ร่องรอยทางเศรษฐกิจของคณะราษฎร

(24 มิถุนายน 2475) เมื่อ 89 ปีก่อน  ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจาก “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” เข้าสู่ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เมื่อ คณะราษฎรก่อการ “ปฏิวัติสยาม” นับตั้งแต่วันนั้นประเทศไทยได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม อย่างเป็นกระบวนการ และส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังคนไทยจนถึงทุกวันนี้

ก่อนที่จะเข้าไปศึกษาร่องรอยทางเศรษฐกิจของคณะราษฎรนั้น จำเป็นต้องทำความเข้าใจกับสภาพเศรษฐกิจในระยะเวลาก่อนการปฏิวัติสยาม 2475 เสียก่อน ย้อนกลับไปช่วงสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 สยามได้มีการทำสนธิสัญญาการค้ากับอังกฤษ โดยสนธิสัญญาฉบับนั้นชื่อว่า “สนธิสัญญาเบาว์ริง” ภายหลังสนธิสัญญาดังกล่าวได้ก่อให้เกิดจากเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอันมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคม

การทำลายระบบการค้าผูกขาดโดยพระคลังสินค้า กับการเปิดประตูการค้าระหว่างประเทศกับประเทศตะวันตก ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจไทยเริ่มมีการขยายตัวของการผลิต การเพาะปลูกและการค้าข้าวมากขึ้น สาเหตุเพราะประเทศในแถบตะวันตกและอาณานิคมมีความต้องการข้าวเพิ่มมากขึ้น

การขยายตัวการผลิต การเพาะปลูก การค้าข้าวดังกล่าว ส่งผลให้ประชาชนมีรายได้เป็น “ตัวเงิน” มากขึ้น เมื่อมีรายได้มากขึ้น กำลังหรืออำนาจในการซื้อต่าง ๆ ก็มากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นในด้านการครอบครองสินค้าต่าง ๆ อย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น ไม่ได้เหมือนสมัยก่อนที่ เข้าขุนมูลนาย จะมีอำนาจในการครอบครองสินค้ามากว่าประชาชนทั่ว ๆ ไป

ในขณะที่การขยายตัวของระบบเศรษฐกิจแบบเงินตรา มีการขยายตัวมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการแข่งขันทางการค้าขึ้น อีกทั้งส่งผลให้เกิดอาชีพอิสระในสังคมมากขึ้นตามไปด้วย อาทิเช่น ช่างทอง ช่างเหล็ก ช่างก่อสร้าง ช่างกล ช่างหล่อ การแพทย์ นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ เป็นต้น

การขยายตัวดังกล่าวทำเข้าไปมีส่วนสำคัญต่อการตระหนักถึงศักยภาพของตนเองที่ทำให้ธุรกิจคงอยู่ หรือล่มละลายไป หลักการนี้จึงทำให้บรรดาผู้ประกอบการต่าง ๆ พยายามขวนขวายที่จะพัฒนาเพิ่มศักยภาพของตน ด้วยวิธีต่าง ๆ ตามกำลังเงินของตน เช่น ชาวจีนจำนวนหนึ่งที่ทำธุรกิจค้าขายข้าวได้ส่งลูกหลานของตนเองไปศึกษาต่อต่างประเทศ เพื่อให้กลับมาพัฒนาการค้าขายของธุรกิจตน เป็นต้น (ภายหลังธุรกิจของชาวจีนดังกล่าว เริ่มขยายบทบาทเข้าไปสู่การเงินการธนาคาร)

ในขณะเดียวกันการยกเลิกระบบไพร่และทาสในสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 นั้นได้ส่งผลให้ไพร่ หรือทาสที่กลายมาเป็นราษฎรได้มีโอกาสในการเลือกดำเนินชีวิตได้อย่างเปิดกว้างมากขึ้น ราษฎรสามารถที่จะครอบครองทรัพย์สินได้ หากมีโอกาสและศักยภาพที่เพียงพอ หรือ ราษฎรคนไหนที่ไม่มีศักยภาพที่เพียงพอก็สามารถขายแรงงานที่ไหน กับใครก็ได้

อย่างไรก็ตามการขยายตัวของการผลิต การเพาะปลูก และการค้าข้าวได้กลายเป็นจุดอ่อนของระบบเศรษฐกิจไทยในช่วงเวลานั้น เนื่องจาก ไทยต้องพึ่งรายได้จากการส่งออกข้าวเพียงอย่างเดียว

ปี พ.ศ. 2462 ได้เกิดวิกฤตการณ์ข้าวขึ้น ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเกิดฝนแล้งและอุทกภัยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2460 ส่งผลให้ปริมารการผลิตข้าวลดลง จนเกิดการขาดแคลนข้าวไปทั่วประเทศ และส่งผลกระทบไปยังวิกฤตเงินคงคลังที่จะเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2463-2468 อีกด้วย

ปัญหาวิกฤตดังกล่าว มีสาเหตุมาจากที่รัฐบาลขาดดุลงบประมาณ โดยรัฐบาลมีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย ส่งผลให้เงินคงคลังที่รัฐบาลเก็บสะสมไว้เป็นจำนวนมากถูกนำมาใช้ เมื่อถึงปี พ.ศ. 2465 เงินคงคลังก็ลดลงจนเกือบหมด ขึ้นระดับขั้นวิกฤต ซึ่งเป็นสภาพที่จะทำให้รัฐบาลล้มละลายได้ถ้าไม่ได้รับการแก้ไข

ในช่วงเวลานั้น รัฐบาลได้หาทางออกกับวิกฤตดังกล่าว ด้วยวิธีสร้างชนิดของภาษีใหม่เพิ่ม รวมทั้งเก็บอัตราภาษีเพิ่ม เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาล โดยภาษีที่สำคัญที่รัฐบาลหันมาจัดเก็บคือ “ภาษีรัชชูปการ” และ “ภาษีที่ดิน”

ภาษีรัชชูปการ คือ ภาษีที่จัดเก็บจากการไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงานแทนเป็นการเสียเงิน โดยเรียกเก็บจากประชาชนตั้งแต่อายุ 18-60 ปี อาทิ ข้าราชการ ชาวนา เป็นต้น โดยยกเว้นให้กับ “พระราชวงค์ ทหาร พระ” ส่วน ภาษีที่ดิน คือ ภาษีที่จัดเก็บจากประชาชนที่เช่าที่ดินหลวง  การเก็บภาษีดังกล่าวได้สร้างความไม่พอใจในหมู่ประชาชน ในขณะเดียวกันรายจ่ายของรัฐบาลในสมัยนั้นส่วนใหญ่จะไปให้ความสำคัญและทุ่มเทไปในทางการบริหาร การป้องกันประเทศ และ “การมหากษัตริย์” โดยรายจ่ายประเภทเงินเดือนข้าราชการและ “ค่าใช้จ่ายใช้สอย” มีการขยายตัวมากที่สุด

ปัญหาการดำเนินงานดังกล่าวของรัฐบาลได้สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก ส่งผลให้เกิดกลุ่มขบวนเคลื่อนไหวที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงการปกครองการปกครองของประเทศ จนเป็นหนึ่งในสาเหตุที่นำไปสู่การปฏิวัติสยามปี พ.ศ. 2475 ในที่สุด

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้มีความพยายามปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนส่วนใหญ่มากที่สุด โดยจะเห็นได้จากหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ในหลักที่ 3 ระบุไว้ว่า “จะบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติไม่ปล่อยให้ราษฎรอดยาก”

หลังจากที่คณะราษฎรได้มีการจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว คณะราษฎรได้มอบหมายให้นาย ปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) เป็นผู้ร่าง “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” โดยเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ ประกอบด้วยข้อเสนอ 2 ส่วน คือ

1. การเปลี่ยนแปลงระบบกรรมสิทธิ์ คือ เสนอให้โอนที่ดินที่เป็นปัจจัยการผลิตทั้งหมดเป็นของรัฐ โดยให้ค่าตอบแทนแก่เจ้าของปัจจุบันในรูปพันธบัตรเงินกู้ ให้โอนทุนและโรงงานอุตสาหกรรมเป็นของรัฐ โดยให้ค่าตอบแทนในลักษณะเดียวกัน หากเจ้าของทุนปรารถนาจะดำเนินกิจการของตนเองต่อไป ต้องพิสูจน์ว่า พอเลี้ยงชีวิตตนเองและครอบครัวได้ รัฐบาลก็จะอนุญาตเป็นรายๆ ไป ส่วนของต่างประเทศจะได้รับสัมปทานให้ดำเนินการชั่วเวลาหนึ่งเช่นเดียวกัน

2. การจัดพัฒนาการเศรษฐกิจเพิ่มหลังการผลิตของประเทศ เพื่อปฏิบัติการให้บรรลุเป้าหมายนี้ รัฐจะเป็นผู้วางแผนเศรษฐกิจ ทั้งเป็นผู้จัดการบริหารกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการวางแผนเศรษฐกิจ รัฐสามารถควบคุมการใช้ทุนอันเป็นปัจจัยหลักในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ควบคุมให้มีการลงทุนในส่วนที่จะเป็นประโยชน์ระยะยาวแก่ประเทศอย่างแท้จริง

ในการปฏิบัติงานให้บรรลุตามแผนเค้าโครง ต้องมุ่งให้หน่วยงานสหกรณ์เป็นผู้ร่วมกระทำด้วยเพื่อที่จะดูแลกิจการต่างๆ ได้ทั่วถึง โดยให้รัฐจัดสหกรณ์แบบเต็มรูปแบบ

กล่าวได้ว่าโครงการเศรษฐกิจดังกล่าว เป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าระบบเศรษฐกิจไทยอย่างสิ้นเชิง และเป็นการเร่งรดในการพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรมอย่างมีแผน โดยมีจุดประสงค์มุ่งเน้น การกระจายรายได้ และทรัพย์สินในระบบให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น ไม่มีการริบทรัพย์สิน แต่จะใช้วิธีการซื้อที่ดินและโรงงาน ด้วยพันธบัตร ขณะเดียวกัน ก็ยังมีนายทุนที่ได้รับสัมปทานดำเนินธุรกิจอยู่อีกด้วย

ความพยายามในการพัฒนาเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ ดังกล่าว ได้รับการปฎิเสธจากรัฐบาลและสมาชิกคณะราษฎรบางส่วน รวมถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 อีกด้วย อีกทั้งพระองค์ยังได้มีพระราชวิจารณ์ในลักษณะที่ไม่เห็นด้วย เนื่องจาก เค้าโครงการเศรษฐกิจดังกล่าว เป็นการเปลี่ยนแปลงประเพณีทางเศรษฐกิจศักดินาที่สังคมไทยเคยมีมา อีกทั้งพระองค์ทรงพระราชวินิจฉัยคัดค้าน โดยพระองค์ทรงเห็นว่าเค้าโครงเศรษฐกิจดังกล่าวจะทำลายเสรีภาพของราษฎร จนในที่สุดเค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ ต้องถูกระงับใช้ไป