อนุสรณ์ ติปยานนท์ : ชีวิตาในโลกใหม่ (17) เทศะแห่งอาณานิคมและกาละของผู้ปกครอง

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือแม้ว่าในช่วงเวลาที่โลกของการพิมพ์หนังสือยังไม่เริ่มต้นขึ้น การอ่านวรรณกรรมอย่างจริงจังในแถบยุโรปก็ได้ตั้งมั่นขึ้นแล้วนับแต่ต้นศตวรรษที่สิบสี่

นักเขียนและกวีที่มีชื่อเสียงที่สุดในยามนั้นได้แก่ ดังเต้ อาลิเกียรี่-Dante Alighieri ผลงานของเขาอันเป็นที่กระหายและถูกคัดลอกออกวางจำหน่ายมากที่สุดได้แก่ The Divine Comedy หรือ Comedia ที่พูดถึงเรื่องราวของการผจญภัยไปในนรกและสวรรค์ของตัวดังเต้เอง แทนการเลือกใช้ภาษาละตินที่ซับซ้อนยุ่งยาก

ดังเต้เลือกภาษาถิ่นแถวทัสคันอันเป็นดินแดนเกิดของเขามาใช้เป็นภาษาเขียนแทน การเลือกการสื่อสารในวงกว้างแทนการยึดติดกับการเขียนในแบบเดิมๆ ทำให้งานชิ้นนี้ได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้อ่าน มันถูกคัดลอกออกวางจำหน่ายเล่มแล้วเล่มเล่า และว่ากันว่าสำหรับผู้ที่ถือว่ามีความรู้ในศตวรรษที่สิบสี่นั้น ไม่มีใครที่ไม่เคยอ่านงานของดังเต้

การมาถึงของกระดาษจากประเทศจีนในศตวรรษที่สิบสี่ ทำให้การคัดลอกงานของดังเต้เพื่อการจำหน่ายสะดวกมากขึ้น หนังสือในศตวรรษที่สิบสี่และก่อนหน้านั้นถูกเขียนขึ้นด้วยมือ ดังนั้น มันจึงมีชื่อเรียกขานอีกอย่างว่า Manuscript ที่แปลตรงตัวว่าเขียนขึ้นด้วยมือ (Manu-มือ Script-การเขียน) และหากหนังสือเล่มนั้นประสบความสำเร็จ การคัดลอกด้วยมือเพื่อผลิตซ้ำให้กับผู้มีความประสงค์จะเป็นผลที่ติดตามมา

การคัดลอกนั้นอาจเกิดขึ้นด้วยน้ำมือของผู้แต่งที่เป็นเจ้าของเรื่องหรือนักคัดลอกที่ผู้แต่งจ้างวานมาก็ย่อมได้ อย่างไรก็ตาม มีสถานที่เฉพาะสำหรับงานคัดลอกที่ว่านี้ เป็นสถานที่ที่เหมาะกับการคลี่ม้วนกระดาษขนาดยาวหรือมีพื้นที่ให้นักคัดลอกได้แบ่งงานกันทำ

ในยุคแรกนั้นงานคัดลอกมักกระทำขึ้นภายในวัดที่มีอาณาบริเวณและมีนักบวชที่มีความรู้ด้านภาษาต่างๆ เป็นอย่างดี สถานที่เฉพาะภายในวัดนั้นมีชื่อเรียกว่า Scriptorium หรือหอคัดลอก สถานที่ที่ว่านี้มักอยู่ติดกับห้องสมุดของอารามเพื่อที่ว่าการขนย้ายหนังสือที่คัดลอกเสร็จแล้วจะได้เป็นไปโดยสะดวก

ในยุคแรกหอคัดลอกอาจใช้เป็นเพียงการกั้นห้องเพื่อการทำงานเฉพาะกิจ เมื่อได้หนังสือเรียบร้อยครบตามจำนวน หอคัดลอกจะถูกยุบไป แต่เวลาต่อมาเมื่อปรากฏว่ามีเอกสารหรือหนังสือสำหรับการคัดลอกจำนวนมากขึ้น การก่อตั้งหอคัดลอกแบบถาวรในอารามก็เกิดตามมาด้วย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้ายของการคัดลอก มีสามัญชน คนนอกวัดจำนวนมากรับจ้างทำงานคัดลอกที่ว่านี้ด้วยการเปิดร้านเล็กๆ ขึ้นมากมาย และทำให้อารามทั้งหลายหันไปพึ่งพาเอกสารที่ต้องการการคัดลอกจากบุคคลภายนอกแทน (เว้นไว้แต่เอกสารสำคัญหรือคำสอนเฉพาะที่ยังใช้ฝีมือการคัดลอกจากพระลูกวัดในอารามอยู่)

และทำให้หอคัดลอกเสื่อมความนิยมลงอีกครั้งและแทบไม่ปรากฏให้เห็นอีกหลังการเกิดขึ้นของการพิมพ์โดยตัวเรียงพิมพ์

นอกเหนือจากเรื่องราวของการเดินทางไปยังนรกหรือสวรรค์ของดังเต้แล้ว เรื่องราวความรักระหว่างอัศวินหนุ่มและเจ้าหญิงผู้เลอโฉมถือว่าเป็นงานเขียนหรือ Manuscript ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงเช่นกัน นวนิยายเรื่องเซอร์กาเวนและอัศวินชุดเขียว-Sir Gawain and the Green Knight อันเป็นนวนิยายที่ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง นวนิยายเรื่องนี้เป็นนวนิยายอีกเรื่องที่ร้านคัดลอกต้องคัดลอกซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อจำหน่ายในปริมาณที่สูงมาก

เรื่องราวในนวนิยายเล่าถึงอัศวินคนหนึ่งของกษัตริย์อาร์เธอร์ที่ได้ประลองขวานกับอัศวินลึกลับชุดเขียวภายในงานเลี้ยงสำคัญ

เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นในงานเลี้ยงของเหล่าอัศวินแห่งกษัตริย์อาร์เธอร์ ในขณะที่งานเลี้ยงกำลังดำเนินไป อัศวินชุดเขียวก็ควบม้าสีเขียวเข้ามาภายในงาน เขาประกาศกร้าวว่าอยากจะประลองฝีมือกับอัศวินคนใดคนหนึ่งที่เชื่อว่าจะพิชิตเขาได้ โดยเขาให้คำมั่นว่าจะไม่ลงมือตอบโต้ในทันที หากแต่จะขอตอบโต้อีกฝ่ายหลังเวลาผ่านไปหนึ่งปีกับหนึ่งวัน ในตอนแรกกษัตริย์อาร์เธอร์ทรงตัดสินใจว่าจะรับหน้าที่การประลองครั้งนี้เองเพราะไม่มั่นใจในฝีมือของอัศวินตนเอง ทว่า เซอร์กาเวนผู้เป็นอัศวินที่หนุ่มที่สุดในที่นั้นขอทำหน้าที่นี้แทน เขาใช้ขวานคู่มือของอัศวินชุดเขียวตัดคอของผู้เป็นเจ้าของได้สำเร็จ

ทว่า อัศวินชุดเขียวกลับเก็บศีรษะของเขาออกจากพื้น และกล่าวว่า เขาจะเฝ้ารอเซอร์กาเวนอยู่ที่ปราสาทสีเขียว (Green Castle) ในอีกหนึ่งปีหนึ่งวัน ขอให้เดินทางไปให้ตรงเวลาด้วย

เมื่อใกล้ถึงกำหนด เซอร์กาเวนก็เริ่มต้นออกเดินทางไปยังปราสาทสีเขียว ระหว่างทางเขาได้พบกับเรื่องราวพิสดารมากมายและได้พบกับอัศวินชุดเขียวในที่สุด เมื่อพบกัน เซอร์กาเวนยื่นคอของเขาให้อัศวินชุดเขียวฟันคอตามสัญญา หากทว่า เมื่อปลายขวานถูกต้นคอของเซอร์กาเวนมันกลับปรากฏเพียงรอยแผลเล็กๆ เท่านั้นเอง

เรื่องราวเฉลยเมื่ออัศวินชุดเขียวเปิดเผยโฉมหน้าตนเองว่าเขาได้รับคำสั่งจากญาติของกษัตริย์อาร์เธอร์ให้ทดสอบความกล้าหาญและการรักษาสัญญาของเหล่าอัศวินแห่งคาเมล็อต และขอให้เซอร์กาเวนเห็นว่ามันเป็นการละเล่นแบบหนึ่งเท่านั้นเอง เซอร์กาเวนเดินทางกลับคาเมล็อตหลังจากนั้น และได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีเป็นอันจบเรื่องราวในนวนิยาย

ในขณะที่ผู้แต่งเรื่อง The Divine Comedy ระบุตัวตนได้ชัดว่าคือ ดังเต้ อาลิเกียรี่ ผู้แต่งเรื่อง Sir Gawain and the Green Knight กลับไม่อาจระบุตัวตนได้

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภาษาที่ใช้ในนวนิยายเป็นภาษาที่แพร่หลายทางตอนกลางของประเทศอังกฤษและมีสำนวนใกล้เคียงกับภาษาเวลส์ ทำให้เชื่อว่าผู้แต่งอาจเป็นชาวเวลส์มากว่าชนชาติอื่น

นวนิยายเรื่องนี้เชื่อกันว่าแต่งขึ้นในช่วงหลังของศตวรรษที่สิบสี่หลังเหตุการณ์สำคัญที่เรียกว่า Black Death หรือการระบาดของกาฬโรคที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมากในยุโรปไป

 

Black Death เกิดขึ้นในช่วงเวลาราวเจ็ดปี จากปี 1346-1353 มีประชากรในยุโรปที่เสียชีวิตเพราะโรคนี้สูงถึงสี่สิบเปอร์เซนต์ของประชากรทั้งหมด การระบาดนั้นเริ่มต้นที่แหลมไครเมียทางใต้ของรัสเซีย เชื่อกันว่าพาหะของโรคนั้นคือชาวมองโกลที่เดินทางมาตามเส้นทางสายไหม การระบาดข้ามไปยังซิซิลีในอิตาลีในเวลาต่อมาโดยผ่านทางพ่อค้าชาวเยนัวสิบสองคน

หลังจากนั้น มันขึ้นฝั่งที่เวนิส ย้อนลงไปปิซ่า ขึ้นเหนือไปทางมิลาน เข้าสู่สวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศสก่อนจะมุ่งตะวันออกไปเยอรมนีและสแกนดิเนเวีย มีการคิดค้นตัวยาจำนวนมากเพื่อต่อสู้กับโรคภัยที่ว่านี้ไม่นับความเชื่อที่ว่าเสียงดังกึกก้องจะช่วยขับไล่เชื้อโรคด้วย ในหลายเมืองมีการยิงปืนใหญ่กับการลั่นระฆังเป็นระยะให้เชื้อโรคตื่นกลัว

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงปี 1353 ที่อากาศปีนั้นมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ และเชื่อว่ามีผลต่อการหยุดการแพร่กระจายของโรคลงได้ กาฬโรคก็ค่อยๆ ละทิ้งอำนาจของมันจากดินแดนยุโรปไป

ความทุกข์โศกจากความตายจำนวนมากเช่นนี้ทำให้มีความปรารถนาเรื่องเล่าหรือนวนิยายที่ให้ความเพลิดเพลิน

นวนิยายอีกเล่มที่มียอดคัดลอกสูงสุดในช่วงท้ายของศตวรรษที่ 14 มีชื่อว่า Decameron-เดคาเมรอน มันแต่งขึ้นโดยนักเขียนอิตาลีนาม จิโอวันนี บอคคาชิโอ-Giovanni Boccaccio (เรื่องราวเล่าถึงหนุ่มสาวสิบคนที่พากันแสวงหาที่ปลอดจากกาฬโรคนอกเมืองฟลอเรนซ์ และเพื่อฆ่าเวลารอการสงบของการระบาดจากกาฬโรค พวกเขาผลัดกันเล่าเรื่องที่เคยได้ยินมาเป็นจำนวนถึงหนึ่งร้อยเรื่องด้วยกัน)

เรื่องที่เล่านั้นมีนับตั้งแต่เรื่องชวนหัว เรื่องรักอันซาบซึ้งใจ เรื่องราวการต่อสู้ของเหล่าวีรบุรุษ หรือเรื่องทางเพศที่ชวนให้ต้องปิดบังและมักเกิดในอาราม

ภาษาที่ใช้นั้นเป็นภาษาพื้นบ้านท้องถิ่นของทัสกันแบบเดียวกับภาษาใน The Divine Comedy บอคคาชิโอใช้ความสามารถในการเป็นนักอ่านของเขาร้อยเรียงเรื่องราวที่เขาได้อ่านมาทั้งจากนิทานสันสกฤต นิทานเปอร์เซีย นิทานสเปน และนิทานไม่ปรากฏสัญชาติอีกจำนวนมาก ออกมาเป็นเรื่องเล่าที่มีลักษณะเฉพาะตัวอีกชั้นหนึ่ง บอคคาชิโอดูจะหมกตัวอยู่ในห้องและคัดลอก ตัดต่อ เรื่องราวจากหนังสือก่อนหน้าท่ามกลางการระบาดของโรคที่ผู้คนล้วนตกอยู่ในความสิ้นหวัง

ว่ากันว่าแม้ตัวฉากเหตุการณ์เรื่องราวเกี่ยวกับกาฬโรค ที่ดำเนินไปในเดคาเมรอน (ที่แปลว่าวันทศวารหรือสิบวัน เดคา แปลว่าสิบ เมรอนมาจาก Hemera ที่แปลว่าวัน) บอคคาชิโอก็หยิบมาจากหนังสือที่บรรยายการระบาดของกาฬโรคในช่วงศตวรรษที่แปด ที่มีชื่อว่า Historia gentis Langobardorum ของ พอล เดอะ เดคอน-Paul the Deacon

ช่วงเวลาที่บอคคาชิโอแต่งเดคาเมรอนนั้นน่าจะเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่การระบาดของโรคกำลังดำเนินไปคือในช่วงปี 1348 เขาแต่งมันเสร็จลงในปีท้ายๆ ของการระบาดคือ 1353 และออกวางจำหน่ายหลังจากนั้น

นวนิยายเดคาเมรอนกลายเป็นนิยายขายดีในช่วงปลายศตวรรษที่สิบสี่ จนเมื่อเข้าศตวรรษที่สิบห้า การพิมพ์ที่สะดวกขึ้นยิ่งกระจายยอดจำหน่ายของมันและครองตำแหน่งนวนิยายขายดีมาอีกหนึ่งศตวรรษ ก่อนที่นักเขียนหนุ่มชาวอังกฤษผู้หนึ่งจะปรากฏตัวขึ้นในศตวรรษที่สิบหก

ภายใต้ชื่อ วิลเลี่ยม เช็กสเปียร์-William Shakespeare