เก็บตกละครบุพเพฯ : สัญลักษณ์อะไรบนหน้าผากคุณพี่หมื่น

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ละครบุพเพสันนิวาสจบไปแล้ว ก็ได้แต่หวังใจว่า ความสนใจด้านประวัติศาสตร์ ประเพณี สังคมวัฒนธรรมของสมัยอยุธยาจะไม่เลือนหายเร็วไปนัก

พูดถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ที่จริงเรื่องศาสนาในรัชสมัยนั้นก็น่าสนใจไม่น้อย เพราะมีศาสนาจากตะวันตกเข้ามาในอาณาจักรอยุธยาอย่างจริงจัง ในขณะที่พุทธและพราหมณ์ก็มีอำนาจไม่น้อย

ถ้าผมจำไม่ผิด คราไปเยือนวังนารายณ์ราชนิเวศน์ที่ลพบุรีเมื่อนานมาแล้ว ผมสังเกตเห็นยันต์โลหะแผ่นหนึ่ง ในตู้โชว์พิพิธภัณฑ์ของวัง เข้าใจว่าคงขุดพบ

ผมจ้องแล้วจ้องอีก เพราะยันต์นั้นไม่ได้เขียนด้วยอักษรไทยหรืออักษรขอมตามแบบที่เราเห็นทั่วไป แต่เขียนด้วยอักษรเทวนาครีของอินเดีย

ผมจำไม่ได้ถนัดนักว่ายันต์นั้นคือยันต์อะไร แต่มีตัวอักษรที่ผูกขึ้นพิเศษสำหรับเขียนยันต์ตามแบบอินเดียด้วย ซึ่งเคยเห็นในหนังสือยันต์ของมิตรสหายอินเดียท่านหนึ่ง

เรื่องเลขยันต์พราหมณ์ครั้นเข้ามาแถวนี้แล้วก็ใช้อักษรพื้นเมืองไปสิ้น การได้พบยันต์ที่ใช้อักษรอินเดียในพระราชฐานแสดงว่าความรู้ทางพราหมณ์แบบอินเดียคงแพร่หลายไม่น้อยในรัชสมัยนั้น เป็นมูลเหตุของความประทับใจเล็กๆ

 

กลับมาเรื่องละครบุพเพฯ มีหลายฉากหลายตอนที่พระเอกพี่หมื่นและท่านพ่อ (พระโหราฯ) ทำพิธีกรรมที่ดูกระเดียดๆ ไปทางพราหมณ์อินเดีย (เช่น ตอนใช้มนตร์กฤษณะกาลี ซึ่งผมเคยเขียนไปแล้ว)

ผู้สร้างละครดึงเอาพิธีกรรมต่างๆ ของพราหมณ์มาปรากฏในหน้าจอ เช่น การโหมกูณฑ์ คือการบูชาไฟ ก็เห็นพระเอกและตัวคุณพ่อเอาสิ่งต่างๆ ลงใส่กระถางไฟ มีพิธีอารตี คือแกว่งคันชีพหรือประทีปบูชา

แต่ที่หลายคนสงสัย คือการแต่งกายของพระเอก และสัญลักษณ์บนหน้าผาก

พระเอกพันสร้อยประคำอะไรต่อมิอะไรรุงรัง และเขียนหน้าผากเป็นรูปตัววีสีขาวมีเส้นแดงตั้งขึ้นอยู่ตรงกลาง

อันนี้แหละครับ ของจากอินเดียจริงๆ เสียดายที่มันขัดกันเองไปหน่อย

 

กล่าวคือ ลูกประคำที่พระเอกใส่นั้น เรียกว่า “รุทรากษะ” (รุทระ + อักษะ) แปลว่าดวงตาหรือน้ำตาของพระรุทระ (พระศิวะ) เป็นพืชชนิดนึ่ง มีกระจายทั่วไปตั้งแต่อินเดียถึงอินโดนีเซีย เมล็ดเมื่อสุกมีสีม่วงหรือฟ้าสดใส เมื่อแกะเนื้อออก เมล็ดข้างในมีลักษณะขรุขระแบ่งออกเป็นพูๆ ปกติจะมีห้าพูหรือเรียกกันว่า “ห้าหน้า” (ภาษาแขก – มุขี)

ผมเข้าใจว่าเป็นพืชชนิดเดียวกับ “พระเจ้าห้าพระองค์” ของบ้านเรา แต่น่าจะคนละสายพันธุ์

สมัยโบราณ เมื่อเมล็ดรุทรากษะเกิดการกลายพันธุ์หรือผิดปกติ เกิดหน้าแปลกๆ เช่นหน้าเดียวไปจนถึงเป็นสิบหน้า ถือเป็นของ “ทนสิทธิ์” แบบเดียวกับบ้านเราถืองาช้างคด คดไม้อะไรเทือกๆ นั้น ก็จะยิ่งหายากมีราคาสูง

เล่นหากันเป็นหมื่นเป็นแสน คนไทยก็เริ่มนิยมเล่นหากัน ทั้งที่ “ทนสิทธิ์” เดี๋ยวนี้มีเทคโนโลยีทำได้ทั้งนั้น (ฮา)

เมล็ดรุทรากษะนิยมนำมาร้อยประคำหรือ “มาลา” ใช้สวดภาวนาดีนัก ถือเป็นของสวัสดิมงคลของผู้นับถือ “พระศิวะ”

ที่จริงนอกจากรุทรากษะแล้ว คนฮินดูยังใช้ของอื่นอีกมากในการทำประคำ เช่นไม้กะเพรา สำหรับผู้นับถือพระวิษณุ เม็ดบัว ไข่มุก ปะการัง หินมีค่าต่างๆ โดยเฉพาะ สผาฏิกหรือควอตซ์ใส

แต่พราหมณ์สยามนิยมใช้ “ประคำแก้ว” ทำจากแก้วหรือหินจุยเจีย หรือคริสตัลต่างๆ มากกว่ารุทรากษะอย่างพวกอินเดีย

 

ที่ผมว่ามันขัดกันเอง ก็เพราะพระเอกละครของเราสวมรุทรากษะรุงรังไปหมด เป็นมงคลมาลาของ “พระศิวะ” แต่บนหน้าผากกลับเขียนสัญลักษณ์ของ “พระวิษณุ” ไปเสียชิบ

คนฮินดูเจิมหน้าผากด้วยหลากหลายวิธี หลากหลายวัสดุ และหลากหลายเหตุผล

สัญลักษณ์บนหน้าผากเรียกกันรวมๆ ว่าติลก (ไทยเขียนดิลก) หมายถึง “ยอด” คือเจิมบริเวณหน้าผากระหว่างคิ้วจนไปสูงจรดไรผม

ปกติถือว่าบริเวณนั้นเป็นที่ “ศรี” ถ้าพูดแบบผีคือบริเวณ “ขวัญ” แบบแขก (นอกจากขวัญม้วนๆ บนศีรษะ) เป็นสิริรวมของระบบประสาท การรับรู้พิเศษ ดังที่มักเรียกกันว่าเป็น “จักร” ตาที่สาม

เมื่อไหว้พระสวดมนตร์หรือไปวัด ก็จะเจิมด้วย “จันทน์” คือไม้จันทน์ฝนผสมเครื่องหอมต่างๆ เป็นต้นว่า เกสรทั้งแปด (อัษฏคันธะ) ชะมดเช็ด (แขกเรียกกัสตุรี) มักออกสีส้มหรือเหลือง

บางครั้งก็เจิมด้วย “กุงกุม” ได้แก่ผงสีแดงที่ทำจากพืชชนิดหนึ่ง

นี่คือเจิมเพื่อความเป็นสิริมงคลเป็นหลัก (บ้างก็ว่าเพื่อรักษาระบบประสาทให้เย็นตามหลักอายุรเวท)

 

อีกประการหนึ่งคือเจิมเพื่อบ่งบอกลัทธินิกายที่ตนสังกัด อันนี้จะแตกต่างกันไปทั้งวัสดุและรูปแบบ

หลักๆ มีสามแบบครับ ผู้นับถือพระศิวะ จะขีดเป็นแถบสามแถบเรียงกันในแนวนอนบนหน้าผาก (และอาจมีรายละเอียดต่างกันบ้างเล็กน้อย) เรียกว่า “ตริปุณฑระ” ด้วยขี้เถ้าศักดิ์สิทธิ์ ในสมัยโบราณจะใช้ขี้เถ้าจากการเผาศพในป่าช้า

ปัจจุบันผงขี้เถ้านี้มีขายทั่วไป มักทำจากใบมะตูมหรือมูลโคเผาผสมเครื่องหอม เรียกว่าภัสมะ (ขี้เถ้า) หรือวิภูติ ไปเดินพาหุรัดมีขายแทบทุกร้านครับ

อันนี้แหละที่ท่านว่า พราหมณ์ฮินดู “ฉาบไล้โคมัย ไปเสพมังสะ”ในจารึกวัดพระเชตุพน คือน้อยมากที่จะเอาโคมัย (ขี้วัว) สดๆ มาฉาบไล้ แต่ใช้แบบเป็นเถ้าแล้วเสียมาก

ส่วนผู้นับถือเจ้าแม่ มักจะเจิมจุดแดงกลมๆ เรียกว่าพินทุไว้บนหน้าผากเท่านั้นเอง

ผู้นับถือพระวิษณุหรืออวตารของพระองค์ จะเขียน “อูรธวะปุณฑระ” บนหน้าผาก

อูรธวะแปลว่า ตั้งขึ้น (เช่น พระศิวะมีพระนามว่า อูรธวะลิงคัม แปลว่าผู้มีลึงค์ตั้งขึ้น) ปุณฑระ ท่านว่า มาจากปุณฑรีกะ แปลว่า กลีบบัวหรือดอกบัว คือมีลักษณะคล้ายกลีบบัว หรือหมายถึงพระบาทบงกชก็ได้

สัญลักษณ์นี้ มักเขียนเป็นตัวยูหรือวี ด้วย “โคปีจันทน์” หรือจันทน์ของหญิงเลี้ยงโค (โคปี) ได้แก่ ดินสอพองแบบบ้านเรา แต่มักขุดจากแหล่งในเมืองพฤนทาวันและมธุรา ผสมเครื่องหอม มีสีขาวหรือเหลืองนวล ปัจจุบันมีผู้ทำขายทั่วไป เวลาจะใช้ก็ฝนกับน้ำให้ละลาย แล้วเจิมเอา

ตัววีหรือยูนี้ เขาสมมุติให้เป็น “พระบาท” ของพระวิษณุเป็นเจ้า ซึ่งประทับอยู่บนหน้าผากศาสนิก และสีขาวหรือเหลืองคือสีประจำของพัสตราภรณ์แห่งพระวิษณุ นัยว่าเป็นทั้งสวัสดิมงคลและคามบริสุทธิ์สะอาด

ส่วนตรงกลางนั้น จะเจิมด้วยสีและสัญลักษณ์อย่างไร ขึ้นอยู่กับนิกายย่อยๆ ออกไปอีก เช่น เจิมด้วยผงกุงกุมสีแดง มักใช้ในไวษณวะฝ่ายใต้ (เรียกว่านิกายศรีสัมประทายะ) บ้างก็เป็นขมิ้นเหลืองตรงกลาง หรือจุดดำจากถ่านต้นกระเพรา หรือจุดแดง ฯลฯ

ตรงกลางนี้มักหมายถึงพระเทวี เช่นพระลักษมีหรือศรี หรือเทวีต่างๆ ที่เป็นคู่ครองของพระวิษณุ หรือนัยว่าเป็นสิริมงคลในทางโลกียะ

บางนิกายในอินเดียเรียกอูรธวะปุณฑระว่า นามัม (นาม) คือขณะที่เขียนต้องท่องพระนามพระวิษณุต่างๆ ไปด้วย และไม่ได้เขียนเฉพาะหน้าผากแต่เขียนในส่วนต่างๆ ของร่างกาย การเจิมนี้จึงดุจดังรักษานามของพระเป็นเจ้าไว้ยังส่วนต่างๆ

 

ที่จริง พราหมณ์สยามเองก็ไม่เคยมีปรากฏว่าได้เจิมดิลกเป็นรูปร่างต่างๆ ดังนิกายในอินเดีย เท่าที่ผมเคยเห็นในพระราชพิธี ท่านก็เจิมเป็นจุดกลมไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายเท่านั้น ธรรมเนียมดิลกสัญลักษณ์นี้คงเข้มข้นแต่ในอินเดียเท่านั้น

เผอิญผู้จัดละครและทีมคอสตูมอาจรับความรู้เกี่ยวกับอินเดียแบบสมัยใหม่มากขึ้นจึงปรากฏฉากดังกล่าว หรืออาจคิดไปไกลอย่างผมว่า ในสมัยพระนารายณ์นั้น ความรู้แบบอินเดียคงมีมากจริงๆ กระมัง ตัวละครจึงควรทำพิธีพราหมณ์และแต่งกายอย่างอินเดียเชียว

กระนั้นไม่ว่าผมจะคิดเกินไปหรือไม่ อย่างน้อยฉากเล็กๆ ในละครก็พอมีอะไรให้ผมได้ชวนท่านผู้อ่านคุยและศึกษาหาความรู้จากของเล็กๆ น้อยๆ นั้น

เป็นประโยชน์ไม่เสียเปล่านะออเจ้า