E-DUANG : จะ “ยื้อ” หรือจะ “รื้อ” กรณี “ป่าแหว่ง”

การผลักดัน นายต่อตระกูล ยมนาค ออกมาเพื่อเสนอทางออกให้กับกรณี”ป่าแหว่ง”บนดอยสุเทพ

สะท้อน”ทิศทาง”ของคสช.และรัฐบาล

เพราะเนื้อหาอันสัมผัสได้จากคำพูดของ นายต่อตระกูล ยม นาค คือ การขยายรูปธรรมจากความต้องการของคสช.และของรัฐ บาลอย่างเด่นชัด

นั่นก็คือ ไม่เห็นด้วยกับการการทุบ หากแต่ต้องการให้รักษาไว้โดยมีการคืนความเป็นป่าให้ชอุ่มเขียวโดยรอบ

นี่ย่อมสวนทางกับมติอันมาจาก”เชียงใหม่”

การหารือระหว่าง นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ ในวันที่ 6 พฤษ ภาคม จึงมีความสำคัญเป็นอย่างสูง

คำถามก็คือ จะ”ยื้อ” หรือจะ”รื้อ”

 

ไม่ว่าจะมีความพยายามบิดเบือนบางรายละเอียดของกรณีบ้านพักติดกับอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ – ปุย อย่างไร

แต่เรื่องนี้ก็มีความรู้สึก”ร่วม”

เป็นความรู้สึกร่วมที่แม้จะมีการอ้างว่าทำอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่นับวันก็เห็นว่าไม่เหมาะสม ยิ่งเห็นภาพถ่ายทางอา กาศ ยิ่งเด่นชัดอย่างเป็นรูปธรรม

ที่เรียกว่า “ป่าแหว่ง” นั้นถูกต้องอย่างที่สุด โจ่งแจ้งจางปางในสายตาของผู้ประสบพบเห็น

จึงทำให้การชุมนุมที่เชียงใหม่มีความชอบธรรม

แม้จะกระทำอย่างขัดต่อคำสั่งหัวหน้าคสช. แม้จะกระทำอย่างขัดกับพรบ.การชุมนุมสาธารณะ แต่ไม่ว่าตำรวจ ไม่ว่าทหารก็มิอาจสกัดขัดขวาง

เท่ากับสะท้อนให้เห็นอำนาจของคสช. อำนาจของรัฐบาลก็เริ่ม “แหว่ง”ไปเช่นเดียวกับ”ป่า”บนดอยสุเทพ

ตรงนี้แหละคือ ความละเอียดอ่อนในกรณี”ป่าแหว่ง”

 

ไม่ว่าจะมองว่าเป็นเรื่องของป่า ไม่ว่าจะมองว่าเป็นเรื่องของธรรม ชาติและสิ่งแวดล้อม

แต่ ณ วันนี้ กรณี”ป่าแหว่ง”ได้เป็นปัญหา”การเมือง”แล้ว

เป็นปัญหาการเมืองที่ดำเนินไปเหมือนกับ “เผือกร้อน” ในมือของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งในฐานะหัวหน้าคสช.และในฐานะหัวหน้ารัฐบาล

      หากตัดสินใจ”พลาด” ความยุ่งเหยิงจะตามมาเป็นขบวนแถวยาวเหยียด