อนุสรณ์ ติปยานนท์ : ชีวิตาในโลกใหม่ (20) เทศะแห่งอาณานิคมและกาละของผู้ปกครอง

ภาพยนตร์เรื่อง Anonymous ที่ออกฉายในปี 2011 เป็นภาพยนตร์เรื่องล่าสุดที่กล่าวถึงความคลุมเครือในชีวิตของ วิลเลี่ยม เช็กสเปียร์

แน่นอนมันย่อมไม่ใช่ภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายที่กล่าวถึงชีวิตของเขาเป็นแน่

หลายอย่างในชีวิตของ วิลเลี่ยม เช็กสเปียร์ ยังไม่ได้รับการนำเสนอสู่ที่แจ้ง

หลายสิ่งในชีวิตของ วิลเลี่ยม เช็กสเปียร์ ยังคงอยู่ในเงามืด

และเมื่อใดก็ตามที่มีข้อมูลใหม่ปรากฏขึ้น เราย่อมคาดหวังว่ามันจะต้องปรากฏในสื่อต่างๆ อย่างแน่นอน

Anonymous นั้นกำกับฯ โดย โรลองด์ เอมเมริช-Roland Emmerich และเขียนบทภาพยนตร์โดย จอห์น ออร์ลอฟฟ์-John Orloff เรื่องราวในภาพยนตร์พุ่งตรงไปที่ชีวิตของ เอ็ดเวิร์ด เดอ แวร์, เอิรล์คนที่สิบเจ็ดแห่งอ๊อกซ์ฟอร์ด ข้าราชสำนักแห่งพระนางเจ้าอลิซาเบธที่หนึ่ง และบุคคลที่เชื่อว่าเป็นผู้เขียนบทละครจำนวนมากในช่วงเวลานั้นภายใต้นาม วิลเลี่ยม เช็กสเปียร์

เหตุการณ์ในภาพยนตร์นั้นมุ่งนำเสนอให้เห็นถึงอัจฉริยภาพของ เอ็ดเวิร์ด เดอ แวร์ เขาเป็นชายหนุ่มรูปงาม มากความสามารถในทุกด้านแห่งตัวอักษร ทั้งงานเขียนบทกวี บทละครเวที ข่าวลือในแวดวงชั้นสูงเวลานั้นว่ากันว่าเขาเป็นชู้รักลับๆ ของพระนางเจ้าอลิซาเบธที่หนึ่งด้วยซ้ำไป

และด้วยเหตุผลนี้นี่เองที่พระนางทรงขอร้องไม่ให้เขาใช้ชื่อจริงในการประพันธ์ เรื่องราวในราชสำนักที่เขาต้องการถ่ายทอด ความสับสนวุ่นวายในการช่วงชิงราชบัลลังก์ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่อง ริชาร์ดที่สาม-Richard III หรือในเรื่องอื่นจึงถูกเขียนขึ้นภายใต้นาม วิลเลี่ยม เช็กสเปียร์

 

ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายเป็นครั้งแรกในงานเทศกาลภาพยนตร์ที่โตรอนโต้ ประเทศแคนาดา ในวันที่ 11 กันยายน 2011 ก่อนจะถูกฉายทั้งในประเทศสหรัฐ แคนาดา สหราชอาณาจักร

แต่สิ่งที่ติดตามมาหลังการฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้มีเพียงแต่คำชื่นชมในแง่ของการแสดง การถ่ายทำและฉาก

หากแต่กระแสความเชื่อที่ว่า เอ็ดเวิร์ด เดอ แวร์ นั้นคือผู้แต่งบทละครทั้งหลายของ วิลเลี่ยม เช็กสเปียร์ ภายใต้ทฤษฎีที่มีชื่อว่า ทฤษฎีว่าด้วย เอ็ดเวิร์ด เดอ แวร์ คือผู้แต่งบทละคร วิลเลี่ยม เช็กสเปียร์ หรือ Oxfordian theory of Shakespeare authorship

ทฤษฎีที่ว่านี้ถือกำเนิดในทศวรรษ 1920 โดยครูโรงเรียนคนหนึ่งนาม จอห์น โธมัส ลูนีย์-John Thomas Looney ไม่น่าเชื่อว่าหลังเวลาผ่านไปกว่าเก้าสิบปี มันยังเป็นทฤษฎีเดียวที่หลงเหลือมาจนถึงปัจจุบันว่ามีความเป็นไปได้ ที่ท่านเอิร์ลแห่งอ๊อกซ์ฟอร์ดคนที่สิบเจ็ดนั้นคือผู้ประพันธ์งานเหล่านั้น

ในความเป็นจริง จอห์นหาเหตุผลมาสนับสนุนทฤษฎีของ เอ็ดเวิร์ด เดอ แวร์ ของเขาด้วยการมุ่งตีความตัวบทของบทประพันธ์แต่ละชิ้นว่าซ่อนความหมายใดไว้บ้าง และตัวบทเหล่านั้นพาดพิงถึง เอ็ดเวิร์ด เดอ แวร์ อย่างไร

วิธีการที่ว่านี้เหล่าผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมให้ความเห็นว่ามันเชื่อถืออะไรไม่ได้เลย เพราะตัวบทการประพันธ์ทั้งหลายย่อมสามารถถูกตีความหรือลากเข้าความได้นานา

ยกตัวอย่างเช่น การที่จอห์นเลือกใช้บันทึกเหตุการณ์ในชีวิตของ เอ็ดเวิร์ด เดอ แวร์ มาเทียบเคียงกับช่วงเวลาและสิ่งเฉพาะเจาะจงที่งานประพันธ์เหล่านั้นถูกผลิตขึ้น

ตัวอย่างหนึ่งที่จอห์นยกขึ้นมานำเสนอคือการที่ข้อความท่อนโปรดในพระคัมภีร์ไบเบิลของ เอิร์ล เดอ แวร์ มาปรากฏอยู่ในบทละครของ วิลเลี่ยม เช็กสเปียร์

ข้อโต้แย้งนี้ถูกตีโต้ให้ตกไปว่าหากมันเป็นข้อความในพระคัมภีร์ที่แพร่หลาย ไม่ใช่หนังสือเฉพาะเจาะจง ใครก็ตามย่อมสามารถเลือกมันมาประกอบงานเขียนของตนเองได้ทั้งสิ้น

แต่ในขณะเดียวกัน จอห์นก็โต้กลับผู้คนที่ปกป้อง วิลเลี่ยม เช็กสเปียร์ โดยการกล่าวอ้างว่าจนบัดนี้ยังไม่มีการค้นพบงานเขียนภายใต้ชื่อของ เอ็ดเวิร์ด เดอ แวร์ เลย ซึ่งเป็นสิ่งผิดปกติมากๆ สำหรับผู้ที่มีความสามารถด้านการประพันธ์เช่นนั้น จอห์นได้โต้แย้งคำกล่าวหาข้อนี้ว่า

“ในเมื่อต้องปกปิดตัวตนที่แท้จริงในงานเขียน หลักฐานเหล่านั้นย่อมไม่อาจมีได้ไม่ว่าในกรณีใดๆ”

 

ส่วนข้อโต้แย้งสำคัญอีกข้อของผู้ที่ไม่เชื่อในความเป็นไปได้นี้มาจากความจริงที่ว่าคือ เอ็ดเวิร์ด เดอ แวร์ นั้นเสียชีวิตในปี 1604

หากแต่บทประพันธ์ของ วิลเลี่ยม เช็กสเปียร์ ยังคงปรากฏให้อ่านกันหลังเวลานั้น

ในข้อกล่าวหาข้อนี้ จอห์นอ้างว่า บทประพันธ์เหล่านั้นล้วนถูกเขียนขึ้นก่อนหน้าการตายของ เอ็ดเวิร์ด เดอ แวร์

หากแต่ วิลเลี่ยม เช็กสเปียร์ ได้ขอร้องให้กวีและผู้มีความสามารถด้านการประพันธ์คนอื่นขัดเกลามันเพื่อนำออกจำหน่าย

ข้อโต้แย้งนี้สมเหตุสมผลในแง่เดียวที่ว่า งานของ วิลเลี่ยม เช็กสเปียร์ เป็นที่ต้องการอย่างมากในท้องตลาด ซึ่งเขาก็รู้ดี การจัดพิมพ์ผลงานของเขาทำกำไรมหาศาลให้กับผู้จัดพิมพ์ โรงพิมพ์ และตัวของเขาเอง หากเป็นเช่นนั้นแล้ว ทำไม วิลเลี่ยม เช็กสเปียร์ จึงจะยอมละทิ้งโอกาสในการหาเงินจากช่องว่างนี้ไปเสียเล่า

เอ็ดเวิร์ด เดอ แวร์ นั้นเกิดในวันที่ 12 เมษายน 1550 และเสียชีวิตในปี 1604 ดังที่กล่าวมาแล้ว เขามีอายุ 54 ปี ซึ่งถือว่ายืนยาวไม่น้อยในยุคนั้น เขาเป็นบุตรคนเดียวของ จอห์น เดอ แวร์ ท่านเอิร์ลคนที่สิบหกแห่งอ๊อกซ์ฟอร์ด

หลังการจากไปของบิดาในขณะที่เขามีอายุเพียงสองขวบเท่านั้น เขาถูกส่งไปอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของพระนางเจ้าอลิซาเบธที่หนึ่ง เซอร์ วิลเลี่ยม เซซิล ข้าราชสำนักผู้ใกล้ชิดพระนางเจ้าฯ เป็นผู้รับหน้าที่เลี้ยงดูเขาต่อมา

และเมื่อเขาเติบโตเป็นหนุ่ม เขาได้แต่งงานกับแอนน์ บุตรสาวของท่านเซอร์ วิลเลี่ยม เซซิล ด้วย ทั้งคู่มีบุตรด้วยกันห้าคน

ทว่า ชีวิตสมรสของเอ็ดเวิร์ดไม่ราบรื่นนัก เขาเย็นชากับภรรยาตนเองอยู่หลายปีโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่บุตรคนแรกถือกำเนิดขึ้นด้วยเหตุผลที่ว่าเขาไม่เชื่อว่าเด็กที่เกิดมานั้นเป็นบุตรของเขาเอง

เอ็ดเวิร์ดนั้นรักในการผจญภัย

เขาท่องไปในประเทศฝรั่งเศสและอิตาลีอย่างสม่ำเสมอ

เขาได้ชื่อว่าเป็นผู้แต่งกวีรักในราชสำนักพระนางเจ้าฯ เป็นคนแรก (ทว่า บทกวีชิ้นนั้นได้สูญหายไปแล้ว) บันทึกจากปากคำของคนรอบข้างนั้นระบุว่าเขามีความสนใจในศิลปะหลายแขนง เขาอุปถัมภ์นักดนตรี นักกายกรรม นักแสดงละคร และยังเลี้ยงสัตว์เลี้ยงที่หายากไว้เป็นจำนวนมาก

ทุกอย่างในชีวิตของเอ็ดเวิร์ด ดูจะไปได้ดี หากแต่ในช่วงต้นของ 1580 เขากลับสร้างความขัดเคืองให้กับพระนางเจ้าอลิซาเบธที่หนึ่งในข้อหาที่เผลอไผลไปมีสัมพันธ์กับนางกำนัลคนหนึ่งของพระองค์ที่มีชื่อว่า แอนน์ วาซาวัวร์ จนเธอตั้งครรภ์

เอ็ดเวิร์ดถูกไล่ออกจากราชสำนัก กว่าพระนางเจ้าฯ จะอภัยโทษให้เขา เอ็ดเวิร์ดก็ร่อนเร่อยู่ภายนอกเป็นเวลาถึงสามปี

ในเวลานั้น เขาเป็นหนี้เป็นสินจำนวนมากและอยู่ในสภาพยากไร้เต็มที

จนพระนางเจ้าฯ ต้องมอบเงินหนึ่งพันปอนด์ให้เขาเริ่มต้นชีวิตใหม่

ทว่า มันก็ไม่เพียงพอสำหรับการใช้หนี้ ในที่สุดเขาต้องตัดสินใจขายมรดกที่ดินของตนเองเพื่อชำระหนี้ ปัญหาและความยุ่งยากเหล่านี้เพิ่มเป็นทวีคูณเมื่อภรรยาของเขาเสียชีวิตลง เอ็ดเวิร์ดแต่งงานใหม่กับนางกำนัลอีกคนที่พระนางเจ้าฯ จัดหามาให้ และมีบุตรกับภรรยาใหม่หนึ่งคนชื่อว่า เฮนรี่ เดอ แวร์ หลังจากนั้นเรื่องราวในชีวิตของเขาดูจะสงบลงก่อนที่เขาจะเสียชีวิตในปี 1604 โดยปราศจากมรดกใดๆ

ชื่อของ เอ็ดเวิร์ด เดอ แวร์ คงกลายเป็นชื่อสามัญในทางประวัติศาสตร์ หาก จอห์น โธมัส ลูนีย์ จะไม่โยงใยเขาเข้าเป็นหนึ่งในนักเขียนเงาแห่งบทประพันธ์ของ วิลเลี่ยม เช็กสเปียร์ โดยเฉพาะความเห็นที่เริ่มจากการที่ วิลเลี่ยม เช็กสเปียร์ เป็นเพียงชายธรรมดาจากชนบท เหตุใดเล่าเขาจึงรู้เรื่องราวในราชสำนักได้ดียิ่ง ซึ่งหากมองจากความจริงในปัจจุบันแล้ว วิลเลี่ยม เช็กสเปียร์ มีหนทางมากมายที่จะเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นและประกอบมันขึ้นเป็นงานเขียนภายใต้ความสามารถของเขาเอง

อย่างไรก็ตาม เราคงต้องยอมรับว่าสาเหตุหนึ่งที่ชีวิตของ วิลเลี่ยม เช็กสเปียร์ กลายเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจนั้นมีสาเหตุมาจากการที่เขาเป็นนักประพันธ์ที่ทำรายได้สูงที่สุดในยุคสมัยนั้น หรืออาจกล่าวได้ว่าหลังโลกใหม่แห่งการพิมพ์บังเกิดขึ้นในศตวรรษที่สิบห้า

วิลเลี่ยม เช็กสเปียร์ คือปรากฏการณ์สำคัญแห่งโลกการพิมพ์ที่ไม่มีใครปฏิเสธได้เลย