On History : กระทะทองแดงในนรก ไม่มีในอินเดีย แต่เกิดขึ้นเพราะความเป็นสุวรรณภูมิ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
จิตรกรรมฝาผนังร่วมสมัย วัดกลางศรีพุทธาราม ต.นครไทย อ.นครไทย จ.พิษณุโลก ที่มา - https://www.phitsanulokhotnews.com/2011/11/16/7104

 

กระทะทองแดงในนรก

ไม่มีในอินเดีย

แต่เกิดขึ้นเพราะความเป็นสุวรรณภูมิ

 

โทษฐานที่อยู่ในประเทศที่ชอบอ้างตนเองเป็นเมืองพุทธ ก็คงจะไม่มีใครไม่เคยได้ยินความเชื่อเรื่อง “กระทะทองแดง” ในนรกตามความเชื่อในพุทธศาสนากันหรอกนะครับ?

ตัวอย่างความเข้าใจเกี่ยวกับกระทะทองแดง ที่เก่าแก่ที่สุดชิ้นหนึ่งอาจเห็นได้จากข้อความใน “ปานียชาดก” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในพระสุตตันตปิฎก อันหมายถึงหมวดหมู่ของเรื่องเล่าต่างๆ ในพระไตรปิฎกนั้น มีข้อความระบุเอาไว้ว่า

“กามทั้งหลายมีทุกข์มากกว่าการดื่มยาพิษที่ร้ายแรง กว่าการใช้น้ำมันที่เดือดพล่านรด กว่าการตกกระทะทองแดงที่กำลังละลายคว้าง”

การปรากฏมีคำว่า “กระทะทองแดง” อยู่ในพระไตรปิฎกนั้น นอกเหนือจากที่จะทำให้ใครหลายคนจินตนาการถึงความระอุเดือด ระดับออนเซนยังต้องยอมสยบ ที่ลวกไหม้ผู้คนที่ตกลงไปในกระทะนั้นแล้ว ก็คงจะชวนให้หลายท่านคิดไปด้วยเช่นกันว่า ชาวพุทธในอินเดียยุคที่มีการเขียนพระไตรปิฎกขึ้นมานั้นก็คงจะรู้จักกับการใช้กระทะหรือภาชนะเครื่องครัวชนิดอื่นๆ ที่ผลิตขึ้นมาจาก “ทองแดง” แล้วเช่นกัน

และมันก็เกือบจะเป็นจริงตามนั้นอยู่แล้ว แต่เรื่องกลับไม่ได้จบลงง่ายๆ อย่างนั้น เพราะข้อความที่ผมยกมาจากชาดกในพระไตรปิฎกเรื่องที่ว่า ไม่ได้เรียกเจ้ากระทะที่เอาไว้ใช้ลงโทษคนชั่วให้เข็ดหลาบในสำเนียงซาวด์แทร็กเป็นภาษาบาลีว่า “โลหกุมภี” ต่างหาก

 

คําว่า “โลหกุมภี” แปลตรงตัวว่า “หม้อโลหะ” (แน่นอนว่า “กระทะ” นั้นเป็นเครื่องครัว ที่มีต้นกำเนิดมาจากวัฒนธรรมจีน ดังนั้น ถ้าชาวพุทธในอินเดียเมื่อครั้งกระโน้นรู้จักเอากระทะมาทอดคนบาปแล้วสิถึงจะน่าแปลก) ซึ่งก็เป็นคำกว้างๆ ที่ไม่ได้ระบุชัดลงไปเลยสักนิดว่าหมายถึงโลหะชนิดไหน?

แต่เมื่อมีการแปลปานียชาดก หรือข้อความในพระไตรปิฎกส่วนอื่นๆ ที่พูดถึงเจ้า “หม้อโลหะ” หรือโลหกุมภีที่ว่านี้ จากภาษาบาลีไปเป็นภาษาอื่น ก็มักจะแปลไปในทำนองคล้ายๆ กันว่า “หม้อเหล็ก” เสียมากกว่า ทั้งที่ต้นฉบับเขาก็ไม่ได้ระบุเอาไว้ว่าทำมาจากเหล็ก

และเห็นจะมีก็แต่พี่ไทยของเรานี่แหละ ที่กลายมาเป็น “กระทะ” แถมยังเปลี่ยนวัสดุเป็นทำมาจาก “ทองแดง” มันเสียอย่างนั้น

 

ความจริงแล้ว โลหะแต่ละชนิดนั้นก็มีคุณสมบัติในการจัดการความร้อน ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับการทำอาหารแตกต่างกันไป

เหล็กมีคุณสมบัติทนทาน และเมื่อนำมาใช้ทำเป็นภาชนะแล้วก็เก็บความร้อนได้นานและให้ความร้อนได้สูงมาก แต่จะร้อนช้า จึงเหมาะกับใช้นาบเนื้อสเต๊กให้เกรียมกำลังสวย หรือการทำอาหาร slow cook จำพวกการตุ๋น ที่ใช้เวลาหลายชั่วโมง

ในขณะที่ทองแดงนั้นนำความร้อนได้ดี และสามารถเปลี่ยนอุณหภูมิได้เร็ว พูดง่ายๆ คือสามารถทำให้อาหารร้อนได้ไวกว่าภาชนะที่ทำจากเหล็ก

ดังนั้น กระทะทองแดงในนรกของพุทธศาสนาแบบไทยๆ นี่ก็คงทำให้น้ำเดือดจนลวกคนบาปในกระทะได้เร็วจี๋ ยิ่งกว่าหม้อเหล็กในอินเดียอยู่มากเลยทีเดียว

แต่ภาชนะที่ทำขึ้นจาก “ทองแดง” ที่ว่านั้น โดยปกติแล้วมักจะถูกนำมาผสมกับแร่ธาตุชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะ “ดีบุก” จนกลายเป็นโลหะผสม ก่อนที่จะนำไปหล่อขึ้นรูป เพราะนอกจากจะช่วยให้โลหะนั้นแข็งขึ้นแล้ว ก็ยังทำให้ได้สีที่กลายเป็นสีทองแวววาว (โดยปกติแร่ทองแดง เมื่อถูกถลุงแล้วจะมีสีแดงวาว จึงถูกเรียกว่า ทองแดง) โดยหากยิ่งใส่ดีบุกผสมเข้าไปมาก สีก็จะยิ่งออกไปทางสีเงินมากขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนเจ้าโลหะผสมที่ว่านี้ ก็คืออะไรที่เรียกกันในโลกภาษาไทยว่า “สำริด” นั่นเอง

 

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ “สำริด” น่าจะเป็นคำที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นใหม่ เพราะในเอกสารโบราณฉบับต่างๆ มักจะเรียกสำริด หรือ “bronze” ในโลกภาษาอังกฤษว่า “ทองแดง” หรือไม่ก็เรียกว่า “ทอง” กันอย่างลุ่นๆ

ใช่ครับใช่ คำว่า “ทอง” ในเอกสารโบราณหมายถึงได้ทั้งทองแดงและทอง โดยมักจะเน้นว่าหมายถึงทอง ด้วยการเลือกใช้คำว่าทองคำแทน ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรเลยสักนิดถ้าดินแดนแถบอุษาคเนย์ ภาคผืนแผ่นดินใหญ่นี้จะเคยถูกเรียกว่า “สุวรรณภูมิ” เพราะเป็นแหล่งทองแดงใหญ่ของโลกยุคโบราณ ไม่ใช่แหล่งทองคำอย่างที่มักจะเข้าใจกัน

ลักษณะเช่นนี้ก็ปรากฏเช่นกันในโลกของภาษาอื่น เช่น ในโลกของผู้ใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งหลายครั้งก็เรียกเครื่องครัวที่ผลิตขึ้นจากสำริดว่าเครื่องครัวทองแดงมันเสียอย่างนั้นแหละ แถมหลายหนการเลือกใช้คำว่าภาชนะหรือเครื่องครัวทองแดง แทนที่จะเรียกว่าสำริด ก็ยังปรากฏในเอกสารวิชาการยุคเก่าๆ เสียด้วยซ้ำ

ภาชนะสำริดชิ้นสำคัญในยุโรปที่แสดงให้เห็นว่ามีการนำสำริดมาทำเป็นเครื่องใช้สำหรับทำครัวอย่างนมนานกาเลมาแล้วก็คือ หม้อต้มขนาดใหญ่ (คล้ายๆ หม้อต้มยาของแม่มดในการ์ตูนเครือดิสนีย์) ที่เรียกกันในหมู่นักโบราณคดีว่าหม้อแบตเตอร์ซี (Battersea cauldron) เพราะถูกเก็บกู้ขึ้นมาจากก้นแม่น้ำเทมส์ ละแวกย่านแบตเตอร์ซี ตั้งแต่เมื่อประมาณ พ.ศ.2404 ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่บริติช มิวเซียม ในประเทศอังกฤษ

เจ้าหม้อแบตเตอร์ซีที่ว่านี่ ประกอบขึ้นมาจากแผ่นสำริด (แม้แต่ทุกวันนี้ เว็บไซต์ของบริติช มิวเซียมเองก็ยังเรียกวัสดุที่ใช้ทำหม้อใบนี้สลับกันว่า สำริดบ้าง ทองแดงบ้าง เสียด้วยซ้ำ) จำนวน 7 แผ่น นำมาตอกหมุดเข้าด้วยกันจนกลายเป็นเหมือนภาชนะรูปฟักทอง โดยกำหนดอายุได้อยู่ในช่วง 2,800-2,600 ปีมาแล้วเลยทีเดียว

แต่ที่น่าสนใจก็คือ ในเอกสารของพวกโรมัน จดหมายเหตุ Periplus Maris Erythraei (Periplus of The Erythrean Sea คือบันทึกการเดินเรือในทะเลเอรีเธรียน ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่า “ทะเลแดง” แต่ทะเลแดงในความหมายของกรีกหมายรวมถึงอ่าวเปอร์เซียและมหาสมุทรอินเดียด้วย) เขียนขึ้นโดยนักเดินเรือชาวกรีกเลือดผสมอียิปต์ ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 1 ก็ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า พวกเขาอิมพอร์ตทองแดงส่วนหนึ่งจากโลกตะวันออกเข้ามา เพื่อนำมาสร้าง แปรรูปเป็นเครื่องใช้สำริดและประติมากรรมต่างๆ

ส่วนโลกตะวันออกที่ในเอกสารโรมันหมายถึง แต่เดิมนั้นเข้าใจกันว่าคืออินเดีย แต่ปรากฏว่ามีการค้นพบเอกสารโบราณอายุประมาณ 2,300 ปีที่ระบุว่า ชาวอินเดียก็ไปหาซื้อทองแดงมาจากดินแดนทางตะวันออกของตนเองคือ “สุวรรณภูมิ” มาอีกทอดเหมือนกัน

แถมของที่นำเข้านั้น ยังไม่ใช่ทองแดงเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายรวมถึง “ดีบุก” และเทคโนโลยีในการสร้าง “เครื่องสำริดแบบที่ผสมดีบุกในปริมาณสูง” อย่างที่เรียกกันว่า “high tin bronze” ซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จักทั้งโรมันและอินเดียในสมัยนั้น แต่มีอยู่ให้เพียบในอุษาคเนย์ โดยมีกลองมโหระทึกเป็นตัวอย่างสำคัญ

ก็อย่างที่บอกไปข้างต้นแล้วว่า การผสมดีบุกเข้าไปในทองแดงนั้น ทำให้ได้สีของเครื่องสำริด ที่กลายเป็นสีทองแวววาว แถมการผสมดีบุกลงไปเป็นจำนวนมากนั้น ยังช่วยให้สามารถทำเครื่องสำริดที่มีรูปทรงซับซ้อนขึ้นอีกด้วย ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรเลยที่จะมีคำเรียกเครื่องสำริดว่า “ทองสำริด” อย่างที่ได้ยินกันบ่อยๆ

และนี่ก็หมายความด้วยว่า การผลิตเครื่องสำริดที่มีดีบุกผสมในปริมาณมาก ไม่ว่าจะในอินเดียหรือในโรมก็ล้วนแต่มีหลักฐานการนำเข้าทั้งวัตถุดิบและเทคโนโลยีการผลิตมาจากภูมิภาคอุษาคเนย์เป็นสำคัญ จนทำให้พวกเขาเหล่านั้นเรียกภูมิภาคแห่งนี้ว่า “สุวรรณภูมิ”

 

เอาเข้าจริงแล้ว ก็อาจจะไม่แปลกอะไรนัก ที่พี่ไทยเราจะกลายสภาพ “หม้อโลหะ” ของอินเดีย หรือ “หม้อเหล็ก” ในภาษาอื่นๆ มาเป็น “กระทะทองแดง”

เมื่อคำนึงถึงความเป็นแหล่งทองแดง, ดีบุก และการเป็นเจ้าของเทคโนโลยีการผลิตเครื่องสำริดที่ผสมดีบุกในปริมาณสูง รวมไปถึงความใกล้ชิดที่เรามีกับจีน

แถมยังเคยมีการค้นพบกระทะเหล็กที่นำเข้าจากจีนเมื่อสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา ในแหล่งเรือจมแห่งหนึ่ง ในอ่าวไทยอีกด้วยต่างหาก

“หม้อโลหะ” ในนรกของพุทธศาสนา จึงกลายรูปมาเป็น “กระทะทองแดง” เอาแถวๆ ประเทศที่มีท่าอากาศยานนานาชาติชื่อ “สุวรรณภูมิ” ไปด้วยประการฉะนี้