ปริศนาโบราณคดี : ‘วัดอุโมงค์’ (สวนพุทธธรรม) ศิลปกรรมที่เต็มไปด้วยปัญหา ด้านการกำหนดอายุ (2)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

‘วัดอุโมงค์’ (สวนพุทธธรรม)

ศิลปกรรมที่เต็มไปด้วยปัญหา

ด้านการกำหนดอายุ (2)

 

รองอำมาตย์โทชุ่ม ณ บางช้าง (อดีตครูสอนหนังสือที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ระหว่างปี 2460-2501) คือท่านแรกที่ได้ศึกษา สืบค้น และเปิดประเด็นเรื่องประวัติความเป็นมาของวัดอุโมงค์ เนื้อหาดังกล่าวนำมาสู่การตีพิมพ์หนังสือ “ประวัติวัดอุโมงค์” มากกว่า 20 ครั้งที่ทางวัดจัดทำขึ้น นับจากปี 2516 ถึงปัจจุบัน สรุปเนื้อหาได้ดังนี้

เนื่องจากพระญามังรายทรงทราบว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงส่งทูตไปนิมนต์พระเถระชาวสิงหลจากลังกามาจำพรรษาที่สุโขทัย 5 รูป พระญามังรายจึงขออาราธนาพระมหากัสสปะเถระ พระภิกษุลังกา 1 ใน 5 รูปจากพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มาประดิษฐานพระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ในนครเชียงใหม่

และพระมหากัสสปะเถระรูปนี้เองที่เป็นผู้วางรากฐานก่อสร้างเจดีย์วัดอุโมงค์ ทั้งนี้ ในสมัยพระญามังรายยังไม่ได้มีการขุดเจาะช่องอุโมงค์ วัดเมื่อยุคแรกสร้างชื่อวัดไผ่ 11 กอ (เวฬุกัฏฐาราม)

อาจารย์ชุ่มยังระบุด้วยว่า รูปทรงดั้งเดิมของพระเจดีย์วัดอุโมงค์นี้ไม่ได้ใหญ่โตเหมือนกับที่เห็นในปัจจุบัน ด้วยถูกครอบทับอีกครั้งในสมัยพระญากือนา

จากข้อมูลดังกล่าว มีสิ่งที่ชวนให้ศึกษาขบคิดแตกเป็นประเด็นแยกย่อยได้อีก 3 ประเด็น : 1.สายสัมพันธ์ระหว่างพ่อขุนรามคำแหงมหาราชกับพระภิกษุชาวลังกา 2.เรื่องปริศนาพระมหากัสสปะที่เวียงกุมกามในสมัยพระญามังราย 3.การตีความของอาจารย์ชุ่ม ว่าเจดีย์มีการครอบใหม่

เจดีย์วัดอุโมงค์ทรงพุกามผสมลังกา

ประเด็นแรก สายสัมพันธ์ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชกับพระภิกษุชาวลังกา หลักฐานจากศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงฯ หลักที่ 1 จารเมื่อ พ.ศ.1826 ซึ่งมักอ้างอิงถึงอย่างกว้างขวาง มีข้อความหนึ่งในหน้า 2 บรรทัดที่ 29-30 กล่าวว่า

“มหาเถรสังฆราชปราชญ์เรียนจบปิฎกไตร หลวก (ฉลาด) กว่าปู่ครูในเมืองนี้ ทุกคนลุกแต่เมืองศรีธรรมราชมา”

แม้ศิลาจารึกหลักที่ 1 พ่อขุนรามฯ ไม่ได้ระบุว่าบรรดา “ปู่ครู” หรือ “มหาเถร” ชาวนครศรีธรรมราชเหล่านั้นเรียนจบพระไตรปิฎกมาจากไหน แต่แวดวงการศึกษาก็ยอมรับกันโดยนัยว่าต้องผ่านกรุงลังกาอย่างไม่มีข้อสงสัย

ดังนั้น พระภิกษุที่ชื่อ “พระมหากัสสปะเถระ” ผู้ที่ขึ้นมาอยู่ในราชสำนักล้านนาสมัยพ่อขุนรามคำแหงฯ-พระญามังราย ก็ย่อมเดินทางจากลังกา-นครศรีธรรมราช-สุโขทัย-เชียงใหม่ จะเป็นหนึ่งในบุคคลที่ถูกจารึกถึงในศิลาจารึกหลักนี้ด้วยหรือไม่?

ปัญหาคือ เราไม่พบชื่อของพระภิกษุชื่อ พระมหากัสสปะในประวัติการสถาปนาพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ในเอกสารฝ่ายนครศรีธรรมราช ช่วงที่ตรงกับสมัยพ่อขุนรามคำแหงฯ แต่อย่างใดเลย

อนึ่ง รองศาสตราจารย์ประทีป ชุมพล (อดีตอาจารย์ภาควิชาภาษาไทย คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร) ได้ทำการศึกษาเรื่องพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ในนครศรีธรรมราชและสุโขทัย ได้ข้อสรุปว่า สมัยพ่อขุนรามคำแหงฯ นั้น

รูปปั้นพระญามังราย ผู้อนุญาตให้พระมหากัสสปะสร้างวัดอุโมงค์

พุทธศาสนาจากลังกาที่เข้ามาสู่นครศรีธรรมราชก็ดี จากนั้นส่งต่อมายังสุโขทัยก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นนิกายที่เรียกว่า “สำนักอภัยคีรี” (หรือสำนักเชตวัน) ทั้งสิ้น ซึ่งนิกายนี้มีอิทธิพลของลัทธิมหายานและฮินดูปะปน รวมทั้งใช้ภาษาสันสกฤตอีกด้วย

ซึ่งยังไม่ใช่ฝ่าย “สำนักมหาวิหาร” ที่ต่อมารู้จักกันในนามพุทธเถรวาทบริสุทธิ์ ต้นตำรับนิกายลังกาวงศ์ตรงกับสมัยพระญาลิไทไม่

ดังนั้น พระพุทธศาสนาจากลังกาในสมัยพ่อขุนรามคำแหงฯ และพระญามังราย จึงยังไม่น่าจะเรียกว่า “นิกายลังกาวงศ์” หรือ “ลัทธิลังกาวงศ์” แบบเต็มปากเต็มคำได้นัก แต่ควรเรียกว่า พระพุทธศาสนาจากลังกาสำนักอภัยคีรี

ตัวมอมสัตว์ผสมในจินตนาการ หมอบอยู่นอกกำแพงเขตพุทธาวาสของวัดอุโมงค์

ประเด็นที่สอง มีตำนานเอกสารเล่มใดระบุเรื่องราวเกี่ยวกับพระภิกษุชาวลังกาในสมัยพระญามังรายบ้างหรือไม่ พบว่ามีกล่าวถึงภิกษุรูปหนึ่งชื่อ “พระมหากัสสปะ” ในเอกสารชิ้นสำคัญคือ “ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่”

โดยกล่าวว่า ขณะที่พระญามังรายประทับที่เวียงกุมกามใน พ.ศ.1831 (หลังจากสร้างเวียงกุมกามเสร็จได้ 3 ปี) นั้น ทรงสร้างเจดีย์กู่คำ และวัดกานโถม

ณ วัดกานโถมมีต้นมะเดื่อใหญ่ต้นหนึ่งเป็นที่สิงสถิตของรุกขเทวดา (ภาษาล้านนาปัจจุบันเรียก “ไม้หมายเมือง”) พระญามังรายโปรดที่จะไปสักการะต้นมะเดื่อนี้เป็นประจำ

“ในกาลนั้น ยังมีมหาเถรเจ้า 5 ตน มีมหาเถรตนชื่อมหากัสสปะเป็นประธาน อันประกอบด้วยปฏิปริยัติอินทรียสังวรดีนัก ก็มาเล็งหัน (เห็น) ยังฐานะที่ไม้เดื่อตายนั้นเป็นที่สงัดวิเวกดีนัก มหาเถรเจ้าทั้ง 5 ตน ก็ลวดมาอยู่สถิตสำราญ”

เห็นได้ว่านามของ “พระมหากัสสปะเถระ” ได้ปรากฏขึ้นแล้วในฉากที่พระญามังรายประทับอยู่ที่เวียงกุมกาม ก่อนจะสร้างนครเชียงใหม่นานถึง 8 ปี เรื่องราวของพระมหากัสสปะยังคงดำเนินต่อไปในประเด็นที่พระคุณเจ้าได้เล่าถึงอานิสงส์ของการต่อนิ้วพระพุทธรูปให้พระญามังรายฟัง (อันจักได้แยกเขียนถึงในบทความชิ้นต่อๆ ไปอย่างละเอียด)

ซากโบราณสถานวัดกานโถม เวียงกุมกาม จุดที่เคยมีไม้มะเดื่อเป็นไม้หมายเมือง

สิ่งที่น่าคิดคือ ในเชิงอรรถของตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับที่แปลโดย ศ.อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และเดวิด เค.วัยอาจ ที่ดิฉันนำมาอ้างถึงนี้ ได้ทำหมายเหตุไว้ว่า “มหาเถรเจ้า 5 ตนนี้ ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นพระสงฆ์มาจากที่ใด อาจจะมาจากหริภุญไชย”

เรื่องนี้มีความน่าสนใจยิ่งว่า อาจารย์ชุ่มได้ข้อมูลเกี่ยวกับพระมหากัสสปะว่าเป็นชาวลังกามาจากเอกสารเล่มไหน ท่านสัมภาษณ์ใคร อย่างไร หรือสันนิษฐานเองโดยอาศัยเค้ามูลที่พบชื่อพระมหากัสสปะจากตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่

เพราะแม้แต่การแปลตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ของแม่ครูอรุณรัตน์ ผู้คร่ำหวอดด้านเอกสารโบราณชนิดหาตัวจับได้ยากตั้งแต่ราว 4-5 ทศวรรษก่อน ก็ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าพระมหากัสสปะเป็นชาวลังกา (รวมถึงเป็นผู้สร้างวัดอุโมงค์ด้วย) บอกแค่เพียงว่า พระมหากัสสปะและพระอีก 4 รูปมาจำพรรษาที่วัดกานโถมเวียงกุมกาม เท่านั้น

เรื่องราวของพระมหาเถรเจ้ากลุ่มหนึ่งที่พำนักอยู่ ณ เวียงกุมกามนั้น ยังมีเรื่องเล่าต่อไปอีกถึงตอนที่พระญามังรายเสด็จไปที่วัดช้างค้ำ ได้มี

“มหาเถรเจ้าหมู่ 1 เอาธาตุพระพุทธเจ้าแต่สิงหลที่เมืองลังกา มาหื้อ (ให้) แก่พระญามังราย 2 ดวง” พระญามังรายสรงน้ำพระธาตุ พระธาตุกระทำปาฏิหาริย์แตกเป็น 3 เสี่ยง จากนั้น

วัดช้างค้ำ เวียงกุมกาม ได้รับการบูรณะใหม่โดยกรมศิลปากร

“พระญามังรายก็เอาคำ (ทองคำ) พุ่น 500 ฝากมหาเถรเจ้าไปบูชามหาโพธิเจ้าในเมืองลังกานั้นแล” และต่อมา พระมหาเถรทั้ง 4 (ทำไมจึงเหลือ 4 ก่อนหน้านั้นยังมี 5 รูป หรือว่ามีรูปหนึ่งไม่ได้ไปลังกาด้วย?) ได้นำลูกมหาโพธิ์ 4 ลูกซึ่งได้จากการอธิษฐานจิตให้หล่นลงมาจากต้นศรีมหาโพธิ์ กลับมาถวายพระญามังราย

พระองค์โปรดให้นำไปปลูกตามเมืองต่างๆ ดังนี้ 1.ทุ่งยางเมืองฝาง 2.วัดรั้วหน่าง (ปัจจุบันเป็นวัดร้างอยู่ในบริเวณพื้นที่ก่อนสร้างวิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่) 3.เวียงท่ากาน และ 4.ลูกสุดท้ายให้พระราชมารดาของพระองค์ (นางเทพคำขร่าย) กับนางปายโค (มเหสี) นำไปปลูกแทนต้นมะเดื่อที่ตายแล้ว ณ วัดกานโถม

สะท้อนให้เห็นว่า แม้เดิมพระญามังรายจะนับถือผีบรรพบุรุษมาก่อนที่จะตีนครหริภุญไชยแตก แล้วเข้ารีตมาเป็นพุทธมามกะก็ตาม แต่ทรงสนับสนุนให้มีการปลูกต้นโพธิลังกา กับมีความเชื่อเรื่องการสรงน้ำพระธาตุแล้ว ในช่วงที่ประทับอยู่ ณ เวียงกุมกาม

แต่ก็อีกนั่นแหละ สิ่งที่เราสงสัยคือ พระมหาเถระ 1 ใน 4 ที่ไปลังกาโดยพระญามังรายมอบทองคำให้ 500 พุ่น (ชั่ง?) สำหรับเป็นค่าใช้สอยระหว่างเดินทางนั้น จะมีภิกษุที่ชื่อ มหากัสสปะ รวมอยู่ด้วยไหม

วัดหัวหนอง เวียงกุมกาม สภาพช้างหมอบยังเป็นแบบดั้งเดิม ไม่มีการบูรณะ

ประเด็นสุดท้าย การตีความของอาจารย์ชุ่ม ณ บางช้าง ว่ามีการสร้างครอบทับเจดีย์วัดอุโมงค์หลังเก่าของพระญามังรายไว้ด้านใน โดยผู้ครอบคือพระญากือนานั้น

แสดงให้เห็นว่า อาจารย์ชุ่มเองก็มองว่า รูปแบบเจดีย์ของวัดอุโมงค์องค์ปัจจุบันก็ไม่น่าจะเก่าไปถึงสมัยพระญามังรายได้

แม้ท่านจะเป็นผู้เปิดประเด็นเรื่อง พระมหากัสสปะผู้เป็นพระภิกษุชาวลังกา ซึ่งพ่อขุนรามคำแหงฯ ส่งมาจากสุโขทัย ให้จำพรรษาในนครเชียงใหม่เป็นรายแรกๆ ก็ตาม

สรุป ณ บรรทัดนี้ หลังจากที่ทำการวิเคราะห์เรื่อง “ตัวตน และความเป็นมาของพระมหากัสสปะ ว่ามีจริงหรือไม่” มาตั้งแต่ตอนแรกฉบับที่แล้วนั้น

ในมุมมองของดิฉัน เห็นว่าพระมหากัสสปะและคณะอีก 4 รูป เคยเดินทางมาจำพรรษา ณ วัดกานโถมที่เวียงกุมกามตั้งแต่ก่อนที่พระญามังรายจะสร้างเมืองเชียงใหม่ เรื่องนี้เป็นเหตุการณ์จริงที่มีการบันทึกไว้ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่

ต้นศรีมหาโพธิ์ที่พระญามังรายได้มาจากลังกาให้นำไปปลูก 4 แห่ง 1 ในนั้นคือที่เวียงท่ากาน

แต่ไม่มีการระบุเชื้อชาติ สัญชาติ ว่าพระมหาเถระทั้ง 4 ทั้ง 5 รูปนั้น เป็นชาวลังกา ชาวนครศรีธรรมราช ชาวสุโขทัย หรือชาวหริภุญไชย แต่ที่แน่ๆ พระญามังรายถวายปัจจัยเป็นค่าเดินทางแด่พระมหาเถระเหล่านั้นให้ไปนำหน่อพระศรีมหาโพธิ์จากลังกาขึ้นมายังเวียงกุมกาม

ส่วนพระมหากัสสปะ ผู้ที่อาจารย์ชุ่มทำการศึกษาเรียบเรียงแล้วระบุว่า ท่านเป็นพระภิกษุชาวลังกา ถูกพ่อขุนรามคำแหงฯ ส่งมา เนื่องจากพระญามังรายนิมนต์ให้ขึ้นมาเมืองเชียงใหม่นั้น ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ถึงกับต้องถกเถียงกันอย่างเอาเป็นเอาตาย

เอาเป็นว่า พระภิกษุรูปนี้ หรือพระมหาเถระกลุ่มนี้ เคยผ่านการเดินทางไปลังกามาแล้ว และเป็นกลุ่มพระมหาเถระที่พระญามังรายมีปฏิปทาเลื่อมใสศรัทธาอย่างมาก จนกระทั่งเมื่อท่านสร้างเวียงเชียงใหม่เสร็จ ก็อาจจะอาราธนาให้พระมหาเถระกลุ่มนี้ย้ายมาพำนักแถวเชิงดอยสุเทพ เนื่องจากเวียงกุมกามอาจไกลเกินไปหากมีกิจที่ต้องนิมนต์

สัปดาห์หน้า จักได้ทำการวิเคราะห์ถึงการเจาะช่อง “อุโมงค์” กันต่อไป ว่าเป็นผลงานของพระญากือนาหรือพระเจ้าติโลกราช?