เมื่อตลาดอสังหาฯ หันมา Renovate

ตลาดที่อยู่อาศัยประกอบด้วยตลาดที่อยู่อาศัยเพื่อขาย ได้แก่ บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม

ตลาดเพื่อการเช่า ได้แก่ โรงแรม อพาร์ตเมนต์ หอพัก บ้านเช่า

ตลาดมือสอง ได้แก่ บ้านมือสอง ห้องชุดมือสอง

ซึ่งตลาดเหล่านี้ มีผู้ประกอบการผลิตและให้บริการเกี่ยวกับสินค้าเป็นเรื่องเป็นราว

มีสมาคมธุรกิจเป็นตัวแทนเป็นปากเป็นเสียง เริ่มมีการตั้งคำถามถี่ขึ้นว่า ถึงเวลาจะมีตลาดปรับปรุงที่อยู่อาศัยเพื่อขายหรือยัง

เพราะถ้าดูจากโครงสร้างตลาดต่างประเทศที่พัฒนาแล้ว จะเห็นว่า ตลาดการนำบ้านหรือห้องชุดเก่ามาปรับปรุง ออกแบบ ก่อสร้างตกแต่งใหม่ ที่เรียกว่า “Renovate” เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ตลาดหนึ่ง มีผู้ประกอบธุรกิจเป็นล่ำเป็นสันกันเลยทีเดียว

 

ปัจจุบันตลาดที่อยู่อาศัยบ้านเรา มีขนาดและสภาพแวดล้อมเหมาะสมเพียงพอที่จะเกิดตลาดปรับปรุงบ้าน “Renovate” อย่างเป็นจริงเป็นจังหรือยัง

ถ้าให้คาดเดาจากจำนวนที่มีผู้นำประเด็นนี้มาแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน

หรือคาดเดาจากสภาพแวดล้อมของตลาด น่าจะบอกได้ว่า ถึงเวลาเกิดธุรกิจการรีโนเวตบ้านอย่างเป็นจริงเป็นจังกันแล้ว

เพราะตลาดที่อยู่อาศัยที่ผลิตก่อสร้างโดยเอกชนที่เรียกว่านักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในตลาดที่ใหญ่ที่สุดคือกรุงเทพฯ ปริมณฑลนั้น เริ่มมาจากตลาดแนวราบ ได้แก่ บ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์เฮ้าส์ก่อน โดยพื้นที่ทำโครงการแผ่ขยายออกไปเรื่อยๆ ตามพื้นที่ชานเมือง ตามราคาที่ดินที่สามารถนำมาทำโครงการบ้าน

จนกระทั่งไกลสุด เกินกว่าที่คนจะเดินทางด้วยรถยนต์และรถเมล์เข้ามาทำงานในเมืองได้ และประจวบกับเริ่มมีโครงการรถไฟฟ้าสายแรก BTS และตามด้วยสายที่สอง BRT

ทำให้ผู้คนหันมาซื้อห้องชุดในโครงการคอนโดมิเนียมเป็นที่อยู่อาศัยในเมือง และตามแนวรถไฟฟ้า เพื่อความสะดวกในการเดินทาง

ขณะเดียวกัน คนหนุ่มสาวยุคใหม่เปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยหันมานิยมอยู่ห้องชุดกันมากขึ้น

นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หันมาทำโครงการคอนโดมิเนียมกันเป็นจำนวนมาก จนมีจำนวนยูนิตมากกว่าที่อยู่อาศัยแนวราบ ขยายออกไปตามแนวรถไฟฟ้าใหม่ๆ สู่ชานเมือง ทำให้บางพื้นที่มีจำนวนยูนิตที่ต้องการขายมากเกินกว่ากำลังซื้อที่มี เกิดยูนิตเหลือขายไม่น้อย

โครงการที่อยู่อาศัยแนวราบก็ขยายไปจนสุดแล้ว

โครงการที่อยู่อาศัยแนวสูงก็ขยายไปจนเต็มและปริ่มล้นความต้องการ

จึงเกิดความต้องการอีกแบบหนึ่งขึ้นมา นั่นคือ

มีคนไม่อยากไปอยู่แนวราบชานกรุงเทพฯ ปริมณฑล แต่ไม่อยากไปขึ้นอยู่บนตึกสูงหนาแน่นในเมืองและสถานีรถไฟฟ้า

จึงมีการตอบสนองจากตลาดเป็น 3 วิธีด้วยกันคือ

 

แนวที่หนึ่ง เกิดนักพัฒนาอสังหาฯ รุ่นใหม่ ซื้อที่แปลงไม่ใหญ่ในย่านในเมืองค่อนข้างหนาแน่นทำโครงการขนาดเล็ก ดีไซน์สวย จำนวนยูนิตไม่มาก แต่ขายในราคาสูงในรูปแบบทาวน์โฮม ซึ่งตลาดให้การตอบรับดี ขายดี

แนวที่สอง ในย่านที่อยู่อาศัยแนวราบโครงการเมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว ซึ่งทำเลปัจจุบันกลายเป็นที่ในเมือง พ่อแม่โอนให้ลูก หรือซื้อขายเปลี่ยนมือกันไป เกิดการรื้อบ้านเก่าทิ้งแล้วสร้างบ้านใหม่ ความต้องการกลุ่มนี้ถูกตอบสนองโดยธุรกิจรับสร้างบ้าน

แนวที่สาม ในย่านกลางเมืองยังไม่ถึงรอบนอก เป็นโครงการบ้านจัดสรร 20-30 ปีที่แล้ว โดยบริษัทพัฒนาอสังหาฯ ซึ่งปัจจุบันเป็นรายใหญ่ของวงการ อาทิ แลนด์แอนด์เฮ้าส์ แสนสิริ ศุภาลัย พร็อพเพอร์ตี้เพอร์เฟ็ค ทุกวันนี้ทำเลเหล่านี้นับเป็นทำเลที่ดี ราคาบ้านมือสองก็ยังไม่สูง

แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า คนรุ่นใหม่ที่มีความต้องการที่อยู่อาศัยแนวราบในทำเลเหล่านี้ ไม่ติดปัญหาราคา แต่ติดปัญหาไม่ยอมรับรูปแบบบ้านเดี่ยวที่เป็นที่นิยมในสมัยคุณพ่อคุณแม่ แต่ไม่เหมาะสมกับหน้าตาและรสนิยมคนรุ่นเขา

ทางออกของเรื่องจึงมีอยู่ทางเดียวคือ ต้องตอบสนองด้วยธุรกิจการรีโนเวตบ้าน ออกแบบตกแต่งและก่อสร้างบ้านให้มีดีไซน์และฟังก์ชั่นใช้สอย เหมาะสมกับคนรุ่นใหม่

อยู่ที่ใครจะทำได้ก่อน ทำได้ดีและปั้นให้เป็นธุรกิจอย่างเป็นล่ำเป็นสันได้ จะเกิดธุรกิจรีโนเวตบ้านเก่าให้เป็นบ้านใหม่ทัน

ไม่เกี่ยวกับการรีโนเวตการเมือง หรือปฏิรูปทางการเมืองนะ เพราะนั่นยังเห็นต้อนนักการเมืองเก่าๆ เข้าคอกใหม่ เหมือนเดิม อย่างนี้ไม่เรียกรีโนเวต 55