สุรชาติ บำรุงสุข : อนาคตอันอึมครึม อย่าปิดหม้อน้ำเดือดด้วยฝ่ามือ

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ไม่มีอะไรเกิดขึ้นโดยอุบัติเหตุในการเมือง ถ้ามีอะไรเกิดขึ้น คุณก็เดาได้เลยว่าสิ่งนั้นถูกวางแผนให้เกิดเช่นนั้น”

Franklin D. Roosevelt

คงต้องยอมรับว่าหลังจากรัฐบาลทหารมีท่าทีที่ชัดเจนว่าการเลือกตั้งจะไม่เกิดขึ้นตามตารางเวลาที่ได้ระบุไว้ในแถลงการณ์ร่วมไทย-สหรัฐอเมริกาในเดือนพฤศจิกายน 2561 แล้ว อนาคตการเมืองไทยก็เดินเข้าสู่ความ “อึมครึม” เป็นอย่างยิ่ง

เพราะหลังจากตารางเวลาของการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่ได้ประกาศไว้ในเวทีระหว่างประเทศถูกเลื่อนมาแล้วถึง 2 ครั้ง

การส่งสัญญาณว่ามีการเลื่อนอีกเป็นครั้งที่ 3 ก็เท่ากับการบ่งบอกว่าจากนี้ไปอนาคตจะเป็นความไม่แน่นอน

และเท่าๆ กับบอกว่ารัฐบาลทหารพยายามที่จะอยู่ในอำนาจให้ได้นานที่สุด โดยการเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไปจนไม่มีความชัดเจนว่าแล้วการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในการเมืองไทยได้หรือไม่ และเกิดขึ้นเมื่อใด

สภาวะเช่นนี้ทำให้เกิดคำถามต่อการมองการเมืองไทยว่า เราจะทำความเข้าใจกับ “ความอึมครึม” ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างไร

บทความนี้จึงเป็นความพยายามที่จะพิจารณาถึงปัญหาที่รัฐบาลทหารกำลังเผชิญ อันเปรียบได้กับการมาถึง “ทางแพร่ง” ที่จะต้องตัดสินใจเลือกทางเดินในอนาคต

Political Dilemma

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากปีใหม่ 2561 เป็นต้นมา เห็นได้ชัดเจนว่ารัฐบาลทหารกำลังเผชิญกับการท้าทายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

สภาวะเช่นนี้กลายเป็นแรงกดดันต่อการตัดสินใจของรัฐบาลเป็นอย่างยิ่ง จนต้องถือว่ารัฐบาลกำลังอยู่ในสภาวะที่จะต้องตัดสินใจในการเลือกเส้นทางที่จะเดินไปข้างหน้า

และทางเลือกเช่นนี้อาจจะไม่ถูกใจหรือไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาลทั้งสองทาง หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกสภาวะเช่นนี้ว่าเป็น “dilemma” (คำแปล : “สถานการณ์ให้เลือกซึ่งทั้งสองทางเลวร้ายพอๆ กัน”)

หากดูจากการเมืองของช่วงต้นปี 2561 แล้ว ทางเลือกของรัฐบาลทหารมีเพียง 2 เส้นทาง คือ ตัดสินใจเปิดการเลือกตั้งตามที่ประกาศไว้ หรือตัดสินใจที่จะเลื่อนการเลือกตั้งออกไป

ซึ่งเห็นได้ชัดว่าทั้งสองเส้นทางนี้ รัฐบาลทหารต้องเผชิญกับแรงกดดันในรูปแบบที่แตกต่างกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ถ้ารัฐบาลตัดสินใจยอมรับที่จะเดินไปบนเส้นทางของการเลือกตั้งที่กำหนดไว้ในเดือนพฤศจิกายน 2561 รัฐบาลทหารก็จะต้องมั่นใจว่าพวกเขาจะต้องได้รับชัยชนะจากผลการลงเสียงที่จะเกิดขึ้น

ดังนั้น ความมั่นใจเช่นนี้จะต้องมาจากปัจจัยต่างๆ ที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะต้องมีการจัดตั้งพรรครัฐบาล หรืออาจจะเรียกว่า “พรรคทหาร” เพื่อรองรับต่อการเลือกตั้งที่จะมาถึงในอนาคต อันเป็นตัวแบบที่ผู้นำทหารในอดีตเคยใช้มาตลอด ดังจะเห็นได้จากประวัติศาสตร์ ได้แก่

1) พรรคเสรีมนังคศิลา มี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นหัวหน้าพรรค และมี พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นเลขาธิการพรรค พรรคนี้จดทะเบียนในเดือนกันยายน 2498

2) พรรคสหภูมิ ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่ใช้ตัวแทนโดยมี นายสุกิจ นิมมานเหมินท์ เป็นหัวหน้าพรรค และ นายสงวน จันทรสาขา (น้องชายต่างบิดาของจอมพลสฤษดิ์) เป็นเลขาธิการพรรค พรรคจดทะเบียนในเดือนมกราคม 2500 ซึ่งต่อมาได้มีการรวมพรรคอื่นเข้ามา และตั้งพรรคใหม่ชื่อ “พรรคชาติสังคม” ในเดือนธันวาคม 2500 โดยมีจอมพลสฤษดิ์ เป็นหัวหน้าพรรค พล.ท.ถนอม กิตติขจร เป็นรองหัวหน้าพรรค และ พล.ท.ประภาส จารุเสถียร เป็นเลขาธิการพรรค

3) พรรคสหประชาไทย มีจอมพลถนอม เป็นหัวหน้าพรรค และ พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ เป็นเลขาธิการพรรค พรรคจดทะเบียนในเดือนตุลาคม 2511

4) พรรคสามัคคีธรรม ซึ่งก่อตั้งโดยกลุ่มทหาร แต่ดึงเอานักการเมืองที่ถูกทหารตรวจสอบทรัพย์สินมาเป็นแกนนำของพรรค แต่ก็เป็นที่รับรู้กันว่าพรรคนี้คือพรรครัฐบาลทหาร และมีบทบาทโดยตรงในการสนับสนุน พล.อ.สุจินดา คราประยูร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

จากยุคจอมพล ป. จอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอม และ พล.อ.สุจินดา จะเห็นได้ชัดว่าผู้นำทหารพยายามจะดำรงอำนาจผ่านกระบวนการเลือกตั้งผ่านการจัดตั้งพรรครัฐบาลทหาร

และเห็นว่าพรรคเช่นนี้จะเป็นเครื่องมือหลักของการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง

อันอาจกล่าวเชิงเปรียบเทียบได้ว่าตัวอย่างของพรรคสหประชาไทยมีบทบาทจากการก่อตั้งในปี 2511 จนถึงการรัฐประหารตัวเองของจอมพลถนอมในเดือนพฤศจิกายน 2514 อาจจะเป็นความหวังสำหรับผู้นำทหารในยุคปัจจุบัน

แม้ขณะนี้จะยังไม่มีการปรากฏตัวของพรรครัฐบาลทหารที่ชัดเจน แต่ก็คงคาดเดาได้ไม่ยากว่า รัฐบาล คสช. คงหันกลับไปในแนวทางเดิมที่จะมีพรรคของตัวเอง

ปัญหาสำคัญเฉพาะหน้าขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้งว่า พรรครัฐบาลทหารจะสามารถชนะและจัดตั้งรัฐบาลได้จริงหรือไม่

แม้รัฐบาลทหารจะใช้วิธีการสร้าง “ความได้เปรียบทางการเมือง” ด้วย “อภินิหารทางกฎหมาย” ในรูปแบบต่างๆ

แต่ใครจะประกันได้ว่า แม้จะได้เปรียบทางการเมืองของความเป็นรัฐบาลทหาร พรรครัฐบาลจะชนะการเลือกตั้ง

ตัวแบบของความพ่ายแพ้ของรัฐบาลทหารในการเลือกตั้งในเมียนมาในปลายปี 2558 เป็นตัวอย่างที่บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า แม้รัฐบาลจะได้เปรียบทุกอย่าง แต่ในที่สุดพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ก็เป็นผู้ชนะ

หรือในกรณีไทย ชัยชนะของพรรคสามัคคีธรรมก็เป็นข้อเตือนใจอย่างดีว่า แม้พรรครัฐบาลทหารจะชนะ แต่การชนะก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตใหญ่

และจบลงด้วยการชุมนุมประท้วงอย่างกว้างขวาง จนกลายเป็นความพ่ายแพ้ของทหารครั้งที่สองหลังเหตุการณ์ในปี 2516

แต่ถ้าไม่มั่นใจแล้ว การตัดสินใจ “เลื่อน” การเลือกตั้งออกไปเพื่อเป็นการถ่วงเวลา ก็เท่ากับยิ่งส่งสัญญาณว่าการเลือกตั้งอาจจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นเลยในระยะเวลาอันใกล้

ดังจะเห็นได้ว่า ผู้คนในสังคมไทยเริ่มไม่เชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

ยิ่งในกรณีที่เป็นความเชื่อมั่นของต่างประเทศแล้ว ก็แทบจะเป็นคำสัญญาที่ถูกมองด้วยความคลางแคลงใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะเท่ากับเป็นสัญญาครั้งที่ 4

ดังนั้น การประกาศ “เลือก” ตั้งหรือประกาศ “เลื่อน” เลือกตั้งจึงเป็นสภาวะที่เป็น “dilemma” สำหรับรัฐบาลทหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังที่บทความของผู้เขียนก่อนหน้านี้เคยตั้งเป็นข้อสังเกตว่า “เลือกก็แพ้ เลื่อนก็พัง”

และทั้งหากเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจริงก็ไม่มีหลักประกันว่าพรรครัฐบาลทหารจะชนะ

เนื่องจากสภาวะแวดล้อมปัจจุบันไม่มีปัจจัยเชิงบวกสำหรับรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาพทางเศรษฐกิจ และขีดความสามารถของทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล เป็นต้น

Political Deadlock

ในโลกแห่งความเป็นจริงของการเมืองไทย ทุกคนทราบดีว่า รัฐบาลทหารมีความฝันที่ต้องการอยู่ในอำนาจให้ได้อย่างยาวนาน

หรือถ้าเป็นไปได้ก็ทำให้การเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีจุดจบ

ดังจะเห็นได้ว่าในด้านหนึ่ง ผู้นำทหารพยายามกล่าวโจมตีระบบการเมืองแบบการเลือกตั้ง และนักการเมืองมาโดยตลอด

หรือในอีกด้านหนึ่งก็ใช้ “ปฏิบัติการจิตวิทยา” (ปจว.) เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจของสาธารณชนต่อระบอบการปกครองของทหารด้วยการทำโพล และในอีกด้านก็เพื่อสร้างภาพว่าผู้นำรัฐบาลทหารได้รับความสนับสนุนจากประชาชนมากกว่าบรรดาผู้นำการเมืองพลเรือนทุกคน

อย่างไรก็ตาม บทความนี้จะไม่ถกแถลงถึงความน่าเชื่อถือของผลสำรวจเหล่านี้

แต่อาจกล่าวได้ว่าหากมองจากมุมของการทำ “สงครามข่าวสาร” แล้ว ผลโพลดังกล่าวเป็นปฏิบัติการจิตวิทยาอย่างชัดเจน

บทความนี้จะไม่เรียกว่าการยกระดับของปฏิบัติการจิตวิทยาของรัฐบาลทหารว่าเป็นปฏิบัติการข่าวสาร

เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจากกระบวนการที่เกิดขึ้นเป็นเพียง “งาน ปจว.” แบบพื้นๆ ที่ตกทอดมาจากยุคสงครามคอมมิวนิสต์เท่านั้นเอง

ซึ่งในสภาพเช่นนี้ผู้นำทหารดูจะเชื่อมั่นว่าพวกเขาสามารถควบคุมสังคมไทยได้ด้วยงาน ปจว. แบบที่ดำเนินการกัน

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือเชื่อว่าพวกเขาสามารถ “กล่อม” ให้ผู้คนในสังคมไทยเชื่อและมองไปในทิศทางที่ผู้นำทหารต้องการ

นักปฏิบัติการ ปจว. เหล่านี้บางส่วนอาจจะมั่นใจจากผลงานของการสร้างภาพของความเป็นข้าศึกในการต่อสู้กับการชุมนุมของแนวร่วม นปช. ในปี 2553 จนพวกเขาเชื่อว่าพวกเขาเคยใช้งาน ปจว. เป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมให้แก่การล้อมปราบใน “ยุทธศาสตร์ราชประสงค์” ได้อย่างสำเร็จมาแล้ว

ดังนั้น พวกเขาจึงหวังอย่างมากว่า พวกเขาจะใช้งาน ปจว. แบบเดิมในการสร้างความสำเร็จให้รัฐบาลทหารอยู่ได้อย่างยาวนานในการเมืองไทย

แต่ดูเหมือนนัก ปจว. ทหารหัวเก่าเหล่านี้ละเลยปัจจัยสำคัญ 2 ประการ คือ ความตื่นตัวของประชาชนที่เพิ่มมากขึ้น และโลกสมัยใหม่ที่เป็น “สังคมออนไลน์” อันทำให้ปฏิบัติการ ปจว. แบบเดิมๆ ไม่สร้างผลกระทบได้จริงเท่าใดนัก…

โลกของสังคมไทยเปลี่ยนไปมากกว่าที่ผู้นำทหารรู้จัก และโลกก็ซับซ้อนมากกว่าที่นัก ปจว. ทหารเข้าใจ

ประกอบกับ “นักคิด” ในกองทัพก็อนุรักษ์และล้าหลังทางความคิดเกินกว่าจะยอมรับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้

ไม่ว่ารัฐบาลจะมั่นใจกับผลของปฏิบัติการ ปจว. ด้วยการตอกย้ำว่า “ภาพเก่า” ของการเมืองไทยกำลังกลับมา แล้วใช้วิธีการ “ยื้อ” ที่จะอยู่ในอำนาจโดยละเลยต่อแรงกดดันที่เกิดขึ้นแล้ว สถานการณ์อาจจะดำเนินไปสู่จุดที่เป็น “ทางตัน” ในการเมืองไทย

และนำไปสู่สภาพที่การคงอยู่ของรัฐบาลทหารกลายเป็น “deadlock” ของการเมืองไทยในตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หากการเมืองเดินไปจุดนั้นแล้ว ก็เป็นที่กังวลอย่างมากว่า การปลด “deadlock” ทางการเมืองอาจจะต้องใช้ “วิธีการพิเศษ” เพื่อนำการเมืองกลับสู่สภาวะปกติ

มิฉะนั้นแล้ว สภาวะ “deadlock” เช่นนี้จะกลายเป็นวิกฤตในตัวเอง และขณะเดียวกันก็อาจพาประเทศไปสู่ “กับดักความรุนแรง” ได้ไม่ยากนัก

Political Exit

ถ้าจำเป็นต้องเปิด “ทางตัน” เพื่อไม่ให้การเมืองเดินไปสู่วิกฤตแล้ว การพาประเทศไปสู่การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองจึงเป็นทางออกที่สำคัญ แต่การจะทำให้การเปลี่ยนผ่านเกิดได้จริงนั้น รัฐบาลทหารจะต้องตระหนักว่าการเลือกตั้งคือการ “เปิดวาล์ว” ทางการเมือง เพื่อให้แรงกดดันต่างๆ ถูกระบายออก

เพราะถ้าปล่อยให้การเมืองกลายเป็นหม้อต้มน้ำใบใหญ่ และขณะเดียวกันน้ำในหม้อนี้ก็เดือดแรงขึ้น… แรงขึ้น แต่รัฐบาลทหารกลับพยายามปิดฝาให้แน่น จนไม่มีทางให้ไอน้ำเดือดได้ระบายออกแล้ว ซึ่งก็คาดเดาได้ไม่ยากนักว่าสุดท้ายนี้หม้อน้ำนี้ก็จะระเบิดอย่างแน่นอน

ในสถานการณ์ที่การเมืองไทยปัจจุบันกำลังเดินไปสู่สภาวะของการเป็น “หม้อน้ำเดือด” และกำลังเดือดไม่หยุดเช่นนี้ ก็เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณว่าการเมืองไทยในอนาคตมีโอกาสเกิดวิกฤตได้โดยง่าย ประกอบกับรัฐบาลทหารก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ จนสามารถแสดงให้เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนว่ารัฐบาลทหารมีขีดความสามารถในการแก้ปัญหาของประเทศ หรือมีศักยภาพในการบริหารประเทศ แต่ผลดูกลับจะเป็นตรงกันข้าม การดำรงอยู่ของรัฐบาลทหารกลับเป็นการบ่งบอกถึงความไร้ประสิทธิภาพและความไม่โปร่งใสของการบริหารราชการแผ่นดิน จนกลายเป็น “วิกฤตศรัทธา” ต่อรัฐบาลทหาร

แม้กลุ่มชนชั้นกลางสายอนุรักษนิยมและกลุ่มขวาจัดบางส่วนที่ยังต่อต้านการเลือกตั้ง จะแสดงออกถึงความสนับสนุนต่อรัฐบาลทหาร แต่เสียงสนับสนุนเช่นนี้ก็ลดลงจากวิกฤตศรัทธาที่เกิดขึ้น ประกอบกับแนวโน้มที่ไม่ชัดเจนว่าพรรครัฐบาลทหารจะเป็นผู้ชนะในสนามเลือกตั้ง และทั้งก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการแต่งตั้งวุฒิสมาชิก 250 เสียงนั้นจะอยู่ในมือของรัฐบาลทหารได้จริง

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว อนาคตของรัฐบาลทหารหลังการเลือกตั้งจึงอยู่บนสภาวะของความไม่แน่นอนเป็นอย่างยิ่ง และก็เป็นความไม่แน่นอนที่คาดเดาไม่ได้ด้วย…ถ้าเช่นนั้นจะตัดสินใจอย่างไร

คงไม่ผิดนักที่จะเปรียบว่ารัฐบาลทหารเดินมาถึง “ทางแพร่ง” ที่มีลักษณะเป็น “dilemma”

เพราะไม่ว่าจะเลือกอย่างไรก็ต้องเผชิญกับปัญหาและความท้าทายอย่างหนึ่งอย่างใดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่หากรัฐบาลทหารเดินหน้าปิด “วาล์วระบาย”

และเชื่อง่ายๆ ว่า งาน ปจว. จะกดปัจจัยต่างๆ ลงได้แล้ว

แรงกดดันทางการเมืองก็อาจจะค่อยๆ ยกระดับขึ้นจน “หม้อน้ำเดือดใหญ่” อาจระเบิดได้ไม่ยากนัก!