สแกนบอร์ด “มีชัย” ผ่าตำรวจ ฉบับยำใหญ่ ไม่เกรงใจสีกากี โรดแม็ปแก้ 2 โจทย์ 6 กรอบ

แอ๊กชั่นต่อเนื่องรวดเร็ว แพลมสูตรรีโนเวตองค์กรตำรวจออกมาเป็นระยะ สำหรับคณะกรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. … ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน

หลังจากทั้งประธานและกรรมการอย่างนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุทำนองสอดคล้องกันว่า จะปรับปรุงไปจนถึงขั้นเปลี่ยนแปลงแผนและกฎหมาย-ปฏิรูปตำรวจฉบับที่เสนอโดยคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ชุด “บิ๊กสร้าง” พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน ซึ่งนายมีชัยเรียกให้เข้าใจสั้นๆ ว่า “ฉบับเกรงใจตำรวจ”

ทว่านายวิษณุย้ำว่า ผลงานแนวคิด แนวทางจากกรรมการชุด 36 อรหันต์ ไม่เสียของ แต่จะต่อยอดให้สมบูรณ์

อาจเพราะคำว่า “เกรงใจตำรวจ” ที่นิยามไว้ในแผนปฏิรูปชุดบิ๊กสร้างหรือไม่ ไม่ทราบได้ ทำให้คณะกรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. … ที่โดยพฤตินัยไม่ใช่แค่ทบทวนปรับปรุงร่างกฎหมาย

ทว่าคือคณะกรรมการออกแบบปฏิรูปตำรวจชุดใหม่

มีองค์ประกอบของคณะกรรมการที่มาจากตำรวจเพียง 2 คนเท่านั้น จากกรรมการทั้งหมด 16 คน

โดยมี พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นตำรวจในราชการเพียงคนเดียว อีกคนคือ พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 และอดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งเกษียณอายุราชการไปแล้ว

เมื่อเทียบกับชุด “บิ๊กสร้าง” ในบอร์ด 36 อรหันต์มีตำรวจถึง 15 นาย ในสัดส่วนเท่ากับผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่นับรวมกรรมการโดยตำแหน่งอีก 6 คน ซึ่งองค์ประกอบเป็นไปตามที่ตราไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 หลักคือดุล

เช็กชื่อกรรมการชุดนายมีชัย ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ 16 คน แบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ มีนายมีชัย ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เป็นประธาน

กรรมการอีก 15 คนคือ นายวิษณุ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย นายอัชพร จารุจินดา กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม นายสมชาย พงษธา กรรมการกฤษฎีกา คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ อดีตเลขาธิการ ก.พ. นายธานิศ เกศวพิทักษ์ อดีตรองประธานศาลฎีกา นายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด เป็นกรรมการ

อีกฝ่ายคือกรรมการฝ่ายอื่น มี พล.อ.บุญสร้าง อดีตประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมตำรวจ นายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ นายคำนูณ สิทธิสมาน กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย นายอุดม รัฐอมฤต คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พล.ต.ท.อำนวย นายศุภชัย ยาวะประภาษ กรรมการในชุดบิ๊กสร้าง อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ และนายวรรณชัย บุญบำรุง รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

สแกนโปรไฟล์ห้อยท้ายรายชื่อกรรมการ 16 อรหันต์ ปฏิรูปตำรวจเวอร์ชั่นล่าสุดคงรอดครหา “เกรงใจตำรวจ”!!

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ “พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา” แม่ทัพสีกากี หนึ่งในกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) บอกว่า สัดส่วนคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ถูกกำหนดไว้แบบนั้น มีตำรวจเป็นกรรมการด้วย ซึ่งตำรวจที่เป็นกรรมการไม่ได้เสนอขัดแย้งอะไรมากมาย เสนอความคิดเห็นของใครของมัน กรรมการใหญ่จะรับหรือไม่อีกเรื่องหนึ่ง

กรรมการที่เป็นตำรวจไม่มีสิทธิไปโน้มน้าวกรรมการส่วนอื่นๆ หรอก แต่ละประเด็นมีการถกในคณะอนุกรรมการก่อนเข้ากรรมการชุดใหญ่ และยอมรับในกติกาในทุกข้อที่คุยกัน ตนก็ไม่ทราบว่าทำไมถึงเรียกว่าฉบับเกรงใจตำรวจ ยืนยันว่ากรรมการที่เป็นตำรวจในชุด พล.อ.บุญสร้าง ไม่มีปัญหาอะไร

“หากชุดของนายมีชัยทำได้ ในการปฏิรูปถ่ายโอนภารกิจ อย่างไรก็ตาม ตนไม่ก้าวล่วงการทำงานของชุดนายมีชัย ตอนเป็นกรรมการก็ทำหน้าที่ดีที่สุด การปฏิรูปตำรวจทำอย่างไรก็ได้ขอให้ประชาชนได้ประโยชน์จากการปฏิรูป ก็รับสภาพได้ ยอมรับได้” บิ๊กแป๊ะกล่าวคล้ายตัดพ้อ

ส่วนที่มีตำรวจในราชการ คือ พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ รอง ผบ.ตร. ร่วมเป็นกรรมการในชุดของนายมีชัยเพียงคนเดียวนั้น ผู้นำตำรวจบอกว่า ก็ไม่เป็นไร ไม่น้อยไป จริงๆ ไม่อยากให้มีตำรวจอยู่เลยด้วยซ้ำ จะได้แฟร์ เดี๋ยวบอกว่ามีตำรวจเกี่ยวข้องอีก

สะท้อนบรรยากาศการปฏิรูปตำรวจ ครั้งที่อาจเป็นคำตอบสุดท้าย ตรงโจทย์ตามรัฐธรรมนูญ!?

นายคำนูณ สิทธิสมาน หนึ่งในกรรมการผ่าตัดองค์กรตำรวจชุดนายมีชัยเป็นตัวแทน เผยว่า การปรับ เปลี่ยน แผนและกฎหมายของชุด พล.อ.บุญสร้าง เพื่อตอบโจทย์ 2 ประการ

ประการแรก “ความทุกข์ของประชาชน” ทั้งที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ และความคาดหวังที่สังคมต้องการจากตำรวจ

ประการที่ 2 “ความทุกข์ของตำรวจ” ทั้งในประเด็นที่ไม่อาจใช้เพียงความรู้ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ แล้วเติบโตไปตามสายงานได้อย่างปกติ และความไม่พร้อมหรือขาดแคลนในด้านต่างๆ

นายคำนูณระบุว่า ในการตอบโจทย์ทั้ง 2 ข้อนี้จะพิจารณาผ่าน 6 กรอบตามดำริของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

กรอบที่ว่า คือ

1. โครงสร้าง ทั้งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และการถ่ายโอนภารกิจที่ไม่ใช่งานตำรวจแท้ออกไปให้หน่วยงานอื่น

2. อำนาจสอบสวน กับหัวข้อที่ต้องขบคิดว่าควรอยู่กับตำรวจเหมือนเดิม หรือควรมีหน่วยงานอื่นมาร่วมในกระบวนการด้วย

3. การแต่งตั้งโยกย้าย รวมถึงการแต่งตั้ง ผบ.ตร. จะต้องกำหนดกฎเกณฑ์การพิจารณาไว้ให้ชัดเจนในกฎหมายหลัก ไม่ใช่อยู่แต่ในกฎหมายลำดับรองหรืออนุบัญญัติเท่านั้น โดยจะต้องระบุให้ชัดเจนว่าจะให้มาจากหลักอาวุโสเป็นสัดส่วนเท่าไร รวมทั้งจะต้องบัญญัติกฎเกณฑ์ของการคิดคำนวณหลักอาวุโสที่มิใช่อาศัยเพียงเกณฑ์อายุไว้ให้ชัดเจนในกฎหมายหลักด้วย

4. ความพร้อมในการทำหน้าที่ของตำรวจ ยังมีความขาดแคลนงบประมาณและอุปกรณ์ที่จำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่อยู่หรือไม่เพียงใด

5. ระบบนิติวิทยาศาสตร์ ควรขึ้นตรงต่อตำรวจ หรือเป็นอิสระในระดับหนึ่ง และควรมีกี่หน่วย โดยพิจารณาถึงโอกาสที่จะได้รับความเป็นธรรมสูงสุดของประชาชน

และ 6. สวัสดิการ หมายรวมถึงระบบร้องเรียน ร้องทุกข์ ภายในของตำรวจเอง

นายคำนูณแจงว่า การปรับปรุงแผนปฏิรูป จะพิจารณาจากข้อเสนอจากองค์กรและหน่วยงานต่างๆ ที่ได้ศึกษาและเสนอไว้แล้วประกอบด้วย

เมื่อได้ข้อสรุป ก็จัดทำเป็นร่างกฎหมายและตรวจร่างกฎหมายได้พร้อมสรรพในคณะกรรมการชุดเดียว เพราะมีสัดส่วนจากคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษอยู่ด้วยแล้ว

คณะกรรมการชุดนายมีชัย เดินหน้าประชุมต่อเนื่องตามโรดแม็ป ตอบ 2 โจทย์ 6 กรอบ เผยสูตรแนวคิดออกมาเป็นระยะ และคล้ายว่าเปลี่ยนแนวคิดจากชุด พล.อ.บุญสร้าง คล้ายหนังคนละม้วน

เป้าหมายคือตกผลึกคำตอบของการปฏิรูปองค์กรสีกากีโดยเร็วที่สุด ตามคำบัญชานายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.

แต่ท้ายที่สุดจะเป็นคำตอบที่นำไปใช้จริง เดินเครื่องปฏิบัติปฏิรูปตำรวจจริงหรือไม่ หรือได้แต่ “ตั้งท่า” ได้แค่คิดเฉกเช่นสารพัดสูตรปฏิรูปในรอบกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ตั้งแต่ คมช. จนถึง คสช.!?