วรศักดิ์ มหัทธโนบล : สามรัฐ ที่มิใช่ สามก๊ก (7) 

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เหตุจากกบฏโพกผ้าเหลือง (ต่อ)

กล่าวกันว่า จางเจี๋ว์ยเกิดในครอบครัวชาวนาที่ยากจน จึงมีความตั้งใจศึกษาด้วยหวังว่าจะได้เป็นขุนนางเพื่อเปลี่ยนชีวิตตัวเอง

แต่ด้วยเหตุที่เกิดผิดยุคผิดสมัย จางเจี๋ว์ยซึ่งยากจนอยู่แล้วจึงไม่มีเงินมาจ่ายค่าตำแหน่ง หรือไม่มีเส้นสายในราชสำนัก

เมื่อไม่มีโอกาสได้เป็นขุนนางแล้ว จางเจี๋ว์ยจึงหันมาศึกษาลัทธิเต้าและปลีกวิเวก

จนเมื่อเชื่อว่าตนมีวิชาแก่กล้าแล้ว จางเจี๋ว์ยก็ได้ตั้งสำนักของตัวเองขึ้นมาเป็นอีกนิกายหนึ่งของลัทธิเต้า ที่ต่อมาจะได้กลายเป็นที่มาของการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งใหญ่ นั่นคือ กบฏโพกผ้าเหลือง

ก่อนที่จะมาเป็นกบฏโพกผ้าเหลืองนั้น กบฏนี้ก็มีที่มาไม่ต่างกับสำนักเต้าข้าวสารห้าโต่ว ตรงที่มาจากความเชื่อในลัทธิเต้าเช่นกัน เพียงแต่เป็นคนละสำนักคนละนิกายเท่านั้น

สำนักหรือนิกายนี้คือ สำนักเต้าอภิสันติ (ไท่ผิงเต้า, the Way of Supreme Peace) ผู้ก่อตั้งสำนักก็คือจางเจี๋ว์ย โดยร่วมกับน้องชายอีกสองคนคือ จางเป่าและจางเหลียง

สาวกของสำนักเต้าอภิสันติยอมรับกันว่า จางเจี๋ว์ยผู้เป็นเจ้าสำนักเป็นผู้แต่งคัมภีร์ที่มีชื่อว่า เงื่อนไขสู่อภิสันติ (ไท่ผิงเย่าซู่, the Crucial Keys to the Way of Peace) โดยเขาปวารณาตนเป็นผู้วิเศษแล้วยกตัวเองเป็นปรมาจารย์ (Great Teacher) ของสำนัก

หลักคำสอนของสำนักนี้เน้นไปในเรื่องสิทธิเสมอภาคของบุคคล และความเท่าเทียมกันในการได้รับส่วนแบ่งที่ดิน

ส่วนวิธีจูงใจผู้คนให้มาเข้าร่วมจะกระทำผ่านการรักษาผู้ป่วยไข้โดยไม่คิดค่าตอบแทน จากนั้นก็เผยแพร่หลักคิดของสำนักให้แก่ผู้เข้าร่วม

ซึ่งจนถึงตอนนั้นคนเหล่านี้ก็กลายเป็นสาวกของสำนักแล้ว

 

สําหรับประเด็นที่มีนัยทางการเมืองนั้น สำนักเต้าอภิสันติเห็นว่า ความชั่วร้ายเลวทรามได้บังเกิดขึ้นแล้วในโลก โดยเฉพาะจากการเรียกเก็บภาษีจากชาวนาอย่างหนัก ทั้งที่ชาวนาต่างก็มีชีวิตที่ลำเค็ญและหิวโหย จนเมื่อสำนักเต้าอภิสันติมีสาวกเพิ่มขึ้นอย่างมากมายแล้ว จางเจี๋ว์ยจึงได้ประกาศการลุกขึ้นสู้ สำนักของเขาจึงกลายเป็นขบวนการทางการเมืองไปในที่สุด

จากนั้นจางเจี๋ว์ยจึงชูคำขวัญของขบวนการผ่านอักษรจีน 16 คำ ความว่า :

“ฟ้าครามมอดม้วยมรณา ถึงคราฟ้าเหลืองเรืองรอง ศักราชเจี๋ยจื่อเวียนครอง ใต้หล้าจักผ่องพรรณราย” (ชางเทียนอี๋สื่อ ฮว๋างเทียนต่างลี่ ซุ่ยไจ้เจี๋ยจื่อ เทียนเซี่ยต้าจี๋)

คำขวัญดังกล่าวมีคำสำคัญที่พึงอธิบายอยู่สามคำคือ

หนึ่ง ฟ้าคราม หมายถึง อำนาจฮั่นตะวันออก

สอง ฟ้าเหลือง หมายถึง อำนาจของขบวนการทางการเมืองที่นำโดยจางเจี๋ว์ย ที่ซึ่งต่อไปจะเป็นขบวนการโพกผ้าเหลือง

และสาม เจี๋ยจื่อ คือ คำเรียกขานปีศักราชตามระบบปฏิทินของจีนจากที่มีอยู่ทั้งสิ้น 60 คำ โดยทั้ง 60 คำนี้จะถูกใช้เป็นวงรอบ

คำแรกของวงรอบคือคำว่า เจี๋ยจื่อ คำที่ 60 คือคำว่า กุ่ยไฮ่ การใช้จะเริ่มจากคำแรกเป็นปีที่หนึ่ง เมื่อครบหนึ่งปีแล้วก็จะใช้คำในลำดับถัดไป แล้วใช้เช่นนี้ไปเรื่อยๆ เมื่อครบแต่ละปี

และพอใช้ไปจนถึงคำที่ 60 (ซึ่งเท่ากับปีที่ 60) คือคำว่า กุ่ยไฮ่ แล้วก็จะเวียนกลับไปใช้คำแรกคือคำว่า เจี๋ยจื่อ เป็นการเริ่มต้นใหม่

ระบบปฏิทินนี้จึงควรที่จะเรียกว่า โสฬสานุกรมศักราช (sexagenary)

ก่อนที่จางเจี๋ว์ยจะนำพาสาวกเข้าเคลื่อนไหวต่อต้านราชวงศ์ฮั่นนั้น เขาได้ใช้การรักษาผู้ป่วยด้วยการให้ผู้ป่วยสารภาพบาป หรือไม่ก็รักษาผ่านความเชื่อในแบบลัทธิศาสนา

จนเมื่อนิกายของเขาเริ่มเกี่ยวพันกับการเมืองแล้ว จางเจี๋ว์ยกับน้องทั้งสองคนก็เริ่มใช้ความเชื่อในแบบศาสดาพยากรณ์มาป่าวประกาศแก่เหล่าสาวกว่า กฎเกณฑ์ของโลกกำลังจะเปลี่ยนแปลง โดยเมื่อถึงปีศักราช เจี๋ยจื่อ อีกครั้งหนึ่ง ท้องฟ้าจะทอประกายเหลืองเรืองรอง ตอนนั้นก็จะถึงกาลสิ้นสุดของราชวงศ์ฮั่น เพื่อเปิดยุคใหม่แห่งการปกครองที่จะเริ่มต้นขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

ซึ่งก็คือนัยที่แสดงผ่านคำสำคัญในคำขวัญ 16 คำข้างต้นนั้นเอง

 

จากเหตุดังกล่าว คำว่า เจี๋ยจื่อ ที่เป็นชื่อปีศักราชจึงอยู่คู่กับคำพยากรณ์ถึงการมาเยือนของท้องฟ้าเหลืองเรืองรอง และยังผลให้สาวกของจางเจี๋ว์ยใช้ผ้าสีเหลืองมาโพกหัวของตนเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของขบวนการ จนเป็นที่มาของคำว่า “โพกผ้าเหลือง” ในที่สุด เมื่อพร้อมเพรียงกันแล้ว ขบวนการโพกผ้าเหลืองก็ประกาศศึกกับราชสำนักฮั่นใน ค.ศ.184

กล่าวกันว่า ขบวนการทางการเมืองของจางเจี๋ว์ยมีกำลังพลถึงสี่แสนนาย และแทบจะทั้งหมดนี้ล้วนมีภูมิหลังเป็นชาวนา ถึงตรงนี้ก็ทราบแน่ชัดแล้วว่า ชาวนาที่มารวมตัวเคลื่อนไหวครั้งนี้ย่อมคิดเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากเป็นเพราะทนการกดขี่ขูดรีดของชนชั้นปกครองไม่ได้อีกต่อไป

ซ้ำยังมีไม่น้อยที่เป็นชนชั้นปกครองจอมปลอมที่ได้เป็นขุนนางด้วยการซื้อตำแหน่งมาอีกด้วย

เมื่อระดมพลพรรคได้มากมายขนาดนั้นแล้ว จางเจี๋ว์ยก็บริหารจัดการขบวนการของตนอย่างเป็นระบบ เขาแบ่งกำลังพลของขบวนการตามขนาดของหน่วยปกครอง หน่วยปกครองใดที่มีขนาดใหญ่จะมีกำลังพลเป็นหลักหมื่น หน่วยปกครองที่มีขนาดเล็กจะมีเป็นหลักพัน

จากนั้นก็กำหนดวินัยขึ้นมาให้กำลังพลถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยมีสัญลักษณ์สำคัญคือ ผ้าสีเหลืองที่เหล่าพลพรรคใช้โพกศีรษะ

จากเหตุนี้ เมื่อแรกที่ขบวนการนี้เริ่มก่อการเคลื่อนไหวปฏิวัติ ราชสำนักจึงเรียกขบวนการนี้ว่าโจรโพกผ้าเหลือง

 

ปฏิบัติการเคลื่อนไหวของขบวนการโพกผ้าเหลืองจะครอบคลุมสามพื้นที่ใหญ่ตรงอาณาบริเวณลุ่มแม่น้ำฮว๋าง (ฮว๋างเหอ) หรือแม่น้ำเหลือง ทั้งนี้จางเจี๋ว์ยกับน้องสองคนจะเคลื่อนไหวในภูมิภาคตอนเหนือของแม่น้ำเหลือง โดยตั้งกองบัญชาการอยู่ที่เมืองจี้ว์ลู่

กลุ่มที่สองตั้งอยู่ที่โยวโจวหรือมณฑลโยว (หน่วยปกครองนี้เป็นหนึ่งในหน่วยปกครองที่สำคัญในเวลานั้น ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไปข้างหน้า) ตรงอาณาบริเวณที่เป็นกรุงเป่ยจิง (ปักกิ่ง) ในปัจจุบัน และ

กลุ่มที่สามอยู่ตรงอาณาบริเวณเมืองอิ่งชวน หญู่หนาน และหนานหยาง อันเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในมณฑลเหอหนานปัจจุบัน

จะเห็นได้ว่า การที่สามพี่น้องตระกูลจางรวมตัวกันในที่เดียวกันโดยแยกกับพลพรรคอีกสองกลุ่มออกไปนั้น แสดงว่าพลพรรคของขบวนการโพกผ้าเหลืองย่อมเป็นที่ไว้วางใจได้ เพราะด้วยกำลังพลนับแสนคนและกระจายอยู่ในภูมิภาคที่กินพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลเช่นนี้ ย่อมเสี่ยงต่อการทรยศหักหลังได้ไม่ยาก

ฉะนั้น การที่ขบวนการนี้ไว้วางใจกันได้เช่นนี้จึงย่อมเป็นจุดแข็งของขบวนการไปด้วยในตัว และยิ่งจุดแข็งนี้มีการจัดตั้งที่ดี มีวินัย และมีกำลังพลถึงสี่แสนนายจึงย่อมสั่นคลอนราชสำนักฮั่นได้ไม่ยาก

 

เหตุดังนั้น พลันที่ขบวนการโพกผ้าเหลืองเริ่มเคลื่อนไหวเท่านั้น การเคลื่อนไหวก็ไม่ต่างกับกระแสคลื่นที่ทรงพลังและรวดเร็ว ราชสำนักฮั่นได้จัดส่งทัพไปปราบขบวนการนี้ด้วยสายตาที่เห็นเป็นเพียง “โจร” แต่ไม่ว่าจะกี่ทัพที่ส่งไปต่างก็พ่ายแพ้กลับมา

และเพียงไม่นานกระแสคลื่นของขบวนการก็เคลื่อนมาถึงลว่อหยาง (ลกเอี๋ยง) อันเป็นเมืองหลวง

แต่เนื่องจากความอ่อนแอของราชวงศ์ที่ดำรงมานานนับสิบปี เมื่อทัพของขบวนการโพกผ้าเหลืองมาถึงหน้าเมืองหลวง ความโกลาหลวุ่นวายจึงเกิดทั่วราชสำนัก ฮั่นหลิงตี้จึงทรงเรียกเหล่าขุนนางมาเข้าเฝ้าเพื่อปรึกษาหารือเรื่องที่จะปราบ “โจร” กลุ่มนี้

มีขุนนางคนหนึ่งเสนอว่า ก่อนอื่นต้องนิรโทษกรรมคณะอภิชนที่ยังถูกจองจำอยู่มากมายออกมา แล้วปรึกษาหารือคนเหล่านี้เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว แต่ฮั่นหลิงตี้มิทรงสมัครใจที่จะทำตามข้อเสนอนั้น

จากข้อเสนอนี้ทำให้เห็นว่า เวลานั้นราชสำนักขาดแคลนขุนนางที่มีสติปัญญาและความตั้งใจจริงอย่างยิ่ง ขุนนางเหล่านี้ก็คือคณะอภิชนที่ถูกฮั่นหลิงตี้ปราบปรามเข่นฆ่าและจับกุมคุมขัง ดังนั้น การที่ฮั่นหลิงตี้ทรงปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวหากมิใช่ทรงรู้สึกเสียหน้าแล้ว ก็คงเป็นเพราะทรงไร้สติปัญญาและขาดความกล้าหาญทางจริยธรรมนั่นเอง

เมื่อข้อเสนอที่น่าจะดีที่สุดถูกปฏิเสธ ในขณะที่เหล่าขุนนางที่เหลืออยู่ก็มีไม่น้อยที่ต่างก็หวาดกลัวขี้ขลาดตาขาว ในที่สุดขุนนางชื่อ เหอจิ้น (โฮจิ๋น) ผู้เป็นเชษฐาต่างมารดาของมเหสีเหอ (เหอฮว๋างโฮ่ว) จึงทูลต่อฮั่นหลิงตี้ให้ประกาศหาผู้อาสาศึก

โดยมีสิ่งจูงใจว่า หากผู้อาสาศึกผู้ใดสามารถเอาชนะ “โจรโพกผ้าเหลือง” ได้ ผู้นั้นไม่เพียงจักได้ปูนบำเหน็จเท่านั้น หากยังได้เข้ารับราชการเป็นขุนนางอีกด้วย

————————————————————————–
(1)ในตอนก่อนๆ บทความนี้สะกดชื่อพยางค์สุดท้ายของกบฏสำนักเต้าข้าวสารห้าโต่วเป็น “โต๋ว” ไปด้วยความเผอเรอ ที่ถูกแล้วคือ “โต่ว” ที่ว่าเผอเรอก็เพราะว่า ตอนที่วงเล็บชื่อในภาษาจีนว่า “อู่โต๋ว” (ห้าโต่ว) นั้น ได้สะกดโดยผันวรรณยุกต์ในสองพยางค์นี้ (อู่โต๋ว) ตามหลักภาษาจีน ครั้นต้องเขียน (พิมพ์) ด้วยตัวสะกดที่ถูกต้องว่า “โต่ว” กลับเผลอไปสะกดเป็น “โต๋ว” ซึ่งผิด บทความในตอนนี้จึงใคร่ขอชี้แจงข้อผิดพลาดที่ว่านี้ และขอถือโอกาสนี้แจ้งให้ทราบด้วยว่า บทความนี้ยึดหลักการผันวรรณยุกต์ตามหลักภาษาจีนในคำอื่นๆ ด้วย หากพบว่าคำใดที่ดูเหมือนว่าสะกดต่างกันทั้งที่เป็นคำเดียวกันก็ขอให้เข้าใจว่าบทความนี้ได้ผันวรรณยุกต์ตามหลักภาษาที่ว่าแล้ว และขออภัยในความผิดพลาดเผอเรอจากที่ผ่านมามา ณ ที่นี้ด้วย