ขุนหลวงพะงั่ว เมืองสุพรรณ ยึดอำนาจ รัฐประหารอยุธยา | สุจิตต์ วงษ์เทศ

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 ม.ค. 2557

ขุนหลวงพะงั่ว กษัตริย์รัฐสุพรรณภูมิ (ที่สุพรรณบุรี) มีอำนาจเหนือดินแดนฟากตะวันตกลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยมีร่องรอยหลายอย่างระบุว่าเป็นเชื้อวงศ์ลาวสองฝั่งโขง

ยกกองทัพสุพรรณภูมิ ไปยึดอำนาจอยุธยาจากพระราเมศวร (โอรสสมเด็จพระรามาธิบดี ที่รู้จักทั่วไปในนามพระเจ้าอู่ทอง) เชื้อวงศ์รัฐละโว้-อโยธยา ที่เกี่ยวดองเป็นเครือญาติขอมที่นครวัด-นครธม ครองราชย์กรุงศรีอยุธยาสืบจากสมเด็จพระรามาธิบดีที่สวรรคต)

แล้วลดฐานะให้พระราเมศวรไปเป็นเจ้าเมืองละโว้ที่ลพบุรีตามเดิม

เปลี่ยนแผ่นดิน

พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ จดเรื่องเปลี่ยนอำนาจอย่างห้วนๆ สั้นๆ อยู่ต่อจากเรื่องราวแรกสถาปนากรุงศรีอยุธยา มีความว่า

“๏ จุลศักราช 686 ชวดศก (พ.ศ.1867) แรกสถาปนาพระพุทธเจ้า เจ้าพแนงเชิง

๏ ศักราช 712 ขาลศก (พ.ศ.1893) วันศุกร์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 5 เพลารุ่งแล้ว 3 นาฬิกา 9 บาท แรกสถาปนากรุงพระนครศรีอยุธยา

๏ ศักราช 731 ระกาศก (พ.ศ.1912) แรกสร้างวัดพระราม ครั้งนั้นสมเด็จพระรามาธิบดีเจ้าเสด็จนฤพาน จึงพระราชกุมารท่านสมเด็จพระราเมศวรเจ้าเสวยราชสมบัติ

ครั้นเถิงศักราช 732 จอศก (พ.ศ.1913) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าเสด็จมาแต่เมืองสุพรรณบุรี ขึ้นเสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยา และท่านจึงให้สมเด็จพระราเมศวรเจ้าเสด็จไปเสวยราชสมบัติเมืองลพบุรี”

ยึดอำนาจ

ขุนหลวงพะงั่ว ยึดอำนาจด้วยกำลังทหาร (ปัจจุบันเรียกรัฐประหาร) จากพระราเมศวรที่ล้มเหลวทางการเมืองการปกครอง

เป็นเรื่องแพร่หลายรู้กันดีในราชสำนักอยุธยา จึงมีคำบอกเล่าตกทอดมาถึงสมัยหลังๆ ดังมีบันทึกเป็นหลักฐานอยู่ใน พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวันวลิต พ.ศ.2182 (สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ.2548 หน้า 19-20) จะคัดมาดังนี้

พระรามเมศวร (Prae Rhaem Mijsoon) กษัตริย์องค์ที่ 2 ของสยาม เสวยราชย์ได้ 3 ปี ก็ถูกถอดออกจากตำแหน่ง

พระองค์เป็นโอรสของพระเจ้าอู่ทอง ขึ้นเสวยราชย์อย่างสงบสุข เมื่อพระชนมายุ 30 พรรษา ทรงพระนามว่า พระรามเมศวร

พระองค์ทรงเป็นผู้ที่ไม่ค่อยจะฉลาดนัก มีอุปนิสัยไม่ดี โหดร้ายและกระหายเลือด โกรธง่าย ตระหนี่ ตะกละ โลภ และตัณหาจัด พระองค์ไม่ลังเลที่จะใช้พระราชอำนาจฉุดคร่าภรรยาของผู้อื่นมาเป็นของตน

พระองค์ไม่เคยสนพระทัยในสวัสดิภาพของบ้านเมือง และความสงบสุขของชุมนุมชน พระองค์ไม่ได้เป็นนักรบโดยธรรมชาติ ดังนั้น จึงไม่ทรงรักทหารเลย สนพระทัยศาสนาแต่เพียงเล็กน้อย และไม่สนพระทัยคนยากจนเลย

นี่เป็นเหตุผลเมื่อพระองค์ครองราชย์ได้ 3 ปี ก็ถูกถอดออกจากตำแหน่งโดยพระปิตุลา พระองค์ถูกตามล่าทุกหนทุกแห่งจนไม่มีใครล่วงรู้ว่าพระองค์ได้ไปหลบซ่อนอยู่ ณ ที่ใดเป็นเวลาช้านาน

เจ้าขุนหลวงพ่องั่ว (Tjaeu Couloangh Phongh-Wo-Ae) ขึ้นเสวยราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 3 อยู่ได้ 18 ปี

พระองค์ได้รับแต่งตั้งเป็นพระเจ้าแผ่นดินด้วยความยินยอมของพระราชวงศ์ สืบแทนพระรามเมศวร พระองค์มีพระชนมายุได้ 63 พรรษา และได้รับขนานนามว่า เจ้าขุนหลวงพ่องั่ว

ตั้งแต่นั้นมา ก็เกิดกฎหมายในแผ่นดินสยามว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ ถ้าหากพระเจ้าแผ่นดินสิ้นพระชนม์ลง พระอนุชา (ไม่ใช่พระราชโอรส) จะได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อไป การปฏิบัติเช่นนี้บางครั้งก็เป็นไปในทางตรงกันข้าม แต่ก็เนื่องจากกฎหมายนี้ถูกละเมิด

เจ้าขุนหลวงพ่องั่ว ทรงเป็นกษัตริย์ที่ฉลาด มีโวหารดี เคร่งครัดในศาสนา รักความก้าวหน้า และอุทิศตนให้ศาสนาและคนจน

พระองค์เกิดมาเป็นนักปกครองที่มีหัวใจนักรบ รักอาวุธ และดูแลทหารและชุมนุมชนอย่างดี แผ่นดินในตอนนั้นมืดมนด้วยสงครามกลางเมือง แต่พระองค์ก็สามารถปราบปรามให้อยู่ภายใต้ราชอำนาจของพระองค์แต่ผู้เดียวอย่างราบคาบ จะเสียเลือดเนื้อก็แต่เพียงเล็กน้อย

พระองค์ทรงปกครองประเทศเป็นเวลา 18 ปี ก็สิ้นพระชนม์ เมื่อพระชนมายุได้ 81 พรรษา

ในระหว่างที่พระองค์ครองราชย์อยู่นั้น บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด ไม่มีความขาดแคลนหรืออดอยากในบ้านเมืองเลย ความเจริญรุ่งเรืองเช่นนี้ พระเจ้าแผ่นดินสยามทั้งหลายถือว่าเป็นเพราะพระบุญญาธิการของพระองค์

สมเด็จฯ อธิบาย

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไม่เชื่อว่าเป็นเรื่องยึดอำนาจรัฐประหารดังที่ทรงอธิบายเรื่องในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ไว้ในหนังสือพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา) มีเนื้อความ (โดยจัดย่อหน้าใหม่ให้อ่านสะดวก) ตอนหนึ่งว่ามีจดหมายเหตุจีนบันทึกไว้ ดังนี้

“เหตุนั้นมีปรากฏในจดหมายเหตุจีนหน่อยหนึ่งว่าเพราะสมเด็จพระราเมศวรไม่ปรีชาสามารถ ชาวพระนครจึงเชิญพระเจ้าลุง คือสมเด็จพระบรมราชาธิราชเข้ามาครองราชสมบัติ ได้เค้าเงื่อนในจดหมายเหตุจีนดังนี้

พิจารณาดูหลักฐานทั้งปวงเท่าที่ปรากฏดังกล่าวมาแล้ว ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเรื่องจริงเห็นจะเป็นเช่นนี้ คือเดิมสมเด็จพระรามาธิบดีปลงพระทัยให้สมเด็จพระราเมศวรเป็นรัชทายาท…….เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีสวรรคต คนทั้งปวงรวมทั้งสมเด็จพระบรมราชาธิราชด้วย จึงยอมยกราชสมบัติถวายสมเด็จพระราเมศวร

แต่เมื่อสมเด็จพระราเมศวรเข้ามาครองราชสมบัติอยู่ปีหนึ่งนั้น จะมีผู้ใดหรือพวกใดในกรุงศรีอยุธยากระด้างกระเดื่องขึ้น สมเด็จพระราเมศวรปราบไม่ลง จึงต้องยกราชสมบัติถวายสมเด็จพระบรมราชาธิราช…….

เรื่องเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดินคราวนั้น จะเป็นด้วยเหตุอย่างใดก็ตาม มีเหตุควรเชื่อได้ว่าจริงในความ 2 ข้อ คือ

ข้อ 1 เมื่อสมเด็จพระราเมศวรเข้ามาครองราชสมบัติอยู่ปี 1 นั้น ด้วยความยินยอมของสมเด็จพระบรมราชาธิราช…….ถ้าสมเด็จพระบรมราชาธิราชไม่ยอมให้สมเด็จพระราเมศวรครองราชสมบัติ ก็จะได้รบกันเสียนานแล้วไม่อยู่มาได้ถึงปี

ข้อ 2 เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชเข้ามาครองสมบัติในกรุงศรีอยุธยา ไม่ได้วิวาทกับสมเด็จพระราเมศวร…….

ถ้ามีเหตุวิวาทกันอยู่แต่ก่อน เห็นจะไม่ปล่อยให้กลับไปมีกำลังและอำนาจเป็นแน่”

ยังไม่จบ

ขุนหลวงพะงั่วจากสุพรรณภูมิ ขึ้นเสวยราชย์ในพระนาม สมเด็จพระบรมราชาธิราช (สืบนามขุนบรม หรือ ขุนบูลม ในตำนานหลวงพระบาง สองฝั่งโขง)

แต่การเมืองในราชสำนักยังไม่จบ เพราะพระราเมศวรถูกผลักดันให้ไปเป็นเจ้าเมืองละโว้ (ลพบุรี) ศูนย์กลางอำนาจเดิมของขอมรามาธิบดี ก็ซ่องสุมกำลังรอจังหวะเวลาเอาคืน