ปริศนาโบราณคดี : “ยวนพ่ายโคลงดั้น” ตอนที่ 6 : ข้อมูลใหม่ พบร่องรอยใครคือ “หมื่นด้งนคร”?

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

“ยวนพ่ายโคลงดั้น”

ตอนที่ 6 : ข้อมูลใหม่

พบร่องรอยใครคือ “หมื่นด้งนคร”?

 

ตอนที่แล้วได้กล่าวถึงเมือง “เชียงชื่น” ว่าที่นี่คือสมรภูมิชี้เป็นชี้ตายว่า ระหว่างอยุธยากับล้านนา อาณาจักรไหนจักสามารถพิชิตสุโขทัยได้ อันเป็นหัวใจหลักของเนื้อหาเรื่อง “ยวนพ่ายโคลงดั้น”

มีการปรากฏชื่อวีรบุรุษผู้หนึ่ง ในวรรณคดียวนพ่ายเรียกแค่ “หมื่นนคร” แต่ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่เรียก “หมื่นด้งนคร” ในการศึกครั้งนั้นเขามีสถานะเป็นเจ้าเมืองนครลำปาง (นครลำปาง มักเรียกย่อๆ ว่า ละกอน /ลคร/นคร) ถูกพระเจ้าติโลกราชเรียกเข้ามาทำหน้าที่ในการกำราบ “พระญาเชลียง” หรือ “เจ้าเมืองเชียงชื่น” ซึ่งในยวนพ่ายเรียกว่า “เจ้าแสน” จนได้เมืองเชลียงมาเป็นส่วนหนึ่งของล้านนา

หมื่นด้งนครสามารถนำตัวพระญาเชลียงมาถวาย พระเจ้าติโลกราชจัดการเนรเทศเจ้าแสนให้ไปอยู่เมืองหาง จากนั้นก็ปูนบำเหน็จให้แก่หมื่นด้งนคร ด้วยการยกเมืองเชลียงให้นั่งเพิ่มอีกเมืองหนึ่ง คำถามในบทความนี้มีอยู่ว่า

“หมื่นด้งนคร” คือใคร? เป็นคนเดียวกันกับ “หมื่นโลกนคร” จริงหรือ? บ้างก็ว่าเป็นคนเดียวกันกับ “หมื่นหาญแต่ท้อง” ลูกชายของหมื่นโลกนคร แต่สิ่งที่ดิฉันศึกษาค้นคว้ามาสดๆ ร้อนๆ นั้น คำตอบคือไม่ใช่ทั้งสองคน!

อนุสาวรีย์หมื่นด้ง วัดเวียงด้ง อ.หางดง จ.เชียงใหม่

 

หมื่นโลกนคร vs หมื่นด้งนคร

หากผู้อ่านลองกดค้นหาคำว่า “หมื่นด้งนคร” ตามเว็บออนไลน์ต่างๆ ข้อมูลเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์จะขึ้นมาเหมือนๆ กันหมดในทำนองว่า เขาคือคนเดียวกันกับ “หมื่นโลกนคร”

ข้อมูลเหล่านี้อ้างว่า ได้มาจากหนังสือประวัติวัดเวียงด้งของ “ชุ่ม ณ บางช้าง” ซึ่งอาจารย์ชุ่มก็อ้างว่า ได้มาจากคัมภีร์ใบลานของวัดพระสิงห์ ซึ่งนักจารึกล้านนายังไม่เคยมีใครค้นพบต้นฉบับดังกล่าว เนื้อหาสรุปโดยย่อได้ดังนี้

การที่มีชื่อว่า “ด้ง” นั้นเนื่องมาจากถือกำเนิดบนขอบกระด้ง โดยเด็กชายด้งมีแม่เป็นสาวบ้านป่าชาวแม่วางชื่อศรีวรรณ มีบิดาเป็นถึงกษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 7 คือ “พระญาแสนเมืองมา” เด็กชายด้งจึงเป็นโอรสลับของกษัตริย์ เมื่อเติบใหญ่ได้ทำงานในวัง

พระญาแสนเมืองมามีโอรสที่ประสูติแต่มเหสีหลัก ครองราชย์สืบมาชื่อ “พระญาสามฝั่งแกน” และพระญาสามฝั่งแกนมีโอรสเป็นกษัตริย์ชื่อ “พระเจ้าติโลกราช” ดังนั้น สถานะของ “หมื่นด้ง” จึงเป็น “อา” ของพระเจ้าติโลกราช

ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ตำนานสิบห้าราชวงศ์ กล่าวว่าตอนพระเจ้าติโลกราชจะขึ้นครองราชย์นั้น มี “หมื่นลก” หรือ “หมื่นโลกนคร” ผู้เป็น “อาว์” ของพระองค์เป็นผู้ช่วยในการยึดบัลลังก์จากพระราชบิดาสามฝั่งแกน

จากข้อความนี้หรือเปล่า ที่อาจารย์ชุ่ม (หรือใครที่สร้างเรื่องนี้ขึ้นมาคนแรก) พยายามจะอธิบายว่า “นี่ไง! ในเมื่อ ‘อา’ ของพระเจ้าติโลกราชคือ ‘หมื่นโลกนคร’ ดังนั้น หมื่นโลกนครก็คือคนเดียวกันกับ ‘หมื่นด้ง’ เพราะหมื่นด้งก็มีสถานะเป็น ‘อา’ เพราะเป็นโอรสลับของพระญาแสนเมืองมา”

คำว่า “อาว์” หรืออ่านออกเสียงแบบปราศจากการันต์ว่า “อาว” ในภาษาล้านนา หาใช่น้องชายฝ่ายพ่อไม่ หากหมายถึงน้องของฝ่ายแม่ต่างหาก (น่าประหลาดใจทีเดียวที่คนล้านนาเรียกสลับกับภาษาไทยกลางปัจจุบัน)

อาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ และ เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี เคยศึกษาค้นคว้าไว้แล้วอย่างละเอียดจนได้คำตอบว่า “พระเจ้าอาว” ของติโลกราชา แท้คือน้องชายของพระราชมารดาที่เป็นเชื้อสายสุโขทัย (หมายเหตุ ไม่มีเอกสารเล่มใดระบุชื่อเฉพาะของพระราชชนนีของพระเจ้าติโลกราชเลย เรียกกันแค่ “แม่พระพิลก”)

ดังนั้น ด้วยตรรกะนี้ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะกล่าวว่า “หมื่นโลกนคร” ผู้เป็นอาว (น้าชาย) ของพระเจ้าติโลกราช จะเป็นคนเดียวกันกับ “หมื่นด้งนคร” ที่อาจารย์ชุ่มกล่าวว่า เป็นโอรสลับของพระญาแสนเมืองมา

ด้วยเหตุที่ ญาติข้างพ่อในภาษาล้านนาโดยเฉพาะยุคโบราณ จะเรียกน้องชายพ่อว่า “น้า”

สมมติว่า “หมื่นด้งนคร” เป็นโอรสลับของพระญาแสนเมืองมาจริง และมีสถานะเป็นญาติฝ่ายพ่อของพระเจ้าติโลกราชจริง อายุของหมื่นด้งนครก็ต้องรุ่นราว “คราวพ่อ” ของพระเจ้าติโลกราช

ถ้าเป็นเช่นนี้ ไยพระเจ้าติโลกราชยังกล้าใช้ “พระเจ้าน้า” (เรียกแบบล้านนา ไทยกลางคืออา) ออกศึกตอนแก่ ด้วยวัยเกือบ 80 ปีในสงครามเมืองเชียงชื่น

และมันจะขัดแย้งกันไหม กับประวัติของ “หมื่นโลกนคร” ที่พระเจ้าติโลกราชได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็น “หมื่นโลกสามล้าน” แล้วตั้งแต่ราวปี พ.ศ. 1990 เศษๆ โดยย้ายตำแหน่งจากเจ้าผู้ครองนครลำปาง ให้มาเป็นเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ในวังหลวงที่เชียงใหม่ มีอำนาจสูงสุดรองจากกษัตริย์

แล้วเวนนครลำปางให้แก่ลูกชายชื่อ “หมื่นหาญแต่ท้อง” ปกครองแทน

ไฉน “หมื่นโลกสามล้าน” ยังจะต้องมาถูกเรียกว่า “หมื่นด้งนคร” ในปี พ.ศ. 2002 อยู่อีกเล่า ซ้ำยังหวนกลับมาเป็นเจ้าเมืองนครลำปางอีกระลอก ซ้ำต้องกรำศึกหนักในวัยชรา แล้วลูกชาย “หาญแต่ท้อง” หายไปไหน?

มันย้อนแย้งเกินไปหรือไม่ ที่จะโยง “หมื่นด้งนคร” ให้เป็นคนเดียวกันกับ “หมื่นโลกนคร”

 

หรือ “หมื่นด้งนคร”

คือ “หมื่นหาญแต่ท้อง”?

นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นล้านนา อาทิ อาจารย์ศักดิ์ รัตนชัย และอาจารย์เกริก อัครชิโนเรศ เห็นว่าเมื่อพิจารณาจากอายุอานามของ “หมื่นด้งนคร” ที่มารับหน้าที่แม่ทัพใหญ่ศึกเชลียงขณะนั้น น่าจะเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ “หมื่นหาญแต่ท้อง” (ล้านนาเขียน “หาน”) ลูกของ “หมื่นโลกนคร” กำลังเป็นเจ้าเมืองลำปางมากกว่า

จึงมีความเป็นไปได้ว่า “หมื่นด้งนคร” อาจเป็นคนเดียวกันกับ “หมื่นหาญแต่ท้อง” ถ้าเชื่อเช่นนี้ หมื่นด้งนครก็ต้องเปลี่ยนสถานะจากการเป็นอา (เรียกแบบภาษาไทยกลางหมายถึงน้องพ่อ) ของพระเจ้าติโลกราช กลายมาเป็นลูกพี่ลูกน้องแทนเสียแล้ว

คืออย่างไรเสีย เจ้าหมื่นนครหรือผู้ครองนครลำปาง คนที่สร้างวีรกรรมปราบเมืองเชลียงนั้น ต้องเป็นหนุ่มใหญ่รุ่นราวคราวเดียวกันกับพระเจ้าติโลกราช คือต้องมีอายุ 40 ปลายย่าง 50 ต้น ใกล้ๆ กัน ซึ่งหมื่นหาญแต่ท้องเกิดหลังพระเจ้าติโลกราช 3 ปี

แต่หลายท่านก็ยังตะขิดตะขวงใจอยู่ดีว่า ในเมื่อราชทินนามตอนขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครลำปางนั้นมีชื่อว่า “เจ้าหมื่นหาญนคร” อยู่แล้ว ไยต้องมีชื่อ “หมื่นด้งนคร” ซ้อนขึ้นมาด้วยอีกนาม?

คำว่า “ด้ง” นั้นเล่า มาจากไหน หมายถึงอะไร ทำไมต้องเกิดในกระด้ง?

ในเมื่อประวัติของ “หมื่นหาญแต่ท้อง” ระบุชัดเจนว่า ฉายานี้ได้มาเพราะวีรกรรมของผู้เป็นแม่ “นางเมือง” ชายาของหมื่นโลกนครขณะตั้งครรภ์เคยออกศึกต่อสู้ป้องกันเมืองลำปางไว้ได้จากการบุกของชาวไทยทางใต้

ปัญหามีอยู่ว่า เอกสารคัมภีร์ใบลานอักษรธัมม์ล้านนาหลายฉบับที่ อาจารย์ชัยวุฒิ ไชยชนะ ไปรวบรวมมาจากวัดทั่วล้านนา แล้วกรุณาช่วยถอดความปริวรรต ให้แก่ดิฉันนั้น

พบบุคคลหนึ่งนาม “หมื่นพรานด้ง” เพิ่มมาอีกหนึ่งชื่อ ข้อสำคัญเขาผู้นี้ร่วมออกรบในสงครามเดียวกันกับหมื่นหาญแต่ท้อง อีกด้วยถึงสองครั้ง

ใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้นระหว่าง “หมื่นพรานด้ง” หรือ “หมื่นหาญแต่ท้อง” ที่ควรเป็น “หมื่นด้งนคร”?

 

หมื่นพรานด้ง ตำแหน่งผู้ชำนาญป่า

การปรากฏชื่อของ “หมื่นพรานด้ง” ในสงครามครั้งแรก พ.ศ. 1994 ที่ร่วมสนามรบกับ “หมื่นหาญแต่ท้อง” นั้นคือ “ศึกเมืองปากยม” (บางยม) ตำนานระบุว่าหมื่นหาญแต่ท้อง ขณะนั้นเป็นเจ้าเมืองลำปางแทนบิดา (หมื่นโลกนคร) แล้ว ได้ยกกองทัพมาด้วย แต่แตกพ่ายสูญเสียไพร่พลช้างม้าจำนวนมาก

ในขณะที่ “หมื่นพรานด้ง” สามารถช่วยพระเจ้าติโลกราชรบจนได้ชัยชนะ ทำให้ได้รับการไว้วางใจสูง ในช่วงที่พระเจ้าติโลกราชยกทัพไปตีหลวงพระบาง ได้มอบหมายให้หมื่นพรานด้งดูแลแว่นแคว้นล้านนาไว้ ปรากฏว่าหมื่นพรานด้งไม่ทำให้ผิดหวัง เพราะได้ช่วยฆ่าชาวหลวงพระบางที่หนีข้ามโขงมายังฝั่งน่านตายหลายศพ

ศึกครั้งที่สอง พ.ศ. 2000 คือสงครามที่เรียกกันแบบให้เข้าใจง่ายว่า “ศึกอินทราชา” ครั้งนี้ หมื่นพรานด้ง(น่าจะ)ถูกยกสถานะขึ้นเป็น “หมื่นด้งนคร” แล้ว (หากเราเชื่อว่าหมื่นด้งนครถูกเลื่อนมาจากหมื่นพรานด้ง) ส่วนหมื่นหาญแต่ท้อง ถูกเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “หมื่นด้ำ(ด้าม)พร้าหาญแต่ท้อง” ยิ่งเป็นเครื่องชี้ชัดว่า ทั้งสองคนนี้ไม่สามารถเป็นบุคคลเดียวกันได้

การศึกครั้งนี้หมื่นด้งนครเดินทางมาถึงสนามรบก่อน และได้สร้างวีรกรรมด้วยการยิงลูกปืนถูกหน้าผาก “อินทราชา” พระโอรสของพระบรมไตรโลกนาถ

ในขณะที่กองทัพของ “หมื่นด้ำ(ด้าม)พร้าหาญแต่ท้อง” เดินทางมาถึงล่าช้ามาก จนทำให้พระเจ้าติโลกราชทรงกริ้ว

เราต้องมาช่วยกันวิเคราะห์ว่า ชื่อของ “หมื่นพรานด้ง” หมายถึงอะไรกันแน่

อาจารย์ชัยวุฒิอธิบายว่า “พราน” คำนี้ หมายถึงตำแหน่งขุนนางชั้นสูงที่ได้รับมอบหมายให้ดูแล “ป่าเขาลำเนาไพร” ถือเป็นบรรดาศักดิ์ชั้นรองลงมาจาก แสนหลวง สามล้าน จ่าบ้าน เลยทีเดียว

ส่วนคำว่า “ด้ง” นั้น น่าจะเป็นชื่อเฉพาะที่ติดตัวมาแต่เกิดจึงนำมาห้อยท้าย บ่งให้รู้ว่าคือคนๆ นี้ไม่ว่าตำแหน่งข้างหน้าจะเปลี่ยนไปเป็นยศใดก็ตาม

ทว่า ท่านด้งผู้นี้จะเกิดศักราชใด เป็นลูกเต้าเหล่าใคร ที่ไหน แม่วาง หางดง ลำปาง เชลียง วังชิ้น ยังเป็นปริศนาอยู่? หากสมมติว่าเป็นโอรสลับของพระญาแสนเมืองมาจริงก็น่าสนใจทีเดียว เพราะต้องเกิดตอนที่พระญาแสนเมืองมามีอายุมากแล้ว (หมายความว่าต้องมีอายุน้อยกว่าพระญาสามฝั่งแกนอย่างมาก จึงยังสามารถกรำศึกกับรุ่นพระเจ้าติโลกราชได้อยู่)

ในขณะที่หมื่นหาญแต่ท้อง หรือเจ้าหมื่นหาญนคร ครั้งหนึ่งเคยปกครองเมืองนครลำปาง ต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็น “หมื่นด้ามพร้าหาญแต่ท้อง”

คำว่า “หมื่นด้ามพร้า” เป็นตำแหน่งที่สะท้อนว่า ขุนนางผู้นั้นสันทัดจัดเจนในการใช้ดาบใช้มีด อาจเป็นนักรบ หรือเป็นสล่านายช่างก็ได้ เช่น หมื่นด้ามพร้าคต ที่เรารู้จักกันดีว่าเป็นผู้ก่อสร้างวัดวาอารามต่างๆ ตลอดรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช

เมื่อเทียบศักราชแล้วพบว่าช่วงที่เลื่อนเจ้าหมื่นหาญนครขึ้นเป็นหมื่นด้ามพร้าหาญแต่ท้องนั้น อยู่ในช่วงใกล้เคียงกับบิดาคือหมื่นโลกสามล้านเสียชีวิตแล้ว พระเจ้าติโลกราชจึงปรับย้ายลูกพี่ลูกน้องคนนี้มาเป็นขุนนางรับใช้ใกล้ชิดในเมืองเชียงใหม่แทน

แล้วยก “หมื่นพรานด้ง” ขึ้นเป็น “หมื่นด้งนคร” หากเชื่อตามนี้ก็จะเป็นทฤษฎีที่สมเหตุสมผล หายสงสัยกันทุกฝ่าย

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นข้อสันนิษฐานใหม่ของดิฉันกับอาจารย์ชัยวุฒิ ไชยชนะ เท่านั้นนะคะ คือพยายามลองเปิดประเด็นใหม่ดู เพราะพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่จะใส่สมการว่า “หมื่นด้งนคร = หมื่นโลกนคร”

ครั้นพยายามลองใส่สมการอีกอย่างว่า “หมื่นด้งนคร=หมื่นหาญแต่ท้อง” ก็เป็นไปไม่อีก เพราะทั้งคู่ออกรบพร้อมกันถึงสองครั้ง

ท่านผู้อ่านคิดเห็นประการใด แลกเปลี่ยนกันได้นะคะ เพราะแนวคิดนี้ใหม่มาก

 

ปกหนังสือประวัติเจ้าพ่อเมืองด้ง ต.บ้านตึก อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย

 

อนุสาวรีย์หมื่นด้งที่สุโขทัย เชียงใหม่ แพร่

การพบอนุสาวรีย์ของ “หมื่นด้งนคร” หรือเรื่องราวของ “ศาลเจ้าพ่อเวียงด้ง” ที่กระจายตัวอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ทั้งสามแห่งนั้น มีความน่าสนใจยิ่ง

แห่งแรกที่สุโขทัย มีการบูชาศาลเจ้าพ่อเวียงด้ง ที่ตำบล “บ้านตึ๊ก” ภาษาล้านนาหมายถึงทางตันสุดไปไหนไม่ได้แล้ว ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็นบ้านตึก อำเภอศรีสัชนาลัย

จากหนังสือเล่มที่นำมาใช้เป็นภาพประกอบกล่าวว่า “หมื่นด้งนคร” เคยปกครองเมืองเชลียง (เชียงชื่น)ท่านสร้างวีรกรรมอันอาจหาญน่ายกย่องยิ่งนัก ทั้งนิสัยใจคอก็เป็นคนซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อพระเจ้าติโลกราชแม้จนตัวตายอีกด้วย

ฉากอวสานของหมื่นด้งในยวนพ่ายโคลงดั้น ระบุว่าเกิดจากความอำมหิตของพระเจ้าติโลกราช ประมาณว่า “เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล” โดยหวาดระแวงว่าหมื่นด้งคิดจะแย่งเมืองแพร่เมืองน่านไว้ปกครองเอง

ต่างไปจากคัมภีร์ใบลานฝ่ายล้านนา ระบุว่าจุดจบของหมื่นด้งนครเกิดจากการที่พระเจ้าติโลกราชหูเบาหรืออาจถูกคุณไสยจึงเชื่อพระสนมเอก “แม่ท้าวหอมุก” ที่ยุยงว่า หมื่นด้งนครแอบล่วงรู้แหล่งบ่อเงินบ่อคำแล้วปิดบังซ่อนเร้นไว้ไม่เปิดเผยให้พระเจ้าติโลกราชทรงทราบ จึงสั่งใส่สังหารหมื่นด้งนครกลางป่าตาลปี พ.ศ. 2017

แห่งที่สอง อนุสาวรีย์ที่วัดเวียงด้ง ตำบลน้ำแพร่ อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ที่แห่งนี้ป้ายคำบรรยายบอกว่า เป็นสถานที่ที่พระเจ้าติโลกราชมอบให้หมื่นด้งนครมาพำนักพักผ่อนในช่วงบั้นปลายชีวิตและใช้เป็นศูนย์ฝึกกองทัพทหารไปในคราวเดียวกัน วัดเวียงด้งสร้างปี 2011

แห่งที่สามอนุสาวรีย์เจ้าหลวงเมืองด้ง ตำบลสรอย อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ ที่แห่งนี้เป็นรอยต่อจากเมืองเชลียง ในอดีตเป็นส่วนหนึ่งของเขตปกครองเมืองเชียงชื่นของหมื่นด้งนคร จึงใช้คำอธิบายในชุดเดียวกันหรือคล้ายคลึงกันกับสองแห่งที่ผ่านมา

สัปดาห์หน้าจะเป็นตอนสุดท้ายในการวิเคราะห์ “ยวนพ่ายโคลงดั้น” แล้วนะคะ ว่าด้วยอยุธยากับล้านนาต่างฝ่ายต่างทำไสยศาสตร์ใส่กันแบบไหน อย่างไร จริงหรือไม่?