ในประเทศ / อำนาจ ‘แหว่ง’

ในประเทศ

อำนาจ ‘แหว่ง’

อํานาจเต็ม ทั้งในฐานะนายกรัฐมนตรี
อำนาจเต็ม ทั้งในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
แต่อำนาจ ก็ “แหว่ง” ไปเสียเฉยๆ
เมื่อต้องมาเผชิญกับปัญหาโครงการก่อสร้างบ้านพักตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 บนพื้นที่ป่าเชิงดอยสุเทพ ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
ที่กลุ่มเครือข่ายประชาชนชาวจังหวัดเชียงใหม่ คัดค้าน ด้วยเห็นว่าเป็นการทำลายป่า และเป็นทัศนะอุจาด แม้จะก่อสร้างโดยถูกต้องตามกฎหมายก็ตาม
ทั้งนี้ กลุ่มเครือข่ายประชาชนชาวจังหวัดเชียงใหม่ ได้แสดงพลังล่าสุดวันที่ 29 เมษายน ที่ลานข่วงประตูท่าแพ จ.เชียงใหม่
โดยมีประชาชนกว่า 5,000 คน มารวมตัวกันเพื่อแสดงเจตนารมณ์ ไม่เอาบ้านป่าแหว่ง
พร้อมใจกันผูกริบบิ้นสีเขียว
และเรียกร้องให้รื้อถอนบ้านพักตุลาการบริเวณเชิงดอยสุเทพดังกล่าว ภายใน 7 วัน
โดยมีเครือข่ายภาคประชาชนกว่า 40 องค์กรเข้าร่วม
สะท้อนให้เห็นว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้ “จุดติด”

จุดติด ด้วยโครงการบ้านพักตุลาการริมดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ ได้กลายเป็นคำถามถึงความเท่าเทียมในการดำเนินนโยบายทวงคืนผืนป่าของ คสช.
ซึ่งเป็นนโยบาย “โชว์และขาย” ของคณะรัฐประหารที่ประกาศไว้เมื่อก้าวสู่อำนาจในปี 2557
โดยกำหนดว่าจะคืนผืนป่าให้ได้ 40% ตามแผนแม่บท
แต่นโยบายดังกล่าว ไม่ปรากฏมรรคผลเท่าใดนัก
ตรงกันข้าม กลับมีโครงการก่อสร้างบ้านพักตุลาการในเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของดอยสุเทพที่ชาวบ้านนับถือ และยังเป็นการรุกพื้นที่ป่าดั้งเดิม ซึ่งเป็นแนวเขตแดนที่ภาคประชาสังคมและกองทัพซึ่งเป็นผู้ดูแลพื้นที่นี้ทำสัญญาร่วมกันไว้เมื่อ 30 ปีที่แล้ว
มาเสียดแทงหัวใจ
อาคารชุด 9 แห่งและบ้านพักตุลาการ 45 ที่ล้ำเข้าไปในแนวเขตป่าดั้งเดิมกลายเป็นสิ่งยอมรับไม่ได้
นำไปสู่การยื่นคำขาด “ต้องรื้อ” ออกไป และฟื้นฟูป่ากลับคืนมา
อย่างไรก็ตาม สำนักงานศาลยุติธรรมได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่าไม่อาจยุติและรื้อถอนโครงการได้เพราะจะถูกคู่สัญญาฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย และจะถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินดำเนินการหาผู้รับผิดชอบตามกฎหมายด้วย
นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการ สนง.ศาลยุติธรรมระบุว่า คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมมีมติให้รับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายและมีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงไปยังรัฐบาลเพื่อให้รัฐบาลเป็นคนตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไร
ขณะที่ตัวแทนศาลอุทธรณ์ภาค 5 เรียกร้องขอเวลา 10 ปี ในการอยู่อาศัยและจะฟื้นฟูสภาพป่ากลับคืนมา
แต่ดูเหมือนว่าเครือข่ายประชาชนจะยอมรับไม่ได้ แถมยังโกรธเคืองข้อต่อรองดังกล่าว
สถานการณ์จึงร้อนฉ่า

ขณะที่ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “คนไทยคิดอย่างไรกับโครงการสร้างบ้านพักตุลาการศาลบริเวณดอยสุเทพ” โดยสำรวจระหว่างวันที่ 21-23 เมษายน จากประชาชนทั่วประเทศ 1,250 หน่วยตัวอย่าง
พบว่าผลสอดคล้องกับท่าทีของชาวเชียงใหม่
คือ ประชาชนร้อยละ 85.20 ระบุว่า ไม่เหมาะสม เพราะเป็นการทำลายป่าไม้ ทำลายธรรมชาติและระบบนิเวศ สิ้นเปลืองงบประมาณ ควรนำงบประมาณไปใช้ทำอย่างอื่นที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับคนในพื้นที่ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวไม่ควรมีสิ่งปลูกสร้าง สำหรับความคิดเห็นของประชาชน ส่วนการรื้อถอนบ้านพักตุลาการศาลบริเวณดอยสุเทพออกทั้งหมด พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 53.84 ระบุว่าเห็นด้วย
ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม “เพจไทยคู่ฟ้า” ของรัฐบาล
โพสต์ถามความเห็นแก้ปัญหาบ้านพักตุลาการเชิงดอยสุเทพว่ารัฐบาลควรจะทำอย่างไร
ปรากฏว่าผ่านไปเพียง 3 ชั่วโมง
มีผู้เข้ามาออกความเห็นถึง 5 พันคน
โดยส่วนใหญ่ระบุว่าต้องการให้รื้อทิ้ง ขอคืนพื้นที่ป่า บางส่วนระบุว่าไม่ต้องรื้อแต่ห้ามใช้พักอาศัย ให้นำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น
กระแสไปในทิศทางเดียวกัน คือไม่เอา บ้านป่าแหว่ง!

นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ได้ออกมาย้ำท่าทีว่า ทางสำนักงานศาลยุติธรรมยังยืนตามมติของคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ที่มีมติให้นายกรัฐมนตรีเเละฝ่ายบริหารพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป หากได้ผลประการใดทางสำนักงานศาลยุติธรรมไม่ขัดข้อง
นั่นเท่ากับ “เผือกร้อน” ตกอยู่ในมือของ พล.อ.ประยุทธ์
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ภายหลังเป็นประธานการประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ได้เปิดใจ โดยยอมรับว่าไม่สบายใจและมีความกังวลใจต่อเรื่องนี้
“จึงได้ตั้งคณะทำงานโดยมีนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานลงไปพูดคุย ทราบว่ามีผลการพูดคุยในทางที่ดี การที่จะออกมาเคลื่อนไหวเดินขบวนต่างๆ จะเป็นปัญหาต่อส่วนรวมเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปจึงต้องดูหลายๆ อย่าง เพราะมีกฎหมายหลายฉบับ”
“ยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญต่อความรู้สึกของชาวเชียงใหม่” พล.อ.ประยุทธ์ย้ำ
ถือเป็นความพยายาม “ซื้อเวลาออกไป” ของรัฐบาลอีกครั้ง
ซึ่งเครือข่ายชาวเชียงใหม่จะยินยอมหรือไม่ คงต้องติดตาม
แต่เรื่องนี้คงหาข้อยุติไม่ได้ง่ายๆ เพราะ “มือกฏหมาย” ของรัฐบาล อย่างนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาชี้ว่า
“ฝ่ายศาลก็บอกว่าเขาทำถูกกฎหมาย ประชาชนก็ยอมรับว่าฝ่ายศาลก็ทำถูกกฎหมาย แต่มันขัดความรู้สึกและขัดธรรมาภิบาล ทุกคนจึงต้องช่วยกันคิดหลายตลบ เพราะการทุบบ้านดังกล่าวทิ้งถือเป็นการทำผิดกฎหมาย ทำลายทรัพย์สินของราชการที่ใช้งบประมาณกว่าพันล้านในการก่อสร้าง ซึ่งผู้ชุมนุมก็ทราบเรื่องนี้ เขาจึงมีมติที่แตกออกไปหลายประเด็น ขณะที่ฝ่ายศาลก็ไม่ขัดข้องหากจะต้องย้ายสถานที่ใหม่ แต่ขอให้ระวังเรื่องการจะทุบบ้านดังกล่าว เพราะถือเป็นการทำผิดกฎหมาย ซึ่งก็มีประชาชนบางส่วนขอให้ใช้ ม.44 สั่งทุบบ้าน แต่นายกฯ บอกว่ามันไม่ใช่เป็นเหตุเป็นผลที่จะไปทำอย่างนั้น”
นี่จึงเป็นความยุ่งยากของการแก้ปัญหานี้

แต่กระนั้น รัฐบาลจะไม่ทำอะไรก็คงไม่ได้
เพราะคำว่า “หมู่บ้านป่าแหว่ง” ได้ประทับลงใจของชาวบ้านโดยทั่วไปแล้ว
และคงไม่สนุกนัก หากรัฐบาลจะเมินเฉย เพราะจะถูกมองว่าเป็น “รัฐบาลอำนาจแหว่ง”
ทั้งที่รัฐบาลและ คสช. มีอำนาจอยู่เต็มมือ
แต่กลับไม่สามารถใช้อำนาจนั้นได้
นี่ย่อมทำให้ “จุดแข็ง” กลายเป็นจุดอ่อน คือไม่สามารถใช้อำนาจ หรือตัดสินใจ
ไม่แตกต่างจากรัฐบาลพลเรือน โดยเฉพาะที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งรัฐบาลนี้ และ คสช. เคยโจมตีเสมอว่า ไม่แก้ปัญหา และปล่อยให้ปัญหาหมักหมม
แต่พอถึงตนเอง ก็ตกอยู่ในภาวะละล้าละลังเหมือนกัน
นี่จึงเป็นสิ่งที่สะท้อนว่า บางทีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม ก็ไม่สามารถจัดการปัญหาได้เช่นกัน
และการไม่แก้ปัญหาก็ไปสะท้อนว่า สิ่งที่ตนเองเคยสัญญาหรือประกาศอย่างแข็งขัน โดยเฉพาะ “การคืนผืนป่า” ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง
จะทำได้ก็เฉพาะกับชาวบ้านตาดำๆ ที่ “บุกรุก” ที่เพราะไม่มีที่ทำกินหรืออยู่อาศัย
ส่วนที่มี “อภิสิทธิ์” หรือมีกลไกราชการคุ้มครอง กลับไม่สามารถดำเนินการอะไรได้
เช่นนี้เอง ทำให้รัฐบาลและ คสช. ถูกมองว่า “อำนาจแหว่ง” มากยิ่งขึ้นเสียเอง
จะมีอำนาจเต็มเปี่ยมก็เฉพาะการ “ดูด” การ “ดึง” เอานักการเมืองที่ตนเองเคยรังเกียจมาเป็นฐานเพื่อ “เสริม” อำนาจแหว่งๆ เท่านั้น!

นายเดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความเห็นกรณีผ่านเฟชบุ๊ก Decharut Sukkumnoed
กรณีป่าแหว่งไว้อย่างแหลมคมว่า
“…รัฐบาล คสช. อาจอ้างว่า บ้านพักสุดหรูเป็นสมบัติของทางราชการ (จึงรื้อไม่ได้)
แต่การอ้างเช่นนี้ ก็คงไม่ถูกต้องเช่นกัน ด้วยเหตุผล 2 ข้อคือ
หนึ่ง ตัวศาลยุติธรรมก็เคยรื้ออาคารศาลฎีกาหลังเก่า ซึ่งเป็นสมบัติของทางราชการ และเป็นอาคารประวัติศาสตร์ของชาติมาแล้วเช่นกัน
สอง เมื่อรื้อแล้ว ป่าไม้ที่ได้กลับคืนมาก็เป็นสมบัติของทางราชการเช่นเดิม
เพราะฉะนั้น การรื้อบ้านพักป่าแหว่ง จึงไม่ใช่การทำให้สมบัติของทางราชการลดลง แต่เป็นการเปลี่ยนสมบัติอย่างหนึ่ง (คือบ้านพัก) ไปเป็นสมบัติอีกอย่างหนึ่ง (คือป่าที่จะหายแหว่ง) มากกว่า
แถมสมบัติที่จะได้กลับคืนมาคือป่าที่หายแหว่งนั้น ยังเป็นสมบัติที่สาธารณชนมีส่วนจะได้รับประโยชน์ร่วมกันมากกว่าบ้านพักของผู้ดำรงตำแหน่งไม่กี่ตำแหน่งเสียอีก
แล้วถ้าเช่นนั้น รัฐบาล คสช. กลัวอะไร
คิดว่าสิ่งที่รัฐบาลกลัวการ “รื้อ” ไม่ใช่ตัวหมู่บ้านเองหรอก
แต่รัฐบาลน่าจะกลัวการ “รื้ออำนาจ” ที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจใช้พื้นที่ป่าแหว่งแห่งนั้นมากกว่า
ผมไม่ได้หมายถึง “การรื้อถอนอำนาจ” ของบุคคลแต่ละบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเซ็นอนุมัติโครงการดังกล่าว
แต่หมายถึง “การรื้อถอนอำนาจของสถาบันรัฐ” ที่ตัดสินใจใช้พื้นที่ป่าต่างๆ กันอยู่ตามลำพังมากกว่า
หากการ “รื้อถอนอำนาจ” ครั้งนี้ทำสำเร็จ รัฐก็อาจกังวลว่า จะมีการ “รื้อถอนอำนาจ” ในกรณีอื่นๆ ทั้งที่ได้ขออนุญาตไปแล้ว และจะขอต่อไปในอนาคต
เราต้องไม่ลืมว่า ที่ผ่านมา มีการขอใช้พื้นที่ป่า (ที่อ้างว่าเสื่อมโทรม) ไปทำโรงงานเครื่องดื่มบำรุงกำลัง ไปทำสนามบิน ไปใช้ในกิจการของทหาร รวมถึงมีการอนุญาตให้พื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ซึ่งก็มาจากป่าเสื่อมโทรม) ไปทำกิจการด้านพลังงานต่างๆ มากมาย
เกือบทุกโครงการที่ขออนุญาตนั้น สาธารณชนแทบจะไม่ทราบเรื่องหรือมีส่วนร่วมในการพิจารณาเลย จนกระทั่งเรื่องแดงขึ้นมานั่นแหละ ครั้งนี้ที่หมู่บ้านป่าแหว่งก็เช่นกัน
นี่คือ ภยาคติ ที่รัฐบาลกลัวในการ “รื้อ” หมู่บ้านป่าแหว่งครั้งนี้
ยิ่งหากไม่สามารถกล่าวโทษผู้ใดในทางกฎหมายเป็นรายบุคคลได้ รัฐบาลยิ่งกริ่งเกรงว่า สิ่งที่จะถูกรื้อถอนไปพร้อมกับหมู่บ้านป่าแหว่งด้วยคืออำนาจของสถาบันรัฐ ในการจัดการพื้นที่ป่าสาธารณะตามลำพังนั่นเอง”
ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องยอม “อำนาจแหว่ง”!?!?