On History : ที่ลิซ่าใส่คือ ‘ชฎา’ แต่ชฎาไม่ใช่ของที่มีเฉพาะในวัฒนธรรมไทย

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

 

 

ที่ลิซ่าใส่คือ ‘ชฎา’

แต่ชฎาไม่ใช่ของที่มีเฉพาะในวัฒนธรรมไทย

 

ปรากฏการณ์ “ชฎา” ในมิวสิกวิดีโอเพลง “LALISA” ซิงเกิลเดี่ยวชิ้นแรกจากนักร้อง K-Pop เชื้อสายไทยแห่งวง Blackpink อย่าง “ลิซ่า” ลลิษา มโนบาล กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องการนำเครื่องสูงของไทย มาใช้อย่างไม่เหมาะสม

ซึ่งก็มีทั้งคนเห็นด้วย และเห็นต่าง

บางท่านก็ว่า “ชฎา” ไม่ใช่ของไทยแต่เพียงผู้เดียวเสียหน่อย เพราะเป็นมรดกร่วมของอุษาคเนย์

แถมบางท่านยังหล่นความเห็นเอาไว้ว่า บนหัวของลิซ่าไม่ใช่ชฎา แต่เป็น “รัดเกล้ายอด” ต่างหาก

การที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเภท และที่มาของ “ศิราภรณ์” หรืออาภรณ์ประดับศีรษะชนิดต่างๆ ของชนชั้นเจ้านายสมัยโบราณอย่างนี้ เราอาจจะศึกษาผ่านความเข้าใจของ “เจ้า” ในสมัยหลัง (เมื่อเทียบกับเจ้าในสมัยโบราณ) อย่างสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้แก่ สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ไว้ในจดหมายโต้ตอบระหว่างทั้งสองพระองค์ ที่ได้รับการรวบรวมและจัดพิมพ์ในชื่อ “สาส์นสมเด็จ” ว่า

“เครื่องสวมพระเศียรพระราชามหากษัตริย์ ดูมีแต่ 3 ชนิด ชนิด 1 คือ มงกุฎ อันเกิดแต่กรอบหน้า ชนิด 1 คือ ชฎา อันเกิดแต่ผ้าโพก ชนิด 1 มาลา อันเกิดแต่หมวก ทำชนิดใดให้ผิดกันกี่อย่างก็หาคำคุณศัพท์ต่อเพิ่มเข้าเป็นเรียกชื่อต่างกัน”

และถ้าจะเชื่อตามความรู้และประสบการณ์ของ “เจ้า” ระดับ “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ และโบราณคดีของไทย” อย่างกรมพระยาดำรงฯ แล้ว เครื่องประดับศีรษะของเจ้านาย ก็มีเพียงแค่ 3 ชนิดหลักๆ เท่านั้น อะไรอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นรัดเกล้า, กรรเจียกจร เกี้ยวยอด และอีกให้เพียบสารพัด เป็นเพียงแค่เครื่องประกอบที่ใช้สวมใส่ประดับประดาเพิ่มเติม แล้วเรียกรวมกันว่า พระมาลา, ชฎา หรือมงกุฎ ก็เท่านั้น

 

แต่อันที่จริงแล้ว ความเข้าใจของกรมพระยาดำรงฯ ก็ยังเป็นคำอธิบายของคนในยุคหลังอยู่นั่นเอง เพราะข้อมูลเก่าแก่ระดับที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกนั้น ได้ระบุเอาไว้ว่า “มงกุฎ” ของพระเจ้าปเสนทิโกศล เป็นเพียง “ผ้าโพกขาวทอง” ผืนเดียวเท่านั้น

ดังนั้น สำหรับในโลกสมัยโบราณ โดยเฉพาะในชมพูทวีป ที่ส่งผ่านแนวความคิด ความเชื่อ และพิธีรีตอง เกี่ยวกับการสวมใส่เครื่องศิราภรณ์ของกษัตริย์ และบรรดาเชื้อพระวงศ์ มาให้กับอุษาคเนย์แล้ว อะไรที่เรียกว่า “ชฎา” กับ “มงกุฎ” นั้นก็ดูจะปนๆ กันอยู่มาตั้งแต่ต้น

ในโลกของภาษาสันสกฤตมีคำว่า “ชฎามกุฎ” ซึ่งหมายถึง “มุ่นมวยผม” อันถือเป็นสัญลักษณ์ของนักบวชผู้บำเพ็ญพรต แต่มุ่นมวยผมที่ว่านี้มักจะไม่ใช่มวยผมเปล่าๆ เปลี้ยๆ เพราะบ่อยครั้งเลยทีเดียวที่มีผ้าพันมวยผมที่ว่านี้ไว้ ดังปรากฏอยู่ในรูปประติมากรรมรูปนักบวชโดยทั่วไป ไม่ว่าที่สร้างขึ้นในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู หรือในพุทธศาสนาแบบมหายาน ดังนั้น ในความหมายนี้ “ชฎา” จึงเกี่ยวพันอยู่กับ “ผ้า” แน่

เทพเจ้าองค์สำคัญของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูอย่าง “พระอิศวร” (องค์เดียวกับพระศิวะ) ซึ่งครองตนเป็นนักบวช (ถึงจะมีชายา แถมยังเปี่ยมไปด้วยสิริโฉมเสียด้วยก็เถอะ) นั้น ถูกบรรยายไว้ว่า มีศิราภรณ์เป็นชฎามกุฎ ซึ่งก็เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปในหมู่พ่อพราหมณ์ และความเข้าใจอย่างนี้ก็ถูกแพร่เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาเสียด้วย

ดังปรากฏความพรรณนาถึงรูปร่างลักษณะของพระอิศวร ในโองการแช่งน้ำพระพัทธ์ ซึ่งเป็นวรรณกรรมในช่วงยุคต้นของกรุงศรีอยุธยาว่า

“อ้างทัดจันทร์เป็นปิ่น ทรงอินทรชฎา”

 

ความตอนดังกล่าวพรรณนาว่า พระอิศวรมีพระจันทร์เป็นปิ่นประดับอยู่บนมุ่นมวยผม หรือที่สันสกฤตมีคำศัพท์เรียกเป็นการเฉพาะว่า “จันทรเศขร” คำว่า “เศขร” หรือ “ศิขร” นี้ แปลว่า “ยอดเขา” ซึ่งก็หมายถึงมุ่นมวยผมของพระอิศวรนั่นเอง

ดังนั้น ผมจึงอยากจะเดาว่า คำ “อินทรชฎา” ที่ปรากฏอยู่ในโองการแช่งน้ำฯ ไม่ได้หมายถึงชฎาของพระอินทร์ เพราะนอกจากพระอินทร์จะไม่ได้เกี่ยวอะไรกับพระอิศวรในร่ายบทนี้แล้ว ยังทรงมงกุฎแปดเหลี่ยม หรือมงกุฎทรงกระบอกที่เรียกว่า “กิรีฏมกุฎ” อันเป็นสัญลักษณะของกษัตริย์ (ไม่ต่างอะไรกับที่ชฎามกุฎ เป็นเครื่องหมายของนักบวช) ตามศักดิ์ฐานะที่เป็นราชาของเหล่าเทพตามคติพราหมณ์ต่างหาก

“อินทรชฎา” ในที่นี้ถ้าไม่แปลกันแบบทุบดินอย่างไม่กลัวกำปั้นจะแหกว่า “ชฎาของผู้เป็นใหญ่” (“อินทร” แปลตรงตัวว่า “ผู้เป็นใหญ่”) ก็อาจเป็นการเปรียบเปรยว่า มวยผมของพระอิศวรเป็นยอดเขาที่มีพระจันทร์มาทัดเป็นปิ่น และตามคติจักรวาลจากชมพูทวีป ไม่ว่าจะพุทธ หรือพราหมณ์นั้น ต่างก็เชื่อว่า พระจันทร์ และพระอาทิตย์ โคจรอยู่รอบ “เขาพระสุเมรุ” อันเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ควบตำแหน่งที่พำนักอาศัยของพระอินทร์ ซึ่งก็คือบนยอด (ศิขร) ของเขาพระสุเมรุนั่นแหละนะครับ

ดังนั้น คำว่า “จันทรเศขร” ในภาษาสันสกฤต จึงมีความหมายเกี่ยวข้องกับความเป็นศูนย์กลางจักรวาลของพระอิศวร (เช่นเดียวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ยิ่งใหญ่โดยทั่วไปตามความเชื่อของอินเดีย ที่มักจะถูกยกขึ้นเป็นศูนย์กลางของจักรวาล) ที่ทับซ้อนอยู่กับเขาพระสุเมรุ อันเป็นสถานที่พำนักของพระอินทร์ คำว่า “อินทรชฎา” จึงอาจจะไม่ใช่แค่สัมผัสคล้องจองกับคำท้ายสุดของวรรคข้างหน้าคือคำว่า “ปิ่น” แต่มีความหมายเชิงปรัมปราคติที่ลึกซึ้งด้วย

แต่ไม่ว่าข้อสันนิษฐาน (ศัพท์วิชาการของคำว่า เดา” ข้างต้นของผมจะถูกหรือผิดก็ช่าง เพราะในโองการแช่งน้ำฯ นั้น ระบุให้พระอิศวร “ทรงอินทรชฎา” ไม่ใช่อินทรมงกุฎ หรืออินทรมาลา ดังนั้น แต่แรกเริ่มเดิมทีคำว่า “ชฎา” ในยุคต้นอยุธยานั้น จึงน่าจะเกี่ยวข้องอยู่กับ “ผ้า” อย่างที่กรมพระยาดำรงฯ ได้อธิบายเอาไว้

 

ในกฎมณเฑียรบาล ซึ่งตราขึ้นในรัชสมัยของพระบรมไตรโลกนาถ แห่งอยุธยา เมื่อราว พ.ศ.2000 ก่อนที่จะถูกนำผนวกเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายตราสามดวงในภายหลังนั้น มีชื่อ “พระมาลาสุกหร่ำ”

คำว่า “พระมาลาสุกหร่ำ” นี้ สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้อธิบายให้กับพระยาอนุมานราชธน และถูกรวบรวมเอาไว้ในหนังสือชุด “บันทึกความรู้เรื่องต่างๆ” ว่า เป็นการประดับพระมาลาด้วยดอกไม้สด ซึ่งก็น่าเชื่อทีเดียว เพราะแต่แรกเริ่มเดิมที ชนพื้นเมืองอุษาคเนย์ มีการประดับประดาศีรษะด้วยดอกไม้สด (ซึ่งก็คงประดับเฉพาะในงานพิธี) เพราะหลักฐานยังมีอยู่ในกลุ่มหมู่เกาะ บาหลี เป็นต้น

เมื่อชาวอุษาคเนย์รับเอาวัฒนธรรมศาสนาพุทธ-พราหมณ์ จากชมพูทวีป และลังกาทวีป เข้ามาสวมเป็นหน้าฉากให้ศาสนาผีพื้นเมือง ก็เลยเอาเครื่องแต่งกายของพุทธ และพราหมณ์เข้ามา รวมถึงศิราภรณ์ประเภทต่างๆ ด้วย

ผ้าขาวทองที่ใช้โพกหัวพระราชาในอินเดีย ตามที่ระบุไว้ในพระไตรปิฎก ถูกแต่งโน่นเสริมนี่เสียจนไม่เหลือรูปของผ้า อุษาคเนย์เรารับมงกุฎพวกแขกพุทธ-แขกพราหมณ์มาหลัง พ.ศ.1000 มงกุฎก็กลายรูปไปมากแล้ว ซ้ำยังประดับเพิ่มตามความพื้นถิ่นอย่างเอาดอกไม้สดมาเพิ่มเสริมความวิจิตร “พระมาลาสุกหร่ำ” นั่นก็ใช่

ที่สุดแล้วการประดับมงกุฎเพิ่มเติมด้วยเครื่องประดับต่างๆ ซึ่งมีความสลับซับซ้อน ทั้งในแง่ของการประดับและความหมายในเชิงพิธีกรรมก็ค่อยๆ เลิกไป ดังตัวอย่างที่เจ้าฟ้านริศฯ ได้อธิบายถึงพระมาลาสุกหร่ำ กับเจ้าคุณอนุมานฯ ต่อไปว่า

“แล้วดอกไม้สดก็เลิกไปจนลืม คงใช้แต่ดอกไม้ทอง ภายหลังซ้ำเอาเพชรนิลจินดาเข้ากับดอกไม้ทองอีกด้วย จึงได้พาหลงไปไกล รูปทรงแห่งมงกุฎนั้นต่างพวกต่างนึกทำตามชอบใจ แต่ก็คงอยู่ในพวกผ้าโพกหัวกับดอกไม้ทั้งนั้น ผ้าโพกนั้นโพกลำบาก จึงเปลี่ยนแปลงทำเสียเป็นหมวกประดับดอกไม้ทอง ตกลงเป็นเครื่องสำหรับครอบหัว”

 

ถ้ายอมรับในคำอธิบายดังกล่าวของเจ้าฟ้านริศฯ ชะตากรรมของอะไรที่เรียกว่า “ชฎา” ก็ไม่น่าจะแตกต่างกันหรอกนะครับ

หลังจากที่กลายรูปจากผ้าโพกหัว ที่ประดับประดาไปด้วยส่วนประกอบอื่นๆ ไม้ว่าจะเป็นกระบังหน้า (เจ้าฟ้านริศฯ กระบังหน้า เรียกว่า พระมาลา ต่างจากที่กรมพระยาดำรงฯ อธิบาย แต่บางท่านก็เรียกกระบังหน้ามงกุฎ หรือรัดเกล้ามงกุฎก็มี), เกี้ยวยอด, กรรเจียกจร, ดอกไม้ทอง หรืออื่นๆ ก็ถูกรวบเข้าเป็น “เครื่องสำหรับครอบหัว” แล้วเรียกรวมๆ ว่า ชฎา

ซึ่งในภายหลังมีนัยยะสัมพันธ์อยู่กับเพศหญิง โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับงานนาฏศิลป์ต่างๆ ตรงข้ามกับ “มงกุฎ” ที่ดูจะสัมพันธ์อยู่กับเพศชายมากกว่า

เอาเข้าจริงแล้ว สิ่งที่สวมอยู่บนหัวของ “ลิซ่า” ในมิวสิกวิดีโอเพลง LALISA ก็คือ “ชฎา” นั่นแหละครับ

แต่กว่าที่จะพัฒนามาเป็นชฎานั้น ต้องผ่านกระบวนการต่างๆ ในแต่ละวัฒนธรรมมาอย่างชวนให้รู้สึกยุ่งเหยิงต่อการสืบค้นเลยทีเดียว

ชฎาจึงไม่ควรจะถูกนับว่าเป็นของไทยแต่เพียงผู้เดียว เช่นเดียวกับที่ไม่น่าจะถูกนับเป็นของวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่ง เพราะเจ้าเครื่องสวมหัวชนิดนี้มีความหมายและหน้าที่การใช้งานที่แตกต่างกันไปในแต่ละวัฒนธรรม

เช่นเดียวกับศิราภรณ์ และบรรดาเครื่องประดับ เครื่องแต่งกายทั้งหลายทุกชนิดบนโลกนั่นเอง