชวา และกาลิมันตัน ก็เป็นผลมาจากการค้าทางทะเลภายในภูมิภาค ที่มีชาวมลายูเป็นตัวละครหลักนี่เอง

ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ โลกของชาวมลายูตั้งอยู่ในเส้นทางการเดินเรือระหว่าง “จีน” และ “อินเดีย” ซึ่งเป็นทั้งตลาด และแหล่งผลิตสินค้าอันดับต้นของโลกมาตั้งแต่ยุคโบราณแล้ว

 

สําหรับการติดต่อระหว่างโลกมลายูกับจีน และอินเดียนั้น คงจะมีมาตั้งแต่ก่อน พ.ศ.500 แล้วเลยทีเดียว โดยเป็นการติดต่อสองทาง คือมีทั้งพ่อค้าจากจีนและอินเดียเดินทางเข้ามาในโลกมลายู และมีพ่อค้าจากมลายูเดินทางไปค้าขายที่อินเดีย หรือจีนด้วยเช่นกัน

แต่ชุมชนชายฝั่งของชาวมลายูเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงแต่สถานีการค้าโลกสวยเท่านั้นอีกนั่นแหละ เพราะยังเป็นชุมชนสลัดที่ทำการ “ปล้นสะดม” ไปพร้อมกันด้วย

สังเกตได้ว่า คำว่า “สลัด” ที่แปลว่า “โจรที่ปล้นชิงทางน้ำ” ในภาษาไทยนั้น ยืมมาจากคำว่า “salad” ที่แปลว่า “ช่องแคบ” ในภาษามลายู แต่ดั้งเดิมจึงหมายถึงโจรที่คอยดักปล้นชิงเรือสินค้าอยู่ตามช่องแคบ

แน่นอนว่า โจรเหล่านี้ก็ย่อมต้องมีแหล่งชุมนุมซ่องสุมที่อยู่ติดชายทะเล “ชุมนุม” ที่ว่านั้นก็คือ “ชุมชน” ชายฝั่งของชาวมลายูที่ก็คือสถานีการค้าไปด้วยในคราวเดียวกันนี่เอง

และก็เป็นด้วยลักษณะอย่างนี้เอง ที่ทำให้แต่ละชุมชนยังมีอำนาจอยู่ในขอบเขตที่จำกัด เพื่อแย่งผลประโยชน์กันก็คงจะทำให้มีการรบราฆ่าฟันกันระหว่างชุมชนอยู่ไม่น้อย

จนกระทั่งเมื่อได้ติดต่อกับอินเดียมากขึ้นก็จึงทำให้มีการซึมซับเอาอุดมการณ์ทางศาสนา และการเมืองการปกครองบางประการมาจากอินเดีย ในรูปของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และพุทธ

จนทำให้เกิดรากฐานที่จะก่อตัวขึ้นเป็นรัฐ หรือบ้านเมือง ที่มีการจัดสรรอำนาจลดหลั่นกัน ในขณะเดียวกับที่ขยายการจัดองค์กรทางสังคมครอบคลุมประชากรได้กว้างขวางยิ่งขึ้น

บางชุมชนชายฝั่งที่สามารถสร้างตัวขึ้นเป็นศูนย์กลางของรัฐ สามารถดูแลความสงบเรียบร้อยในเส้นทางการค้าได้บางระดับ ทำให้เรือสินค้าแวะจอดท่าเรือของตนเองได้มากกว่าชุมชนใกล้เคียง จึงทำให้มีอำนาจที่มาพร้อมกับความมั่งคั่งที่เพิ่มพูนขึ้นของชุมชน และก็ยิ่งเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้สามารถขยายอำนาจไปยังชุมชนชายฝั่งอื่นๆ มากขึ้นไปอีกด้วย

 

นับตั้งแต่หลังราว พ.ศ.600-700 จึงพบรัฐทั้งพราหมณ์-พุทธ กระจายตัวอยู่ตามชายฝั่ง ทั้งในเกาะสุมาตรา และคาบสมุทรมลายู ทั้งฝั่งตะวันตก และตะวันออก ช่วงเวลาดังกล่าวยังสัมพันธ์กับช่วงที่การค้าโลกข้ามสมุทรได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

จดหมายเหตุ Periplus Maris Erythraei หรือที่รู้จักกันในชื่อภาษาอังกฤษว่า Periplus of the Erythrean sea (คือบันทึกการเดินเรือในทะเลเอรีเธรียน ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่า “ทะเลแดง” แต่ทะเลแดงในความหมายของกรีกหมายรวมถึงอ่าวเปอร์เซีย และมหาสมุทรอินเดียด้วย) เขียนขึ้นโดยนักเดินเรือชาวกรีกเลือดผสมอียิปต์ ในช่วงหลัง พ.ศ.600 ไม่นานนัก ได้บันทึกเอาไว้ว่า ในช่วงใกล้เคียงกับ พ.ศ.600 นั้น ชาวโรมันเชื้อสายกรีกคนหนึ่งชื่อ ฮิบปาลุส (Hippalus) ได้ค้นพบกระแสลมมรสุมที่พัดตรงไปมาระหว่างทะเลแดงกับชมพูทวีปในช่วงฤดูใบไม้ผลิถึงฤดูร้อน

การค้นพบดังกล่าวก่อให้เกิดการเดินเรือตัดข้ามมหาสมุทร เป็นผลให้การค้าโลกขยายตัวขนานใหญ่ พ่อค้าสามารถเดินทางค้าขายระยะไกลได้สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น (ลมมรสุมนี้ภายหลังเรียกชื่อว่า ลมมรสุมฮิบปาลุส เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ค้นพบ)

ข้อความในหนังสือที่ว่า ยังมีหมายความซ่อนไว้อีกด้วยนะครับว่า ก่อนหน้าการโดยสารเรือระหว่างพื้นที่บริเวณนี้เป็นการเดินเรือเลียบชายฝั่งทะเล

เมื่อมีการค้าบริเวณเลียบชายฝั่งทะเลจึงไม่น่าแปลกใจอะไร ที่ชุมชนเลียบชายฝั่งทะเลจะพัฒนาใหญ่โตขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว

โดยเฉพาะเมื่อในหนังสือเล่มเดียวกันนี้เองยังมีข้อความระบุอีกว่า เรือจากฝั่งตะวันออกของชมพูทวีปไปยังสุวรรณภูมิ จะต้องใช้เรือท้องที่แล่นเลียบชายฝั่งไป โดยต้องเปลี่ยนเรือที่ปลายแหลมสุดของชมพูทวีป ซึ่งก็อาจจะหมายรวมไปถึง เรือขนาดเล็กซึ่งมีทุ่นกันคลื่น ที่เรียกกันในภาษามลายูตอนล่างว่า perahu นี่เอง

จดหมายเหตุ Periplus Maris Erythraei ฉบับเดียวกันนี้เอง ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกด้วยว่า

“แผ่นดินทอง เป็นดินแดนสุดท้ายที่คนอาศัยอยู่ทางทิศตะวันออกไกลสุดของโลก ณ บริเวณที่ตะวันขึ้น”

 

ชาวตะวันตกในช่วงเวลาดังกล่าว เรียกภูมิภาคอุษาคเนย์ในชื่อต่างๆ กัน แต่โดยรวมแล้ว มักจะรู้จักกันในชื่อ “Aurea Regio” ซึ่งหมายถึง “แผ่นดินทอง” ตามอย่างที่ระบุอยู่ในจดหมายเหตุข้างต้น โดยคำคำนี้มีความหมายตรงกันกับศัพท์สันสกฤตว่า “สุวรรณภูมิ” (คือ อุษาคเนย์ ภาคพื้นแผ่นดินใหญ่) หรือ “สุวรรณทวีป” (คือ อุษาคเนย์ส่วนคาบสมุทร และภาคหมู่เกาะ) ตามอย่างที่ปรากฏอยู่ตามชาดกในพระพุทธศาสนา หรือบันทึกต่างๆ ของชาวอินเดีย

ในทำนองคล้ายๆ กัน จีนก็เรียกพื้นที่บริเวณอุษาคเนย์ปัจจุบันว่า ‘จินหลิน’ ที่ก็แปลว่าแผ่นดินทองไม่ต่างกัน (บางท่านอธิบายว่า คำว่าจินหลินในเอกสารจีนนั้นเป็นคำเลียนเสียงภาษาถิ่นตามสำเนียงจีน ไม่ใช่คำที่มีความหมายว่า แผ่นดินทอง)

การที่เอกสารดินแดนต่างๆ เรียกอุษาคเนย์ในความหมายเดียวกันว่า แผ่นดินทอง นั้น แสดงให้เห็นถึงภาพพจน์อันรุ่มรวยของภูมิภาคแห่งนี้ในช่วงเวลาดังกล่าว

ดังจะสังเกตได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นนิทาน ข้อความพรรณนาในจดหมายเหตุ หรือบันทึก ไม่ว่าจะเป็นของฝรั่ง อินเดีย หรือจีน ก็ต่างล้วนจะอ้างว่า ผู้ที่สามารถมาทำการค้ายังสุวรรณภูมิ และสุวรรณทวีปได้ กลับไปจะกลายเป็นผู้มีฐานะมั่งคั่งร่ำรวย

แต่ความร่ำรวยที่ว่ามานั้น นอกจากจะเป็นเพราะสินค้าในภูมิภาคจำพวกเครื่องเทศหรือของป่าหายากแล้ว ก็ยังน่าจะหมายถึงสินค้าหรูหราที่นำเข้ามาจากจีน

ดังที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า ตั้งแต่ช่วงหลัง พ.ศ.500 เป็นต้นมา ชาวจีนได้เริ่มติดเรือจากมหาสมุทรอินเดียเข้ามาทำการค้า (ก่อนที่จะใช้สำเภาของตนเองในภายหลัง) ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การค้าโลกข้ามสมุทรในยุคหลังจากนั้นมาเฟื่องฟูยิ่งขึ้น

และก็เป็นที่แน่นอนด้วยว่า การค้าขายทางเรือของจีนในระยะแรกนี้ ต้องผูกโยงอยู่กับชนชาว “มลายู” ที่เป็นกลจักรสำคัญในการค้าโลกข้ามสมุทรในอุษาคเนย์ โดยที่ชาวเรือมลายูเหล่านี้คงจะมีความสำคัญในการค้ายุคนั้นมากทีเดียว จึงทำให้บันทึกของชาวตะวันตกหลายฉบับมักจะอ้างว่า อุษาคเนย์นั้นเป็นดินแดนทางด้านตะวันออกสุดของโลก เช่นที่ปรากฏข้อความในจดหมายเหตุ Periplus Maris Erythraei ดังที่ผมคัดมาให้อ่านข้างต้นนั่นแหละครับ