จักรวรรดิในกำแพง : กำเนิดจักรวรรดิ ตอนที่ 18

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ฮั่นสมัยหลังกับเงื่อนปมใหม่ทางการเมือง 

นอกจากนโยบายภายในดังกล่าวแล้ว ต่อนโยบายภายนอกที่มีกับชนชาติที่มิใช่ฮั่นของหวังหมั่งก็ถูกปานกู้วิจารณ์อย่างเสียหายไม่ต่างกัน

เช่นวิจารณ์ว่า นโยบายต่อชนชาติที่มิใช่ฮั่นที่อยู่ในและนอกชายแดนจีนมีความลำเอียงไปในทางที่เท่าเทียมกัน และเป็นนโยบายที่ต้องการการแก้ไขอย่างยิ่งยวด

โดยปานกู้บันทึกว่า ในปี ค.ศ.12 ชนเผ่าหนึ่งที่อยู่ตรงอาณาบริเวณที่เป็นมณฑลกุ้ยโจวในปัจจุบันได้ฆ่าผู้ปกครองจีนตาย และพอถึง ค.ศ.14 ชนเผ่าที่อยู่ตรงบริเวณที่เป็นมณฑลอวิ๋นหนานในปัจจุบันก็ก่อกบฏขึ้นอีก

ปานกู้กล่าวว่า เหตุการณ์ทั้งสองนี้มีเหตุมาจากที่หวังหมั่งไปลดชั้นผู้นำของชนเผ่าทั้งสองจากกษัตริย์ลงมาเป็นมหาอำมาตย์ และเมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้นหวังหมั่งก็มิอาจแก้ไขได้ ทั้งที่จริงแล้วปัญหาที่ว่านี้หาได้มีต้นเรื่องจากห้วงเวลาดังกล่าวไม่ หากเป็นปัญหาที่มีผลสืบเนื่องมาก่อนหน้านั้นยาวนานนัก

กล่าวคือ ด้วยความตั้งใจที่จะสร้างเส้นทางการค้าไปถึงพม่า ในยุคฮั่นอู่ตี้ซึ่งมีนโยบายใช้กำลังกับชนชาติที่มิใช่ฮั่นนั้น พระองค์สามารถรวบรวมดินแดนในอาณาบริเวณที่เป็นมณฑลกุ้ยโจวและอวิ๋นหนานในปัจจุบันได้สำเร็จเมื่อ ก.ค.ศ.111 และ ก.ค.ศ.109 ตามลำดับ

แต่ทัพของฮั่นอู่ตี้ก็มิได้เข้มแข็งพอที่จะทำลายองค์กรจัดตั้ง หรือบังคับให้หัวหน้าของชนชาติในสองบริเวณนั้นให้ยอมรับตนได้ โดยหลังจากนั้นไม่กี่ปีชนเผ่าเหล่านั้นก็ลุกขึ้นสู้กับฮั่นอยู่เป็นระยะและอย่างต่อเนื่อง

ครั้นมาถึงยุคของหวังหมั่งซึ่งได้เกิดเหตุการณ์ฆ่าผู้ปกครองจีนและกบฏขึ้นนั้นก็ปรากฏว่า ด้วยนโยบายที่ไม่ได้ใช้กำลังอย่างบ้าคลั่งก็ทำให้บริเวณทั้งสองสงบลงได้

แต่ข้อเท็จจริงนี้ถูกเพิกเฉยใน พงศาวดารฮั่น (ฮั่นซู) ด้วยการไม่กล่าวถึงผลงานนี้ของหวังหมั่ง แต่กับ พงศาวดารฮั่นสมัยหลัง (โฮ่วฮั่นซู) กลับบันทึกว่า หวังหมั่งได้แต่งตั้งขุนศึกผู้หนึ่งไปปกครองชนชาติในดินแดนดังกล่าว และจากนั้นไม่นานชายแดนในบริเวณดังกล่าวก็สงบลง

 

นอกจากพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ดังที่กล่าวถึงอยู่นี้แล้ว กับพื้นที่ทางเหนืออันเป็นที่ตั้งของจักรวรรดิซย์งหนูก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญในสมัยนี้เช่นกัน

เวลานั้นจักรวรรดิซย์งหนูตั้งอยู่ตรงบริเวณที่เป็นมองโกเลียนอก (Outer Mongolia) และมองโกเลียใน (Inner Mongolia) ในปัจจุบัน จนถึง ก.ค.ศ.51 ความสัมพันธ์ที่เป็นศัตรูกับจีนมาแต่เดิมก็เปลี่ยนสู่ความเป็นมิตร

ตอนนั้นซย์งหนูมีฉานอี๋ว์ (ผู้นำสูงสุด) สององค์ แต่หนึ่งในสองนั้นได้กระทำในสิ่งที่เหนือความคาดคิดขึ้นมา เมื่อฉานอี๋ว์องค์นี้ได้เสด็จไปเยือนจีนถึงเมืองหลวงฉางอาน และได้สร้างความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกับจีนนับแต่นั้นอีกยาวนาน

หลังจากนั้นฉานอี๋ว์องค์ต่อมาก็ยังคงเยือนจีนเมื่อ ก.ค.ศ.25 และ ก.ค.ศ.1 อันเป็นช่วงที่หวังหมั่งเป็นขุนนางชั้นสูงแล้ว ช่วงนี้เองที่หวังหมั่งถูกกล่าวหาจากปานกู้ว่าเป็นผู้ทำลายความสัมพันธ์ที่ดีมาแต่เดิมกับซย์งหนูลงไป

เหตุผลที่กล่าวว่าปานกู้ “กล่าวหา” หวังหมั่งตามความเห็นของนักวิชาการสมัยใหม่ก็คือว่า ปานกู้มิอาจทำตัวเองให้ยอมรับความเท่าเทียมกันระหว่างจักรพรรดิจีนกับฉานอี๋ว์ได้ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเขาติดกับดักที่ว่าวัฒนธรรมจีนต้องเหนือกว่าวัฒนธรรมของชนชาติที่มิใช่ฮั่น

ดังนั้น โอรสแห่งสวรรค์จึงอยู่ในฐานะที่สูงสุด และเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดการเยือนดินแดนของชนชาติอื่นโดยจักรพรรดิจีน จะมีก็แต่ผู้นำชนชาติอื่นเท่านั้นที่พึงมาเยือนจีนด้วยความจงรักภักดี

และในขณะที่ซย์งหนูมักส่งตัวประกันมายังจีน แต่จีนกลับไม่เคย จะมีก็แต่ของกำนัลเท่านั้นที่จักรพรรดิมอบให้และผู้นำเหล่านั้นพึงยอมรับ และนอกจากของกำนัลแล้วสิ่งที่ผู้นำชนชาติอื่นมักจะได้รับก็คือ หญิงผู้สูงศักดิ์แห่งราชสำนัก

ในกรณีของซย์งหนูนั้น ฉานอี๋ว์องค์แรกที่เสด็จไปเยือนจีนก็ได้รับพระราชทานหญิงผู้สูงศักดิ์จากจักรพรรดิจีน

 

เรื่องนี้เกิดขึ้นในการเยือนจีนครั้งสุดท้ายเมื่อ ก.ค.ศ.33 โดยฉานอี๋ว์ได้ทูลขอหญิงสูงศักดิ์ในราชสำนักเพื่อเป็นมเหสีจากจักรพรรดิฮั่นหยวนตี้ และฮั่นหยวนตี้ก็ทรงมอบให้ตามคำทูลขอ

แต่เดิมหญิงผู้นี้เป็นเพียงชาวบ้านธรรมดามีชื่อว่า หวังเจาจวิน แล้วถูกคัดเลือกให้เข้ามาเป็นนางกำนัลในวัง หวังเจาจวินถูกยกย่องว่าเป็นหนึ่งในสี่หญิงงามของประวัติศาสตร์จีน (1) โดยเมื่อจะมอบหวังเจาจวินให้ฉานอี๋ว์นั้น ฮั่นหยวนตี้ทรงแต่งตั้งให้หวังเจาจวินเป็นเจ้าหญิง

อย่างไรก็ตาม ขณะใช้ชีวิตในดินแดนของซย์งหนูนั้น หวังเจาจวินได้ให้กำเนิดโอรสสององค์แก่ฉานอี๋ว์ แต่สิ้นพระชนม์ไปหนึ่งองค์ และเมื่อฉานอี๋ว์สวรรคตไปแล้ว โอรสองค์ที่รอดชีวิตมาได้ก็ก้าวขึ้นมาเป็นฉานอี๋ว์แทน

และก็ได้หวังเจาจวินมาเป็นมเหสีตามจารีตประเพณีของซย์งหนู ที่ไม่ว่าจะอย่างไรหวังเจาจวินก็มิอาจปฏิเสธได้

หวังเจาจวินมีธิดากับฉานอี๋ว์องค์ใหม่นี้สององค์ด้วยกัน และใน ค.ศ.2 หวังหมั่งได้นำธิดาหนึ่งในสององค์มายังราชสำนักและให้เป็นนางกำนัลของราชชนนี และเมื่อธิดาองค์นี้เสด็จกลับไปยังจักรวรรดิซย์งหนูบ้านเกิด พระนางก็ยังคงยืนยันถึงการอยู่ร่วมกับจีนอย่างสันติ

แต่กระนั้นก็เป็นความจริงที่ว่า ถึงที่สุดแล้วชนชั้นนำของซย์งหนูที่ไม่เห็นด้วยกับการอยู่ร่วมกับจีนอย่างสันติก็ยังคงมีอยู่ และจะด้วยเหตุใดก็ตามที เหตุการณ์ก็ชักนำให้ซย์งหนูได้ฉานอี๋ว์องค์ใหม่ที่มาจากกลุ่มดังกล่าว คือกลุ่มที่มีแนวคิดอนุรักษนิยม

จากนั้นความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนก็เดินเข้าสู่ความยุ่งยากใน ค.ศ.9 อันเป็นช่วงที่หวังหมั่งได้ตั้งตนเป็นจักรพรรดิแล้ว ตอนนี้เองที่เป็นไปได้ว่าธิดาของหวังเจาจวินคงเกรงว่าภัยจะมาถึงตน พระนางจึงเลือกมาพำนักที่จีนพร้อมกับครอบครัว

จากนั้นไม่นานหวังหมั่งก็แต่งตั้งสวามีของพระนางให้เป็นผู้นำในการต่อต้านฉานอี๋ว์องค์ใหม่ แต่โชคไม่เข้าข้างจีน เพราะผู้เป็นสวามีของพระนางได้สิ้นพระชนม์หลังจากนั้นไม่นาน

จากเหตุนี้ หวังหมั่งจึงได้แต่คุมเชิงฝ่ายซย์งหนู ในขณะที่ธิดาของหวังเจาจวินองค์นี้ก็ไม่เคยกลับไปยังดินแดนซย์งหนูที่ภาคเหนืออีกเลย และใช้ชีวิตในราชสำนักตราบจนกระทั่งระบอบหวังหมั่งล่มสลายในปี ค.ศ.23

 

บทบาทของหวังเจาจวินและทายาทของเธอที่โดดเด่นในการสานสัมพันธ์จีนกับซย์งหนูนี้ทำให้เข้าใจได้ว่า เหตุใดทางการจีนจึงให้การยกย่องหวังเจาจวินไว้ในฐานะที่สูงเด่น เรื่องราวของเธอถูกบอกเล่าถึงความเสียสละและความรักที่มีต่อมาตุภูมิ ที่ล้วนเป็นคุณูปการต่อจีนทั้งสิ้น

จากความสัมพันธ์ที่ปัญหากับซย์งหนูดังกล่าว ปานกู้ระบุว่ามีสาเหตุมาจากหวังหมั่งที่ไปลดชั้นผู้นำสูงสุด (ฉานอี๋ว์) ของซย์งหนูให้ต่ำลง ทั้งๆ ที่หวังหมั่งไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกระทำการที่หยาบคายเช่นนั้น

แต่คำอธิบายนี้ก็ได้รับการสนับสนุนอย่างอบอุ่นจากผู้สมาทานลัทธิขงจื่อ ที่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ไม่เคยมีทัศนคติที่ดีต่อชนต่างชาติ และในขณะที่กำลังกล่าวหาหวังหมั่งว่าเป็นผู้ทำลายความสัมพันธ์ที่ดีกับซย์งหนูนั้น บุคคลเหล่านี้กลับไม่กล่าวถึงการปฏิบัติต่อฉานอี๋ว์อย่างเลวร้ายเยี่ยงคนสิ้นคิดของฮั่นไอตี้เมื่อ ค.ศ.1 แม้แต่น้อย

อย่างไรก็ตาม การวิจารณ์หวังหมั่งในประเด็นความสัมพันธ์กับชนชาติที่มิใช่ฮั่นของปานกู้ยังมีอีกไม่น้อย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นไปในเชิงลบทั้งสิ้น ทั้งที่มีหลักฐานจากแหล่งอื่นที่สะท้อนในเชิงบวก

ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่านี่คืออคติของปานกู้ที่มีต่อหวังหมั่งโดยแท้

——————————————————————————————————————
(1) หญิงงามอีกสามคนคือ เตียวฉาน (เตียวเสี้ยนในวรรณกรรมเรื่อง สามก๊ก) ซีซือ (ไซซี) และหยางกุ้ยเฟย ดูรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องเล่าของหญิงงามทั้งสี่ได้ใน ถาวร สิกขโกศล, (4) ยอดหญิงงามผู้พลิกประวัติศาสตร์จีน (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ ก.ไก่, ไม่ระบุปีที่พิมพ์).