ปริศนาโบราณคดี l ‘สงครามสามนคร’ (1) : กษัตริย์หริภุญไชยผู้พลัดถิ่นหนีไปแถบเมืองสรรคบุรี?

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

 

‘สงครามสามนคร’ (1)

: กษัตริย์หริภุญไชยผู้พลัดถิ่นหนีไปแถบเมืองสรรคบุรี?

 

ใครที่ได้อ่านเอกสารโบราณอายุกว่า 500 ปีสามเล่มนี้ คือชินกาลมาลีปกรณ์ ตำนานมูลศาสนา และจามเทวีวงศ์พงศาวดารนครหริปุญไชย ย่อมต้องสะดุดใจกับเนื้อหาที่เข้มข้นตอนหนึ่ง พร้อมกับคำถามนานัปการ

เนื่องจากเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ดึงเอาแว่นแคว้นต่างๆ ของสามภูมิภาคในสยาม เหนือ กลาง ใต้ เข้ามาโยงใยกันอย่างดุเดือด แต่ก็น่าเชื่อถือ ดังที่เรียกกันแบบให้เข้าใจง่ายว่า “สงครามสามนคร” นั้น

ผู้อ่านเคยสงสัยกันบ้างหรือไม่คะ การที่ตำนานระบุว่ากษัตริย์นครศรีธรรมราชได้บุกขึ้นมายึดเมืองละโว้ (ลพบุรี) ทำให้กษัตริย์ละโว้ต้องรีบมาช่วงชิงยึดเมืองหริภุญไชย (ลำพูน) ในขณะที่กษัตริย์หริภุญไชยเข้าเมืองช้ากว่าจำต้องอพยพหนีลงไป ณ เมืองแห่งหนึ่งทางทิศใต้

เมืองดังกล่าวนั้นคือเมืองอะไรหรือ? ตำนานทุกฉบับไม่ได้บันทึกชื่อไว้

ดิฉันสนใจประเด็น “สงครามสามนคร” อย่างมาก เพราะมันเริ่มสนุกมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนถึงแสนยานุภาพของกองทัพแห่งรัฐทางใต้ ว่ามีความยิ่งใหญ่กว่ารัฐทางภาคกลาง และกองทัพของรัฐทางตอนกลางก็มีพลานุภาพสูงกว่ารัฐทางตอนเหนือ

ดิฉันจึงขอนำเสนอความเห็นออกเป็นสองตอน

ฉบับนี้จะพูดถึงรายละเอียดของสงครามสามนคร

ส่วนฉบับหน้าจะตั้งข้อสันนิษฐานว่าด้วย “เมืองแห่งหนึ่งที่กษัตริย์หริภุญไชยผู้พลัดถิ่นหนีหายไป” นั้น ควรจะเป็นเมืองสรรคบุรี (แพรกศรีราชา) แถบชัยนาท ได้หรือไม่?

เหตุที่เราได้พบรูปแบบพระเจดีย์จำนวนมากในกลุ่มเมืองสรรคบุรี สร้างด้วยทรงแปดเหลี่ยมสูงชะลูด อันมีต้นกำเนิดมาจาก “รัตนเจดีย์” วัดจามเทวี ศิลปะของหริภุญไชย อย่างมีนัยยะสำคัญ

โบราณสถานสมัยทวารวดีที่วัดนครโกษา ลพบุรี

 

โบราณสถานสมัยทวารวดีที่วัดนครโกษา ลพบุรี

 

เหตุการณ์อลหม่าน

เมืองแม่ vs เมืองลูก + มือที่สาม

เมืองหริภุญไชยสร้างขึ้นราวปี พ.ศ.1204-1205 โดยพระนางจามเทวีเสด็จจากกรุงละโว้ (ลวปุระ) เพื่อขึ้นไปปกครองในฐานะปฐมกษัตรีย์ ตามคำเชิญของฤๅษีวาสุเทพ กล่าวได้ว่า ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 13 ละโว้กับหริภุญไชย ยังมีสายสัมพันธ์อันดีต่อกันในฐานะเครือญาติ

หลักฐานทางศิลาจารึกที่พบอักษรมอญโบราณในสองแคว้นนี้ อาจใช้ยืนยันได้ว่าประชากรหลักของแคว้นทั้งสองก็น่าจะเป็นชาติพันธุ์กลุ่มเดียวกันคือ “ชาวมอญ” หรือจะเป็นชาติพันธุ์ใดก็แล้วแต่ อย่างน้อยต้องอยู่ในกลุ่มคนที่ใช้ภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก (ขอม มอญ ละว้า)

ผ่านไปแค่ 2-3 ศตวรรษเท่านั้น สายสัมพันธ์ระหว่างละโว้กับหริภุญไชยเริ่มขาดสะบั้นลง ไม่เหลือเยื่อใยแห่งความเป็นเมืองแม่เมืองลูกกันอีกต่อไป ด้วยเหตุนี้ตำนานฝ่ายเหนือนับแต่กษัตริย์หริภุญไชยลำดับที่ 18 เป็นต้นไป ล้วนบันทึกถึงเหตุการณ์ในทำนองว่าฝ่ายหริภุญไชยและฝ่ายละโว้ ต่างชิงชังซึ่งกันและกัน เผลอไม่ได้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดต้องผลัดกันยกทัพไปรุกรังแกอีกฝ่ายตลอดเวลา

หากเป็นสงครามระหว่าง “ละโว้-หริภุญไชย” เมืองแม่-เมืองลูก แค่สองเมืองก็คงไม่น่าแปลกใจเท่าใดนัก ด้วยเหตุที่ต่อมาเมืองละโว้ได้ตกไปอยู่ภายใต้อิทธิพลของขอมแล้ว ในขณะที่หริภุญไชยยังเป็นมอญทวารวดีอยู่

ทว่า สิ่งที่เพิ่มความอลวนอลเวงจนถึงขั้นอลหม่านขึ้นมาก็คือ จากสงครามสองนคร ไฉนจึงได้ขยายวงกว้างออกไปเป็น “สงครามสามนคร” นี่น่ะสิคะ มีเมือง “นครศรีธรรมราช” เข้ามาร่วมวงไพบูลย์เพิ่มด้วยได้อย่างไร

ทำให้ต้องวิเคราะห์กันอย่างหนักว่าเกิดอะไรขึ้นกับรัฐต่างๆ ในช่วงเวลาดังกล่าว

พระวิษณุศิลา จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์วังนารายณ์ราชนิเวศน์ ลพบุรี

 

กลุ่มเทวรูปที่ศาลพระกาฬ ลพบุรี มีพระวิษณุอยู่กลาง

 

รายพระนามกษัตริย์

ที่คลาดเคลื่อนของแต่ละฝ่าย

กษัตริย์ของฝ่ายหริภุญไชยในขณะนั้น ชินกาลมาลีปกรณ์ระบุว่าชื่อพระเจ้า “ตราพกะ” (อ่าน ตรา-พะ-กะ) มูลศาสนาบอกว่าชื่อพระญา “พกราช” (พะ-กะ-ราช) จามเทวีวงศ์เรียกพระเจ้า “อัตราสตกราช” (อัต-ตะ-ราด-ตะ-กะ-ราช)

กษัตริย์ฝ่ายละโว้ ชินกาลมาลีปกรณ์ระบุว่าชื่อพระเจ้า “อุจฉิตตจักรพรรดิ” (อุด-ฉิด-ตะ) มูลศาสนาบอกว่าชื่อพระญา “อุจจิตตะจักรวรรดิ” (อุด-จิต-ตะ) จามเทวีวงศ์เรียกพระเจ้า “อุจฉิฏฐจักรวัติราช” (อุด-ฉิด-ถะ) การมีสร้อยคำว่า “จักรพรรดิ-จักรวรรดิ-จักรวัติราช” ต่อท้าย สะท้อนว่ากษัตริย์พระองค์นี้ต้องยิ่งใหญ่มาก ถึงขนาดได้รับการประกาศเป็นพระจักรพรรดิ

กษัตริย์ฝ่ายนครศรีธรรมราช (สิริธัมมนคร) ชินกาลมาลีปกรณ์เรียกพระเจ้า “ชีวกราช” (อ่าน ชี-วะ-กะ) มูลศาสนาว่าชื่อพระญา “วรราช” (วอ-ระ-ราช) จามเทวีวงศ์เรียกพระเจ้า “สุชิตราช”

เห็นได้ว่าชื่อกษัตริย์ของฝ่ายละโว้ ตำนานทุกฉบับบันทึกไว้แทบไม่มีความแตกต่างกันเลย กษัตริย์ฝ่ายหริภุญไชยแม้จะมีความแตกต่างกันบ้าง ทว่า ยังพอเห็นเค้ารากศัพท์คำว่า “พะ-กะ-ราช” หรือ “ตะ-กะ-ราช” ที่ละม้ายคล้ายคลึงกันอยู่บ้าง

ในทางกลับกัน ชื่อกษัตริย์ของฝ่ายนครศรีธรรมราชนั้น แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงทั้งสามตำนาน ระหว่าง “ชีวกะ” “วรราช” และ “สุชิตราช”

ศาสตราจารย์ยอร์จ เซเดส ตีความคำว่า “ชีวกะ” (Jivakas) ว่าหมายถึงชาวชวา (ชวากะ) เป็นการบ่งบอกถึงเชื้อสายของกษัตริย์องค์นี้ว่าเป็นคนพื้นเมืองกลุ่มชวา-มาเลย์ สืบบัลลังก์มาจากสายวงศ์ศรีวิชัยที่มีเกาะชวาเป็นศูนย์กลาง (แม้ว่าช่วงพุทธศตวรรษที่ 15-16 นครศรีธรรมราชหรือตามพรลิงค์ จะแยกเป็นอิสระจากศรีวิชัยแล้วก็ตาม)

 

เทวรูปวิษณุศิลา 4 กร ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช

 

คำว่า “วรราช” นักวิชาการหลายท่านมองว่าคล้ายคำสร้อยต่อท้ายพระนามเต็มมากกว่า ส่วน “สุชิตราช” นั้นน่าจะเป็นชื่อเฉพาะของกษัตริย์พระองค์นี้

“สุชิตราช” คือใคร “ปิแยร์ ดูปองต์” นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสเห็นแย้งกับยอร์จ เซเดส ที่มองว่าพระองค์เป็น “ชวากะ-ชีวกะ” เชื้อสายศรีวิชัย

ดูปองต์เห็นว่ากษัตริย์องค์นี้น่าจะมีเชื้อสายเขมรมากกว่า หรืออย่างน้อยมเหสีของพระองค์ต้องเป็นเจ้าหญิงเขมร คืออย่างไรเสียชนชั้นปกครองเมืองตามพรลิงค์ช่วงนั้นน่าจะเป็นเขมร ครั้นสุชิตราชเห็นว่าทางละโว้ (ซึ่งก็เป็นขอมแล้วเหมือนกัน) กำลังมีปัญหากับหริภุญไชย จึงถือโอกาสบุกเข้าไปยึดละโว้ไว้ให้ได้ก่อน (เพื่อช่วยพวกเขมรเหมือนกัน) มิเช่นนั้นแล้ว ละโว้ต้องตกเป็นของฝ่ายมอญหริภุญไชย

“ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์” ผู้เชี่ยวชาญด้าน “ศรีวิชัยศึกษา” วิเคราะห์ว่า เหตุการณ์สงครามสามนครครั้งนี้ เกิดขึ้นราวปี 1560 ก่อนยุคของพระเจ้าสูริยวรมันที่ 1 จักแผ่อิทธิพลมาสู่ละโว้ในราวปี 1593 ดังนั้น การทะเลาะเบาะแว้งระหว่าง “ละโว้-หริภุญไชย” ขณะนั้น จึงยังไม่ใช่เป็นการต่อสู้กันระหว่าง “ขอมกับมอญ” แต่เป็นการช่วงชิงอำนาจกันเองระหว่าง “มอญทวารวดีภาคกลางกับภาคเหนือที่เป็นเครือญาติกัน” มากกว่า

ไม่ว่าช่วงนั้น กษัตริย์เมืองนครศรีธรรมราชจะเป็นชาวศรีวิชัยหรือเขมร และไม่ว่ากษัตริย์ละโว้จะเป็นชาวมอญทวารวดีหรือเป็นเขมรแล้วก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนลืมเลือนไปเลยเมื่อกล่าวถึงสงครามครั้งนี้ก็คือ “ชะตากรรมของกษัตริย์หริภุญไชยผู้พลัดถิ่นพระองค์นั้น” จะเป็นตายร้ายดีอย่างไรบ้าง คือคำถามหลักของบทความชิ้นนี้

“พระญาตราพกะ-พกราชา-อัตราสตกราช เมื่อพระองค์พ่ายแพ้ต่อ อุจฉิตตจักรพรรดิ แล้วไซร้ พระองค์ทรงหายไปไหน?”

 

เทวรูปวิษณุศิลา 4 กร ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช

 

ตามหาพระญาตราพกะ-พกราชา-อัตราสตกราช

เมืองไหนหนอริมสายน้ำปิง-เจ้าพระยาหรือ?

จุดเริ่มต้นของสงครามสามนครนั้นใครเป็นผู้ก่อ? ไม่ใช่อยู่ๆ พระเจ้าชีวกราชจากนครศรีธรรมราชก็ยกทัพขึ้นมายึดละโว้อย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย

ทั้งยังไม่ใช่ว่า อยู่ดีๆ พระเจ้าอุจฉิตตะ ผู้เป็นจักรพรรดิแห่งกรุงละโว้ นึกครึ้มอกครึ้มใจลุกขึ้นมายึดหริภุญไชยอย่างไร้เหตุผล

เรื่องของเรื่องต้นเหตุเริ่มมาจาก พระญาตราพกะ-พกราชา-อัตราสตกราช กษัตริย์นครหริภุญไชยลำดับที่ 18 (ยึดตามชินกาลมาลีปกรณ์ แต่มูลศาสนาเป็นลำดับที่ 19) ของเรานี่เอง ซึ่งตำนานทุกฉบับกล่าวตรงกันว่า หลังจากที่ครองราชย์ได้ 2 ปี กับ 10 เดือนแล้วนั้น

ชินกาลมาลีปกรณ์ว่า “พระองค์เป็นคนกล้า ได้ตระเตรียมการรบแล้วล่องใต้ไปตามแม่น้ำพิงค์ เพื่อจะยึดครองเมืองลวปุระ …พระเจ้าอุจฉิตตจักรพรรดิได้ทราบข่าวข้าศึกมา จึงเสด็จออกจากเมืองลวปุระ เมื่อกษัตริย์ทั้งสองตั้งค่ายประชิดเพื่อจะรบกัน ยังมีกษัตริย์องค์หนึ่ง พระนามว่าพระเจ้าชีวกะ มีทหารจำนวนมาก ยกทัพเรือมาจากสิริธัมมนคร (นครศรีธรรมราช) ยึดเอาเมืองลวปุระไว้ได้

ในกาลนั้น กษัตริย์คู่สงครามทั้งสอง ก็รีบเร่งแข่งกันมานครหริปุญไชย เพื่อว่าใครถึงก่อนจะได้ยึดครอง ในกษัตริย์ทั้งสองนั้น พระเจ้าอุจฉิตตจักรพรรดิถึงนครหริปุญไชยก่อน พระเจ้าตราพกะจึงปราชัย แล้วถอยจากสมรภูมิรบไป”

 

เทวรูปศิวนาฏราชสำริด ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช

แต่ไม่บอกว่าหนีไปอยู่ที่ไหน

ตำนานมูลศาสนาระบุว่า การขึ้นมาของพระญาวรราช (ชีวกราช-สุชิตราช) จากนครศรีธรรมราชนั้น ก็เพื่อ “ปราบศึก 2 เมือง” ให้ยุติ

“พระญาวรราชเสวยสมบัติอยู่ในเมืองนครศรีธรรมราช ทรงทราบข่าวว่าพระญาทั้งสองจักรบกัน ดังนั้น พระองค์ก็ยกพลโยธาเข้ามาผ่ากองทัพพระญาทั้งสอง ให้พ่ายหนีไปสู่เมืองหริภุญไชยทั้งสองฝ่าย แต่พระญาละโว้เสด็จไปถึงเมืองหริภุญไชยก่อน พระองค์ก็เสด็จเข้าไปประทับอยู่ในเมืองหริภุญไชยนั้นแล ฝ่ายว่าพระญาพกราชนั้นพลัดจากเมืองหริภุญไชยก็หนีไปหนใต้นั้นแล”

มีเพียงจามเทวีวงศ์เท่านั้นที่ให้รายละเอียดมากกว่าฉบับอื่น นับแต่การระบุถึงความยิ่งใหญ่ของกองทัพฝ่ายพระเจ้าสุชิตราช จากสิริธัมมนครว่า

“เสด็จถึงที่ยุทธนาการของสุรโยธาทั้งสองฝ่าย (ฝ่ายละโว้กับฝ่ายหริภุญไชย) โดยทางบกบ้าง ทางน้ำบ้าง (ชินกาลระบุว่ามาแต่ทางน้ำ) ด้วยสุรโยธาสิบเจ็ดหมื่น (หนึ่งแสนเจ็ดหมื่น) ครั้งนั้นพลนิกายทั้งสองฝ่ายได้เห็นพลนิกายของพระเจ้าสุชิตราชมากกว่า ก็เกิดความสะดุ้งตกใจกลัวพากันหนีไป ฝ่ายพระเจ้าอุจฉิฏฐจักรวัติราชไม่อาจกลับลวปุระได้ จึงยุดถือเอาพระนครหริปุญไชย”

จามเทวีวงศ์อธิบายว่าฝ่ายละโว้เร่งเดินเท้าไปยึดลำพูนโดยทางบกจึงถึงก่อน ในขณะที่ฝ่ายหริภุญไชยมัวแต่มะงุมมะงาหราใช้เส้นทางน้ำซึ่งเป็นทางอ้อมมาก ขาขึ้นตรงช่วงแม่ปิงเต็มไปด้วยเกาะแก่งจึงเสียเวลามาก กลับเข้าเมืองตัวเองไม่ทัน ทำให้ต้องเสียราชสมบัติ ลูกเมีย และอาณาประชาราษฎร์ กล่าวคือ พระเจ้าอุจฉิฏฐจักรวัติราชได้กระทำการยึดทุกสิ่งอย่าง

“จักกระทำภริยาของคนทั้งปวงเหล่านั้นให้เป็นภริยาของพวกเรา …ก็ถือเอาพระราชเทวีและพระราชธิดา แลวัตถาอาภรณ์ต่างๆ ซึ่งสมควรแก่พระองค์ ที่เหลือนั้นก็พระราชทานแก่พลนิกายของพระองค์”

อาจเป็นเพราะพระเจ้าอุจฉิฏฐจักรวัติราชมิได้พามเหสี โอรสธิดามาด้วยในครั้งนั้น เนื่องจากตอนที่ท่านออกจากกรุงละโว้นั้น ก็เพื่อมาทำการสงคราม ลูกเมียทรัพย์ศฤงคารต่างๆ ไม่ได้หอบกระเตงขนมาในสนามรบด้วย ทั้งหมดก็คงตกเป็นของพระเจ้าสุชิตราช กษัตริย์นครศรีธรรมราชที่ยึดละโว้ได้ด้วยเช่นเดียวกัน

ที่น่าสนใจคือ จามเทวีวงศ์บรรยายว่าเมื่อพระเจ้าสุชิตราชยึดละโว้ได้แล้ว “ก็ให้พิฆาตมหาพิชัยเภรี กระทำการบูชาเทพยดา แลบูชาเทวรูปในป่า แลบูชารูปพระราชมารดา แลบูชาเทพยดาที่รักษาพระนคร”

กษัตริย์เชื้อสายชวาหรือเขมรผู้นี้นับถือศาสนาอะไร พุทธหรือพราหมณ์? ไยจึงไม่มีการสักการะพระพุทธรูปหรือให้พระสงฆ์ทำพิธีทางพุทธศาสนา แต่กลับตีกลองบูชาเทวดาอารักษ์ บวงสรวงเทวรูป (ไม่แน่ใจว่าจะเป็นรูปพระวิษณุหรือพระศิวะ?) ส่วนการเคารพรูปปั้นของพระราชมารดานั้น สะท้อนถึงลัทธิพิธี “ศากติ” คือบูชามหาสตรีเป็นใหญ่ ถือเป็นการเพิ่มพลังให้แก่เพศชายตามความเชื่อทั้งของศาสนาฮินดูและพุทธมหายานที่นิยมอย่างสูงในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15-18

เทวรูปสตรีสำริด สะท้อนลัทธิ ศากติ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช

จามเทวีวงศ์กล่าวถึง ชะตากรรมของพระญาอัตราสตกราชว่า

“อยู่มาไม่ช้า พระองค์ก็เสด็จกลับมาชิงเอาพระนครคืน ได้กระทำยุทธนาการกับพระเจ้าอุจฉิฏฐจักรวัติราชก็ถึงปราชัยพ่ายแพ้ หนีลงเรือไปซ่อนเร้นในที่ห่างไกล ในอรัญประเทศแห่งหนึ่งข้างทักษิณทิศ

ข้อความนี้สะท้อนว่า กษัตริย์หริภุญไชยผู้พลัดถิ่นองค์นี้ยังไม่ยอมแพ้ง่ายๆ พยายามขึ้นมาทวงเมืองลำพูนคืนแล้วรอบหนึ่ง แต่สู้ไม่ได้จริงๆ จึงจำต้องล่องเรือหนีลงตามลำน้ำปิงไปสู่ “เมืองเมืองหนึ่งทางทิศใต้ที่เป็นเขตป่าเขาลำเนาไพร”

แม้ตำนานไม่บอกระยะทางว่าไกลแค่ไหน แต่คุณ “ณัฏฐภัทร จันทวิช” อดีตผู้ทรงคุณวุฒิด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ของกรมศิลปากร เสนอว่าเมืองที่หนีไปกบดานนั้นไม่น่าจะใช่ตาก กำแพงเพชร หรือนครสวรรค์

ทว่า ควรจะเป็นเมือง “สรรคบุรี” หรือ “แพรกศรีราชา” (ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดชัยนาท) มากกว่า ก่อนที่ใครจะเถียงหรือโต้แย้ง

โปรดรอฟังเหตุผลคำอธิบายต่อไปในสัปดาห์หน้า