สุจิตต์ วงษ์เทศ : เทศน์มหาชาติ มาจากไหน? (2) มหาชาติคำหลวง คือมหาชาติพระราชนิพนธ์

วัดพระศรีสรรเพชญ์ (อยุธยา) เชื่อกันว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสถาปนา และน่าจะเป็นสถานที่แห่งแรกใช้สวดมหาชาติคำหลวง [ภาพถ่ายจากเครื่องบิน โดย ปีเตอร์ วิลเลียมส์-ฮันท์ (Peter Williams- Hunt) ในปี พ.ศ. 2489 (ค.ศ. 1946) เพื่อสำรวจพื้นที่ในการคำนวณค่าปฏิกรรมสงคราม หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2]

ตอน 1 

คําหลวง หมายถึง พระราชนิพนธ์ (คำอธิบายของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ)

เหตุที่เรียกเป็นฉบับคำหลวง มีผู้รู้อธิบายอีกว่าเรียกให้ต่างจากฉบับอื่นที่มีอยู่แล้ว แต่ “ไม่คำหลวง” คือไม่เป็นพระราชนิพนธ์ เพราะเป็น “คำวัด” ของพระสงฆ์กับนักปราชญ์ราชบัณฑิตอื่นทำไว้

[นักวิชาการวรรณคดียุคปัจจุบัน อธิบายคำหลวง ว่า หมายถึงงานประพันธ์ร้อยกรองหลายชนิดปนกัน แต่คำหลวงสมัยแรกๆ มีเฉพาะร่าย หลังจากนั้นอาจมีกาพย์เพิ่มมาเท่านั้น ไม่พบโคลง, ฉันท์, กลอน เพิ่งพบสมัยหลัง]

พระราชนิพนธ์ หมายถึงบทประพันธ์ที่แต่งโดยคนคนเดียว หรือหลายคน แล้วร่วมกันถวายเป็นพระราชนิพนธ์ โดยที่พระเจ้าแผ่นดินร่วมหรือไม่ร่วมแต่งด้วยก็ได้

[เวสสันดรชาดกแปลเป็นภาษาไทย เรียก มหาชาติ เริ่มเก่าสุดยุคอยุธยามี 2 ฉบับ ห่างกันราว 100 ปี ได้แก่ มหาชาติคำหลวง ฉบับพระบรมไตรโลกนาถ กับฉบับพระเจ้าทรงธรรม]

มหาชาติคำหลวง ใช้สวด
ฉบับพระบรมไตรโลกนาถ พ.ศ.2025

เวสสันดรฉบับเก่าสุดที่เหลือเป็นมรดกตกทอดถึงปัจจุบัน คือ มหาชาติคำหลวง ฉบับพระบรมไตรโลกนาถ พ.ศ.2025 แต่งด้วยภาษาร่าย ใช้สวด ยังเหลือต้นฉบับชุดเดียว คือ กัณฑ์ทศพร

“หนังสือมหาชาติคำหลวงสำนวนเดิม (ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) สูญหายเสียแล้วหลายกัณฑ์ ฉบับที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้เชื่อว่าเป็นสำนวนเดิมแต่กัณฑ์ทศพร” สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกอธิบายไว้ในหนังสือ บันทึกสมาคมวรรณคดี พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2475 [อ้างไว้ในเชิงอรรถของคำนำ กรมศิลปากร (2 กรกฎาคม 2516) ในหนังสือ มหาชาติคำหลวง กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งที่หก พ.ศ.2516 หน้า (4)]

ดังนั้น จึงไม่น่าเชื่อข้อความว่า “ครั้นเช้า หิ้วกรรเช้า—–” ที่อ้างไว้ในหนังสือจินดามณี (ซึ่งพระโหราธิบดีแต่งเป็นแบบเรียนสมัยพระนารายณ์ฯ) ว่าเป็นกัณฑ์มัทรีของมหาชาติคำหลวง แต่งสมัยพระบรมไตรโลกนาถ แต่น่าจะแต่งสมัยหลังเพิ่มให้ครบที่ขาดไป

สวดมหาชาติคำหลวง (ไม่เรียกเทศน์) เป็นภาษาบาลีทีละประโยค (หรือบาท) สลับคำแปลภาษาไทย เป็นชุดๆ อ่านยาก เข้าใจยาก

สวด หมายถึง ผู้รู้หนังสืออ่านออกเขียนได้ เป็นพระสงฆ์หรือโยมสงฆ์ก็ได้ สำรับหนึ่งราว 2-4 คน นั่งสวดมหาชาติ คืออ่านเป็นทำนอง (เรียกทำนองเสนาะก็ได้) เล่าเรื่องพระเวสสันดรให้ญาติโยม (ไม่รู้หนังสือ) ที่ไปทำบุญนั่งฟังในวัด

ประเพณีอย่างนี้ในวัฒนธรรมหลวงสมัยหลังเรียก “สวดโอ้เอ้วิหารราย” ส่วนวัฒนธรรมราษฎร์เรียก “สวดด้าน” มีประจำด้านต่างๆ เช่น ในวิหารคด วัดพระบรมธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช

[กลุ่มชนไต-ไท ลุ่มน้ำโขง มีประเพณีตกทอดมาแต่ดึกดำบรรพ์ เรียก “อ่านหนังสือ” หมายถึง คนรู้หนังสืออ่านออกเสียงเป็นทำนองจากหนังสือกาพย์กลอนที่มีแต่งไว้ (จากคำบอกเล่าดั้งเดิม) เหมือนเล่านิทานแบ่งปันคนทั่วไปที่อ่านไม่ได้ เช่น นิทานเรื่องสินไซ, การะเกด ฯลฯ]

รัฐสุโขทัย ลุ่มน้ำยม-น่าน ที่เติบโตขึ้นจากการผลักดันอุดหนุนของรัฐลุ่มน้ำ เจ้าพระยา (ตอนล่าง) มีสวดมหาชาติ ภาษาบาลี ราวหลัง พ.ศ.1900 พบร่องรอยบอกในจารึกนครชุม ยุคพญาลิไทย (ศิลาจารึกสมัยสุโขทัย หลักที่ 3)


มหาชาติคำหลวง ใช้เทศน์
ฉบับพระเจ้าทรงธรรม พ.ศ.2170

นานมากกว่า 100 ปี (หนึ่งศตวรรษ) ทำให้มหาชาติคำหลวง ฉบับพระบรมไตรโลกนาถ สำนวนยากเกินไป คนฟังเทศน์ไม่เข้าใจไม่รู้เรื่อง เลยต้องแต่งใหม่ให้ง่ายกว่าเก่า

มหาชาติคำหลวง ฉบับพระเจ้าทรงธรรม พ.ศ.2170 แต่งด้วยภาษาร่าย ใช้เทศน์ ยังเหลือต้นฉบับที่เชื่อได้ มี 3 กัณฑ์ คือ กัณฑ์กุมาร, กัณฑ์วนประเวศน์, กัณฑ์สักรบรรพ

พระราชพงศาวดารทุกฉบับระบุตรงกันว่า พ.ศ.2170 “ลุศักราช 989 ปีเถาะ นพศก ทรงพระกรุณาแต่งพระมหาชาติคำหลวง…”

แต่นักปราชญ์ยุคก่อนๆ พยายามจะพิพากษาว่าคนจดพงศาวดารเข้าใจคลาดเคลื่อน โดยยกมหาชาติคำหลวงของพระบรมไตรโลกนาถ เป็นของพระเจ้าทรงธรรมที่ไม่ได้แต่งคำหลวง แต่แต่งกาพย์มหาชาติ

ผมเห็นว่า ไม่มีอะไรคลาดเคลื่อน เพราะคำหลวงหมายถึง พระราชนิพนธ์ (ดังบอกก่อนแล้ว) คนจดพงศาวดารเข้าใจถูกต้องแล้ว

กาพย์ ในชื่อกาพย์มหาชาติ แท้จริงแล้วคือร่าย เป็น ร่ายยาว เรียกอีกชื่อว่ากลอนเทศน์

เหตุที่เรียกร่ายว่ากาพย์ เพราะในเรือน พ.ศ.2000 ภาษาบาลีของเถรวาทจากลังกาเฟื่องมากในวัฒนธรรมหลวง จึงมีผู้พยายามจับบวช กลอนลำ (รวมกลอนสวด, กลอนเทศน์) ของพื้นเมืองลุ่มน้ำโขง ให้สูงศักดิ์มีระเบียบแบบแผนตายตัวแข็งทื่อแบบฉันท์บาลี แล้วเลี่ยงไปเรียกว่า กาพย์ แต่ไปไม่รอด

จิตร ภูมิศักดิ์ หงุดหงิดมากเรื่องนี้ จึงพรั่งพรูพรรณนาไว้อย่างอึดอัด พร้อมอธิบายปัญหาอย่างละเอียดไว้ในหนังสือ โองการแช่งน้ำ (สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน พิมพ์ครั้งที่สาม พ.ศ.2547 หน้า 252-253)

นอกจากนั้น ยังมีนักวิชาการไม่น้อย มีงานวิจัยและบทความวิชาการ ยืนยันว่าตำราแต่งกาพย์ ที่เชื่อว่ามาจากอินเดีย ที่แท้แต่งในไทย ลากร้อยกรองพื้นเมืองเข้าบาลี

เทศน์มหาชาติคำหลวง (ไม่เรียกสวด) ยกคำบาลีไว้ตอนหัว (เหมือนหัวเรื่อง) คำเดียว หรือประโยคเดียว แล้วพรรณนาขยายความยืดยาวพิสดาร เป็นภาษาร่าย อ่านง่าย เข้าใจง่าย (กว่าสวดมหาชาติคำหลวง)

สอดคล้องกับคำให้การขุนหลวงหาวัด (ยกย่องยอพระเกียรติพระเจ้าทรงธรรม) บอกตอนหนึ่งว่า “พระองค์ทรงแต่งมหาเวสสันดรชาดกมาแต่ครั้งนั้น แล้วจึงทรงแต่งกาพย์โคลงฉันท์และคำพากย์ก็ได้ประหลาดต่างๆ ทั้งสวดสำรวจประสานเสียงโอดพันคร่ำครวญต่างๆ ก็มีมาแต่ครั้งนั้น”

นับแต่นี้ไปก็มีพัฒนาการเป็นต้นแบบเทศน์มหาชาติปัจจุบัน ทำเสียงโหยหวน เล่นลูกคอ มีแหล่เครื่องเล่น ฯลฯ