“พะยาตะก่า” นามแห่งศรัทธาหรือบรรดาศักดิ์?

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ดิฉันได้รับเชิญให้ไปร่วมงาน “25 ปีมรดกโลกกำแพงเพชร” ในฐานะวิทยากร จัดโดยอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร กรมศิลปากร

จึงได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมบ้านไม้หลังหนึ่งของ “พะโป้” ตั้งอยู่ริมน้ำหลังวัดสว่างอารมณ์

ชาวบ้านเรียก “บ้านห้าง ร.5” ย่อมาจากบ้านของนายห้างค้าไม้ ที่เคยใช้เป็นที่รับเสด็จประพาสต้น พระพุทธเจ้าหลวง ปี 2449 ปัจจุบันอยู่ในกรรมสิทธิ์ของตระกูลล่ำซำ

พระโป้คือผู้ซึ่ง “เรียมเอง” หรือ ครูมาลัย ชูพินิจ นักเขียนนามอุโฆษได้ขอยืมชื่อไปใช้เป็นตัวละครเอกในวรรณกรรมอมตะเรื่อง “ชั่วฟ้าดินสลาย” แต่ไม่ได้ลอกเลียนแบบชีวิตจริงทั้งหมด ดังเช่นกรณีที่ภรรยาของพะโป้นอกใจเป็นชู้กับ “ส่างหม่อง” นั้นเป็นเรื่องที่ครูมาลัยผูกเรื่องขึ้นมาใหม่

เพราะในความเป็นจริง “พะโป้” กับ “ส่างหม่อง” ต่างเป็นคู่เขยพี่เขยน้องกัน

สิ่งที่ดิฉันสนใจมากเป็นพิเศษก็คือ มีการระบุว่าพะโป้เป็นชาวกะเหรี่ยงเดินทางมาจากพม่า เข้ามาสืบสานกิจการค้าไม้ภายใต้อาณัติคนบังคับของชาวอังกฤษ ด้วยการติดตามพี่ชายที่เดินทางเข้ามาก่อน โดยพี่ชายได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์เจดีย์ครอบพระบรมธาตุนครชุมหลังเดิม แต่ค้างไว้ยังไม่สำเร็จ

มีการระบุชื่อพี่ชายของพะโป้ว่า “พระยาตะก่า” (มองสุภอ) ต่อมาคนรุ่นหลังพยายามหาคำอธิบายว่า พระยาตะก่าน่าจะเป็นบรรดาศักดิ์ที่มองสุภอได้รับมาตั้งแต่ประเทศพม่า

สร้างความสงสัยให้แก่ดิฉันอย่างยิ่ง เพราะที่เชียงใหม่ก็มีอีกหนึ่ง “พระยาตะก่า” (เขียนตามคำสะกดที่คนอื่นๆ เขียนต่อๆ กันมาเป็นเบื้องต้นก่อน) เป็นคหบดีค้าไม้นามกระฉ่อนว่า “หลวงโยนะการพิจิตร”

หลวงโยนะการพิจิตร เป็นต้นสกุล อุปโยคิน นามเดิมคือ หม่องปันโหย่ (อูปันโย) ต่อมาได้รับราชทินนามจาก รัชกาลที่ 6 เป็นรองอำมาตย์เอก เป็นผู้อุปถัมภ์การบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามทั่วเชียงใหม่

จากประวัติระบุว่าเป็นชาวพม่า สัญชาติพม่า แต่เชื้อสายยังสงสัยอยู่ว่าจะเป็นมอญ หรือพม่า เพราะมาจากเมืองเมาะลำเลิง (มะละแหม่ง) ซึ่งเมืองนี้ประชากรมากกว่า 90 % มีเชื้อสายมอญ

บางท่านสรุปว่าพระยาตะก่าที่กำแพงเพชรและพระยาตะก่าที่เชียงใหม่น่าจะเป็นบุคคลคนเดียวกัน (คือเข้าใจว่าเป็นชื่อเฉพาะหรือนามจริง)

แต่เมื่อศึกษาแล้ว พบว่าคนหนึ่งล่องซุงเข้ามาสู่สยามเส้นแม่สอด แม่ระมาด ลงมาที่คลองสวนหมากกำแพงเพชร

อีกคนหนึ่ง เข้ามาค้าไม้ในล้านนา ผ่านเส้นทางแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่

คนหนึ่งมีชีวิตช่วงรัชกาลที่ 4-5 อีกคนหนึ่ง มีชีวิตช่วงรัชกาลที่ 5-7

จึงเริ่มเกิดความสงสัยว่านาม “พระยาตะก่า” ที่ซ้ำกันนั้น หมายถึงอะไรแน่ ควรเป็นบรรดาศักดิ์ ราชทินนามจากหลวง หรือใครเรียกในทำนองตั้งฉายาให้เองแบบลำลอง?

 

พะยาตะก่า คือทายก-ทายิกา

ไม่ใช่บรรดาศักดิ์ชั้นพระยา

สอบถามผู้รู้ด้านพม่าศึกษาหลายท่าน ได้อธิบายว่า “พะยาตะก่า” คือคำเขียนที่ถูกต้อง เพราะเป็นการเขียนทับศัพท์ตามภาษาพม่า

ไม่ควรแปลงให้เป็นรูปศัพท์ภาษาไทย เป็น “พระยาตะก่า” หรือ “พญาตะก่า” ด้วยไม่ใช่บรรดาศักดิ์พระราชทานจากฝ่ายสยาม จะทำให้เข้าใจผิดว่าคือยศตำแหน่งไป

พะยาตะก่า เป็นคำภาษาพม่า หรือเขียนเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า hpayadaga ออกเสียง พะยาดะก่า หรือบะยาดะก่า เห็นได้ว่าตัวแรกออกเสียงกึ่งบะกึ่งพะ คล้ายเสียงของอักษร “ภ”

“พะยา” คำเดียวโดดๆ หมายถึงพระพุทธเจ้า หรือพระพุทธรูป หรือเจดีย์ หรือพระภิกษุก็ได้

ส่วนคำหลัง ออกเสียงกึ่งตะกึ่งดะ คล้ายเสียงของตัวอักษร “ฑ” นั่นเองที่สามารถออกเสียงควบได้สองเสียง

คำว่า “ดะก่า” หมายถึง ผู้อุปถัมภ์ในการสร้างวัด เจดีย์ ศาสนสถาน เทียบกับรูปศัพท์ในภาษาไทย ตรงกับคำว่า ทายก-ทายิกา

ดะก่า คือทายก (ชาย) ส่วน ดะก่ามะ คือทายิกา (หญิง)

มีข้อสังเกตว่า คำว่าพระยาตะก่า ไม่ได้สงวนไว้เฉพาะคหบดีค้าไม้ที่มีเชื้อสายพม่าเท่านั้น เห็นได้จากพะยาตะก่า มองสุภอพี่ชายพะโป้ ก็เป็นชาวกะเหรี่ยง หรือพะยาตะก่า หลวงโยนะการพิจิตร ต้นสกุลอุปโยคิน ก็เป็นชาวมอญ

คือไม่ว่าจะเป็นชาวพม่า ชาวมอญ ชาวกะเหรี่ยง หรือชาวไทใหญ่ เชื้อชาติใดไม่สำคัญ

ขอให้เป็นคนในสังกัดประเทศพม่าที่อยู่ในบังคับอาณานิคมอังกฤษ เป็นคหบดีผู้มั่งคั่งมีศรัทธาอย่างแรงกล้าในการอุปถัมภ์การก่อสร้างวัด ก็สามารถใช้คำนำหน้าว่า “พะยาตะก่า” ได้เหมือนกันหมด

 

“จองตะก่า” – “เพียตะกะ”

กร่อนกลายจากพะยาตะก่า

ในดินแดนล้านนายังมี พะยาตะก่าอีกหลายคนที่เข้ามาค้าไม้ในช่วงรัชกาลที่ 4-5 แล้วปักหลักสร้างครอบครัวบนดินแดนไทยไม่กลับคืนพม่า กลายมาเป็นต้นวงศ์สกุลต่างๆ มากมาย อาทิ

พะยาตะก่าจินดา พ่อเลี้ยงชาวไทใหญ่แห่งอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่

วัดจองคา (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดนันตาราม) เป็นวัดของชาวไทใหญ่ ระบุว่าสร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พ่อเฒ่าตะก่านันตา (อู๋) และตระกูลวงศ์อนันต์ ซึ่งเป็นชาวชนเผ่าปะโอ เกิดที่เมืองจีในรัฐฉาน ประเทศพม่า

แต่บางทีเราไม่พบคำว่า “พะยาตะก่า” กลับพบคำว่า “จองตะก่า” กับ “พะก่า” แทน

จองตะก่า kyaungdaga หรืออ่านสำเนียงไทใหญ่ว่า “จาวง์ ดะก่า” หรือ “จองดะก่า” ก็หมายถึงทายกทาทิกา ผู้อุปถัมภ์ในการสร้างวัดวาอาราม มีความหมายเช่นเดียวกันกับคำว่า พะยาตะก่า

จอง หรือจาวง์ เป็นภาษาไทใหญ่ หมายถึงวัด ดังนั้นชาวไทใหญ่ในล้านนา หากไม่ใช้คำว่า พะยาตะก่า ก็จะใช้คำว่า จองตะก่า แทน

ส่วนชาวกะเหรี่ยงโพลว์ (โป) แถวสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี รวมถึงที่อาศัยตามรอยตะเข็บแถบสุพรรณบุรี อุทัยธานี ออกเสียงพะยาตะก่า เป็น เพียตะกะ หรือตะกะเพีย สองคำนี้อาจเรียกสลับหน้าหลังกันได้

คำว่า เพีย ในภาษากะเหรี่ยงเป็นคำยืมมาจากภาษามอญ-พม่า แปลว่า วัด มีคำว่า “ส่องค่าเพีย” หมายถึงวัดของสงฆ์ (ส่องค่า=สงฆ์)

 

จาก “พะยาตะก่า” ย่อสู่ “พะก่า”

เมื่อชาวมอญ-ม่าน-เงี้ยว(ไทใหญ่)-กะเหรี่ยง ปักหลักตั้งถิ่นฐานในล้านนาอยู่ได้ช่วงระยะเวลาหนึ่ง เริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะคหบดีผู้เป็นโยมอุปัฏฐากพระพุทธศาสนา เราเริ่มพบคำนำหน้าที่เปลี่ยนไปจาก “พะยาตะก่า” กลายเป็น “พะก่า” บางครั้งเขียนว่า “ภะก่า” หรือ “พก่า”

ดังเช่น รายชื่อเจ้าภาพอุปถัมภ์ค่าก่อสร้างเสาวิหารหลวงวัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา ในปี 2465 ยุคที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นประธานบูรณะนั้น พบจารึกคำว่า “พะก่า” แทนที่จะพบคำว่า “พะยาตะก่า” ตามเสาแต่ละต้น

ได้แก่ พะก่าสร้อยคำ พะก่าญาณะ และน้อยพะก่า เป็นต้น

หรือที่บ้านแม่ต๋ำบุญโยง จังหวัดพะเยา มีทุ่งนากว้างเรียกว่า “ทุ่งพะกาหม่อง” เจ้าของเดิมคือพะกาหม่อง คหบดีชาวพม่าเป็นคนในบังคับอังกฤษ

มีจารึกที่วัดกู่คำเขียนว่า นายร้อยพก่าคำปุก สร้างวิหารวัดกู่คำในพระพุทธศักราช 2464

หนึ่งในกลุ่มหัวหน้ากบฏเงี้ยวเมืองแพร่มีชื่อว่า นายฮ้อยพะก่าหม่อง

นอกจากนี้ ยังมีนามสกุลของคนเชื้อสายไทใหญ่ ที่ขึ้นหน้าด้วยคำว่า พก่า ด้วยเช่น พก่าแก้ว

ทำให้เกิดความสงสัยว่า “พะก่า” หรือ “พก่า” หมายถึงอะไร จะเป็นคำที่มีความหมายเดียวกันกับ “พะยาตะก่า” หรือไม่

ผู้รู้ด้านภาษาพม่าอธิบายว่า ไม่ปรากฏคำว่า “พะก่า” ในภาษาพม่า สันนิษฐานว่าเป็นคำที่กร่อนและกลายมาจากคำว่าพะยาตะก่าอีกต่อหนึ่ง

โดยย่อคำว่า พะยา ให้เหลือแค่ พะ (ภะ) และย่อคำว่า ตะก่า ให้เหลือแค่ ก่า เรียกควบรวมเอาเฉพาะคำหน้าสุดหลังสุด ตัดตรงกลางออก

กลายเป็นคำที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ว่า “พะก่า” หรือ “ภะก่า” ใช้เฉพาะในหมู่ชาวมอญ-ม่าน-เงี้ยว-กะเหรี่ยง ที่อาศัยอยู่ในดินแดนล้านนาเท่านั้น มีความหมายว่า “ทายก-ทายิกา” เหมือนกัน