ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : การเมืองเรื่องพระศรีศากยมุนี

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

พระศรีศากยมุนี เป็นพระพุทธรูปสำริด ขนาดใหญ่ งานช่างแบบสุโขทัย สร้างขึ้นในช่วงราวต้นพุทธศตวรรษที่ 20 เดิมเป็นพระพุทธรูปประธานประจำอยู่ในพระวิหาร วัดมหาธาตุสุโขทัย แต่รัชกาลที่ 1 ทรงมีพระราชดำริ โปรดฯ ให้ชะลอมาประดิษฐานไว้ ณ พระวิหาร วัดสุทัศนเทพวราราม หรือวัดสุทัศน์ ที่มีเสาชิงช้า ตั้งอยู่ข้างๆ

แต่ชื่อ “พระศรีศากยมุนี” ไม่ใช่ชื่อเดิมนะครับ เป็นรัชกาลที่ 4 พระราชทาน เช่นเดียวกับชื่อวัดสุทัศน์ ก็เป็นชื่อที่รัชกาลที่ 3 พระราชทานแทนชื่อเดิมคือ “วัดมหาสุทธาวาส” ที่รัชกาลที่ 1 ทรงเป็นผู้พระราชทาน

จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี (พ.ศ.2310-2381) เล่าเอาไว้ว่า พระพุทธรูปองค์นี้ได้ถูกอัญเชิญมาทางแพ ล่องตามแม่น้ำเจ้าพระยาลงมาขึ้นที่ท่าช้าง ใกล้วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้วมรกต แต่องค์พระมีขนาดใหญ่มาก ไม่สามารถผ่านเข้าประตูที่ท่าช้างได้ จนต้องรื้อประตูลงมา

นับแต่นั้น “ท่าช้าง” จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ท่าพระ” พระที่ว่าก็หมายถึง พระศรีศากยมุนี นั่นแหละ

หลังจากพระพุทธรูปมาถึงพระนครแล้ว รัชกาลที่ 1 ก็โปรดเกล้าฯ ให้มีงานฉลองพระพุทธรูป และได้อัญเชิญโดยการชักลากทางสถลมารคมายังพระวิหารวัดสุทัศน์ ที่ทรงวางรากฐานไว้ มีความบันทึกไว้ว่า ขณะนั้นพระองค์ทรงพระประชวร แต่ก็ยังเสด็จพระราชดำเนินตามกระบวนแห่โดยไม่ทรงฉลองพระบาทจนถึงจุดหมายปลายทาง และทรงยกพระพุทธรูปขึ้นบนฐานที่เตรียมไว้จึงได้เสด็จกลับ

เราไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระราชศรัทธาของรัชกาลที่ 1 ที่มีต่อพระพุทธรูปองค์นี้เป็นเรื่องจริงทุกกระเบียด หรือเป็นเพียงคำเล่าลือที่ถูกขยายเสียจนเกินจริง เหมือนกับอีกหลายๆ เรื่อง แต่คำเล่าลืออย่างนี้ก็แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพระศรีศากยมุนีที่มีต่อพระองค์

แต่อะไรกันเล่าครับที่เป็นเหตุผลให้พระพุทธรูปองค์นี้สำคัญต่อพระองค์?

 

โดยทั่วไปมักจะอธิบายกันว่า ในช่วงรัชกาลที่ 1 ถึง 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นั้น เป็นระยะเวลาแห่งการสร้างบ้านแปงเมือง จึงทำให้มีการสร้างพระพุทธรูปเก่าขึ้นมาน้อยมาก วัดวาอารามต่างๆ ในสมัยนั้นก็เช่นกัน ไม่ค่อยมีการสถาปนาขึ้นมาใหม่ แต่มักเป็นการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดที่มีอยู่เดิมขึ้นมาเสียมากกว่า

โดยวิธีคิดอย่างนี้ จึงมักจะมีการอ้างหลักฐานจากเอกสาร จดหมายเหตุรัชกาลที่ 1 เรื่องบัญชีพระพุทธรูปอาราธนามาแต่เมืองสุโขทัยและลพบุรี จ.ศ.1156 ว่า รัชกาลที่ 1 ได้โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธรูปมาจากหัวเมืองต่างๆ โดยเฉพาะเมืองสุโขทัยและอยุธยา

เฉพาะที่ระเบียงคตวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือที่รู้จักกันชื่อวัดโพธิ์ ตามเอกสารก็ระบุว่าได้นำมาจากสุโขทัยและอยุธยาเป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,288 องค์เลยทีเดียว

แต่ปัญหาก็อยู่ที่เดียวกันนี้เองแหละครับ มีเหตุผลอะไรที่จะต้องนำพระพุทธรูปเก่าจากพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลออกไปมาตั้งเรียงรายไว้ในวัดเพียงวัดเดียวเป็นจำนวนถึงพันกว่าองค์

ซ้ำร้ายยังไม่นับถึงพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่ถูกนำไปประดิษฐานไว้เป็นพระวิหารคตอีกด้วย

หากจะว่ากันตามหลักฐาน กรุงรัตนโกสินทร์ของรัชกาลที่ 1 นั้นขยายตัวมาจากกรุงธนบุรี ซึ่งอยู่ทางฟากตะวันตก อีกข้างหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ธนบุรี เดิมชื่อว่า บางกอก เป็นชุมชนริมน้ำเก่าที่มีหลักฐานการอยู่อาศัยมาตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา

ต่อมาเมื่อกรุงศรีอยุธยาล่มสลายลง สมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงใช้เมืองธนบุรีที่มีอยู่ก่อนเป็นเมืองหลวง

จนกระทั่งเมื่อถึงคราวผลัดราชวงศ์ในรัชกาลถัดมา รัชกาลที่ 1 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายศูนย์กลางของเมืองมาอยู่ที่ฟากตะวันออก ซึ่งเดิมก็มีชุมชนอยู่แล้วเหมือนกัน แต่มีขนาดและความสำคัญน้อยกว่าฝั่งธนบุรี พร้อมสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นมาใหม่

วัดที่มีอยู่แล้วในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะทางฝั่งพระนคร จึงมีขนาดเล็ก ซ้ำยังมีจำนวนไม่มากนัก เราแทบจะไม่มีข้อมูลเหลือรอดอยู่เลยว่า วัดที่มีมาแต่เดิมเหล่านี้มีสิ่งปลูกสร้างอะไรบ้าง และสร้างขึ้นจากวัสดุเยี่ยงไร?

อย่าลืมนะครับว่า ในชนบทที่ห่างไกล การมีศาลาการเปรียญผุๆ หลังหนึ่งก็อาจนับเป็นวัดได้แล้ว

การบูรณะปฏิสังขรณ์วัดเหล่านี้ให้กลายเป็นวัดใหญ่อย่างวัดโพธิ์ จึงไม่ใช่งานเล็กๆ ที่ประหยัดแรงงาน หรือทุนทรัพย์มากไปกว่าการสถาปนาวัดใหม่ โดยเฉพาะเมื่อมีต้นทุนเพิ่มเติมในการไปชะลอพระพุทธรูปจากพื้นที่ที่ห่างไกลจำนวนนับพันมาประดิษฐานไว้ด้วย

 

แต่งานหนักๆ อย่างการชะลอพระพุทธรูปนับพันองค์มาจากเมืองเก่า ก็มีข้อดีอยู่มากเหมือนกัน

พระพุทธรูปเก่านั้นย่อมมีความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์อยู่ในตัว ยิ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญ หรือเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง อย่างเช่น พระศรีศากยมุนี ด้วยแล้ว ก็ยิ่งขลังให้จงหนักกันเข้าไปใหญ่

พระศรีศากยมุนี ซึ่งถูกชะลอมาประดิษฐานเป็นพระพุทธรูปประธานในพระวิหาร วัดสุทัศน์ การที่พระพุทธรูปองค์นี้เดิมเป็นพระพุทธรูปประธานในพระวิหาร วัดมหาธาตุ เมืองสุโขทัย จึงถือเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมือง รัฐสุโขทัยมาก่อน

และการที่รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ชะลอลงมาเป็นประธานอยู่ที่พระวิหาร ซึ่งเป็นอาคารประธานของวัดสุทัศน์ จึงถือเป็นการสืบทอดเอาความศักดิ์สิทธิ์จากสุโขทัยลงมา พร้อมกันกับที่อ้างอิงถึงสิทธิธรรมในการครองราชย์ที่สืบสายมาจากวงศ์สุโขทัย เพราะราชวงศ์จักรี อ้างตนว่าสืบเชื้อสายมาจากวงศ์ของพระยาเกียรติ พระยาราม ชาวมอญที่ตามเสด็จพระนเรศวรกลับมาจากพม่า และต่อมาได้ขึ้นไปครองเมืองเหนือ ได้แก่ สุโขทัย พิษณุโลก

การชะลอพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ พระศรีศากยมุนี มายังกรุงเทพฯ ย่อมเป็นสิ่งที่ทราบกันทั่วทั้งเมือง แน่นอนว่าข่าวสำคัญอย่างนี้ย่อมแพร่กระจายไปพร้อมกับบุญญาธิการของกษัตริย์ ผู้ได้ครอบครองพระพุทธรูปเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองสุโขทัย อย่างรัชกาลที่ 1 ไปด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย

การประดิษฐาน พระศรีศากยมุนี เป็นพระพุทธรูปประธานที่วัดสุทัศน์ ซึ่งถือว่าเป็นวัดศูนย์กลางของชุมชนเมืองในยุคต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ จึงถือว่าเป็นพระพุทธรูปประธานของเมือง

ในขณะเดียวกันกับที่เป็นตัวแทนของราชวงศ์จักรี และเป็นการเชื่อมโยงจักรวาลวิทยาระหว่างความเป็นกรุงเทพฯ และสุโขทัยเข้าหากัน

พร้อมๆ กับที่แสดงให้เห็นถึงภาพที่ทับซ้อนกันอยู่ระหว่างกษัตริย์ กับพระพุทธเจ้า หรือเทพเจ้าผู้ทรงฤทธิ์อื่นๆ ซึ่งถือเป็นความเชื่อสำคัญที่ใช้ในการปกครองและควบคุมสังคมของอุษาคเนย์ยุคโบราณ

——————————————————————————-
ที่มาภาพ : พระศรีศากยมุนี (ภาพจาก : http://www.dhammajak.net/board/files/__11_515.jpg)