เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง : ประวัติศาสตร์สอนเราว่า ทุกสิ่งล้วนสมมติ

ค่อนข้างจะเป็นเรื่องแปลกที่มาเขียนถึงหนังสือเล่มหนึ่งเมื่อหนังสือเล่มนั้นถูกพิมพ์เป็นครั้งที่ 14 หนังสือเล่มที่ว่านี้ชื่อ ตากสินมหาราชชาตินักรบ กล้วยไม้ แก้วสนธิ แปลจาก le Roi Des Rizieres ของ Clair Keef-Fox

เป็นหนังสือที่อ่านแล้ววางไม่ลง

img_0421

เป็นเรื่องราวของพระเจ้าตากสินที่มีต่อประวัติศาสตร์ชาติไทย และต่อผู้คนที่อยู่รายรอบพระองค์ ซึ่งมีทั้งคนไทยและชาวต่างชาติหลายชาติหลายภาษา

เราได้สัมผัสกับพระเจ้าตากที่เป็นมนุษย์ เพราะท่านเป็นเพียงตัวละครตัวหนึ่งใน “นวนิยาย”

ผู้เขียนใช้หลักฐานจากบันทึกของชาวฝรั่งเศสที่อยู่ร่วมสมัยกับพระองค์ ชาวฝรั่งเศสที่บันทึกเหตุการณ์นี้ไว้ผู้เขียนได้สมมติให้เป็นตัวละครชื่อ มาตีเยอ-ชาร์ล เดอ แกร์แอร์เว เขาเป็นชาวฝรั่งเศสที่เคยรับใช้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และถูกเนรเทศออกมา ได้เดินทางมายังประเทศไทย ได้มาพบและเป็นเพื่อนกับพระเจ้าตากตั้งแต่สมัยที่เป็นนายสิน

และได้ใช้ชีวิตในประเทศไทยจนกระทั่งพระเจ้าตากสวรรคต

เรื่องเดินขนานควบคู่กันไประหว่างชีวิตของพระเจ้าตากและชีวิตของมาติเยอและตัวละครที่เกี่ยวพันกับชีวิตเขา

คนที่อ่านหนังสือเล่มนี้ครึ่งหนึ่งของใจจดจ่อกับความอยากรู้เรื่องพระเจ้าตากอีกครึ่งหนึ่งก็เพลิดเพลินกับนวนิยายที่มีสีสัน

ประวัติศาสตร์กระแสหลักบอกเล่าถึงการเป็นนักรบผู้แกล้วกล้าและเสียสละกับการทีท่านมีสติฟั่นเฟือนเนื่องจากฝักใฝ่ในศาสนาเชื่อว่าตนเองมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์

ในที่สุดราชสำนักและประชาชนก็ระส่ำระสายจนรัชกาลที่ 1 สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ แล้วปราบดาภิเษกตั้งราชวงศ์จักรี

หนังสือเล่มนี้ก็บอกกล่าวไม่ผิดไปจากนี้

พระเจ้าตากท่านออกรบหัวเมืองต่างๆ ที่กระด้างกระเดื่อง กู้เอากลับคืนมาทีละเมือง เราเห็นการออกรบอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย เอาจริงเอาจังต่อหน้าที่อย่างที่ไม่คำนึงถึงตัวเอง ในขณะเดียวกันก็ไม่คำนึงถึงความเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้าของทหาร “ความตื่นเต้น ความสงสาร และการทำงาน งานที่ดูไม่มีวันสิ้นสุด ตั้งแต่ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น และสิ้นสุดหลังพระอาทิตย์ตกดิน”

นี่เองที่ทำให้ท่านเป็นนักรบมากกว่านักปกครอง

ในขณะเดียวกันก็มีภาพของความปลอดภัยหลังการสร้างกรุงธนบุรี “ในเมืองของพระเจ้าตากสินมีความปลอดภัย มีระเบียบ และความยุติธรรม ทุกคนที่มาถึงเมืองนี้ และได้นั่งในวัดหรือริมน้ำต่างก็ชื่นชม กวาดตาดูราชธานีแห่งใหม่อย่างแทบจะไม่เชื่อสายตา”

ทั้งหมดนี้เป็นภาพที่ต่างจากเขตนอกเมืองออกไปซึ่งยังมีการปล้น เผา ฆ่า ข่มขืน

มาตีเยอเขียนในบันทึกของเขาว่า “พระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ของสยามมีรับสั่งว่าที่นี่ไม่มีข้าวสำหรับคนที่หวังอยู่เปล่าๆ และคนขี้เกียจ”

พระเจ้าตากเป็นตัวละครที่มีทั้งคนรักและเกลียดกลัว ความดุร้าย อารมณ์ที่แปรปรวนเหมือนพายุถึงขนาดสั่งประหารองครักษ์ฝรั่งอย่างรวดเร็ว ไม่มีการไต่สวนเพราะสงสัยว่านางสนมจะเล่นชู้ สั่งประหารแม้แต่ทารกที่ร้องไห้เสียงดัง ทำให้ท่านเป็น tragic hero ในความหมายของละครกรีก คือล้มเหลว ร่วงหล่นลงมา แตกสลายไม่มีชิ้นดี ด้วยบั้นปลายชีวิตที่มีแต่คนชัง

ผู้เขียนบรรยายว่าข้าราชการที่เป็นฝรั่งหลังจากการประหารองครักษ์แล้วก็รู้สึกไม่มั่นคง

ฉากหนึ่งที่ผู้เขียนชอบเป็นพิเศษคือฉากที่เพื่อนเก่าของพระเจ้าตากที่รู้จักกันตั้งแต่ท่านยังเป็นนายสิน กลับมาเฝ้าเมื่อนายสินกลายเป็นกษัตริย์แล้ว เขาคนนี้เป็นพ่อค้าชื่อ ฌวน ฟอลคอน เชื้อสายของคอนสแตนติน ฟอลคอน ฌวน มีหลักมีฐาน มีโกดังสินค้าอยู่ในอยุธยาและมะละกา เขาเป็นคนส่งอาวุธและข้าวให้กรุงธนบุรี ราชธานีใหม่

ขณะนั่งเรือมาถึงสยาม ฌวนไม่เข้าใจว่าทำไมนายทหารที่ตกอับคนหนึ่งจึงสามารถก่อตั้งกองทัพใหญ่กู้บ้านเมืองได้ และทำให้ผู้คนรักใคร่จนเรียกร้องให้เขาขึ้นเป็นกษัตริย์

ในวันที่เข้าเฝ้า เขาเห็นอดีตเพื่อนนั่งอยู่บนบัลลังก์ พระมหากษัตริย์องค์ใหม่ทักทายเขาแบบมีพิธีรีตอง เขาเองเผลอพูดเล่นออกไป ท่านอึ้งไปพักหนึ่งแต่แล้วก็ทรงพระสรวลออกมา แล้วสักครู่ท่านก็สั่งให้ทุกคนออกไป เหลือแต่เขา และเสด็จลงมาประทับนั่งที่พื้นคุยกันด้วยหลากหลายเรื่องราว ทรงเล่าถึงการให้ทหารไปค้นสมบัติที่หลงเหลือที่อยุธยาและพม่าเอาไปไม่หมด

ความเป็นเพื่อนเก่าก็ทำให้พระองค์ท่านถามเขาว่าเขามีอะไรซุกซ่อนอยู่ที่อยุธยาหรือเปล่าจะได้ไม่ให้คนไปขุดคุ้ยในบริเวณนั้น

ในเบื้องลึกนี่คือสำนึกของความเป็นเพื่อนที่ฝังรากลึก

การอ่านประวัติพระเจ้าตากในรูปนวนิยาย ทำให้เราเห็นภาพชีวิตของท่านได้ละเอียดลออ มีความเป็นมนุษย์ มี “อารมณ์” รัก โกรธ หลง ทั้งหมดเป็นฉากหลังของประวัติศาสตร์ที่ทำให้เรื่องไม่แห้งผาก ไม่เป็นเพียงประวัติศาสตร์ที่ปราศจากที่มาของการกระทำ และแรงจูงใจ

ตัวละครที่เป็นชาวต่างชาติในหนังสือไม่ได้ถูกย้อมสีจนเกินจริง หากแต่มีชีวิตชีวา สะท้อนภาพชีวิตของผู้คนและบ้านเมืองในยุคนั้นที่ใกล้เคียง ผู้อ่านที่อยากรู้ชีวิตยุคโน้น ย่อมไม่พลาด การมองชีวิตของผู้เขียนต่างชาติจะมีแง่มุม และอารมณ์การเขียนที่แตกต่างจากนักเขียนไทย

อ่านไปก็รู้สึกเป็นเรื่องธรรมดา ทุกสิ่งล้วนสมมติ

อ่านจบไปหลายวัน หวนกลับไปคิดคำนึง ก็นึกถึงตอนที่ พระเจ้าตากนั่งวิปัสสนา และบอกข้าราชบริพารว่า เหาะได้ ถ้าอ่านแล้วผ่านไปก็จะคิดเห็นว่าท่านฟั่นเฟือนอย่างไม่ต้องสงสัย

แต่ก็ทำให้ผู้เขียนหวนคิดถึงประสบการณ์หนึ่งเมื่อไปฝึกวิปัสสนาเป็นเวลาสิบวันกับศูนย์ปฏิบัติธรรมของท่านโกเอ็นก้าซึ่งเป็นอาจารย์วิปัสสนาที่มีลูกศิษย์ลูกหามากมายในประเทศไทย ตัวท่านนั้นถึงแก่กรรมแล้ว แต่ทางศูนย์ก็ใช้วิดิทัศน์ที่ท่านบรรยายในการฝึกอบรม

ท่านโกเอ็นก้าเป็นศิษย์เอกของท่านอูบ่าขิ่น พระนักปฏิบัติองค์สำคัญของพม่า ท่านโกเอ็นก้าได้เล่าเรื่องสมัยที่ท่านยังเป็นศิษย์ท่านอูบาขิ่น ได้มีฝรั่งมาฝึกวิปัสสนากับท่านอูบาขิ่น ท่านอูบาขิ่นได้เรียกท่านโกเอ็นก้ามา และบอกให้ไปดูผู้ปฏิบัติฝรั่งซิว่าเป็นยังไง ท่านโกเอ็นก้ากลับมาเล่ากับอาจารย์ว่า ตัวฝรั่งกำลังลอยขึ้นจากพื้น

ในการปฏิบัติวิปัสสนานั้น เรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เช่นการลอยตัวขึ้นไม่ใช่เรื่องแปลก และเท่าที่ทราบก่อนที่จะลอยนั้นผู้ปฏิบัติจะรู้สึกได้ถึงอาการตัวเบา

สิ่งที่ปรากฏเกิดขึ้นในชีวิตของพระเจ้าตาก เป็นเพราะชะตากรรมของท่านจะต้องเป็นนักรบกู้ชาติผู้เป็น Tragic Hero ผู้เปิดทางให้ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จักรีก้าวขึ้นมาอย่างสง่างาม

มนุษย์เราเกิดมาเพื่อเป็นตัวละครในช่วงหนึ่งๆ และเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ แล้วก็จากไป เพราะทุกสิ่งล้วนสมมติ จากเด็กลูกจีนที่พ่อแม่เลี้ยงดูเองไม่ได้ และต้องการให้งูฆ่าเขา ได้ก้าวขึ้นเป็นกษัตริย์เป็นเวลา 15 ปี กู้ชาติจนสำเร็จ แล้วก็ลาจากเวทีไป