ปริศนาโบราณคดี : ‘วัดอุโมงค์’ (สวนพุทธธรรม) ศิลปกรรมที่เต็มไปด้วยปัญหา ด้านการกำหนดอายุ (1)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

 

‘วัดอุโมงค์’ (สวนพุทธธรรม)

ศิลปกรรมที่เต็มไปด้วยปัญหา

ด้านการกำหนดอายุ (1)

 

ช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ดิฉันในนามของที่ปรึกษาสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้แก่มัคคุเทศก์และบุคคลทั่วไปที่สนใจหัวข้อ “เสน่ห์เชียงใหม่ 725 ปี 25 เจดีย์ที่ควรรู้จัก” ถึง 4 รุ่น

หนึ่งในวัดพื้นที่เป้าหมายที่ต้องพาผู้เข้าอบรมไปทัศนศึกษาก็คือ “วัดอุโมงค์” ซึ่งชาว มช.นิยมเรียกกันว่า “วัดอุโมงค์หลังมอ” แต่ป้ายชื่อวัดเขียนว่า “วัดอุโมงค์ สวนพุทธธรรม” (เนื่องจากยุคสมัยหนึ่ง เจ้าชื่น สิโรรส เคยอาราธนาท่านพุทธทาสภิกขุจากสวนโมกขพลาราม ไชยา มาจำพรรษาที่นี่)

ทว่า คนโบราณเมื่อ 100 กว่าปีก่อนเรียกชื่อวัดนี้แบบเต็มๆ ว่า “วัดอุโมงค์เถรจันทร์” ผ่านไปไม่กี่ทศวรรษ การณ์กลับตาลปัตร ชื่อวัดอุโมงค์เถรจันทร์ได้ถูกยกไปให้ใช้เรียกวัดอีกแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่กลางเวียงแทน ซึ่งเดิมเคยเรียกวัดนั้นว่า “วัดอุโมงค์อารยมณฑล” โดยอ้างว่าวัดอุโมงค์ที่กลางเวียงเชียงใหม่ก็มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับพระมหาเถรจันทร์รูปเดียวกันนี้ด้วย

ปัญหาเรื่องความสับสนเรื่องชื่อของวัดยังถือว่าพอทำเนา ไม่หนักหน่วงเท่ากับปัญหาด้านการกำหนดอายุของงานศิลปกรรมสามชิ้นสำคัญในวัดนี้ ได้แก่ 1. พระเจดีย์ขนาดใหญ่ 2. การเจาะช่องอุโมงค์ และ 3. จิตรกรรมฝาผนังภายในอุโมงค์

เมื่อดิฉันบอกแก่ผู้เข้าอบรมว่า เจดีย์องค์นี้น่าจะสร้างขึ้นในสมัยพระญากือนา ร่วมสมัยกับวัดสวนดอก คือสร้างหลังจากที่รับอิทธิพลของสุโขทัยขึ้นมาแล้ว

ผู้เข้าอบรมหลายคนที่เคยค้นข้อมูลจากกูเกิลมาบ้างก็แย้งว่า แล้วทำไมเว็บไซต์ต่างๆ จึงบอกว่า วัดอุโมงค์สร้างมาตั้งแต่สมัยพระญามังรายเล่า?

ครั้นเมื่อดิฉันอธิบายว่า ถึงตัวอุโมงค์ที่มีการเจาะช่อง 6 ช่องนั้น สันนิษฐานน่าจะสร้างขึ้นพร้อมกับจิตรกรรมฝาผนัง คือสร้างสมัยพระญาติโลกราช

ผู้เข้าอบรมก็จะแย้งว่า ทำไมข้อมูลจากเน็ตจึงกล่าวว่า พระญากือนาโปรดให้สร้างวิหารเป็นช่องอุโมงค์เพื่อถวายแด่ “พระมหาเถรจันทร์” พระภิกษุรูปหนึ่งที่พระองค์โปรดเสวนาปสาทะอยู่เนืองๆ ด้วยเล่า

กลายเป็นว่า มุมมองของนักประวัติศาสตร์ศิลปะ ช่างขัดแย้งต่อตำนานเรื่องเล่าไปเสียทั้งหมดหรือเช่นไร

 

 

เจดีย์วัดอุโมงค์รับอิทธิพลจากไหน

เก่าถึงสมัยพระญามังรายได้หรือไม่

ว่ากันตามจริง ดิฉันพยายามไล่ดูมุมมองของปรมาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ หรือด้านสถาปัตยกรรม ผู้เรืองนามหลายต่อหลายท่านว่าจะมีความเห็นต่อเจดีย์วัดอุโมงค์ไปในทิศทางไหนกันบ้าง

พบข้อสรุปว่า นักวิชาการเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์แทบจะเพิกเฉยต่อประเด็นด้านตำนาน การที่กล่าวว่า พระญามังรายโปรดให้สร้างวัดแห่งนี้ขึ้นเพื่อถวายแด่พระมหากัสสปะ พระภิกษุชาวลังกา โดยให้ชื่อว่า “วัดไผ่ 11 กอ” หรือภาษาบาลีเรียก “เวฬุกัฏฐาราม”

หลายท่านตั้งคำถามว่า สมัยพระญามังราย บริเวณเชิงดอยสุเทพแถวนี้น่าจะเป็นป่ารกชัฏหรือไม่ เกิดอะไรขึ้นที่จู่ๆ พระญามังรายอนุญาตพระภิกษุจากลังกาให้มาสร้างเจดีย์ห่างไกลไร้ร้างผู้คนและชุมชนเช่นนั้น

แถมเป็นเจดีย์ขนาดใหญ่โตมโหฬาร สร้างให้ใครกราบไหว้หรือ? ในขณะที่พระองค์ประกาศว่า ขอให้ลูกหลานของพระองค์และชาวเชียงใหม่ไปนมัสการพระธาตุหริภุญไชยเมืองลำพูน ถือเสมือนสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนา

พระมหากัสสปะชาวลังกาคือใคร? เข้ามาสู่นครเชียงใหม่ได้อย่างไร พระญามังรายอาราธนามาตั้งแต่เมื่อไหร่ พระรูปนี้เคยจำพรรษาที่นครหริภุญไชยมาก่อนหรือไม่ (หมายถึงก่อนที่พระญามังรายจะตีลำพูนแตก) หรือว่าผ่านขึ้นมาทางแคว้นสุโขทัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช?

ข้อสำคัญ คำถามยอดฮิตคือ ใครเป็นคนเขียนตำนาน หลักฐานที่พบเก่าสุดในขณะนี้คือคัมภีร์ใบลานอายุ จ.ศ.1000 หรือ พ.ศ.2181 ราวเกือบ 400 ปีที่ผ่านมานี้ ส่วนต้นฉบับดั้งเดิมนั้น ยังไม่สามารถสืบสาวราวเรื่องได้ว่าเก่าสุดถึงยุคไหน

ถือว่าวัดอุโมงค์แห่งนี้ยังดี ที่มีเรื่องราวบันทึกไว้ในคัมภีร์ใบลานอยู่บ้าง ว่าเดิมชื่อวัดไผ่ 11 กอ และสร้างโดยพระญามังราย ในขณะที่วัดอุโมงค์อีกแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่กลางเวียง ยังไม่พบหลักฐานด้านคัมภีร์ใบลานใดๆ เลย

มีแต่มุขปาฐะจากคนในละแวกวัดเล่าสืบต่อกันมาว่า วัดแห่งนั้นสร้างโดยกษัตริย์สามสหายคือพระญามังราย พระญางำเมือง และพระญาร่วง (พ่อขุนรามคำแหงมหาราช) ในช่วงที่กำลังเริ่มสถาปนานครเชียงใหม่

 

 

 

หากเป็นจริงตามนี้ ดิฉันถือว่าน่าตื่นเต้นมาก ในวาระที่นครเชียงใหม่อายุครบ 725 ปี เราไม่หลงเหลือเจดีย์องค์ไหนที่มีอายุเก่าแก่ถึงสมัยพระญามังรายอีกเลย เจดีย์เหลี่ยมที่เวียงกุมกามก็ถูกดัดแปลงในสมัยรัชกาลที่ 5 ให้กลายเป็นศิลปะพม่า เจดีย์ที่วัดเชียงหมั้นวัดแห่งแรกที่พระญามังรายสร้างก็ถูกครอบใหม่

หากเราพิสูจน์ได้ว่า เจดีย์ทั้งที่วัดอุโมงค์สวนพุทธธรรม และทั้งที่วัดอุโมงค์เถรจันทร์กลางเวียงนั้น มีอายุเก่าแก่จริงถึงสมัยพระญามังราย ดิฉันเชื่อว่าจะสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ชาวเชียงใหม่เป็นอย่างยิ่ง

ประเด็นด้านรูปแบบสถาปัตยกรรม คือสิ่งที่ควรวิเคราะห์ ไม่ถึงกับคัดง้างต่อด้านตำนาน นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลป์เกือบทุกท่านกำหนดอายุรูปแบบเจดีย์วัดอุโมงค์ไว้คร่าวๆ ว่า สร้างในช่วงต้นล้านนา ระหว่างสมัยพระญามังรายถึงพระญากือนาอย่างแน่นอน แต่มักจะวางน้ำหนักไปที่สมัยพระญากือนามากกว่า

ด้วยเห็นว่า เป็นเจดีย์ทรงลังกาผสมพุกาม ซึ่งสมัยพระญากือนานั้นทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์สายรามัญวงศ์ ที่พระมหาสุมนเถระนำขึ้นมาจากเมืองพัน (เมาะตะมะ) ผ่านสุโขทัย

รูปแบบเจดีย์วัดอุโมงค์ มีหลายสิ่งที่เราไม่พบในเจดีย์ทรงระฆังทั้งของสุโขทัยและแม้แต่ในลังกาเอง หากกลับไปพบในกลุ่มเจดีย์สายพุกามที่รับอิทธิพลทรงระฆังจากลังกามาแล้วทอดหนึ่ง แล้วปรับปรุงคลุกเคล้าองค์ประกอบใหม่ให้เป็นอัตลักษณ์เฉพาะของศิลปะพุกาม

 

กลิ่นอายของศิลปะพุกาม ที่ปรากฏอยู่ในเจดีย์วัดอุโมงค์มีดังนี้

1. ส่วนของฐานกลีบบัวในแต่ละชุดจัดวางกลีบซ้อนกัน 2 ชั้น เรียงลดหลั่นจากใหญ่ไปหาเล็กทั้งหมด 3 ชุด ซึ่งไม่เคยปรากฏแบบแผนนี้ในศิลปะสุโขทัยหรือในลังกามาก่อนเลย

2. ฐานหน้ากระดานมีการเซาะร่องลึกเป็นกรอบรูปสี่เหลี่ยมซ้อนชั้นลึกลงไป เรียงรายโดยรอบ อันเป็นรูปแบบของฐานหน้ากระดานในศิลปะพุกาม ทวารวดี และหริภุญไชย

3. การคาดรัดปะคดหรือเข็มขัดที่องค์ระฆัง ก็เป็นอีกหนึ่งจุดสังเกตว่ารูปแบบเช่นนี้ไม่มีในสายสุโขทัย-ลังกา แต่เป็นอิทธิพลของศิลปะอินเดียสมัยปาละที่ส่งให้กับศิลปะพุกามและหริภุญไชย

4. ส่วนที่ยังเป็นปริศนาคือ บัลลังก์สี่เหลี่ยมเหนือองค์ระฆัง มีการทำตัว “หน้ากาล” หรือ “ราหู” ตามมุมทั้ง 4 พร้อมกับทำตัว “มอม” สัตว์เลื้อยคลานตาพองผสมสิงห์ไว้ที่ฐานบัลลังก์สี่มุม นักวิชาการสงสัยว่า ประติมากรรมเหล่านี้ ทำขึ้นพร้อมกับการสร้างเจดีย์ตั้งแต่แรกเลย หรือว่าช่วงที่มีการบูรณะภายหลังได้มีการเอาประติมากรรมหน้ากาลกับมอมมาใส่เพิ่ม

และใครควรจะเป็นคนซ่อม เมื่อไหร่ อย่างไร ชาวพม่า? จึงได้เอารูปหน้ากาล-ราหู มอม มาใส่ในจุดล้อมบัลลังก์สี่เหลี่ยมนั้น

5. ส่วนที่เป็นปริศนายังไม่หมด ปลียอดตอนบนสุด ทำไมจึงเป็นปลียอดแบบ “ปัทมบาท” คือเป็นปลีคว่ำ-ปลีหงายประกบกัน แบบศิลปะพม่าหลังยุคพุกามแล้ว

หากมีการซ่อมแซมภายหลังจริง (หมายถึงทั้งส่วนของบัลลังก์และปลียอด) ควรซ่อมในยุคไหน จะใช่ราว พ.ศ.2108 ช่วงที่เชียงใหม่เสียเมืองให้แก่พม่าได้หรือไม่ เพราะเป็นห้วงเวลาที่เมืองยังไม่ร้างผู้คน โคลงมังทรารบเชียงใหม่ยังพรรณนาถึงชื่อวัดอุโมงค์นี้อยู่

เพราะหากหลังจากนั้นอีกหนึ่งศตวรรษ แทบไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ในเมืองเชียงใหม่อีกแล้ว กลายเป็นที่สิงสถิตของสิงสาราสัตว์ ต้นไม้ขึ้นรกชัฏ

และยิ่งสมัยรัชกาลที่ 5 ยุคที่ชาวพม่ามาเป็นเฮดแมนรับจ้างชาวอังกฤษทำสัมปทานป่าไม้ รูปแบบที่พวกคหบดีพม่านิยมนำมาใช้บูรณะเจดีย์ก็จะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง คือเต็มไปด้วยการติดกระจกสีแวววาว ขยายส่วนฐานใหญ่มาก ประดับมนุษย์สิงห์ หม้อดอก สถูปิกะ ตามมุมฐานชั้นต่างๆ จะไม่ใช่รูปแบบที่เรียบเกลี้ยงเช่นเจดีย์วัดอุโมงค์นี้

ข้อมูลอีกประการหนึ่งที่ควรหยิบยกมาพิจารณาร่วมกันนั่นคือ ภายในเจดีย์วัดอุโมงค์ที่นี้ เคยมีช่องให้เดินเข้าไปข้างในกรุเจดีย์ได้ ตอนกลางมีแผ่นหิน 6 ก้อนประกบกันเหมือนลูกเต๋า แต่ละด้านเขียนภาพจิตรกรรมบนแผ่นหินด้วยสีแดงชาดปิดทองคำเปลวสุกปลั่ง บางด้านเป็นรูปอดีตพุทธ 28 พระองค์ บางด้านเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ประทับหว่างกลางอัครสาวกซ้ายขวา คล้ายจิตรกรรมที่พบในพุกาม

น่าเสียดายที่กรมศิลปากรได้โบกปูนปิดช่องทางเข้ากรุเจดีย์นั้นเสียแล้ว โดยที่ไม่มีใครจะมีโอกาสได้ศึกษาภาพจิตรกรรมในกรุเจดีย์นั้นได้อีก

 

ถามว่าแล้วอิทธิพลของศิลปะสุโขทัยที่เจดีย์วัดอุโมงค์มีบ้างไหม เท่าที่เห็นอย่างเด่นชัดคือ การทำเทวดา 16 องค์ประดับรอบเสาหาน (หรรมิกา) หรือคอระฆัง แต่รูปแบบเทวดาและเครื่องทรงก็ดูใหม่กว่าตัวองค์สถูปซึ่งเป็นยุคสมัยล้านนาตอนต้น แสดงว่าต้องมีการบูรณะรูปเทวดาภายหลัง อาจในสมัยพระเจ้าติโลกราช ทำให้ชวนตั้งคำถามได้อีกว่า ก่อนหน้าที่จะเป็นรูปเทวดานั้น ตำแหน่งดังกล่าวจะเป็นพระลีลาได้หรือไม่

เมื่อประมวลจากรูปแบบศิลปะ พบว่าภาพรวมค่อนข้างหนักไปทางศิลปะพุกามมากกว่าศิลปะลังกา

ปริศนาชวนขบคิดก็คือ หากเจดีย์องค์นี้สร้างโดยพระมหากัสสปะ ชาวลังกาจริง ไฉนจึงไม่ใช้รูปแบบศิลปะลังกาในแผ่นดินที่ท่านคุ้นเคยมาสร้างแบบเต็มๆ หรืออย่างน้อยควรเป็นศิลปะแบบสุโขทัยก็ยังดี

แสดงว่าคนที่สร้างเจดีย์วัดอุโมงค์ ควรจะเป็นใครสักคนที่มีความผูกพันกับแผ่นดินพุกามค่อนข้างมาก จึงได้เลือกใช้รูปแบบศิลปะพุกามมาถ่ายทอดผ่านมหาสถูป ว่าแต่ว่าเขาผู้นั้นคือใคร เมื่อไหร่ สมัยใด จะเก่าถึงยุคพระญามังรายจริงหรือไม่

ได้แต่เสียดายที่เราไม่มีโอกาสได้พิสูจน์อายุของจิตรกรรมฝาผนังด้านในกรุเจดีย์