ยุคสมัยสมเด็จพระนเรศวร | นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์
รูปหล่อสำริดพระนเรศวร ที่ อุทยานราชภักดิ์ ภายในพื้นที่ของกองทัพบก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สร้างขึ้นมาเพื่อเทิดทูนและประกาศเกียรติคุณสมเด็จพระมหากษัตริย์แห่งสยาม 7 พระองค์

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับวันที่ 4-10 กันยายน พ.ศ.2558

ผมเพิ่งกลับจากสัมมนาที่มหาวิทยาลัยนเรศวร(มน.)พิษณุโลก และพบด้วยความชื่นชม จากการได้พบปะสนทนากับอาจารย์และอ่านวารสารวิชาการของมหาวิทยาลัยว่า มหาวิทยาลัยที่ค่อนจะเป็น “น้องใหม่” ของวงการได้สะสมนักวิชาการหนุ่มสาวที่เก่งกล้าสามารถไว้มาก จนวันหนึ่ง มน. ก็คงเป็นศูนย์กลางทางวิชาการสำคัญของประเทศ ยิ่งกว่ามหาวิทยาลัย “พี่เก่า” อีกหลายแห่ง

ฉะนั้น สิ่งที่จะเขียนต่อไปนี้จึงไม่มีเจตนาจะลบหลู่ มน. แต่อย่างใด บังเอิญสิ่งที่จะเขียนถึงอยู่ใน มน. แต่ก็เป็นปรากฏการณ์ที่พบเสมอในมหาวิทยาลัย และองค์กรวิชาการอื่นอยู่บ่อยๆ เท่านั้น

มหาวิทยาลัยนเรศวรกำลังจะสร้างอนุสรณ์สถานขนาดใหญ่มากๆ แด่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สร้างไว้ที่ไหนหรือสร้างร่วมกับใครผมไม่ทราบ เพราะได้เห็นแต่หุ่นจำลองที่แสดงไว้ในตู้โชว์ ลักษณะของอนุสรณ์สถานคล้ายกับอุทยาน แต่มีอาคารซึ่งคงมีเนื้อที่ขนาดมหึมา ขยายแนวไปอย่างยืดยาว คงเพื่อจัดแสดงนิทรรศการ หลังคาคงทำด้วยวัสดุค่อนข้างโปร่งแสง เพื่อใช้แสงสว่างโดยไม่สิ้นเปลือง ผมไม่ทราบว่ากะจะใช้งบประมาณสักเท่าไร

แต่ประเมินเอาด้วยสายตาจากหุ่นจำลองก็น่าจะเป็นเงินระดับพันล้านขึ้นไป

สมเด็จพระนเรศวรมหาราชคือพระมหากษัตริย์ที่เราควรลงทุนสร้างอนุสรณ์สถานมหึมาด้วยงบประมาณมหาศาลหรือไม่ยกไว้ก่อน สมมติว่าควรแล้วกัน แต่ทำไม “อนุสรณ์” ที่เป็นวัตถุจึงเป็นงานของมหาวิทยาลัย ในเมื่อหน่วยงานไหนๆ (โดยเฉพาะกองทัพ) ก็ทำได้ ทำเป็น และทำไปแล้วจำนวนมาก

เพราะมหาวิทยาลัยมีความสามารถพิเศษไปในทางที่ไม่ใช่การสร้าง “อนุสรณ์” ด้วยวัตถุ แต่สร้างด้วยความก้าวหน้าทางวิชาการต่างหาก ซ้ำมีพื้นที่ทางวิชาการอีกมากที่เกี่ยวกับพระนเรศวรซึ่งควรเสริมสร้างขึ้น เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ในส่วนต่างๆ ของประเทศไทย และความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน ทั้งทางตะวันตก, ตะวันออก, เหนือ และใต้ อันเป็นพันธกรณีหนึ่งที่มหาวิทยาลัยนเรศวรสร้างให้แก่ตนเอง คือเป็นศูนย์การศึกษาอาเซียนที่แข็งแกร่งแห่งหนึ่ง

ภาพจิตรกรรมพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตอน ยุทธหัตถี วัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงดำรงพระชนม์ชีพในยุคสมัยของการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญยิ่งของอุษาคเนย์ ภาคพื้นทวีปการเอาบทบาทของพระองค์ไปเชื่อมโยงกับรัฐชาติไทยปัจจุบันเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัว แต่ยุคสมัยของพระองค์ต่างหากที่ทำให้กรุงศรีอยุธยาสัมพันธ์เชื่อมโยง (อย่างใกล้ชิดหรืออย่างห่างๆ อาจเถียงกันได้) กับรัฐชาติไทยในปัจจุบัน

บทบาททางการเมืองของบุคคลในประวัติศาสตร์ในช่วงนี้ล้วนส่อลักษณะเฉพาะของยุคสมัยนี้ด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นของสมเด็จพระนเรศวร และพระมหากษัตริย์อยุธยาก่อนและหลังจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ในราชวงศ์ตองอูตอนแรกและตอนหลัง, พระยาละแวก, พระเจ้าล้านช้าง, พระเจ้าเชียงใหม่, สุลต่านในรัฐมลายู ฯลฯ ไม่เว้นแม้แต่ผู้ที่ก่อกบฏต่อสมเด็จพระนเรศวร เช่น พระยาศรีไสยณรงค์

และที่สำคัญกว่านั้นคือพ่อค้าภายในภูมิภาคและนอกภูมิภาคอีกมากซึ่งส่วนใหญ่เราไม่รู้ชื่อ

ยุคสมัยที่ผมกล่าวถึงนี้กินเวลาประมาณ2ศตวรรษ คือเริ่มในต้นคริสต์ศตวรษที่ 16 และสิ้นสุดลงในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 หากถือการค้านานาชาติเป็นเกณฑ์ แต่หากใช้เกณฑ์อื่นก็อาจเลยมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18 (สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จพระราชสมภพใน ค.ศ.1555 และสวรรคตใน ค.ศ.1605 เมื่อยุคสมัยได้เบ่งบานมากแล้ว และส่งผลกระทบต่อพระราชกรณียกิจทั้งหมดของพระองค์ มากบ้างน้อยบ้าง) Anthony Reid มองปัจจัยการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยนี้ว่ามาจากการค้านานาชาติเป็นสำคัญ

แต่ความน่าสนใจในงานของเขาไม่ใช่เรื่องของปัจจัยจากภายนอก เท่ากับผลกระทบที่มีต่อวัฒนธรรมและโครงสร้างอำนาจในรัฐต่างๆ ของอุษาคเนย์ ไม่จำเป็นที่นักวิชาการอื่นๆ จะเห็นด้วยกับ Reid แต่ความเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ภายในภูมิภาคเป็นสิ่งที่มีคนอื่นศึกษาติดตามมาอีกมาก

รัฐที่ศูนย์กลางสามารถควบคุมผลประโยชน์จากการค้านานาชาติได้ย่อมมั่งคั่งขึ้นทั้งจากการเก็บภาษี, การหากำไรจากการเป็นศูนย์กลางสินค้าซึ่งตลาดโลกต้องการ, การขูดรีดทรัพยากรจากส่วนในเพื่อระบายแก่สำเภา-กำปั่น, จนถึงที่สุด เจ้าผู้ครองเมืองท่าบางแห่งก็สามารถต่อสำเภา-กำปั่นของตนเอง ออกไปค้าขายต่างประเทศด้วย

รายได้จากการค้าที่ขยายตัวขึ้นนี้ ทำให้ศูนย์กลางที่คุมเมืองท่าได้ มีทรัพย์โดยเปรียบเทียบ มากกว่าศูนย์กลางส่วนในอย่างเหลือล้น สร้างระบบราชการที่สามารถรวมศูนย์ (ทั้งกำลังคนและสินค้า) จากส่วนในของราชอาณาจักร จนมีอำนาจเข้มแข็งทางทหาร ในขณะที่มีเงินหรือสินค้ามากพอจะซื้อหาอาวุธยุทธภัณฑ์ หรือทหารจ้าง มาเสริมกำลังให้กองทัพของตนเกรียงไกรขึ้นอย่างมาก จนแม้แต่ต่อกรในเชิงยุทธกับมหาอำนาจตะวันตกได้อย่างทัดเทียมกัน

และด้วยเหตุดังนั้นจึงสามารถขยายอำนาจไปครอบงำดินแดนส่วนในได้ใกล้ชิดขึ้นนี่คือยุคสมัยของความเปลี่ยนแปลงของรัฐต่างๆ ในภูมิภาคนี้ จากรัฐที่ Victor Lieberman เรียกว่า Chartered states คือรัฐที่ได้สิทธิในการปกครองภายในอย่างอิสระจากราชาธิราชซึ่งอยู่ห่างไกล เป็นรัฐที่มีระบบราชการของส่วนกลางเข้ามาควบคุมให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกันมากขึ้น (Strange Parallels)

พันโทวันชนะ สวัสดี รับบท สมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือ (สมเด็จพระสรรเพ็ชญ์ที่ 2) ในภาพยนต์เรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ในงานเขียนทางประวัติศาสตร์ของไทย เมื่อกล่าวถึงราชาธิราชของไทยในยุคสมัยนี้ เรามักพูดถึงการสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อแย่งชิงอำนาจเหนือเมืองที่ค่อนข้างเป็นอิสระจากสองฝ่าย เช่น มะริด ตะนาวศรี, บันทายมาศ, เมืองต่างๆ ในล้านนา, รัฐมลายู ฯลฯ ซึ่งก็จริงที่ในยุคนี้มีสงครามระหว่างราชาธิราชต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง

แต่การขยายอำนาจด้วยกำลังอาวุธเป็นเพียงด้านเดียวของการสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่รัฐแบบใหม่ ที่สำคัญกว่า (หรืออย่างน้อยก็เท่ากัน) ก็คือการขยายมาตรฐานทางวัฒนธรรมจากส่วนกลาง ดังที่ Lieberman ชี้ให้เห็นทั้งในพม่า, อยุธยา และเวียดนาม

เช่น วรรณคดีซึ่งมีลักษณะทาง “โลกย์” มากขึ้น ถูกกระจายจากราชสำนักไปยังหัวเมืองต่างๆ ในบางรัฐมีละครชาวบ้านซึ่งนำเอาเรื่องเหล่านี้ไปแสดงเผยแพร่ตามหัวเมืองและตำบลที่เล็กลงมา อักขรวิธีถูกทำให้เกิดมาตรฐานขึ้น โดยตรง เช่น มีการทำพจนานุกรมและสารานุกรมในเวียดนาม โดยอ้อม เช่น การกระจายของงานวรรณกรรมประเภทต่างๆ ที่คัดลอกกันขึ้นจากงานของส่วนกลาง ดังในราชอาณาจักรอยุธยาและตองอู (สมัยหลัง)

แม้แต่พระพุทธศาสนาก็ถูกทำให้เป็นมาตรฐานมากขึ้น ทั้งจากการเผยแพร่คัมภีร์ของส่วนกลาง, ความเป็นศูนย์กลางการศึกษาของเมืองหลวง, และการบริหารองค์กรคณะสงฆ์ซึ่งรัฐพยายามแทรกเข้าไปมากขึ้น

ในพิษณุโลกเองก็เคยพบสมุดข่อยกฎหมายลักษณะต่างๆ ในวัดอันเป็นกฎหมายที่คัดลอกมาจากฉบับหลวงสมัยอยุธยา เพราะในบางมาตรามิได้ตรงกับกฎหมายตราสามดวงซึ่งเพิ่งชำระในต้นรัตนโกสินทร์ปราศจากฐานทางวัฒนธรรมและการเมือง เช่นนี้จู่ๆ รัชกาลที่ 5 จะสร้างรัฐสมัยใหม่ (ที่จะกลายเป็นรัฐชาติไทยในปัจจุบัน) ขึ้นจากอะไรได้เล่าครับ

ยุคสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (ซึ่งกินเวลามากกว่ารัชสมัย) จึงมีความสำคัญต่อรัฐชาติไทยในปัจจุบันอยู่ไม่น้อย ไม่ใช่เพราะทรงทำยุทธหัตถี, หลั่งน้ำษิโณทกเพื่อแยกไมตรีจากกรุงหงสาวดี, ฯลฯ แต่เพราะเป็นยุคสมัยที่ฐานรากของรัฐไทยสมัยใหม่กำลังถูกสร้างขึ้น อันเป็นฐานรากที่ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นที่เชียงใหม่, นครพนมหรือเวียงจัน, นครศรีธรรมราช หรือปัตตานี แต่ถูกสร้างขึ้นที่กรุงศรีอยุธยา (ด้วยปัจจัยหลายอย่างที่ไม่เกิดในหัวเมืองอื่นๆ ที่กล่าวแล้ว) และจะกลายเป็นปัญหาแก่รัฐไทยแบบราชาธิราชรวมศูนย์ หรือแม้แต่รัฐสมัยใหม่สืบมาจนปัจจุบัน

ผมเรียกยุคสมัยนี้ว่ายุคสมัยสมเด็จพระนเรศวรแต่เรียกเช่นนี้มีปัญหาตามมามากแม้ต้องยอมรับว่าสมเด็จพระนเรศวรมีส่วนอยู่ไม่น้อยในการก่อให้เกิดสภาวะใหม่บางอย่าง ที่ทำให้อยุธยาเปลี่ยนจากศูนย์กลางของระบบรัฐอิสระไปสู่รัฐราชาธิราชรวมศูนย์ เช่น ทรงกวาดต้อนผู้คนจาก “เมืองเหนือ” (อาณาจักรสุโขทัยเก่า) มารวบรวมไว้ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง สงครามที่ทำสืบเนื่องกันหลายปีบังคับให้อยุธยาต้องควบคุมหัวเมืองอย่างใกล้ชิด ฯลฯ

แต่สมเด็จพระนเรศวรเพียงพระองค์เดียวไม่สามารถทำให้เกิด “ยุคสมัย” ได้แน่ ท่านเป็นตัวละครสำคัญตัวหนึ่งเท่านั้น หากพม่าไม่ใช่รัฐทหารอย่างที่เป็นอยู่ พระเจ้าบุเรงนองก็มิได้เป็นเพียงกษัตริย์นักรบ แต่มีบทบาทสำคัญต่อยุคสมัยเช่นเดียวกัน และอาจสำคัญกว่าสมเด็จพระนเรศวรด้วย เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่ผลักให้กษัตริย์พม่าในราชวงศ์ตองอูยุคต้น เป็นผู้เปิดฉากยุคสมัยราชาธิราชรวมศูนย์ขึ้น จนมีผลกระทบไปทั่วอุษาคเนย์ภาคพื้นทวีป (ไม่นับเวียดนาม)

สิ่งที่สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงเรียนรู้จากราชสำนักหงสาวดี ดังที่ฟานฟลีต (Van Vliet) พ่อค้าวิลันดารายงานไว้มีความสำคัญ ไม่ใช่มีความสำคัญต่อการทำสงครามกับหงสาวดีเท่านั้น แต่มีความสำคัญต่อการเกิดยุคสมัยใหม่ขึ้นในกรุงศรีอยุธยาต่างหาก อันที่จริงก็ไม่ต่างจากการศึกษาวิทยาการจากตะวันตกของ ร.4 ซึ่งกลับกลายเป็นข้อที่ใช้ยกย่อง “พระราชกฤษฎาภินิหาร” ของพระองค์ ในขณะที่การเรียนจากพม่าของสมเด็จพระนเรศวรกลับทำให้วิตกว่าพระราชกฤษฎาภินิหารจะถูกบดบัง

มองประวัติศาสตร์จากยุคสมัยแทนที่จะมองจากตัวละครทำให้เราเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่น และระหว่างศูนย์กลางหนึ่งกับศูนย์กลางอื่นๆ ทั้งในภูมิภาคและนอกภูมิภาคอย่างกว้างไกล เรียนประวัติศาสตร์แบบนี้อาจทำให้คนไทยเลิกเป็นมนุษย์ดาวอังคารเสียที คือเห็นตนเองเป็นส่วนหนึ่งของมนุษยชาติที่มีทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งร่วมกัน

โบราณวัตถุที่วัดพระธาตุเวียงแหง (วัดกองมู) บ้านป่าไผ่ ต.เมืองแหง อ.เวียงแหง ซึ่งเชื่อว่าเป็น “พระมาลาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช”

ความสามารถของมหาวิทยาลัยในการสร้างอนุสรณ์แด่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชจึงไม่ใช่วัตถุแต่คือความรู้ ยุคสมัยสมเด็จพระนเรศวรมีความสำคัญทั้งในทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งในทางการเมืองและวัฒนธรรมไทยปัจจุบัน เป็นจุดที่เราสามารถเชื่อมโยงกับอาเซียนและโลกกว้างผ่านประสบการณ์ร่วมกันที่ต่างก็เคยเผชิญมาในอดีต และตกค้างอยู่ในสำนึกของปัจจุบัน (อย่างผิดฝาผิดตัวก็ตาม)

แทนที่จะสร้างอุทยานอนุสรณ์ขนาดมหึมาเช่นนั้น เอางบประมาณมาสร้างศูนย์ศึกษาวิจัยยุคสมัยที่กล่าวนี้ไม่ตรงกับความสามารถของมหาวิทยาลัยกว่าหรือ

เงินจำนวนดังกล่าวทำให้ศูนย์วิจัยสามารถดึงเอานักวิชาการจากประเทศอาเซียนอื่นๆมาร่วมกันทำงานรวมทั้งนักวิชาการระดับโลกก็ยังได้ นักวิชาการพม่า, กัมพูชา, เวียดนาม, ลาว, จีน, โปรตุเกส, วิลันดา, กัว, ญี่ปุ่น, ฯลฯ อาจใช้ช่วงเวลาที่รับเชิญในการวิจัยและเรียนรู้ไปพร้อมกับที่ทิ้งความรู้ความชำนาญบางอย่างไว้กับมหาวิทยาลัยเกิดเครือข่ายทางวิชาการที่อาจารย์มน. เป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมบุกเบิกความรู้เกี่ยวกับยุคสมัยสำคัญอันหนึ่งของภูมิภาคอุษาคเนย์

มหาวิทยาลัยนเรศวรจะเป็นศูนย์กลางสำคัญของความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคสมัยสำคัญอันหนึ่งในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ที่นักวิจัยทั่วโลกต้องมุ่งหน้ามาเยี่ยมเยือนและใช้ประโยชน์มหาวิทยาลัยระดับโลกไม่ได้เกิดจากคำสาบานในสภามหาวิทยาลัย แต่เกิดจากการสร้างความรู้ที่เป็นสุดยอดของโลก อีกทั้งความรู้นี้ยังจะเป็นฐานให้ขยายไปสู่การศึกษาวิจัยการเปลี่ยนผ่านยุคสมัยในครั้งอื่นและสังคมอื่นทั่วโลกได้ในอนาคต

เงินจำนวนดังกล่าวยังสามารถเผยแพร่ความรู้ที่ได้มาไปให้กว้างขวางทั้งในรูปเอกสาร,การสัมมนาทางวิชาการระดับชาติหรือนานาชาติ, การเผยแพร่หลักฐานและงานศึกษาในรูปดิจิตอลที่คนอื่นห่างไกลสามารถติดตามได้ ฯลฯ

หากจะมีอาคารเพื่อรองรับศูนย์วิจัยดังกล่าว ก็เริ่มต้นที่อาคารหลังไม่ใหญ่ แต่อาจขยายขึ้นไปตามความจำเป็นในภายหลังได้ วัตถุไม่ใช่อนุสรณ์สำคัญ ความรู้ที่เกิดจากความพยายามร่วมกันนี้ต่างหากที่จะเป็นอนุสรณ์ที่มีคุณค่าแก่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชอย่างแท้จริง

เงินไม่ใช่เรื่องสำคัญเจตนารมณ์ต่างหากที่สำคัญที่เขียนมานี้ก็ด้วยหวังว่าจะทำให้มน.สร้างเจตนารมณ์ใหม่

ถ้าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชจะเป็นที่ชื่นชมของคนไทยสืบไป ก็ต้องอยู่ในระดับเหนือบัวขาว