ปริศนาโบราณคดี : ‘เสาหงส์-เสานางเรียง’ vs ‘เสากินรี’ จากวิถีวัฒนธรรมสู่นโยบายลอกตามกันแบบมักง่าย

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

‘เสาหงส์-เสานางเรียง’ vs ‘เสากินรี’

จากวิถีวัฒนธรรม

สู่นโยบายลอกตามกันแบบมักง่าย

 

ข่าวอื้อฉาวเรื่ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนหลายแห่งอนุมัติงบประมาณมหาศาลในโครงการจัดซื้อจัดจ้างสร้าง “เสาไฟฟ้าติดรูปกินรีคาบโคม” หรือรูปสัตว์หิมพานต์อื่นๆ อาทิ นกหัสดีลิงค์ เทพนม คชสีห์ ดุรงคปักษิณ ฯลฯ ตั้งวางเรียงรายสองฟากบาทวิถีถี่ยิบทุกๆ 10-20 เมตร แบบฟุ่มเฟือยเกินเหตุนั้น

แน่นอนว่าย่อมสร้างความขุ่นข้องหมองใจให้แก่คนไทยที่ติดตามข่าวนี้ไม่น้อย ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรง วิกฤตการขาดแคลนวัคซีนระงับโรคโควิด

ไม่น่าเชื่อเลย ว่ายังมีหน่วยงานใดกล้าเอางบประมาณหลักร้อยล้านพันล้านมาถลุงเล่นบนถนนสายทุรกันดาร บ้างหลบซ่อนอยู่ตามป่าเขา สถานที่ซึ่งไม่เอื้อประโยชน์ต่อคนในประเทศแต่อย่างใดเลย

เรื่องการสร้างเสากินรี เทพนม อัปสรสีห์ หรือเสานกหัสดีลิงค์ ฯลฯ แบบทิ้งๆ ขว้างๆ เรี่ยราดเหล่านี้ ดิฉันมีมุมมองที่อยากแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน จากประสบการณ์ตรงของตัวเองอยู่ 3 ประเด็น

ประเด็นแรก จริงหรือไม่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอ้างว่า ได้แรงบันดาลใจมาจากเสาหงส์ ผสมกับเสานางเรียงยุคโบราณ?

ประเด็นที่สอง หากคุณต้องการสร้างเสาไฟที่สะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นท้องถิ่นไทยแท้ๆ ไฉนจึงไม่ออกแบบให้มีลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่ ไยจึงใช้รูปแบบโหลๆ วัสดุโหลๆ ลอกเลียนตามเหมือนกันหมดทั่วประเทศ?

ประเด็นที่สาม ปัญหาเรื่องเสากินรีเกลื่อนกล่นเมืองเช่นนี้ จงอย่าปล่อยให้เป็นบาปของเทศบาล อบต. กรมโยธาธิการ หรือหน่วยงานในกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น

ดิฉันขอวิงวอนให้หน่วยงานขับเคลื่อนด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรมทุกหน่วย ช่วยกระโจนเข้ามามีบทบาท ร่วมคัดค้านและแก้ไขปัญหานี้ด้วยกัน

 

 

เสาหงส์ของมอญ+เสานางเรียงของขอม

คือต้นแบบของเสากินรีชุดแรก?

รูปแบบเสาไฟฟ้าที่สูงลิบลิ่ววางเรียงรายสุดลูกหูลูกตา ปลายยอดตกแต่งด้วยรูปสัตว์หิมพานต์อันหลากหลายนั้น ดิฉันเคยเห็นมันครั้งแรกราวสองทศวรรษก่อน ณ ถนนเลียบแม่น้ำโขง จุดที่ใกล้กับดินแดน “สามเหลี่ยมทองคำ” รอยต่อพม่าและลาว เข้าสู่เขตโบราณสถานอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

ช่วงนั้นดิฉันทำงานที่กรมศิลปากร จังหวัดลำพูน (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย) รู้สึกประหลาดใจ และไม่พอใจยิ่งที่เห็นภาพเสาปลายยอดรูปสัตว์หิมพานต์ “มากเกินไป” และตั้งอยู่ใน “ป่าเขาลำเนาไพร” ลึกเช่นนี้

“พี่ต๋อย” หรือ “อิสสระ เศวตามร์” อดีตหัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน (ผู้ล่วงลับ) ขณะนั้น (พ.ศ.2545) ขับรถพาดิฉันตระเวนชมโบราณสถานในเมืองเชียงแสน ได้อธิบายว่า

“ผมเองก็ไม่พอใจ ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจับมือกับฝ่ายท่องเที่ยว ถือวิสาสะทำเสารูปแบบนี้โดยไม่ปรึกษากรมศิลป์ มารู้ภายหลังจึงทักท้วงไป พวกเขาอธิบายว่า พยายามทำตามแนวทางของเสาที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์แล้ว โดยเอาสองสิ่งนี้มาผสมผสานกัน…

“หนึ่ง คือดึงเอาความสูงสง่าของ ‘เสาหงส์’ แบบโดดๆ เสาเดี่ยวที่ปักตามหน้าวัดหรือชุมชนต่างๆ ของชาวมอญ บวกกับการตั้งเสาหลายแท่งวางเรียงรายหลายต้นที่ไม่สูง ไม่ตกแต่งรูปสัตว์หิมพานต์ที่ปลายยอด โดยอ้างว่าเอาแนวคิดมาจาก ‘เสานางเรียง’ หรือ ‘เสานางจรัล’ ของขอม เช่นที่พบในปราสาทเขาพระวิหาร…

“พวกเขาอ้างว่า เพื่อให้เกิดความขลัง ศักดิ์สิทธิ์ สง่างาม เสากินรีสองข้างป่าเขาลำเนาไพรเหล่านี้ เปรียบเหมือนกับสิงสาราสัตว์ในจินตนาการที่ช่วยขับให้เกิดบรรยากาศแบบ ‘ป่าหิมพานต์’ มากยิ่งขึ้น เมื่อเขาอธิบายด้วยเหตุด้วยผลดังนี้ กรมศิลปากรกับสภาวัฒนธรรมก็ยินดีรับฟัง และพร้อมที่จะเข้าใจ…

แต่ผมก็บอกกับฝ่ายท้องถิ่นและฝ่ายท่องเที่ยวว่า คราวหน้าคราวหลังก่อนจะออกแบบจัดสร้างอะไรใกล้เขตโบราณสถาน ขอความกรุณามาปรึกษาหารือกับทางกรมศิลปากรก่อนด้วย ภูมิทัศน์ที่เห็นจะได้ไม่ขัดต่อสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรมมากเกินไป”

นี่คือปฐมบทที่ดิฉันได้เรียนรู้ถึงแนวคิดในการสร้างเสากินรี “ในป่าหิมพานต์” (ตามที่ท้องถิ่นเขาอ้าง) ท่ามกลางป่ารกชัฏเพื่อเข้าสู่ตัวโบราณสถานเมืองเชียงแสน ด้วยตรรกะแนวคิดการนำ “ศิลปกรรมโบราณสองรูปแบบมาผสานกัน”

ต่อมาแนวคิดนี้ได้แพร่กระจายไปยังกลุ่มคณะศรัทธาชาวกรุงเทพฯ ที่ขึ้นมาทำบุญตามหัวเมืองรอบนอก เราจึงได้เห็นเสารูปนกหัสดีลิงค์สองฟากถนนจากประตูหน้าวัดพระธาตุห้าดวง อำเภอลี้ ลำพูน ไปสู่ลานพระธาตุเจดีย์

หรือเสารูปวัวรายสลอน ที่ต้องการสื่อถึง “โคอุสุภราช” รวมทั้งปีนักษัตรฉลูของครูบาชัยยะวงศาพัฒนา ผู้สร้างพระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย (ส่วนหนึ่งของพระพุทธบาทห้วยต้ม) ที่อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เช่นเดียวกัน

สองตัวอย่างนี้ ดิฉันได้เข้าไปแลกเปลี่ยนความเห็นกับทางวัดและเจ้าของงบประมาณซึ่งเป็นคณะศรัทธาภาคเอกชน ก็ยังพอเข้าใจได้ว่า พวกเขาต้องการสร้าง “เสาบูชาพระมหาธาตุ” อันอลังการ ด้วยการจัดวางเสาทีละต้น ขับเน้นจังหวะ นำสายตาสาธุชนจากจุดใกล้ตัวสุดไปเพ่งพินิจที่องค์พระมหาธาตุเท่านั้น

 

 

ย้อนกลับมาพิเคราะห์กรณีของเสาไฟฟ้าสองข้างถนน ที่ปักทิ้งปักขว้างในหลุมบ่อไร้ผู้สัญจรเช่นนั้น ผู้สร้างมีเจตนาเช่นใดเล่า ยังต้องการให้เสาเหล่านี้นำสายตาผู้พบเห็นไปสิ้นสุด ณ จุดเป้าหมายสิ่งใดอยู่อีกหรือ ฤๅทำๆ ไปด้วยความคิดแค่จะเลียนแบบ ด้วยเห็นว่าตัวกินรี เทพนมนั้นสวยดี?

 

ออกแบบเสาใหม่ได้ แต่ทำไมไม่ใช้สมอง?

เห็นได้ว่าหลายสิ่งหลายอย่างที่กรมศิลปากรและหน่วยงานด้านการอนุรักษ์ เช่น สำนักงานวัฒนธรรมในแต่ละจังหวัด รวมทั้งสภาวัฒนธรรมระดับจังหวัดและตำบล พยายามแล้วที่จะประนีประนอมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคการท่องเที่ยว

ว่ายินดีเปิดทางให้สร้างสรรค์ความคิดใหม่ๆ โดยใช้รากฐานที่มีมาแต่เดิมได้ ดังเช่นสูตรหรือตรรกะที่พวกคุณพยายามอธิบายว่า “เสาหงส์ + เสานางเรียง = เสากินรี เป็นการแทนค่าสัญลักษณ์ของป่าหิมพานต์” ที่เมืองเชียงแสนนั้น เพราะเราเองก็ไม่อยากเป็นหน่วยงานที่คร่ำครึ ห้ามไปเสียทุกเรื่อง ขัดขวางการพัฒนาไปเสียทุกอย่าง

ครั้นเมื่อพวกคุณฝ่ายโยธาธิการหรือทางหลวงชนบท ต้องการจับมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสร้าง “เสากินรี” ขึ้นมา (แม้จะไม่มีบริบทใดที่เกี่ยวข้องกับตัวโบราณสถาน วัด พระธาตุเจดีย์ หรือการท่องเที่ยวเลย) พวกคุณควรคิดถึง “จุดเด่น” หรืออัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นที่ไม่เหมือนกันก่อนเป็นอันดับแรกใช่หรือไม่

ดังเช่น การสร้างเสาเซรามิกรูปชามตราไก่ในเมืองลำปาง คนเมืองหละกอนไม่จำเป็นต้องไปสร้างเสากินรี “โหลๆ ดาดๆ” เหมือนที่อื่นเลย เรื่องนี้ขอชมเชยวิสัยทัศน์ของเทศบาลนครลำปาง ที่กล้านำเสนอเนื้อหาเรื่อง “ไก่ขาว” และเชิดชูวัสดุท้องถิ่นที่โดดเด่นที่สุดในจังหวัดตัวเองนั่นคือ “เซรามิก”

หรือการฉลุตะเกียงดินเผาแบบโคมกลีบบัวที่ปักเรียงรายตามสถานที่ต่างๆ ในเมืองลำพูน ก็สะท้อนให้เห็นว่าเทศบาลและหน่วยงานด้านวัฒนธรรมของท้องถิ่นแห่งนี้มีความเข้าใจว่า จุดเด่นของเมืองลำพูนคือ “ดินเผาคุณภาพเยี่ยม ที่หาได้ยากยิ่งในเมืองอื่น”

ย้อนกลับมาดู “เสากินรี” ที่พวกคุณสร้างแบบไม่บันยะบันยัง กระจายกล่นเกลื่อนทั่วประเทศ ตั้งแต่เหนือจรดใต้ อีสานจรดตะวันตก ทำไมจึงมีแพตเทิร์นเดียวกัน ซ้ำไปซ้ำมา

นั่นคือบัวหัวเสาส่วนรองรับตัวกินรี หรือเทพนมนั่น หนีไม่พ้นหัวเสาแบบโรมันที่มีใบอาคันธัสกับลายม้วนก้นหอย ดังที่เรียกว่า “บัวหัวเสาแบบคอรินเธียน” เลียนแบบกันทุกแห่งไปสิเอ้า!

มันดูผิดฝาผิดตัวประดักประเดิดหรือไม่ ทำไมจึงไม่ไปถ่ายถอดแบบหัวเสาจากอุโบสถวิหารของวัดใกล้ตัวในท้องถิ่น หรือแกะลวดลายเชิงเทียน (สัตตภัณฑ์) ฐานชุกชี จิตรกรรมฝาผนัง ดึงเอาลวดลายประดับศิลปกรรมชิ้นเยี่ยมที่สะท้อนรูปแบบเฉพาะในชุมชนนั้นๆ นำมาประยุกต์ใช้ตกแต่งบัวหัวเสาแทนเสาโรมัน!

ตัวกินรี นกหัสดีลิงค์ คชสีห์ต่างๆ นั้นเล่า ไม่ว่ามองเสาต้นไหนทุกแห่งหนล้วนออกมาจากเบ้าหลอมเดียวกันหมด ทรวดทรงองค์เอว ใบหน้าใบตา ทรงผม วัสดุ สีสัน ดูกระด้าง ไร้อารมณ์ ทั้งๆ ที่รสนิยมของแต่ละพื้นที่นั้นควรแตกต่างหลากหลาย

ที่ดิฉันต้องกล่าวถึงประเด็นนี้ก็เพราะพวกคุณอ้างว่า ค่าใช้จ่ายในการสร้างเสาแต่ละต้นที่มีราคาแพงลิบลิ่วกว่าเสาไฟฟ้าปกติทั่วไปเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล สืบเนื่องมาจาก “ต้องมีการประดับลวดลายศิลปกรรมเข้ามาด้วย” พวกคุณอ้างคำว่า “ศิลปกรรม” เพื่อให้สามารถ “ย้ายช่อง” การประมูลค่าก่อสร้างจากงานดาดๆ พื้นๆ ขยับสู่ “งานช่างฝีมือ” ที่เปิดช่องให้มีการโก่งราคาเพิ่มขึ้นได้

แต่ขอโทษที สิ่งที่ประดับอยู่บนปลายเสานั้น มันใช่งาน “ช่างฝีมือ” จริงหรือไม่

ดิฉันจะไม่ต่อว่าเลย กับราคาที่แพงมหาโหดนั้น หากรูปสัตว์หิมพานต์แต่ละชิ้นที่ปลายยอดเสาเป็นงานปูนปั้น ดินเผา เซรามิก ไม้แกะสลักระบายสี หรืองานหล่อสำริดปิดทองก็ตาม ที่สร้างด้วยน้ำมือมนุษย์ทีละชิ้นๆ ไม่ใช่งานหล่อไฟเบอร์ออกมาจากเบ้าหลอมเดียวกันเบ็ดเสร็จจากโรงงานแบบนี้

นอกจากจะไม่ช่วยกระจายรายได้ให้ช่างฝีมือในท้องถิ่นได้มีงานทำแล้ว ยังไม่เป็นการช่วยยกระดับจิตใจของผู้พบเห็นเสากินรี ให้เกิดปีติแช่มชื่นจิตใจต่อคำว่า “ศิลปะ” ขึ้นมาอีกด้วยเลย

 

เมืองเก่า 36 แห่งควรนำร่อง

เข้าแผนอนุรักษ์และพัฒนาฯ

ดิฉันอ่านข่าวเรื่องเสากินรี พบว่ามีแต่เสียงก่นด่าประณามการละลายงบฯ ของกระทรวงมหาดไทย โดยยังไม่เห็นหน่วยงานใดที่ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรมออกมาร่วมขับเคลื่อนในทางคู่ขนาน ด้วยการฉวยวิกฤตนี้ให้เป็นโอกาส

จึงขอเป็นตัวแทนแสดงความเห็นในเรื่องนี้ ฐานะที่เป็นคณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าจังหวัดลำพูนและเชียงใหม่ (ของเชียงใหม่อยู่ในภาคประชาสังคม) ว่า

การสร้าง “ทัศนะอุจาด” ด้วยเสายอดสัตว์หิมพานต์เรียงรายเลอะเทอะเปรอะเปื้อนไปหมดตามถนนต่างๆ นี้ ควรมีการสะกิดสะเกาให้แง่คิดต่อผู้กระทำ พร้อมหยิบมาทบทวนให้เป็น “วาระเร่งด่วนของจังหวัด” เป็นอย่างยิ่งอีกด้วย

โดยเฉพาะเขตเมืองเก่า 36 แห่งที่ได้รับการประกาศแต่งตั้งให้มีคณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าของแต่ละจังหวัด โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)

ควรนำร่องจัดประชุม หยิบประเด็นการทำลายภูมิทัศน์ด้วยเสากินรีครั้งนี้มาพูดคุยกัน โดยต้องเปิดเพดานเรื่อง “โซนนิ่ง” ให้ขยายกว้างกว่าการปัดภาระว่า เขตที่สร้างเสาสองข้างถนนนี้อยู่นอกโซนไข่แดง ไม่ใช่พื้นที่เขตเมืองเก่าที่เป็นหัวใจ และถูกระบายสีให้เป็นเขตอนุรักษ์ ดังนั้น ใครจะสร้างเสาโหลๆ ดาดๆ ที่ไหนอย่างไรก็คงไม่เกี่ยวข้องกับคณะอนุกรรมการชุดนี้

ขอโปรดอย่าคิดเช่นนั้นเลยค่ะ กรุณาอย่าเปิดช่องให้หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและบางหน่วยงานของกระทรวงมหาดไทยที่ได้รับอนุมัติงบฯ ให้สร้างถนน ถือโอกาสเอาช่องว่างช่องโหว่ตรงนี้ไปเป็นข้ออ้าง คิดจะปู้ยี่ปู้ยำอะไรก็ได้กับสิ่งก่อสร้างในเมืองของท่าน

อย่าตีกรอบคำว่า “เมืองเก่า” ไว้แค่เขตที่มีโบราณสถาน วัดวาอาราม ชุมชน ย่าน ร้านค้า ตลาด ตึกแถว บ้านโบราณ ฯลฯ เท่านั้น แต่ควรขยายความคุ้มครองไปถึงสิ่งที่ก่อสร้างที่อ้างคำว่า “ศิลปกรรม” เข้าไปพ่วง ในทุกหมู่บ้าน ตำบล อำเภอของเขตจังหวัดนั้นๆ

ให้ผู้คนทุกหย่อมย่านได้ตระหนักชัดถึง “มลพิษทางสายตา” ที่พวกเขาถูกกระทำ ช่วยกันอนุรักษ์ “สิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม” ไม่ให้ถูกทำลายโดยน้ำมือของคนเห็นแก่ตัว เห็นแก่เม็ดเงินที่ไม่เอื้อประโยชน์ต่อส่วนรวม

ขอฝากประเด็นนี้ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยกันคิดรับผิดชอบร่วมกันด้วยนะคะ