สุจิตต์ วงษ์เทศ : ผีฟ้ากับคนเดินดิน ไปมาหาสู่กันไม่ขาด ในตำนานกำเนิดโลก

สุจิตต์ วงษ์เทศ

ผีฟ้ากับคนเดินดินไปมาหาสู่กันไม่ขาดในตำนานกำเนิดโลก

ตํานานกำเนิดโลกมีหลายสำนวนของคนในตระกูลภาษาไต-ไท

แต่มีสำนวนหนึ่งเป็นที่รู้จักมากสุดในไทย อยู่ในพงศาวดารล้านช้าง โดย พระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) ถอดความจากต้นฉบับเดิมอักษรและภาษาลาวเป็นภาษาไทย (รวมพิมพ์ในหนังสือประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 1)

ถ้อยคำและข้อความบางอย่างอาจคลาดเคลื่อน มีดังนี้

 

เริ่มเรื่อง

พงศาวดารล้านช้าง เริ่มเรื่องว่าเมื่อนานมาแล้วแรกมีดินหญ้าฟ้าแถน บรรดาผีกับคนติดต่อไปมาหาสู่กันไม่ขาด มีสำนวนดังนี้

“กาลเมื่อก่อนนั้นก็เป็นดินเป็นหญ้าเป็นฟ้าเป็นแถน ผีแลคนเที่ยวไปมาหากันบ่ขาด”

ข้อความที่ว่า “ก็เป็นดินเป็นหญ้าเป็นฟ้าเป็นแถน” น่าจะมาจากคำที่ถูกต้องว่า “ก่อเป็นดินเป็นหญ้าเป็นฟ้าเป็นแถน” (ก็ ที่ถูกเป็น ก่อ)

เพราะพบสำนวนความโทเมืองจากเมืองหม้วย ถอดจากอักษรของชาวไทดำในเวียดนาม (ชำระและอธิบายโดย James R. Chamberlain) มีโดยสรุปใหม่ว่า “ก่อเป็นดินเป็นหญ้า ก่อเป็นฟ้าดั่งดอกเห็ด ก่อเป็นดินเจ็ดก้อน…”

ดังนั้น ในพงศาวดารล้านช้างควรมีข้อความถูกต้องว่า

“กาลเมื่อก่อนนั้น ก่อเป็นดินเป็นหญ้า ก่อเป็นฟ้าเป็นแถน ผีแลคนเที่ยวไปมาหากันบ่ขาด”

ก่อ แปลว่า สร้าง, ทำ (คำไทยทุกวันนี้บางทีควบว่าก่อสร้าง) เช่น ก่อบ้านสร้างเมือง

 

ผีกับคน

ตระกูลไต-ไทสมัยก่อนๆ นานมากนับพันๆ ปีมาแล้ว เชื่อว่าผีกับคนติดต่อไปมาหากันสม่ำเสมอไม่ขาด

ช่องทางติดต่อกันมีบอกในตำนานกำเนิดโลกตอนต่อๆ ไปว่า “ข้อหลวง”

แต่ต่อมาแถนสั่งตัด “ข้อหลวง” ทิ้งไป มิให้คนกับผีติดต่อไปมาหาสู่กันอีก นับแต่นั้นผีกับคนติดต่อกันไม่ได้โดยตรง ต้องผ่านพิธีกรรม

“ข้อหลวง” คืออะไร? ผมพยายามหลายปีค้นหาคำนิยามตามที่ต่างๆ กับสอบถามผู้รู้วิถีลาวแต่จนปัญญาหาไม่พบ

ล่าสุดต้องพึ่งพาผู้รู้อยู่อีสาน ได้แก่ สมชาย นิลอาธิ (มหาสารคาม) กับ ยุทธพงศ์ มาตย์วิเศษ (กาฬสินธุ์)

คำตอบที่ได้คือฉบับตัวพิมพ์ภาษาไทยสะกดผิด เพราะฉบับตัวเขียนว่า “ขัวหลวง” แปลว่า สะพานใหญ่

ผมฟังคำตอบแล้วตาสว่างกระจ่างใจ

สะพานใหญ่ หรือ “ขัวหลวง” คงไม่มีจริง แต่เป็นสิ่งก่อสร้างในจินตนาการสำหรับใช้ในตำนาน (ตำนานบางเรื่องในล้านนาและอาหมกล่าวถึง “กระได” ว่ามีพาดจากฟ้าลงดิน) เพราะเรื่องราวทั้งหมดในตำนานกำเนิดโลกก็ล้วนไม่เรื่องจริง แต่เกิดจากจินตนาการของคนยุคดึกดำบรรพ์