“ดอกหมอกใหม่” แพทย์แผนล้านนาใช้เป็นยาแก้ปัสสาวะรดที่นอน-ตับร้อน-ประจำเดือนไม่ปกติ


อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ดอกใหม่”

แปลว่า ดอกชบา คนไทใหญ่เรียกว่า “หมอกใหม่”

ดอกชบาเป็นพืชในวงศ์พุดตาน MALVACEAE มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Hibiscus rosa-sinensis L.โดยชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “hibiscus” หมายถึง ดอกชบา และ rosa-sinensis เป็นภาษาละติน หมายถึง “Rose of China”

ลักษณะชบาเป็นไม้พุ่ม ทุกส่วนมียางใสเป็นเมือกใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่ ขอบหยัก มีดอกเดี่ยวออกที่ซอกใบปลายกิ่ง ดอกขนาดใหญ่ สีสดใสหลากสี ได้แก่ สีแดง ชมพู ชาว เหลือง และม่วง ดอกเด่นสะดุดตา สามารถออกดอกได้ตลอดปี นิยมปลูกเป็นไม้ประดับและปลูกเป็นแนวรั้ว

ลักษณะของกลีบดอกชบาดั้งเดิมนั้นเป็นดอกลาหรือมีกลีบดอกชั้นเดียว

ต่อมาภายหลังมีการปรับปรุงพันธุ์ให้มีลักษณะของดอกที่มีกลีบซ้อนหลายๆ ชั้น

โดยกลีบที่มีการซ้อนกันนั้นไม่ใช่ส่วนของกลีบดอก แต่เป็นส่วนของเกสรเพศผู้ที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างไปเหมือนรูปร่างของกลีบดอก

สังเกตได้จากส่วนกลีบดอกที่ซ้อนอยู่ด้านในจะตั้งอยู่บนหลอดของก้านชูเกสรเพศผู้ที่เชื่อมกัน และกลีบซ้อนชั้นในบางกลีบยังมีส่วนของอับเรณูติดอยู่

การใช้ประโยชน์โดยทั่วไปของชบา เด่นด้านสีย้อมใช้ย้อมผม คิ้ว ทาและขัดรองเท้าให้เป็นสีดำ

ในทางยา แพทย์แผนล้านนาใช้ดอก เป็นยาแก้ปัสสาวะรดที่นอน แก้ตับร้อน แก้ไข้ แก้ประจำเดือนไม่ปกติ และแก้ระดูขาว นอกจากนี้ คนล้านนาเอาดอกมาปิ้งไฟกินกับน้ำพริก ใช้ใบมาตำพอกแผลไฟไหม้ เอาหมักผมเพื่อบำรุงเส้นผม

หมอยาไทยใช้รากสดของชบาดอกขาวหรือแดง ตำพอกฝี แก้ฟกช้ำ ถอนพิษร้อนได้

ในทางสัญลักษณ์ ดอกชบาแดงใช้ทัดหูเพชฌฆาตเวลาจะประหารนักโทษ และมักนำมาร้อยเป็นมาลัยห้อยคอนักโทษประหาร รวมทั้งใช้ประจานผู้ที่มีพฤติกรรมผิดลูกเมีย ลักลอบได้เสียกัน

คนล้านนาจึงไม่นิยมปลูกดอกชบาไว้ในเขตบ้าน

แต่ดอกชบาแดงกลับเป็นดอกไม้ประจำชาติของมาเลเซีย

คนมาเลเซียเรียกดอกชบาว่า “บุหงารายา” (บุหงา เป็นภาษาชวาหมายถึงดอกไม้ และรายา เป็นภาษามลายูหมายถึงพระเจ้าแผ่นดิน) สามารถพบเห็นชบาได้ทั่วไปในประเทศมาเลเซีย รวมถึงบนธนบัตรหรือภาพนูนต่ำดอกชบาบนเหรียญกษาปณ์ของเงินสกุลริงกิตของมาเลเซียด้วย