สุจิตต์ วงษ์เทศ : เทศน์มหาชาติ มาจากไหน? (1) เทศน์มหาชาติเป็นทำนอง ไม่มีในอินเดีย-ลังกา

เทศน์มหาชาติ มีตกแต่งธรรมาสน์ แล้วประดับประดาศาลาด้วยกล้วย, อ้อย, แมกไม้ต่างๆ สมมุติเป็นบรรณศาลาพระเวสสันดร ภาพเขียนของชาวยุโรป รูปวัดแห่งหนึ่งในหนองคาย ราว ร.4 (จากหนังสือ A Pictorial Journey on the Old Mekong Cambodia Laos and Yunnan. White Lotus Press, 1998)

เทศน์มหาชาติ เรื่องมหาเวสสันดรชาดก เป็นพิธีกรรมทางความเชื่อในศาสนาไทย ใช้ขัดเกลาให้คนยกย่องผู้มีบุญที่มาจากทานบารมี ด้วยการทำบุญทำทานมากกว่าใคร เพราะมีทรัพย์เหนือกว่าคนอื่น

เวสสันดร เป็นชาดกที่รัฐลุ่มน้ำเจ้าพระยายกย่องมากสุดเหนือชาดกเรื่องอื่นๆ ดังนั้น เพื่อโน้มน้าวคนส่วนใหญ่เข้าถึงทั่วกันอย่างกว้างขวางที่สุด จึงมีเทศน์เล่าเรื่องให้ฟัง (ไม่อ่าน เพราะอ่านไม่ออก) เป็นทำนองต่างๆ อย่างไพเราะและสนุกสนาน ซึ่งมีลักษณะคลุกเคล้าประสมประสานเข้าด้วยกันของภาษาและวัฒนธรรมไต-ไท ลุ่มน้ำโขง ซึ่งมี 2 ส่วน ได้แก่

(1) วรรณกรรมคำบอกเล่า แต่งเป็นร่ายยาว ด้วยภาษาร่าย และ (2) การละเล่นขับลำนำทำนองต่างๆ

ประเพณีอย่างนี้ไม่มีในอินเดียและลังกา แต่มีในกลุ่มไต-ไท ครั้นรับศาสนาพุทธแล้วปรับเป็นพื้นเมือง (ที่มีแก่นเป็นศาสนาผี) ก็ยกวัฒนธรรมราษฎร์พัฒนาเป็นวัฒนธรรมหลวง แล้วส่งแบบแผนสู่วัฒนธรรมราษฎร์อีกครั้งหนึ่ง

วัฒนธรรมหลวง ได้แก่ พิธีแต่งแปลวรรณกรรมคัมภีร์ศาสนาพุทธ เรื่องเวสสันดร จากภาษาบาลี เป็นภาษาไทย ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และ วัฒนธรรมราษฎร์ ได้แก่ อักษร และภาษาไต-ไท รวมทั้งสวด และ/หรือ เทศน์เป็นทำนองต่างๆ ด้วยภาษาร่ายลุ่มน้ำโขง ที่เคยใช้ขับลำทำขวัญในศาสนาผี

 

เวสสันดร จากลังกา ภาษาบาลี

เวสสันดรชาดก ภาษาบาลี เป็นคัมภีร์ศาสนาพุทธจากลังกา ที่รับมาโดยคณะสงฆ์กับคณะโยมสงฆ์ที่ใกล้ชิดมูลนายคนชั้นนำในวัฒนธรรมหลวงของรัฐใหญ่ ราว พ.ศ. 1700 มีทั่วไปหลายแห่ง บริเวณภาคพื้นทวีปอุษาคเนย์ เช่น รัฐลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลางตอนล่าง ในสยามประเทศ, รัฐลุ่มน้ำอิรวดี ในพม่าประเทศ

การค้าโลก รัฐลุ่มน้ำเจ้าพระยาติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนกับลังกาตั้งแต่เรือน พ.ศ.1000 (ก่อนยุคทวารวดี) มี 2 กลุ่ม ได้แก่ รัฐละโว้-อโยธยา (อยู่ฟากตะวันออก) กับรัฐอู่ทอง-สุพรรณภูมิ (อยู่ฟากตะวันตก)

มหาชาติ เวสสันดรชาดก ได้รับยกย่องจากคนชั้นนำในรัฐลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลางตอนล่าง ช่วงเวลาที่การค้าโลกเฟื่องฟู ราวหลัง พ.ศ. 1700

[ก่อนหน้านี้ ราว พ.ศ. 1650 นักวิชาการพบหลักฐานว่ามีจิตรกรรมเรื่องเวสสันดร (เขียนร่วมกับมโหสถชาดก) เรียงต่อกันเป็นแนวยาวในวิหารโลกเทียกพัน เมืองพุกาม]

ความเคลื่อนไหวสำคัญขณะนั้น มี 2 เรื่อง ได้แก่

1. รับพุทธศาสนาเถรวาทจากลังกา (บางทีเรียกลังกาวงศ์) ยกย่องผู้มีบุญด้วยทานบารมี แล้วเปิดช่องเป็นกษัตริย์ เช่น พระเจ้าอู่ทอง

2. การค้าโลกรุ่งเรืองเฟื่องฟูกว้างขวาง โดยเฉพาะค้าสำเภากับจีน ทำให้พ่อค้าสำเภาเป็นเศรษฐีมีทรัพย์นับไม่ถ้วน จึงมีโอกาสทำบุญทำทานสร้างบารมีเหนือคนกลุ่มอื่น

ชาดกเรื่องพระเวสสันดร เน้นทานบารมีของผู้มีบุญเสมอด้วยพระโพธิสัตว์ที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต (หรืออนาคตพระพุทธเจ้า) ซึ่งเป็นองค์เดียวกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือกษัตริย์ ดูได้จากคำกราบบังคมทูลแทนตัวเองว่า “ข้าพระพุทธเจ้า” เท่ากับยกพระเจ้าแผ่นดินเป็นพระพุทธเจ้า ส่วนผู้พูดเป็นข้ารับใช้ของพระพุทธเจ้า

 

อยุธยา แปลเวสสันดร เป็นภาษาไทย

ชาดกเรื่องเวสสันดร ได้รับความนิยมและนับถือมากตั้งแต่ต้น อาจเป็นคัมภีร์เรื่องแรกๆ ที่แปลสู่ภาษาไทย (ปากไก่และใบเรือ ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ สำนักพิมพ์อมรินทร์การพิมพ์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2527 หน้า 21)

มหาเวสสันดรชาดก สมัยแรกรับจากลังกา เป็นภาษาบาลี สวดเป็นภาษาบาลี (เหมือนทุกวันนี้ เรียกเทศน์คาถาพัน) ฟังไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง จึงถ่ายแปลจากภาษาบาลีเป็นภาษาไทยครั้งแรกด้วยภาษาร่าย ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลทางการเมืองการปกครอง และเศรษฐกิจสังคมยุคแรกนั้น

เวสสันดรชาดกแปลเป็นภาษาไทย เรียก มหาชาติ เริ่มเก่าสุดยุคอยุธยามี 2 ฉบับ ห่างกันราว 100 ปี ได้แก่ มหาชาติคำหลวง ฉบับพระบรมไตรโลกนาถ กับฉบับพระเจ้าทรงธรรม

คำหลวง หมายถึง พระราชนิพนธ์ เป็นคำอธิบายของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตอนหนึ่งว่า “ที่เรียกว่า “คำหลวง” นั้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่าในครั้งนั้นเห็นจะหมายความอย่างเราเรียกกันว่า “พระราชนิพนธ์” ในทุกวันนี้” (คำอธิบายเรื่อง หนังสือกาพย์สักรบรรพ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2459)

เหตุที่เรียกเป็นฉบับคำหลวง มีผู้รู้อธิบายอีกว่าเรียกให้ต่างจากฉบับอื่นที่มีอยู่แล้ว แต่ “ไม่คำหลวง” คือไม่เป็นพระราชนิพนธ์ เพราะเป็น “คำวัด” ของพระสงฆ์กับนักปราชญ์ราชบัณฑิตอื่นทำไว้

[นักวิชาการวรรณคดียุคปัจจุบัน อธิบายว่าคำหลวง หมายถึงงานประพันธ์ร้อยกรองหลายชนิดปนกัน ที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชนิพนธ์]

พระราชนิพนธ์ หมายถึงบทประพันธ์ที่แต่งโดยคนๆ เดียว หรือหลายคน แล้วร่วมกันถวายเป็นพระราชนิพนธ์ โดยที่พระเจ้าแผ่นดินร่วมหรือไม่ร่วมแต่งด้วยก็ได้

[หมายเหตุ งานศพอุษาคเนย์ยุคดึกดำบรรพ์ยังมีอีกมาก แต่ผมถูกคุกคามจากไข้หวัดทั้งน้อยใหญ่ไหลลงปอดแล้วหมดเสียงพูดหลายวัน จนไม่มีแรงแสวงหาข้อมูลทำต่อ พอดีมีต้นฉบับเทศน์มหาชาติทำไว้ก่อนแล้ว ขออนุญาตลงพิมพ์คั่นไปก่อน เมื่อหายดีจะย้อนทำเรื่องงานศพอีก ถ้าตัวเองยังไม่ชิงเป็นศพไปซะเอง]