นิธิ เอียวศรีวงศ์ : มองเมียงเชียงตุง (1)

นิธิ เอียวศรีวงศ์

เชียงตุงอยู่เลยเชียงรายไปนิดเดียว จึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวของคนไทยไปนานแล้ว คุณใช้ภาษาไทยและเงินไทยที่นั่นได้ไม่ต่างจากเชียงใหม่หรือเชียงราย มัน “ใกล้” เมืองไทยเสียจน แม้แต่เยาะหยัน คสช. บางคนที่นั่นฟังแล้วยังยิ้ม

เพราะใกล้อย่างนี้กระมัง ผมจึงไม่เคยไปเชียงตุงเลย และว่าที่จริงก็ไม่เคยไปที่ไหนในรัฐชานตะวันออกสักแห่ง ยกเว้นตามตะเข็บชายแดน ด้วยความอนุเคราะห์ของ คุณรจเรข วัฒนพานิช และพรรคพวกของเธอ ผมจึงได้ชวน คุณคำสิงห์ ศรีนอก ไปเที่ยวเชียงตุงด้วยกันในครั้งนี้

คุณคำสิงห์อยากไปเชียงตุงเพราะอะไรผมก็ไม่ทราบ แต่ผมตั้งภารกิจให้ตนเองไว้ว่า ผมจะพยายามตอบคำถามสองข้อในการเที่ยวครั้งนี้ หนึ่งคือ เชียงตุงเคยมีความสัมพันธ์กับเชียงใหม่หรือล้านนาในปัจจุบัน (ซึ่งหดแคบลงไปมาก) มาอย่างไร และสอง ประสบการณ์ของคนเชียงตุงที่อยู่ใต้การยึดครองของกองทัพไทยในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองเป็นอย่างไร

ความสัมพันธ์ระหว่างเชียงใหม่และเชียงตุงนั้นเห็นได้ตั้งแต่เริ่มออกเดินทางเลยทีเดียว เพราะถนนที่พาเราจากท่าขี้เหล็ก (ฝั่งตรงข้ามแม่สาย) ไปยังเชียงตุงนั้น เป็นถนนที่เจ้าก้อนแก้วอินแถลง เจ้าฟ้าเชียงตุงในสมัยที่ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษตัดขึ้นตามเส้นทางการค้าของกองคาราวานงัวต่าง (ของชาวไทยใหญ่, เขิน, หรือลื้อ และอาจรวม “คนเมือง” ด้วย) และล่อลาต่าง (ของชาวยูนนานมุสลิมซึ่งคนพื้นเมืองแถบนี้เรียกว่าฮ่อ)

ก็แสดงอยู่แล้วว่า การติดต่อทางการค้าระหว่างเชียงใหม่ตอนเหนือกับเชียงตุงมีความสำคัญขนาดที่ต้องปรับเป็นถนนกว้างขึ้นในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 อีกทั้งด้วยทุนของเจ้าครองนครเองด้วย ส่วนเส้นทางนี้ถูกใช้มานานแค่ไหนแล้วไม่ทราบได้ แต่มีหลักฐานแน่ชัดว่าในต้นคริสต์ศตวรรษเดียวกัน ก็ถูกใช้อย่างหนาแน่นอยู่แล้ว โดยเฉพาะในหมู่พ่อค้าฮ่อ

แม้ว่าเชียงตุงเป็นรัฐบรรณาการของพม่ามาตั้งแต่สมัยบุเรงนอง (คริสต์ศตวรรษที่ 16) แต่การเดินทางระหว่างศูนย์กลางของราชอาณาจักรพม่า (ซึ่งมักตั้งอยู่แถบพม่ากลาง) กับเชียงตุงไม่ง่ายนัก เพราะไม่มีเส้นทางน้ำตลอด และต้องใช้ทางบกผ่านทิวเขาหลายแห่งลำบากลำบนมาก เส้นทางที่สะดวกกว่าก็คือทะลุออกทางระแหงแล้วขึ้นเชียงใหม่ผ่านฮอด แล้วจึงไปเชียงตุงอีกต่อหนึ่ง ดังนั้น เมื่ออังวะสูญเสียอำนาจเหนือล้านนา (ซึ่งเคยครอบครองลงมาถึงบ้านตากเหนือระแหงไปนิดเดียว)ให้แก่บางกอกในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 เสียแล้ว อำนาจควบคุมรัฐชานตะวันออก โดยเฉพาะเชียงตุงซึ่งเป็นรัฐใหญ่สุดและมีอำนาจมากสุดก็ย่อมอ่อนลง

เมื่ออังกฤษได้แคว้นตะนาวศรีเป็นอาณานิคมแล้ว จะส่งข้าราชการขึ้นมาเชียงตุงและเชียงรุ่ง (หมอริชาร์ดสัน และร้อยเอกแม็กเคลออด) เพื่อเปิดการค้าขาย ก็ต้องเดินผ่านขึ้นมาทางเชียงใหม่

ผมใช้คำว่าเชียงใหม่หรือเชียงใหม่ตอนเหนือ ก็เพราะในต้นรัตนโกสินทร์ เจ้าหลวงเชียงใหม่คุมไปถึงเชียงรายและเชียงแสนด้วย (หลังยึดคืนจากอังวะได้แล้ว) แนวเขตแดนระหว่างเชียงใหม่และเชียงตุงแบ่งกันที่แม่น้ำกก ซึ่งไหลไปออกแม่น้ำโขงแถบเชียงแสน แต่พื้นที่จากแม่น้ำกกจนถึงแม่น้ำสายนั้น มีที่ราบอุดมสมบูรณ์อยู่มาก เช่น ฝั่งข้ามแม่กกด้านตะวันตกของเชียงแสน จึงทำให้มีราษฎรอพยพเข้ามาตั้งภูมิลำเนาอยู่มาก ส่วนใหญ่ของราษฎรเหล่านี้เป็นชาวเขินที่อพยพมาจากดินแดนในอาณัติของเชียงตุง เชียงใหม่เชียงรายจึงเข้าปกครองเพื่อเรียกเก็บส่วยแรงงาน ไม่พบหลักฐานว่าเจ้าฟ้าเชียงตุงคัดค้านอะไร เพราะเป็นดินแดนปลายพระราชอาณาจักร เมื่อไทยกับอังกฤษทำสัญญาปักปันเขตแดนกัน อังกฤษก็ยอมรับสภาพความเป็นจริง คือถือเอาแม่น้ำสายเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างไทยและอาณานิคมของอังกฤษ

แม่สายซึ่งเป็นเมืองเก่าอยู่แล้วตกเป็นของไทย ส่วนท่าขี้เหล็กงอกออกมาจากตลาดที่คาราวานงัวต่าง ซึ่งเดินทางมาจากเชียงตุงและรัฐชานตอนเหนือ มาหยุดขายของในภายหลัง จนทุกวันนี้ก็ยังเรียกตลาดนั้นว่า”ท่าล้อ” คือท่าที่กองเกวียนมาหยุดนั่นเอง และในปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของพม่า

นี่เป็นดินแดนอีกผืนหนึ่งที่ไทย “ได้” ภายใต้จักรวรรดินิยม แต่ประวัติศาสตร์ไทยไม่ค่อยพูดถึง ชอบพูดแต่ “เสีย”

ความสัมพันธ์ที่ยืนพื้นระหว่างเชียงตุง-เชียงใหม่ก็คือความสัมพันธ์เชิงเครือญาติของเจ้าเมือง ราชวงศ์ที่เป็นเจ้าฟ้าเชียงตุงสืบเนื่องกันมาหลายองค์นั้น อ้างว่าเป็นเชื้อสายของราชวงศ์มังราย และมักใช้นามมังรายเป็นนามสกุลหรือส่วนหนึ่งของนามสกุลสืบมาจนทุกวันนี้

แต่ไม่ใช่เฉพาะชนชั้นสูงเท่านั้นที่มีความสัมพันธ์เชิงเครือญาติต่อกันมานาน ประชาชนก็ผสมปนเปกันจนแยกออกจากกันได้ยาก เช่น ชาวเขินที่อพยพลงมาบุกเบิกทำนาที่ฟากข้ามเมืองเชียงแสนนั้น ก็ค่อยๆ กลืนกลายไปเป็น “คนเมือง” เหมือนคนฝั่งตรงข้าม เพราะแต่งงานข้ามกันไปมา แม้ว่าบางชุมชนยังมีอัตลักษณ์เขินสืบมาจนถึงสมัยหลังก็ตาม

ในส่วนนโยบาย “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ของพระยากาวิละ ซึ่งพยายามฟื้นฟูเชียงใหม่ให้กลับมาเป็นเมืองใหญ่อีกครั้งหนึ่งในต้นรัตนโกสินทร์ ประชาชนที่ถูกกองทัพพระยากาวิละไปกวาดต้อนมาเป็นไพร่บ้านพลเมือง ส่วนใหญ่ก็เป็นประชาชนในรัฐชานตะวันออก (ของแม่น้ำสาละวิน) ชาวเขินจากเชียงตุงก็ถูกกวาดมาด้วย แม้แต่ที่ข้ามสาละวินไปทางตะวันตกเช่นเมืองนาย ก็มีรายงานของฝรั่งที่เคยเดินทางผ่านบอกว่า กองทัพเชียงใหม่เคยลงมาปล้นสะดมกวาดต้อนผู้คนเหมือนกัน ขึ้นไปตอนเหนือของรัฐชานตะวันออก ก็เคยมีกองทัพเชียงใหม่ขึ้นไปทำอย่างเดียวกัน (ที่รู้จักกันดีคือเมืองยองและชาวยอง ซึ่งแทบทำให้เมืองยองร้างไปพักหนึ่ง) จึงมีประชากรชาวไตลื้อจากสิบสองปันนา (ซึ่งตอนนั้นยังขึ้นสองฝ่ายฟ้าคือพม่ากับจีน) และเชียงแข็ง (เมืองสิงห์) ถูกกวาดลงมาด้วย

สรุปก็คือประชาชนชาวเชียงใหม่นั้นประกอบขึ้นด้วย “ไต” หลายพวกมาก ไม่ได้มีแต่ไตยวนเพียงอย่างเดียว แต่ในที่สุดก็ผสมกลมกลืนกันไปภายใต้วัฒนธรรมของพวกยวน จนกลายเป็น “คนเมือง” ในทุกวันนี้

แต่ความสัมพันธ์นี้ก็ใช่จะราบรื่นเสียทีเดียวนัก ทั้งริชารด์สันและแม็กเคลออดรายงานตรงกันว่า เจ้าหลวงเชียงใหม่คือผู้ขัดขวางหลัก มิให้เส้นทางการค้าระหว่างเชียงตุงและมะระแหม่งเป็นไปได้สะดวก เช่น ไม่ต้องการให้พ่อค้ากองคาราวานผ่านเชียงใหม่เข้าเชียงตุง (หรือกลับกัน) เพราะถือว่าเชียงตุงเป็นของพม่า จึงไม่กล้ามีความสัมพันธ์ใดๆ เพราะจะทำให้บางกอกระแวงสงสัย จนบางครั้งถึงสั่งปิดถนนเสียเลย

นอกจากนี้ ประชาชนที่ถูกกวาดต้อนเข้ามายังบอกแก่แม็กเคลออดด้วยว่า อยากให้อังกฤษใช้กำลังอำนาจเข้ามาแทรกแซงสยาม เพื่อบังคับให้เจ้าเชียงใหม่ปลดปล่อยพวกเขากลับบ้านเสียที ทั้งนี้รวมทั้งเจ้าฟ้าเชียงตุงด้วย เพราะอยากให้เชียงใหม่ยอมเปิดถนนใหม่

ตำนานเมืองเชียงตุงเล่าว่า แต่เดิมท้องที่นี้เคยเป็นเมืองของพวก “ละว้า” มาก่อน ต่อมาพญามังรายไล่ล่าเนื้อมาพบเข้า ทรงเห็นเป็นทำเลดีอยากได้ไว้ จึงยึดเอามาด้วยอุบาย แล้วให้พระราชโอรสองค์หนึ่งมาเป็นเจ้าเมือง ตลอดราชวงศ์มังรายจนมาถึงพระเจ้าติโลกราช เชียงตุงก็เป็นเมืองบรรณาการหรือเมืองเครือญาติของเชียงใหม่มาตลอด หลังจากนั้นเชียงตุงก็แข็งเมืองจนถูกบุเรงนองยึดไปได้ในเวลาต่อมา

ทั้งยังเล่าด้วยว่า ในพิธีราชาภิเษกของเจ้าฟ้าเชียงตุง ต้องเชิญละว้ามากินอาหารในหอหลวง แล้วก็ทำพิธีไล่ละว้าออกไป บางคนอธิบายว่าเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการเข้าครอบครองเชียงตุงในภายหลังละว้าของพวกไตเขิน แต่บางคนอธิบายว่าเนื่องจากละว้าเป็นคนพื้นถิ่น จึงเป็นสัญลักษณ์ของแผ่นดิน ซึ่งเป็นครึ่งหนึ่งของความอุดมสมบูรณ์

ผมสนใจพวกที่ทางเชียงใหม่เรียกว่า “ลัวะ” อยู่แล้ว ฟังเสียงที่เรียกละว้าดูน่าจะเป็นพวกเดียวกัน แต่ความจริงแล้วชื่อละว้าในภาษาไทยกลางและคงจะภาษาเขินด้วย หมายถึงชื่อของคนที่พวกไทยและไตเห็นว่าเป็นคนป่าคนดอย จะมีวัฒนธรรมเดียวกันหรือไม่ก็ตาม แต่ “ลัวะ” ของเชียงใหม่ดูเหมือนจะมีความหมายเจาะจงถึงชาติพันธุ์หนึ่งเป็นการเฉพาะ

ผมจึงใจจดใจจ่อเที่ยวไล่หาละว้าในเชียงตุงตลอดเวลา แต่คุณหอมนวล ไกด์สาวสวยของเราก็ยืนยันทุกทีไปว่าไม่มีละว้าในเชียงตุงแล้ว จนวันหนึ่งเธอก็พาเราไปยังพระธาตุจอมดอย ซึ่งไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวไปเท่าไรนัก เพราะไกลจากเมือง ทั้งถนนก็ไม่ค่อยดีนักในบางตอน

ในระหว่างทาง เธอเล่าตำนานของพระธาตุองค์นี้ที่ทำให้ผมหูผึ่งเลยทีเดียว เมื่อครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาถึงท้องที่แถบนี้ ประทับยืนอยู่บนดอยซึ่งปัจจุบันประดิษฐานพระธาตุจอมดอย ประชาชนแถบนั้นเป็นพวกละว้า หัวหน้าหมู่บ้านชื่อก้านอ้ายอ่อน (หรืออุ่น) กับภรรยา พากันมากราบไหว้บูชา และขอพระเกศาธาตุของพระพุทธองค์ไว้องค์หนึ่ง เพื่อเป็นที่เคารพบูชาเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จกลับไปแล้ว หลังจากนั้นก้านอ้ายอ่อนก็ร่วมกับชาวบ้านซึ่งเป็นละว้าด้วยกัน มุมานะสร้างพระสถูปขึ้นองค์หนึ่ง เพื่อบรรจุพระเกศาธาตุไว้ แต่เจ้าผู้ครองเชียงตุงเห็นว่าเรื่องนี้ไม่น่าเชื่อถือ เพราะเป็นเพียงคนป่าคนดอย ที่ไหนจึงจะได้รับประทานพระเกศาธาตุจากพระพุทธเจ้าได้ จึงห้ามมิให้สร้าง แต่ก้านอ้ายอ่อนก็ยังคงสร้างต่อไปจนสำเร็จ เจ้าครองเชียงตุงจึงนำเอาก้านอ้ายอ่อนและภรรยาไปประหารเสีย

ก่อนตาย ก้านอ้ายอ่อนได้สาปแช่งไว้ว่า ต่อไปในอนาคตอย่าได้มีเจ้าผู้ครองเชียงตุงคนใด ได้มาเคารพสักการะพระธาตุเลย หากเจ้าผู้ครองเชียงตุงองค์ใดยังขืนเสด็จขึ้นมาเคารพบูชาพระธาตุ ก็ขอให้เจ้าครองเชียงตุงองค์นั้นถึงแก่กาลวิบัติต่างๆ นานา

คุณหอมนวลจึงจบตำนานด้วยการยืนยันว่า ไม่เคยมีเจ้าฟ้าเชียงตุงองค์ใดเสด็จมาถึงที่นั่นสักพระองค์เดียว เพราะไม่กล้ากลัวคำสาปแช่งของก้านอ้ายอ่อน ได้แต่ส่งเครื่องบูชามาถวายแทนตัวเท่านั้น (จริงหรือไม่ผมไม่ทราบ)

ในปัจจุบันวัดทั้งวัด รวมทั้งพระธาตุด้วย ได้รับการบูรณะจากเณรรูปหนึ่ง แม้มีอายุแล้วเธอก็พอใจจะเป็นเณรอยู่เช่นนั้น เป็นที่นับถือของผู้คนอย่างกว้างขวาง จึงสามารถเรี่ยไรเงินมาก่อสร้างทำนุบำรุงศาสนสถานหลายต่อหลายแห่งในเชียงตุง ตัวท่านเองไม่ได้เป็นไตเขิน หากอยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์ของชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่ง คือพวกที่คุณหอมนวลเรียกว่าพวก “แอ่น” (ในหนังสือภาษาอังกฤษสะกดว่า Ann หรือ Enn) แม้จนทุกวันนี้พวกแอ่นก็ยังตั้งภูมิลำเนาอยู่ไม่ไกลจากวัดพระธาตุจอมดอย เป็นกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในที่ดอนมากกว่าบนภูเขา ไม่ต่างจากพวกลัวะในเชียงใหม่

และด้วยข้อสรุปล่วงหน้าที่ได้จากลัวะ ทำให้ผมคาดเดาว่าแอ่นคือละว้า และน่าจะเป็นประชาชนที่อยู่อาศัยในแถบนี้มาก่อนที่พวกเขินจะสถาปนาอำนาจทางการเมืองของตนขึ้น ฉะนั้นจึงออกระทึกใจที่คุณหอมนวลบอกว่าจะพาไปแวะที่ชุมชนของพวกแอ่นในขาลง

แต่ชุมชนแอ่นทำความผิดหวังให้ผมพอสมควร เพราะเขาจนเหลือเกิน ผมไม่เคยเห็นเด็กในชุมชนของชาติพันธุ์กลุ่มน้อยวิ่งมารอรับขนมจากนักท่องเที่ยวมานานแล้ว เกือบ 50 ปีที่แล้ว ผมเคยไปนอนค้างที่บ้านบ่อหลวง ซึ่งกัปตันแม็กเคลออดรายงานว่าเป็นชุมชนของพวกลัวะที่ใหญ่ที่สุด แต่ลัวะก็ไม่ได้จนเท่าแอ่น แถมมีระเบียบแบบแผนตามวัฒนธรรมของเขาในชุมชนอย่างชัดเจนด้วย แม็กเคลออดรายงานไว้ว่า ได้พบพวกลัวะบ่อหลวงนำเหล็กไปขายไกลถึงเมืองฮอดหรือเมืองลี้ (ผมจำไม่ได้) แสดงว่า พวกเขาสามารถจัดองค์กรที่ใหญ่และสลับซับซ้อนได้มาแต่โบราณแล้ว จนทำให้ผมไม่รู้สึกสงสัยตำนานต่างๆ ของภาคเหนือที่มักพูดถึงลัวะว่า เคยมีรัฐและการปกครองของตนเองมาก่อนที่จะถูกพวกมอญและไตยวนรุกรานปราบปราม

ไม่มีร่องรอยว่าพวกแอ่น สามารถจัดองค์กรได้ใหญ่โตและซับซ้อนได้เหมือนลัวะ พูดกันอย่างเคร่งครัด พวกแอ่นย่อมเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ไตเขินเรียกว่า “ละว้า” แต่เขาไม่น่าจะเป็นกลุ่มหลักที่สามารถสร้างรัฐของตนเองขึ้นก่อนที่พญามังรายจะยึดเอาไป

ผมลองถามคำศัพท์บางคำจากชาวแอ่น เช่น นับเลขหรืออวัยวะในร่างกายที่เราใช้บ่อยๆ ก็ค่อนข้างมั่นใจว่าพวกเขาเป็นชนชาติเอเชียใต้แน่ (Austroasiatic) และน่าจะสังกัดในกลุ่มมอญ-เขมรด้วย เพราะศัพท์ที่เขาบอกใกล้เคียงกับคำไม่กี่คำที่ผมรู้ในภาษาเขมร กลับถึงเมืองไทย ผมก็เที่ยวค้นตำรับตำราและเรื่องราวของชาวแอ่น และพบด้วยความประหลาดใจว่ามีน้อยมาก ทั้งในภาษาไทยและอังกฤษ (นอกจากข้อมูลการท่องเที่ยว) สรุปก็คือ พวกเขาเป็นมอญ-เขมรแน่ และพวกเขาอยู่ในแถบนั้นของรัฐชานมาก่อนไตเขิน และก่อนส่วนใหญ่ของชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ที่พบในเชียงตุงทุกวันนี้

เป็นอันจบลงว่า ผมไม่รู้ว่าได้พบกับ “ละว้า” ในตำนานเชียงตุงหรือยัง

ผมรู้สึกประทับใจกับตำนานพระธาตุจอมดอยเป็นอย่างมาก ชัดเจนนะครับว่านี่คือตำนานของคนเล็กๆ ที่ถูกกดขี่ แต่ต่อสู้กับฝ่ายอำนาจด้วยอาวุธของ “นาย” คือพระพุทธศาสนาและความเชื่อเรื่องพระธาตุ ซ้ำเป็นพระธาตุที่ตั้งอยู่บนดอยอันแวดล้อมอยู่ด้วยไร่นาในพื้นที่ราบ ซึ่งอย่างไรเสียพวกไตย่อมยึดครองไปอย่างแน่นอน แต่พวกไตก็นับถือพระธาตุอย่างเดียวกันกับคนกลุ่มน้อยที่สร้างพระธาตุขึ้น เพียงแต่ว่าต้องนับถือภายใต้กติกาที่คนเล็กๆ วางไว้ คือชาวบ้านด้วยกันขึ้นมาสักการบูชาได้ แต่ “นาย” ของตนขึ้นมาไม่ได้

จนถึงทุกวันนี้ ตำนานก็ยังมีชีวิต เพราะเณรที่มีกำลังศรัทธากว้างขวางและนำการปฏิสังขรณ์พระธาตุและวัดคือชาวแอ่น ไม่ใช่เขินอันเป็นประชากรส่วนใหญ่ แม้ไม่มีภิกษุจำพรรษาที่นี่มากนัก แต่ท่านก็สร้างโรงนอนเป็นวิหารใหญ่ไว้ด้วย สำหรับรับพระเณรที่จะเดินทางมาร่วมพิธีกรรมประจำปี ขนอิฐขนหินขนปูนผ่านถนนที่อยู่ในสภาพลำลองเช่นนี้ขึ้นมาสร้างสิ่งก่อสร้างใหญ่โตเช่นนี้ได้ และมีพระเณรจำนวนหลายร้อยเดินทางมาร่วม รวมทั้งต้องมีชาวเขินอีกมากที่ต้องนำภัตตาหารมาถวายระหว่างงานประเพณีนั้น นี่คือ “อานุภาพ” ของท่านซึ่งเป็นชาวแอ่น

ที่ยังเป็นเณรโดยไม่คิดบวชพระ คือการขีดเส้นใต้ให้แก่อานุภาพอันน่าอัศจรรย์นี้กระมัง

นี่คืออาวุธของคนเล็กคนน้อยที่อ่อนแอทั้งหลาย เพื่อบ่อนทำลายการครอบงำของพวกบิ๊กๆ แต่ด้วยวิธีที่ไม่ต้องเจ็บตัวหรือเลือดตกยางออก และไม่ทำให้ตัวต้องหิวโหยมากขึ้น คนเล็กๆ ในเชียงตุงก็ใช้ และคนเล็กๆ ในเมืองไทยปัจจุบันก็ใช้ ถึงไม่ชนะ ก็ทำให้การครอบงำเป็นที่ระคายเคืองแก่เหล่าบิ๊กๆ ทั้งหลาย เราจะหวงความสุขไว้ ไม่ให้พวกนั้นได้รับ