รำลึก 6 ตุลาคม 2519 ‘วันวังเวง’ โดย มนัส สัตยารักษ์

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7-13 ตุลาคม 2537 และเผยแพร่ซ้ำในเว็บไซต์ www.2519.net

เช้าตรู่ของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ส.ต.ท.สมศักดิ์ วงศ์พรหม ตัดสินใจเข้าไปปลุกผมถึงที่นอนในแฟลตของ กก.2 กองปราบปราม ซอยโชคชัย 4 ลาดพร้าว

“สารวัตร…จะยิงกันแล้ว !” เขารายงานสั้นๆ

ผมกระโดดผลุงออกจากเตียง สมองอึงอลไปด้วยคำถาม ขณะรีบสวมเครื่องแบบ “เป็นอย่างงั้นได้ไง ?”

เมื่อรถวิทยุทะยานออกจากที่ตั้งจะออกสู่ถนนลาดพร้าว มีเสียงวิทยุข่ายสามยอดทบทวนคำสั่ง อ.ตร. ที่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อาวุธปืนได้ตามความจำเป็น เสียงวิทยุย้ำแล้วย้ำอีกถึงการบาดเจ็บจากกระสุนปืนของนายตำรวจกองปราบปราม

ส.ต.ท.สมศักดิ์ถามว่าจะไปไหน

“ไปพบท่านอธิบดี !”

ผมหมายถึง พล.ต.อ.ศรีสุข มหินทรเทพ ผมอยากจะไปเรียนให้ท่านทราบว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา การชุมนุมในธรรมศาสตร์เป็นไปอย่างสงบ ไม่มีวี่แววว่าจะเกิดความรุนแรงตามที่เสียงยานเกราะรายงาน โดยเฉพาะในคืนวันที่ 5 นั้น ส.ต.ท.สมศักดิ์อยู่ในมหาวิทยาลัยเกือบตลอดคืน

ท่าน อ.ตร.ให้ความเมตตาผมอยู่แล้วเป็นพิเศษ เพราะท่านเป็นนักอ่านและนักเขียนคนหนึ่ง และเรียกตัวเองว่า “ครู” เมื่อพูดกับผม ผมจึงอดที่จะหวังไม่ได้ว่าท่านอาจจะพิจารณาทบทวนคำสั่งใช้อาวุธ

แต่ตลอดทางที่รถแล่นไปนั้น สามยอดได้ถ่ายทอดเสียงอาวุธปืนสลับกับรายงานเหตุการณ์

…สายเสียแล้ว ผมจึงเปลี่ยนใจ

“ไปธรรมศาสตร์”

เมื่อรถไปถึงสนามหลวง ภาพรอบตัวที่เห็นเป็นภาพแห่งความชุลมุนอย่างแท้จริง มันยิ่งกว่าสงครามเพราะแทบจะไม่รู้ว่าใครเป็นใคร และใครอยู่ฝ่ายไหน !

เราสังเกตเห็นว่าสนามหลวงทางด้านศาลมีควันไฟและมีเสียงโห่ร้องจากฝูงชนบ้าคลั่ง

เรารู้โดยอัตโนมัติว่าอะไรเกิดขึ้นตรงจุดนั้น จึงเปิดสัญญาณไฟวับวาบและเสียงไซเรนขอทางเพื่อเข้าไปทำหน้าที่ของตำรวจ แต่ไม่สามารถเข้าไปได้ ภาพที่เห็นวับแวมผ่านกลุ่มคนบอกให้เรารู้อีกว่า-สายเสียแล้วเช่นกัน

ส.ต.ท.สมศักดิ์ ถอยรถฝ่าฝูงชนด้วยความลำบากเพื่อไปยังฝั่งธรรมศาสตร์ ในวินาทีนั้นผมยังเข้าใจผิดว่าเหตุการณ์น่าจะยุติลงได้ ต่อเมื่อลงจากรถวิ่งฝ่าเสียงปืนเข้าไปที่หอประชุมนั่นแหละถึงได้ตระหนักในความเป็นจริง

ผมพบ พล.ต.ต.วิเชียร แสงแก้ว ผู้บังคับการกองปราบปราม กับกำลังตำรวจจำนวนหนึ่งที่ระเบียงด้านหน้าหอประชุม เมื่อเสียงปืน ค. ของ ตชด.คำรามขึ้นทีไร กระจกหอประชุมจะแตกหล่นกราวลงมาใส่ท่าน ทีนั้นผมภูมิใจมากที่มีโอกาสได้นอนทับตัวท่านเพื่อบังเศษกระจกไว้

ผมขอให้ท่านสั่งหยุดยิง

“ผมสั่งแล้ว !” ท่านตอบทันที “มนัส คุณวิ่งไปบอกด้วยตัวเองอีกที”

ผมวิ่งไปยังกลุ่มตำรวจตระเวนชายแดน 4-5 นายที่ดูเหมือนจะบันเทิงอยู่กับอาวุธปืน ค. ซึ่งปลายลำกล้องชี้ไปทางอาคารฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ผมบอกว่าผู้บังคับการกองปราบสั่งให้หยุดยิง

“กระสุนดัมมี่ครับ ไม่ใช่กระสุนจริง” พวกเขาไม่ฟังเสียง หันไปทางปืน และเสียงปืนก็คำรามขึ้นอีก

ผมย้ำอีกครั้ง “ผู้การสั่งให้หยุดยิง !”

สิ้นเสียงผมเสียงปืนสนั่นในทันที ! เราต่อปากต่อคำกันไม่นานผมก็ถอย พวกเขาเป็นตำรวจชั้นผู้น้อย อ้างว่าผู้บังคับบัญชาของเขาสั่งให้ยิง ยศ พ.ต.ต.ของผม กับคำสั่งของ พล.ต.ต.นอกหน่วยไม่มีความหมายสำหรับพวกเขา

ผมวิ่งกลับมาที่ระเบียงหอประชุม ถึงไม่รายงานท่านผู้การก็รู้ว่าสภาพของเหตุการณ์มันถึงขั้นอยู่เหนือการควบคุมไปแล้ว การปฏิบัติการต่างๆ กลายเป็นเรื่องส่วนตัวไปเสียแล้ว เหตุการณ์ต่อจากนั้นผมยากจะลำดับก่อนหลัง แต่ก็ยังจำภาพบางภาพได้ราวกับผนังกะโหลกของผมเป็นฟิล์มภาพยนตร์

หน้าหอประชุมฝั่งโรงละครแห่งชาติใกล้ประตูทางออก ชายร่างผอมบางคนหนึ่งกำลังถูกรุมกระทืบจากกลุ่มคนราว 4-5 คน คนหนึ่งในนั้นมีสัญลักษณ์บอกให้รู้ว่าเป็นลูกเสือชาวบ้าน

ผมไม่อาจจะทราบเหตุผลที่มาที่ไปได้ แต่เมื่อมีชายคนหนึ่งถือมีดเฉือนเนื้อปลายแหลมขนาดใหญ่ตรงรี่เข้ามา ผมเข้าไปคร่อมร่างชายเคราะห์ร้ายไว้

“อย่านะ ! ถ้าทำอะไรเขาก็โดนผม !” ผมร้องห้าม ผมไม่ยอมให้ใครถูกฆ่าต่อหน้าผมแน่ๆ ซึ่งก็ได้ผลเพราะมีบางคนช่วยห้ามด้วย ผมเรียกตำรวจที่อยู่ในบริเวณนั้นกันตัวเขาออกไปจากที่เกิดเหตุ

thudecember2003-11-28-35-big2-1
ภาพจาก http://www.2519.net/

ชายคนนั้นบอกผมว่าเขาไม่ได้เป็นนักศึกษา เขาเป็นเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งและมาดูเหตุการณ์เท่านั้น

ตำรวจที่อยู่รอบนอกทั้งทางฝั่งสนามหลวงและฝั่งท่าพระจันทร์ ไม่มีใครเป็นผู้บังคับบัญชาใคร พวกเขาใช้อาวุธปืนประจำตัวยิงเข้าไปในมหาวิทยาลัยโดยไม่ได้หวังผลอะไรมากไปกว่าสร้างความพอใจให้แก่ตัวเอง หรือแก่กลุ่มคนที่ไม่ใช่นักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน หรือนวพล ลูกเสือชาวบ้าน หรือตำรวจทหารนอกเครื่องแบบ ซึ่งผมอยากจะเรียกรวมว่าเป็น “ฝ่ายขวา” ด้วยว่าเขาเรียกผู้ที่อยู่ตรงข้ามกับเขาว่า “ฝ่ายซ้าย” พวกเขาเหล่านี้จะยิงสุ่มส่งเดชเข้าไปทุกครั้งที่ได้ยินเสียงปืนดังมาจากภายในมหาวิทยาลัย

ผมพยายามร้องห้ามเท่าที่จะทำได้ด้วยความหัวเสีย เพราะกระสุนนัดหนึ่งเฉี่ยวหัวผมไป แต่ก็ห้ามได้เฉพาะตำรวจกองปราบปรามในบังคับบัญชาของผมเท่านั้น

มีอยู่ครั้งหนึ่งตำรวจทางฝั่งท่าพระจันทร์ลั่นกระสุนปืนเล็กกลเข้าใส่กำแพงวัดโดยไม่ตั้งใจ ผมเข้าไปกระซิบด่าด้วยความอับอาย พร้อมกับบุ้ยใบ้ชี้ให้เขาเห็นว่าทางฝั่งกำแพงวัดนั้น พ.ต.อ.ประทิน สันติประภพ รองผู้บังคับการกองปราบปราม ยืนผงาดอยู่กลางประชาชนที่ล้มลุกคลุกคลานหลบกระสุนปืน

โชคดีที่กระสุนไม่โดนใคร ตอนนั้นเรารับรายงานทาง ว. ว่าพบศพหลายศพแล้ว มากเกินพอสำหรับเหตุการณ์ขัดแย้งกันในหมู่คนไทยด้วยกันเองด้วยสาเหตุต่อต้านการกลับมาของจอมพลถนอม กิตติขจร ในชุดสีเหลืองของพระภิกษุ !

ผมไม่ทราบว่าใครเป็นคนตัดสินใจสั่งการให้ยอมรับ “ธงขาว” ของฝ่ายนักศึกษา ก่อนหน้านั้นธงขาวไม่มีความหมายต่อฝ่ายที่กระเหี้ยนกระหือรือจะชำระความแค้น พระสยามเทวาธิราชคงจะขอบใจท่านด้วย อย่างน้อยเราก็จะไม่สูญเสียยับเยินมากไปกว่านี้

ตำรวจเกณฑ์รถบัสมานำตัวนักศึกษาและผู้ร่วมชุมนุมไปควบคุมไว้ที่โรงเรียนตำรวจนครบาล บางเขน และที่โรงเรียนพลตำรวจนครปฐม ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ให้นักศึกษานอนคว่ำหน้ากับพื้นเพื่อสะดวกในการควบคุม นักศึกษาชายต้องถอดเสื้อออกในลักษณะของเชลย จำนวนของนักศึกษาเชลยหลามล้นเต็มสนาม

เมื่อตำรวจควบคุมแถวนักศึกษามาขึ้นรถที่ฝั่งกำแพงวัดท่าพระจันทร์ ฝ่ายขวาฉวยโอกาสปฏิบัติการชำระความแค้นกับนักศึกษาอย่างป่าเถื่อนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจแกล้งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น พวกเขารุมกันสั่งให้คลาน บางคนระห่ำถึงขนาดจะให้นักศึกษาหญิงถอดเสื้อ

ผมไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบในหน้าที่ควบคุมตรงนี้ แต่ผมไม่ยอมให้พวกเขาสั่ง “ลุกขึ้นๆ ! …ไม่ต้องคลาน ! …เดินไปขึ้นรถ” ผมตะโกน

ชายฉกรรจ์คนหนึ่งมีกล้องถ่ายรูปพูดขึ้นว่า “นี่ถ้าเป็นในสนามรบตายไปแล้ว !”

มันคงหมายถึงผม เพราะมันมาดูป้ายชื่อที่หน้าอกของผม และถ่ายรูปไว้ด้วย

ผมสบตาและส่ายหน้าอย่างอ่อนอกอ่อนใจกับ สมพงษ์ สระกวี อดีตผู้นำนักศึกษายุค 14 ตุลาคม ซึ่งคงจะมาในฐานะนักสังเกตการณ์โดยมีกล้องถ่ายรูปเล็กๆ อยู่ในมือ

พ.ต.อ.ประทิน พยักหน้าให้ผมอย่างเห็นชอบในวิธีการปฏิบัติของผม ดังนั้นในเวลาต่อมาเมื่อท่านไปอำนวยการนำนักศึกษาขึ้นรถอยู่ในบริเวณสนามของมหาวิทยาลัย ท่านได้วิทยุเรียกตัวผมไปรับหน้าที่เป็นหัวหน้าควบคุมนำขบวนรถบัสบรรทุกผู้ชุมนุม 778 คนไปนครปฐม

ในบริเวณสนามของมหาวิทยาลัยก็เช่นเดียวกับที่ท่าพระจันทร์ ผมต้องตะโกนต้านคำสั่งให้คลานของกลุ่มคนฝ่ายขวาอย่างสุดกำลัง จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายคนเห็นพ้องกับผม และร่วมมือด้วยนั่นแหละ เราจึงสามารถสมานรอยแผลไม่ให้ชะเวิกชะวากมากไปกว่าที่ได้รับอยู่แล้ว

6-10-2519title
ภาพจาก http://www.2519.net/

ผมใช้รถวิทยุโดยมี ส.ต.ท.สมศักดิ์ เป็นผู้ขับ นำขบวนรถบัสควบคุมนักศึกษา ผมจำไม่ได้ว่าในขบวนมีรถกี่คัน แต่จำยอดจำนวนนักศึกษาได้

เมื่อเราไปถึงลานฝึกโรงเรียนพลตำรวจนครปฐม ตำรวจหนุ่มนายหนึ่งร่างสั่นเทาเข้ามารายงานผมว่าเขายิงเชลยที่พยายามกระโดดหนีทางหน้าต่างรถถึงแก่ความตาย

“ไอ้นัส กูไม่รับคนตายนะ !” พ.ต.อ.ชอบ ภัตติชาติ ผู้กำกับการโรงเรียนพลฯ บอกผม

“ครับเฮีย เดี๋ยวผมจัดการเอง” ผมตอบ

ผมเดินตามตำรวจมือปืนไปยังรถคันที่เกิดเหตุ พบร่างชายหนุ่มผิวขาวนายหนึ่งคว่ำหน้าอยู่กับพื้นรถ นักศึกษาชายหญิงเงียบกริบด้วยอาการหวั่นกลัว

“มีใครรู้จักมั่งไหมครับ ?” ผมพลิกให้ศพหงายขึ้น หลังจากตรวจค้นตัวไม่พบหลักฐานอะไร

ไม่มีใครตอบ ทุกคนส่ายหน้า

“ผิวขาวเป็นหยวกหยั่งงี้ ท่าจะเป็นคนญวน” ผมพูดขึ้นเพื่อรักษาหน้าตำรวจของเราไว้บ้าง และหวังอย่างริบหรี่จะให้ทุกคนที่เหลือรู้สึกเหมือนกับว่าเป็นความสูญเสียของคนอื่นเท่านั้น อย่างน้อยก็น่าจะบรรเทาความโศกเศร้าเสียใจลงได้บ้าง

ทำไมผมจึงจำยอดจำนวนนักศึกษาได้ ก็เพราะว่า พ.ต.อ.ชอบ เซ็นรับตัวนักศึกษาจากผม 777 คน เท่ากับตองเจ็ดพอดี

เมื่อเสร็จภารกิจ เราเดินทางกลับมาที่ธรรมศาสตร์ ผมให้ตำรวจช่วยกันยกร่างชายผิวขาวผู้เคราะห์ร้ายลงมาวางรวมไว้กับศพอีกหลายศพที่รอรถพยาบาลอยู่

ขณะนั้นเป็นเวลาเย็นใกล้ค่ำ ท้องฟ้าของเดือนตุลาคมสลัวแล้ว เหตุการณ์สงบแล้วเหลือไว้แต่ซากปรักหักพังยับเยินทั้งวัตถุและจิตใจ

เมื่อผมกลับไปกองปราบปรามลาดพร้าว บรรยากาศวังเวงจนผมแน่ใจว่าผมต้องนอนไม่หลับและไม่อยากนอน ผมชวน ส.ต.ท.สมศักดิ์ ไปโรงแรมอิมพีเรียล พบชมรมกาแฟเหลืออยู่ราว 6-7 คน ที่ผมจำได้มี อากร ฮุนตระกูล เจ้าของชมรม กับอาจารย์มหาวิทยาลัย เช่น ดร.สมศักดิ์ ชูโต กับภรรยาซึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเหมือนกัน

ภรรยาอาจารย์สมศักดิ์ร้องไห้ตลอดเวลาที่ฟังเราเล่าเหตุการณ์

อากรโทรศัพท์ไปหา ขรรค์ชัย บุนปาน ที่สำนักพิมพ์ประชาชาติ เตือนให้ระวังตัว

ขรรค์ชัยเตือนอากรกลับมาว่า “มึงซีต้องระวังตัว !”

อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นไม่นาน “ประชาชาติรายวัน” ก็ถูกปิดตรงตามที่พวกเราวิเคราะห์กัน

ผมทราบว่ามีรายงานกล่าวหาว่าผมเอียงซ้าย ผมขอปฏิเสธเพราะผมไม่ชอบคอมมิวนิสต์ แต่ผมยอมรับว่าผมเกลียดฝ่ายขวา ซึ่งเป็นฟาสซิสต์ ในอัตราที่สูงกว่าหลายเท่าพันทวี

หมายเหตุ : ยศและตำแหน่งของบุคคลในบันทึกนี้ เป็นยศและตำแหน่งในเดือนตุลาคม 2519