On History : บ้านเกิดเมืองนอน เพลงปลุกใจความเป็นไทย ที่ไม่ไทย / ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

 

 

บ้านเกิดเมืองนอน

เพลงปลุกใจความเป็นไทย ที่ไม่ไทย

 

อยู่ๆ ก็มีกลุ่มคนดนตรีกลุ่มหนึ่ง ลุกขึ้นมานำเพลงเก่าเก็บอย่าง “บ้านเกิดเมืองนอน” มาปัดฝุ่นแล้วคัฟเวอร์ใหม่ออกมา 3 เวอร์ชั่น ได้แก่ ร็อกเวอร์ชั่น, แจ๊ซเวอร์ชั่น และป๊อปเวอร์ชั่น โดยในขณะนี้ได้มีการปล่อยซิงเกิลของบ้านเกิดเมืองนอนเวอร์ชั่นร็อกออกมาแล้ว ซึ่งก็มีศิลปินร่วมขับร้อง ได้แก่ แมว จิรศักดิ์, อี๊ด วงฟลาย, อู๋ ธรรพ์ณธร, สน เดอะสตาร์, ตี๋ เอเอฟ และตุ้ย เอเอฟ

ส่วนกลุ่มศิลปินที่มาร่วมขับร้องในเวอร์ชั่นอื่นคือ เวอร์ชั่นแจ๊ซ ได้แก่ ปุ๊ อัญชลี, ปั่น ไพบูลย์เกียรติ, ป้อม ออโต้บาห์น, แอน นันทนา, แอน ธิติมา และมัม ลาโคนิค ส่วนในเวอร์ชั่นเพลงป๊อป ประกอบไปด้วย ตุ๊ก วิยะดา, เอ๋ นรินทร, บิลลี่ โอแกน, หมอก้อง, ซานิ และนาย เดอะคอมเมเดี้ยน

บทเพลงในเวอร์ชั่นต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่ได้โปรดิวเซอร์ชื่อดังมาเป็นคนทำเพลงให้ ซึ่งก็ประกอบไปด้วยเพชร มาร์ โปรดิวซ์ในเวอร์ชั่นเพลงร็อก, ครูเต๋า ภราดร กับเพลงป๊อปแจ๊ซ, สวัสดีชัย ในเวอร์ชั่นเพลงป๊อป และแถมด้วยเซอร์ไพรส์คือ ดี้ นิติพงษ์ ที่มาทำเพลงในเวอร์ชั่นเปียโนอีกด้วย

แต่ประเด็นที่น่าสนใจยิ่งกว่าการนำเพลงที่ว่านี้ขึ้นมาคัฟเวอร์ใหม่ก็คือ ทำไมอยู่ดีๆ ถึงต้องมีการลุกขึ้นมาทำเพลง “บ้านเกิดเมืองนอน” ถึง 3 เวอร์ชั่น (+1 เวอร์ชั่นเปียโน) แถมยังปล่อยซิงเกิลแรก ในเวอร์ชั่นที่มีดนตรีดุเดือดเลือดพล่านอย่างดนตรีร็อก ในวันที่มีความหมายไปในทางประวัติศาสตร์บาดแผลอย่างวันที่ 6 ตุลาคม 2564 (ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 45 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519) อย่างมีนัยยะสำคัญอีกด้วย?

 

ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่ประวัติของเพลง “บ้านเกิดเมืองนอน” นี่แหละครับ

เพราะว่าตามประวัตินั้นเพลงบ้านเกิดเมืองนอน เป็นเพลงที่ชนะการประกวด “เพลงปลุกใจ” เมื่อ พ.ศ.2488 อันเป็นปีที่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งฝ่ายอักษะที่รัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม (ท่านผู้นำ ควบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทยในขณะนั้น) เข้าร่วมเป็นฝ่ายแพ้

แน่นอนว่า ถึงแม้ฝ่ายอักษะจะแพ้ แต่ประเทศไทยกลับไม่ได้ถูกนับรวมอยู่ในกลุ่มประเทศแพ้สงคราม ด้วยเหตุปัจจัยทางการเมืองทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศที่ซับซ้อน

อย่างไรก็ตาม เราอาจจะนับได้ว่า กลุ่มผู้ตัดสินรางวัลก็เป็นกลุ่มของผู้ที่เห็นดีเห็นงามที่จะเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ ที่สนับสนุนลัทธิท่านผู้นำนิยม (Fascism) นี่เอง

ต้องอย่าลืมว่า ยุคสมัยของจอมพล ป. โดยเฉพาะช่วงรัฐบาลจอมพล ป. 1 ที่จอมพลที่มีชื่อจริงว่า แปลก ท่านนี้ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ระหว่าง 16 ธันวาคม 2481-1 สิงหาคม 2487 มีการส่งเสริมแนวคิดชาตินิยม (แน่นอนว่าหมายถึง ไทยนิยม) ผ่านอะไรที่เรียกว่า “รัฐนิยม”

“รัฐนิยม” ที่ว่าก็คือประกาศของทางการ เกี่ยวกับรูปแบบการปฏิบัติทางวัฒนธรรมของประชาชนที่จะแสดงให้เห็นถึงความเป็นชาติอันมีอารยธรรม (ถึงแม้ว่าในโลกวิชาการปัจจุบัน คำว่า “อารยธรรม” จะมีความหมายเชิงเหยียดชนชาติอื่นที่วัฒนธรรมไม่สูงส่งจนนับว่าเป็นอารยธรรมก็ตาม แต่ก็นั่นแหละครับ ที่เป็นเนื้อแท้ของลัทธิชาตินิยม ที่มุ่งเน้นจะเชิดชูชาติของตนเองว่าสูงส่งกว่าใครอื่น พร้อมกันกับที่เหยียดวัฒนธรรมของชาติอื่นๆ ว่าด้อยกว่าตนเองไปด้วยในตัว) ซึ่งเป็นแนวทางที่กำหนดขึ้นเพื่อปรับปรุงแก้ไขวัฒนธรรมบางอย่างของชาติ สำหรับใช้เป็นหลักให้ประชาชนได้ยึดถือปฏิบัติ

24 มิถุนายน พ.ศ.2482 คือวันที่มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรัฐนิยมฉบับแรก ใจความสำคัญของประกาศฉบับนี้ก็คือ การเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” ให้เป็น “ไทย” พร้อมๆ กับที่เปลี่ยนคำเรียกประชาชน และสัญชาติ จากสยามให้เป็นไทยด้วยไปในคราวเดียวกันนั้นเอง

ต่อมารัฐนิยมฉบับที่ 3 ซึ่งประกาศออกมาในเวลาไม่ถึง 2 เดือนนับจากประกาศฉบับแรก ตรงกับเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ปีเดียวกันนั้นเอง มีสาระสำคัญว่า “ด้วยการเรียกชื่อชาวไทย ด้วยการไม่ให้เรียกชื่อคนในประเทศไทยตามเชื้อชาติ และความนิยมของผู้ถูกเรียก หรือแบ่งแยกคนไทยออกเป็นหลายหมู่เหล่า เช่น ชาวไทยเหนือ ชาวไทยอีสาน ไทยใต้ ไทยอิสลาม เป็นต้น ประกาศฉบับนี้ให้ใช้คำว่า ‘ไทย’ แก่ชาวไทยทั้งมวลไม่แบ่งแยก”

กล่าวโดยอีกในนัยยะหนึ่ง “รัฐนิยม” ก็คือบทบัญญัติที่เขียนออกมาบังคับ เพื่อลดทอนความหลากหลายทางวัฒนธรรมของคนในประเทศ ที่มีทั้งมอญ จีน เขมร เวียด จาม แขก และอีกสารพัด ให้กลายเป็น “ไทย” เหมือนๆ กันไปหมด

และถ้าทุกคนต่างภูมิใจในความเป็น “ไทย” เดียวกัน ซึ่งก็หมายความด้วยว่า ต่างก็สลัดทิ้งรากเหง้าดั้งเดิม แล้วมาถือเอาประวัติศาสตร์รากเหง้าของ “บ้านเกิดเมืองนอน” ในปัจจุบัน คือ “ประเทศไทย” ของพวกเขาเหล่านั้นมาใช้เป็นรากเหง้าของตนเองแทนของเดิมแล้ว รัฐไทยก็ย่อมจะจัดการได้ง่ายขึ้นมาอีกเป็นกอง

ดังนั้น ถ้าพิจารณาจากเนื้อเพลง “บ้านเกิดเมืองนอน” แล้ว เพลงที่ว่านี้ก็น่าจะถูกจริตคณะกรรมการตัดสิน และรวมไปถึงคณะผู้จัดประกวดเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะมีเนื้อหาคร่ำครวญว่าบรรพชนคนไทยพลีเลือดเนื้อแลกเขตแดนแล้ว ท่อนเปิดของเพลงยังบอกไว้ชัดๆ ด้วยว่า “พวกเราล้วนพงศ์เผ่าศิวิไลซ์”

แถมพงศ์เผ่าที่ว่านี้ยัง “เปรมปรีดิ์ดีใจเรียกตนว่าไทย” อีกด้วยนะครับ

 

เอาเข้าจริงแล้ว อุดมการณ์เบื้องหลังของแนวคิดชาตินิยม ที่แฝงกายอยู่ในเพลงที่ว่านี้ จึงไม่ได้ต่างไปจากที่หนึ่งในผู้นำคนสำคัญของฝ่ายอักษะอย่างอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ใช้ในการกล่าวอ้างว่า ชนชาติ “เยอรมัน” นี่แหละ คือผู้สืบทอดเชื้อสายบริสุทธิ์ของชาว “อารยัน” ที่แท้จริง และนำไปสู่ข้ออ้างในการเข่นฆ่าชาวยิวอย่างโหดเหี้ยมเท่าไหร่นัก

หลักฐานมีอยู่ในเนื้อร้องในเพลง “บ้านเกิดเมืองนอน” ท่อนที่ว่า “ชาติไทยนั้นเคยใหญ่ในบูรพา” (ว่ากันว่า เนื้อร้องท่อนนี้ถูกแต่งเสริมเพิ่มเข้ามาในภายหลัง แต่ก็ไม่ห่างกันมากนักกับเนื้อร้องต้นฉบับดั้งเดิม)

ซึ่งพอไปประกอบกับเนื้อเพลงท่อนอื่นๆ เช่น “แดนดินผืนใหญ่มิใช่ทาสเขา” หรือ “ก่อนนี้มีเขตแดนนับว่ากว้างใหญ่” เข้าด้วยแล้ว บุคคลระดับที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็น “บิดาแห่งเพลงปลุกใจไทย” ควบตำแหน่ง “บิดาแห่งการแพนไทย” อย่างหลวงวิจิตรวาทการ ก็คงฟังละแบบขนลุกซู่ชูชันขึ้นมาเลยทีเดียว

เพราะก็เป็นหลวงวิจิตรวาทการคนเดียวกันนี้เอง ที่เป็นคนเหมารวมเอาคนที่พูดภาษาตระกูลไท (ซึ่งฝรั่งเป็นคนรวบรวม) เช่น คนนุง คนจ้วง และอีกให้เพียบ มาโมเมว่าเป็นคนไทย (ฝรั่งเอาคำว่า ไท ไปใส่ไว้ตอนสำรวจเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายๆ ว่า เป็นคนที่พูดภาษาตระกูลไทเหมือนกัน) ทั้งที่ผู้คนเหล่านั้นไม่เคยเรียกตัวเองว่าไทเสียหน่อย (ต้องอย่าลืมด้วยว่า ตระกูลภาษาต่างๆ นั้น เพิ่งจะถูกกำหนด

แต่ก็นั่นแหละครับ ถ้าจะว่ากันแนวคิดแบบชาตินิยม โดยเฉพาะชาตินิยมแบบลัทธิท่านผู้นำในยุคโน้นแล้ว “ไทย” ก็ต้องยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชีย (หรือคำว่า “บูรพา” ในเนื้อเพลง) ไม่ต่างอะไรกับ “อารยัน” ของฮิตเลอร์นั่นแหละ

 

เอาเข้าจริงแล้ว ครูแก้ว อัจฉริยะกุล คนแต่งเนื้อเพลงที่คร่ำครวญถึงความเป็นไทยอย่างเพลง “บ้านเกิดเมืองนอน” ที่ว่านี้ ก็น่าจะคุยกันเรื่องความเป็นไทยได้อย่างถูกจริตกับหลวงวิจิตรวาทการเอามากๆ เลยทีเดียว

เพราะครูแก้วมีพ่อแท้ๆ เป็นชาวกรีก (คือเป็นลูกครึ่ง) ไม่ต่างอะไรกับหลวงวิจิตรวาทการ ที่มีชื่อเดิม “กิมเหลียง”

แถมคนแต่งทำนองเพลงเดียวกันนี้อย่างครูเอื้อ สุนทรสนาน นั้นก็มีเชื้อสายมอญ ในขณะที่คนเรียบเรียงดนตรีคือ คีติ คีตากร นั้นเป็นชาวฟิลิปปินส์ทั้งดุ้น โดยมีชื่อเดิมว่า มีลานีโอ ฟลอเรส (จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นผู้ตั้งชื่อเป็นไทยให้ใหม่)

ถ้าจะว่าไปแล้ว ประวัติของเพลง “บ้านเกิดเมืองนอน” ที่คร่ำครวญถึงความเป็นไทยนั้น จึงเป็นเพลงที่สะท้อนถึงการประดิษฐ์ความเป็นไทย ในยุคสมัยที่มีการแต่งเพลงนี้ขึ้นมาได้อย่างดีเลยทีเดียว

เพราะบุคคลสำคัญแต่ละคนที่เกี่ยวข้องกับเพลงที่ว่านี้ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นไทยแท้ๆ ทั้งนั้นเลยนี่ครับ