จักรวรรดิในกำแพง : กำเนิดจักรวรรดิ (19)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ฮั่นสมัยหลังกับเงื่อนปมใหม่ทางการเมือง (ต่อ) 

อคติดังกล่าวทำให้ภาพของหวังหมั่งถูกวาดให้เห็นว่าเขาเป็นคนไร้ความสามารถ เป็นคนหลอกลวงและหน้าซื่อใจคด

ภาพนี้ถูกจดจำในความเชื่อของผู้คนมายาวนานนับพันปี ทั้งที่หากวิเคราะห์แล้วจะพบว่า ออกจะง่ายเกินหากจะติดฉลากกบฏให้กับหวังหมั่ง ทั้งที่จริงแล้วเขาเป็นนักปฏิรูปคนหนึ่งที่มีความคิดทันสมัย

หากจะเป็นนักปฏิวัติเขาก็มิใช่นักปฏิวัติที่เพ้อฝัน แต่เป็นนักปฏิบัติที่ปกครองจีนได้ดีกว่าจักรพรรดิของฮั่นหลายพระองค์ก่อนหน้านั้นเสียอีก

แต่คงด้วยนโยบายที่ไม่เหมาะสมัยและขัดผลประโยชน์ของชนชั้นสูงต่างหาก ที่ทำให้หวังหมั่งต้องพบจุดจบในที่สุด

 

บทบาทของหวังหมั่งก็ดี หรือทัศนะต่างๆ ที่มีต่อบทบาทของเขาก็ดี ถึงที่สุดแล้วอาจสรุปได้เป็นสองช่วงเวลา

ช่วงเวลาหนึ่งคือ ช่วงที่ราชวงศ์ฮั่นยังดำรงอยู่ ถ้าเป็นช่วงนี้บทบาทของเขาจะถูกมองอย่างเลวร้าย และมูลเหตุสำคัญโดยรวมจะมาจากการที่เขาปฏิบัติตัวดีในเบื้องต้น แต่มาปฏิบัติตัวเลวร้ายในเบื้องปลาย พฤติกรรมที่ขัดแย้งกันเองเช่นนี้เป็นที่รับไม่ได้สำหรับผู้นับถือลัทธิขงจื่อ ซึ่งเป็นลัทธิที่เชิดชูจริยธรรมและคุณธรรมไว้สูงเด่น

จากเหตุนี้ พฤติกรรมที่ดีในเบื้องต้นของหวังหมั่งจึงถูกมองว่าเสแสร้ง

อีกช่วงเวลาหนึ่งคือ ช่วงสมัยใหม่ที่ประวัติศาสตร์จีนมีความก้าวหน้าในทางวิชาการมากขึ้นแล้ว ในช่วงนี้จึงไม่แปลกที่นักวิชาการจะมีมุมมองที่กว้างขึ้น

คือไม่ได้มองที่การปฏิบัติตัวของหวังหมั่งขัดแย้งกันเองหรือไม่ อย่างไร เพราะอย่างไรเสียพฤติกรรมเช่นนี้ปรากฏให้เห็นเป็นปกติทั้งก่อนและหลังยุคหวังหมั่ง ดังนั้น ในช่วงสมัยใหม่จึงมองหวังหมั่งผ่านนโยบายของเขาเป็นหลัก เป็นเหตุเป็นผล และมองโดยเปรียบเทียบกับผู้นำ (จักรพรรดิ) ก่อนหน้าเขาว่าต่างหรือเหมือนกันอย่างไร

ที่สำคัญ มองโดยปราศจากฉันทาคติหรืออคติใดๆ

 

จากสองช่วงเวลาดังกล่าว คงเป็นการยากที่จะกล่าวถึงประเด็นผิดถูก เพราะช่วงเวลาทั้งสองต่างมีเงื่อนปัจจัยแวดล้อมที่ไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะเงื่อนปัจจัยที่เป็นหลักคิด ที่ในช่วงเวลาแรกหลักคิดของขงจื่อถูกชูอย่างสูงเด่น ในขณะที่ช่วงเวลาหลังหลักคิดเสรีนิยมได้แผ่ไพศาลไปแทบจะทั่วโลก

เหตุฉะนั้น หากหวังหมั่งไม่ปฏิบัติตัวดีเลิศจนเป็นที่ยกย่องของผู้คนในเบื้องต้นแล้ว บางทีข้อวิจารณ์ตัวเขาก็อาจไม่ได้เป็นดังที่เห็นก็เป็นได้

ในขณะที่ช่วงสมัยใหม่ในปัจจุบันนั้น หากมิใช่เพราะความก้าวหน้าทางวิชาการที่มีมากกว่าเมื่อสองพันปีก่อนแล้ว บางทีมุมมองที่กว้างขวางและลุ่มลึกจากที่กล่าวมาก็อาจมิได้เป็นเช่นที่เห็นก็ได้เช่นกัน

 

ข.กำเนิดฮั่นสมัยหลัง

ไม่ว่านโยบายของหวังหมั่งในนามราชวงศ์ซินจะก้าวหน้าหรือล้าหลัง หรือจะดีหรือเลวก็ตาม สิ่งที่เป็นผลพวงตามมาอย่างแน่นอนมีอย่างน้อยสองประการ

ประการแรก นโยบายที่ถูกนำมาใช้หากไม่ถูกพวกพ่อค้าและขุนนาง (โดยเฉพาะในท้องถิ่น) ค้นหาช่องว่างเพื่อร่วมกันทำการฉ้อฉลแล้ว ก็จะค้นหาช่องทางสร้างกำไรส่วนเกินด้วยการเอาเปรียบราษฎรให้ได้

ประการที่สอง ไม่ว่าเหตุการณ์ในประการแรกจะมีหรือไม่มีก็ตาม ถึงที่สุดแล้วนโยบายของหวังหมั่งหากไม่ใช่เพราะยากแก่การปฏิบัติแล้ว ก็ยังเป็นนโยบายที่ไม่ได้อยู่ในความคุ้นชินหรือเข้าใจได้ง่ายสำหรับยุคนั้นอยู่ดี

เหตุดังนั้น หากเป็นไปในประการแรก บ้านเมืองก็ย่อมเกิดความยุ่งยากปั่นป่วน หากเป็นไปในประการหลัง ชนชั้นนำที่ทรงอิทธิพลในสังคมย่อมได้รับผลกระทบ

เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนมากย่อมต้องเป็นราษฎร และแล้วเรื่องราวก็ย้อนกลับไปอย่างที่เคยเป็นมาก่อนหน้านี้นับร้อยนับพันปี นั่นคือการเกิดขึ้นของกบฏ โดยในครั้งนี้มีปัญหาทุพภิกขภัยที่พื้นที่จิงโจวติดต่อกันหลายปีเป็นชนวนที่สำคัญ เมื่อชนวนถูกจุดขึ้นแล้วประกายไฟนั้นก็ลามไปอย่างรวดเร็ว แล้วขบวนการกบฏก็เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

ทุพภิกขภัยที่มาจากความแห้งแล้งในจิงโจว (คือมณฑลหูหนาน หูเป่ย และภาคใต้ของเหอหนานในปัจจุบัน) นี้เป็นไปต่อเนื่องหลายปี และทำให้ราษฎรต้องอพยพหนีภัยเป็นจำนวนมาก

ข้างรัฐบาลในระบบหวังหมั่งก็มิอาจแก้ปัญหานี้ได้ และที่แก้ไม่ได้นั้นหากมิใช่เพราะเสนามาตย์ฉ้อราษฎร์บังหลวงก็เป็นเพราะเสนามาตย์ไร้ความสามารถ

จนในปี ค.ศ.17 มีพี่น้องสองคนคือ หวังควาง และหวังเฟิ่ง ซึ่งมิอาจทนต่อภัยแล้งนี้ได้อีกต่อไปก็ได้ก่อการกบฏขึ้นมา กบฏนี้มีฐานที่มั่นอยู่บนเทือกเขาลี่ว์หลิน (ปัจจุบันคือภูเขาต้าหงในมณฑลหูเป่ย)

ทัพของกบฏนี้จึงถูกเรียกว่าทัพลี่ว์หลิน หรือทัพป่าเขียว

 

เมื่อขบวนการนี้เป็นรูปเป็นร่างแล้ว ผู้นำกบฏจึงได้เลือกบุคคลในราชสกุลหลิวขึ้นเป็นจักรพรรดิ และผู้ที่ถูกเลือกคือหลิวเสีว์ยน (มรณะ ค.ศ.25) โดยใช้ชื่อรัชสมัยว่าเกิงสื่อ เพื่อใช้อ้างเป็นความชอบธรรมในการฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่น

ประเด็นอันเกี่ยวกับการเลือกบุคคลในสกุลหลิวดังกล่าวนั้น ยังมีเหตุที่คาบเกี่ยวกันที่พึงกล่าวไว้ในที่นี้ด้วยว่า บุคคลสกุลหลิวที่เข้าร่วมกับทัพป่าเขียวนั้น นอกจากหลิวเสีว์ยนแล้วก็ยังมีสองพี่น้องสกุลหลิวที่เป็นญาติกับหลิวเสีว์ยนอีกด้วย

โดยผู้พี่คือ หลิวเอี่ยน (มรณะ ค.ศ.23) และผู้น้องคือ หลิวซิ่ว (ค.ศ.5-57)

ส่วนที่ว่าคาบเกี่ยวกันก็คือว่า หากกล่าวในแง่ความชอบธรรมหรือในแง่ความสามารถแล้ว หลิวเอี่ยนมีความเหมาะสมที่จะเป็นจักรพรรดิมากกว่าหลิวเสีว์ยน

ที่เป็นเช่นนี้ก็ด้วยเหตุที่ว่า หลิวเอี่ยนกับหลิวเสีว์ยนแม้จะเป็นทายาทรุ่นที่หกของฮั่นจิ่งตี้ก็จริง แต่กล่าวในแง่บทบาทแล้ว หลิวเอี่ยนกลับมีความสามารถมากกว่า เพราะนับแต่กบฏได้ก่อตัวขึ้นก็ปรากฏว่าทัพของหลิวเอี่ยนสามารถเอาชนะทัพหวังหมั่งได้โดยตลอด

แต่พอถึงเวลาที่ฝ่ายกบฏต้องเลือกบุคคลสกุลหลิวให้เป็นจักรพรรดิแล้ว ผู้นำกบฏที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ไร้การศึกษาและส่วนน้อยอย่างยิ่งที่เป็นพวกผู้ดีนั้น แม้จะยอมรับว่าหลิวเอี่ยนเหมาะที่จะเป็นจักรพรรดิก็จริง แต่ก็รู้ดีว่าด้วยความรู้ความสามารถของหลิวเอี่ยน หากหลิวเอี่ยนได้เป็นจักรพรรดิแล้วก็ยากที่พวกตนจะควบคุมเขาได้

จากเหตุนี้ บรรดาผู้นำทัพป่าเขียวจึงเลือกหลิวเสีว์ยนให้เป็นจักรพรรดิในต้นปี ค.ศ.23

 

กรณีนี้ทำให้เห็นว่า ฝ่ายกบฏแม้จะมีเป้าหมายทางการเมืองก็จริง แต่ด้วยเหตุที่ไร้การศึกษาเป็นส่วนใหญ่จึงกลัวว่าพวกตนจะหมดความสำคัญ และทำให้ต้องเลือกบุคคลที่ไม่ควรเลือกมาเป็นจักรพรรดิ

กรณีนี้จึงทำให้เห็นว่า เอาเข้าจริงแล้วกบฏกลุ่มนี้ก็ยังมีภาพของกลุ่มโจรปรากฏในอีกด้านหนึ่งด้วย ในขณะที่อีกด้านหนึ่งคือขบวนการทางการเมืองที่พึงมีอุดมการณ์ที่แน่วแน่

อย่างไรก็ตาม นอกจากกบฏทัพป่าเขียวจะก่อตัวขึ้นแล้ว ปี ค.ศ.18 มีชาวเมืองหลางหยา (ปัจจุบันคืออำเภอจูเฉิงในมณฑลซานตง) ผู้หนึ่งชื่อว่าฝันฉง ก็ได้ตั้งตนเป็นผู้นำกบฏขึ้นที่เมืองจี่ว์ (ปัจจุบันคืออำเภอจี่ว์ในมณฑลซานตง) โดยมีกำลังพลนับหมื่นคน

และเพื่อแยกแยะให้รู้ว่าผู้ใดคือสมาชิก ฝันฉงจึงให้สมาชิกทุกคนเขียนคิ้วเป็นสีแดงเป็นเครื่องหมาย กบฏนี้จึงถูกเรียกว่าทัพชื่อเหมย หรือทัพคิ้วแดง

จากนั้นก็ตั้งฐานที่มั่นอยู่ที่ภูเขาไท่ (ไท่ซาน)

ควรกล่าวด้วยว่า ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ยังมีกบฏเกิดขึ้นอีกหลายกลุ่ม เพียงแต่ไม่ได้มีชื่อเสียงเท่ากบฏทั้งสองนี้เท่านั้น แน่นอนว่าฐานกำลังของกบฏยังคงเป็นชาวนาที่เป็นราษฎรส่วนใหญ่ของจักรวรรดิ

ที่ต่างก็หมดหนทางในการดำรงชีวิตตามปกติได้อีกต่อไป