วรศักดิ์ มหัทธโนบล : เรื่องจริงของเปาบุ้นจิ้น (3)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ดังได้กล่าวไปแล้วว่าเปาเจิ่งมีบทบาทที่โดดเด่นและตรงไปตรงมาอยู่หลายเรื่อง

บันทึกที่กล่าวถึงบทบาทนี้จะแยกเป็นเรื่องเป็นกรณีไป

 

แต่ละกรณีจะถูกตั้งชื่อแล้วบันทึกรายละเอียดของกรณีนั้นๆ ไปทีละเรื่อง

ส่วนเรื่องที่เกี่ยวกับราชครูก็คือ กรณีกล่าวโทษหกครั้งพระสัสสุระจางเหยาจว่อ (ลิ่วถานกว๋อจ้างจางเหยาจว่อ)

ถึงตรงนี้เราก็รู้ในเบื้องต้นแล้วว่า ราชครูที่ปรากฏในละครชุด เปาบุ้นจิ้น ก็คือ จางเหยาจว่อ ในชีวิตจริงนี้เอง

เพียงชื่อเรียกกรณีดังกล่าวที่มีคำว่า พระสัสสุระ ประกอบอยู่ด้วยก็ทำให้รู้ว่า จางเหยาจว่อ เป็นพ่อตาของจักรพรรดิ และจักรพรรดิพระองค์นี้ก็คือ ซ่งเหญินจง (ครองราชย์ ค.ศ.1023-1063) และโดยปริยายก็ทำให้รู้ไปด้วยว่า เปาเจิ่ง เป็นขุนนางอยู่ในสมัยของจักรพรรดิพระองค์นี้

ฐานะพระสัสสุระมาจากที่บุตรสาวบุญธรรมของจางเหยาจว่อที่มีชื่อว่า จางซื่อ ได้เป็นสนมเอกของซ่งเหญินจง

ที่มาของเรื่องนี้เกิดตั้งแต่ตอนที่จางซื่ออายุได้ 8 ขวบได้ถูกส่งตัวเข้าวังเพื่อรับใช้หยางไท่เฮ่า และโดยที่หยางไท่เฮ่าทรงอุปการะจ้าวเจิน (พระนามส่วนพระองค์ของซ่งเหญินจง) มาตั้งแต่ยังเยาว์วัย จึงทำให้จ้าวเจินได้รู้จักใกล้ชิดกับจางซื่อไปด้วย

และเมื่อจางซื่อเติบใหญ่ขึ้นเป็นสาวก็ให้ปรากฏว่ามีรูปสมบัติที่งดงาม อุปนิสัยร่าเริง ช่างเอาอกเอาใจ จนเป็นที่พอหทัยของจ้าวเจิน

จากเหตุนี้ เมื่อจ้าวเจินทรงก้าวขึ้นเป็นจักรพรรดิซ่งเหญินจง พระองค์จึงได้นางมาเป็นสนมเอกในที่สุด

ส่วนต้นเรื่องอันเป็นที่มาของกรณีอื้อฉาวนั้นมาจากการที่จางซื่อรู้ตนว่ามีชาติกำเนิดที่ต่ำต้อย จึงต้องการมีผู้ค้ำจุนที่มีหลักประกันได้ในอนาคต

จางซื่อจึงใช้เสน่ห์ของตนเข้าทูลขอให้ซ่งเหญินจงเลื่อนตำแหน่งที่สำคัญให้แก่จางเหยาจว่อ

ส่วนซ่งเหญินจงซึ่งหลงใหลจางซื่ออยู่แล้วก็ไม่ขัด และได้เลื่อนตำแหน่งให้แก่จางเหยาจว่อตามที่จางซื่อร้องขอ

ในชั่วเวลาเพียงไม่กี่ปีก็ปรากฏว่า จางเหยาจว่อได้เลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้นเป็นลำดับหลายครั้งและหลายตำแหน่ง แต่ละตำแหน่งล้วนแล้วแต่สำคัญๆ ทั้งสิ้น

จนกระทั่งได้เป็นถึงข้าหลวงซานซือ อันเป็นตำแหน่งที่ดูแลสถาบันการเงินการคลังสูงสุดในสมัยราชวงศ์ซ่ง

ซึ่งนั่นก็หมายความว่าการเก็บส่วยสาอากรหรือภาษีต่างๆ ในเวลานั้นได้ตกอยู่ในมือของจางเหยาจว่อไปด้วย

กล่าวกันว่า ตำแหน่งที่จางเหยาจว่อได้รับนี้ หากเป็นคนทั่วไปต่อให้ต้องใช้ความรู้ความสามารถอย่างยิ่งยวดตลอดชีวิตก็ตาม ก็มิแน่ว่าจะได้รับด้วยซ้ำไป

การที่จางเหยาจว่อได้รับอย่างรวดเร็วเช่นนี้จึงย่อมมิใช่เรื่องธรรมดาอย่างแน่นอน แต่ก็มิใช่เพราะความรู้ความสามารถด้วยเช่นกัน

หากเป็นด้วยเหตุผลทางการเมืองเรื่องเพศล้วนๆ

ตอนที่จางเหยาจว่อเป็นข้าหลวงซานซือนั้น เปาเจิ่งมีตำแหน่งเพียงแค่ระดับรองเท่านั้น ซ้ำยังอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของจางเหยาจว่ออีกด้วย ดังนั้น หากเปาเจิ่งจะทำการใดกับเรื่องที่ไม่ชอบมาพากลของจางเหยาจว่อก็ย่อมติดขัด ตราบจนเปาเจิ่งได้เลื่อนตำแหน่งเป็นข้าหลวงสภาทัดทานหรือเจี้ยนย่วนในเวลาต่อมา เปาเจิ่งจึงร่วมกับเพื่อนขุนนางอีก 2 คนกล่าวโทษจางเหยาจว่อขึ้นมา

การกล่าวโทษนี้เป็นไปด้วยการถวายฎีกาต่อจักรพรรดิซ่งเหญินจง ฎีกานี้แม้จะมีถ้อยคำที่ฟังดูรุนแรง แต่นั่นก็ไม่สำคัญเท่ากับเนื้อหาที่ปรากฏในถ้อยคำนั้น

ในฎีกากล่าวโทษนี้ระบุว่า จางเหยาจว่อเป็นขุนนางโฉดจนเป็นที่รู้กันทั่วไป เป็นขุนนางที่อาศัยฐานะพระสัสสุระใช้อำนาจรีดนาทาเร้นภาษีอากรจากราษฎร แล้วเที่ยวอวดร่ำอวดรวยด้วยการมอบสิ่งมีค่าเพื่อซื้อใจผู้คน ทำให้ฐานะการเงินการคลังของแผ่นดินวิกฤต ราษฎรตกทุกข์ได้ยาก แต่จางเหยาจว่อก็หาได้ใส่ใจหรือมีความละอายแก่ใจไม่

เมื่อสาธยายความเลวทรามต่ำช้าของจ่งเหยาจว่อเสร็จแล้ว ฎีกาฉบับนี้ก็สื่อถึงจักรพรรดิว่า หากแม้นจักรพรรดิไม่ทรงรับข้อความในฎีกานี้แล้วไซร้ เภทภัยจะมิเพียงปรากฏแก่พระองค์เท่านั้น แต่จะยังปรากฏเป็นความหายนะของแผ่นดินอีกด้วย

แต่จะด้วยทรงเกรงใจพระสัสสุระหรือด้วยเหตุใดก็ตาม ฎีกาที่ถวายไปกลับมิได้รับการตอบสนองแต่อย่างใด

ถึงกระนั้น เปาเจิ่งก็มิได้ย่อท้อ เขายังคงถวายฎีกาฉบับแล้วฉบับเล่าต่อไป จนฎีกาฉบับหนึ่งที่เปาเจิ่งใช้ถ้อยคำที่แยบยลแทงใจซ่งเหญินจงนั้นเอง จางเหยาจว่อจึงถูกปลดออกจากตำแหน่งข้าหลวงซานซือในที่สุด

แต่เปาเจิ่งซึ่งยินดีกับเรื่องนี้กลับหารู้ไม่ว่า การปลดครั้งนี้เป็นไปเสมือนทำให้สถานการณ์ผ่อนคลายลงเท่านั้น

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า หลังจากปลดจางเหยาจว่อได้ไม่กี่วัน ซ่งเหญินจงก็ทรงแต่งตั้งจางเหยาจว่อให้มีตำแหน่งที่สูงกว่าเดิมอีกถึง 3 ตำแหน่งด้วยกัน

เห็นได้ชัดว่า ซ่งเหญินจงไม่เพียงไม่ใส่ใจในฎีกาเท่านั้น หากยังมีท่าทีและความคิดเย้ยหยันเปาเจิ่งอีกด้วย ว่าฎีกาของเปาเจิ่งกับสหายต่อให้เป็นเรื่องจริง แต่พระองค์จะไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องเสียอย่าง ใครจะทำอะไรกับโอรสแห่งสวรรค์อย่างพระองค์ได้

และความจริงก็คือว่า เมื่อราชโองการแต่งตั้งให้จางเหยาจว่อได้รับตำแหน่งใหม่ที่สูงขึ้นถูกประกาศออกมา บรรดาขุนนางน้อยใหญ่ต่างก็ปั่นป่วนไปทั้งวัง แต่ก็ทำอะไรกับโอรสแห่งสวรรค์พระองค์นี้ไม่ได้

ส่วนเปาเจิ่งเมื่อเห็นเช่นนั้นก็ยังคงไม่ย่อท้อ คราวนี้เปาเจิ่งได้ทูลทัดทานจักรพรรดิด้วยถ้อยคำที่ตรงไปตรงมาหนักกว่าเดิม

โดยความตอนหนึ่งระบุว่า หากซ่งเหญินจงยังเพิกเฉยต่อกรณีของจางเหยาจว่อแล้ว ต่อไปพระองค์ก็จะถูกราษฎรนินทาว่าร้ายเอาได้ง่ายๆ ว่าทรงลำเอียงเช่นนั้นก็เพราะหลงใหลในสนมเอกจางซื่อ

หากพระองค์ไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น พระองค์ก็มีทางเลือกอยู่เพียงทางเดียวเท่านั้นคือ จะต้องปลดจางเหยาจว่อออกจากตำแหน่งโดยทันที

แต่จนแล้วจนรอดความพยายามของเปาเจิ่งก็ไม่สำเร็จ เพราะพอคล้อยหลังจากท้องพระโรงที่ทรงว่าราชการกลับเข้าสู่ตำหนัก ซ่งเหญินจงก็ถูกสนมเอกจางซื่อเพ็ดทูลหว่านล้อมให้มีหทัยแน่วแน่ในเรื่องการแต่งตั้งจางเหยาจว่อ ว่าทรงทำถูกต้องแล้ว

จากเหตุนี้ ซ่งเหญินจงจึงไม่นำพาต่อการทัดทานที่เปาเจิ่งได้กระทำไปอีกเช่นเคย

ในขณะที่สถานการณ์ดังกล่าวกำลังอยู่ในภาวะที่ไร้ความหวังอยู่นั้นเอง ก็ให้มีขุนนางชั้นสูงอยู่คนหนึ่งชื่อ หวังจี่ว์เจิ้ง เสนาบดีสำนักป้องปรามส่วนกลาง (อี้ว์สื่อจงเฉิง) ที่ปกติไม่สู้จะมีปากมีเสียงกับใครมากนัก แต่เมื่อเกิดกรณีดังกล่าวขึ้นก็มิอาจนิ่งดูดาย

จากเหตุนี้ หวังจี่ว์เจิ้งจึงสนับสนุนเปาเจิ่งด้วยการทูลต่อซ่งเหญินจงให้ย้ายจางเหยาจว่อไปตำแหน่งอื่น โดยยื่นเงื่อนไขว่า หากพระองค์ยังไม่นำพาต่อการทัดทานของเปาเจิ่งแล้ว ตนก็ขอลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีแทน

ผลคือ ซ่งเหญินจงก็ยังคงไม่นำพาอีกเช่นเคย

ถึงตอนนี้ หวังจี่ว์เจิ้งก็หมดความอดทนต่อความดื้อรั้นของจักรพรรดิอีกต่อไป เขาได้นำขุนนางระดับสูงจำนวนหนึ่งซึ่งรวมทั้งเปาเจิ่งใช้สิทธิวิพากษ์วิจารณ์ในท้องพระโรง อันเป็นสิทธิที่ขุนนางกระทำได้ในยามที่จำเป็น

และเนื่องจากเปาเจิ่งเป็นต้นเรื่องของกรณีนี้ หวังจี่ว์เจิ้งจึงให้เปาเจิ่งเป็นผู้นำในการวิพากษ์วิจารณ์จักรพรรดิโดยตรง

คราวนี้เปาเจิ่งไม่มีอะไรสูญเสียอีกแล้ว เขาได้ใช้เหตุผลต่างๆ มาประกอบการวิพากษ์วิจารณ์ของเขาต่อหน้าพระพักตร์ ยิ่งพูดไปถ้อยคำที่ใช้ก็ยิ่งแหลมคมและรุนแรง ยิ่งแหลมคมและรุนแรงอารมณ์ก็ยิ่งพลุ่งพล่าน จนกระทั่งเปาเจิ่งถึงกับน้ำลายแตกฟองกระเด็นใส่พระพักตร์ของซ่งเหญินจง

สถานการณ์นี้ทำให้ขุนนางน้อยใหญ่ในท้องพระโรงถึงกับตกตะลึง

แต่ที่ตะลึงยิ่งกว่าคือ ซ่งเหญินจง พระองค์ทรงตะลึงในความกล้าหาญของเปาเจิ่ง ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาเกียรติของพระองค์เองด้วย

ดังนั้น ในขณะที่ความตึงเครียดกำลังครอบคลุมท้องพระโรงอยู่นั้น ซ่งเหญินจงเมื่อทรงคลายความตกตะลึงลงแล้ว จึงทำได้แต่สะบัดพระกรเสด็จออกจากท้องพระโรงไป

ส่วนสนมเอกจางซื่อจึงเฝ้าสอดแนมเหตุการณ์มาตั้งแต่แรกที่เปาเจิ่งถวายฎีกานั้น เมื่อรับรู้เรื่องที่เกิดขึ้นเช่นกันแล้ว พอเห็นซ่งเหญินจงเสด็จสู่ตำหนักก็ปรากฏตัวให้พระองค์ได้เห็น แต่คราวนี้ไม่เหมือนที่ผ่านมา เพราะพอทอดพระเนตรเห็นจางซื่อเท่านั้น ซ่งเหญินจงก็ตรัสว่า จางซื่อรู้แต่เรื่องจางเหยาจว่อผู้เป็นบิดาบุญธรรม แต่กลับไม่รู้ว่าในราชสำนักยังมีเปาเจิ่งอยู่ด้วย

คำตรัสดังกล่าวชี้ชัดถึงจุดเปลี่ยนของซ่งเหญินจง เพราะนั่นคือการตำหนิจางซื่ออย่างสุภาพที่สุดแล้ว หากจางซื่อยังดื้อรั้นที่จะส่งเสริมจางเหยาจว่ออย่างผิดๆ ต่อไป ก็จะเท่ากับสะท้อนให้เห็นถึงความไร้จิตสำนึกของพระนางเองด้วย

แต่ความจริงก็คือว่า การตำหนิครั้งนี้ทำให้จางซื่อตระหนักแล้วว่าหากยังดื้อรั้นต่อไปคงไม่เกิดผลดีเป็นแน่ สนมเอกจางซื่อจึงแก้สถานการณ์ด้วยการแนะนำให้จางเหยาจว่อลาออกจากตำแหน่งต่างๆ ด้วยตนเอง เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อองค์จักรพรรดิ และยังเป็นการรักษาพระเกียรติของพระองค์ไปในตัว

ในที่สุด การต่อสู้กับความฉ้อฉลของเปาเจิ่งก็ประสบความสำเร็จ

สิ่งที่เห็นได้ชัดถึงบทบาทที่โดดเด่นของเขาก็คือ การไม่ย่อท้อที่จะต่อสู้ แม้จะอิดหนาระอาใจต่อพฤติกรรมของจักรพรรดิเพียงใด แต่ก็หาได้บั่นทอนกำลังใจให้หยุดการต่อสู้กับความฉ้อฉลไม่ จิตใจและจุดยืนเช่นนี้จึงหาได้ยากยิ่ง อีกทั้งยังเป็นจิตใจและจุดยืนที่ข้าราชการ นักการเมือง และนักธุรกิจที่นิยมความฉ้อฉลอย่างไร้ยางอายในปัจจุบันควรที่จะศึกษาเป็นเยี่ยงอย่าง

หากไม่อายฟ้าอายดินก็ควรอายหมาบ้าง แม้นกับหมายังไม่อายแล้วก็จะเท่ากับตีค่าตนต่ำกว่าสัตว์หมาไปด้วย

กรณีกล่าวโทษหกครั้งพระสัสสุระจางเหยาจว่อ ของเปาเจิ่งจึงยุติลงด้วยเหตุนี้