การทรมานซ่อนเร้นในไทย มรดกร้าย จาก “ซีไอเอ”

เขียนถึงเรื่อง “ดาร์กไซต์” หรือ “คุกลับซีไอเอ” กับ “จินา แฮสเปล” ว่าที่ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลาง (ซีไอเอ) ของสหรัฐอเมริกา ไปเมื่อไม่ช้าไม่นาน

แต่ดูเหมือนเรื่องนี้ยังไม่จบสิ้นกระบวนความแบบสะเด็ดน้ำ

เพราะเมื่อ 22 เมษายนที่ผ่านมา ชาแชงก์ เบงกาลี กับ คริส เมเกเรียน ร่ายเรื่องเดียวกันนี้ยืดยาวไว้ในลอสแองเจลิส ไทมส์

ที่ไม่เพียงแสดงถึงรายละเอียดใหม่บางอย่างบางประการที่น่าสนใจแล้ว

ยังตั้งข้อสังเกตชวนคิดไว้หลายอย่างอันสืบเนื่องมาจากกรณีดังกล่าวนั้น

 

เนื้อหาส่วนใหญ่ของข้อเขียนขนาดยาวชิ้นนี้ เกี่ยวพันอยู่กับประเทศไทย

ข้อมูลส่วนใหญ่อิงอยู่กับผลการเก็บรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลของ “โอเพ่น โซไซตี จัสทิซ อินนิเชียทีฟ” และรายงานของกรรมาธิการข่าวกรองวุฒิสภาสหรัฐที่เผยแพร่ออกสู่สาธารณะ กับคำให้สัมภาษณ์อีกส่วนหนึ่ง

มีบางส่วนที่คนไทยไม่เคยได้รับรู้มาก่อน

อย่างเช่น เรารู้กันว่า คุกลับในไทยคือคุกลับแห่งแรกของซีไอเอ แต่ เบนจามิน ซาแว็กกี ผู้เขียนหนังสือว่าด้วยความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐอเมริกาที่เผยแพร่ออกมาเมื่อเร็วๆ นี้บอกกับแอลเอไทมส์ เอาไว้ด้วยว่า ซีไอเอถือเอาไทยเป็น “กรณีทดลอง”

“ที่นี่คือที่แรกที่ซีไอเอเริ่มนำเอาเทคนิคพิเศษมาใช้โดยไม่มีข้อจำกัดใดต่อคนต่างชาติ”

และยังบอกไว้ด้วยว่า แม้จะไม่ได้ข้อมูลอะไรเพิ่มเติมจากผู้ต้องหา ซีไอเอยังถือว่าการทดลองที่ไทย “ประสบผลสำเร็จ”

และ “ควรใช้เป็นแบบอย่างในการสอบปากคำผู้ถูกจับกุมที่มีคุณค่าสูงในอนาคต”

 

ซีไอเอใช้คุกลับในไทยที่ใช้ชื่อรหัส “ดีเทนชัน ไซต์ กรีน” ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยในข้อหามีส่วนรู้เห็นกับขบวนการก่อการร้ายอัลเคด้ารวมแล้ว 10 คน นอกจาก อาบู ซูไบดา และอับดุล อัล ราฮิม อัล นาสฮิรี ที่รู้กันแล้ว ยังมี ริดวน อิซามุดดิน หรือ “ฮัมบาลี” เป็นหนึ่งรวมอยู่ใน 10 คนดังกล่าวด้วย ทั้งหมดลงเอยอยู่ที่เรือนจำพิเศษกวนตานาโมในขณะนี้

ข้อสังเกตของแอลเอไทมส์ ก็คือ

“ไม่เคยมีการสืบสวนสอบสวนใดๆ ต่อเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของไทยที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ควบคุมปกปิดของซีไอเอนี้ ซึ่งยังคงเปิดดำเนินการเรื่อยมาจนถึงอย่างน้อยในปี 2004 และอาจบางทีถือเป็นการละเมิดกฎหมาย” ของไทย และ “รัฐบาลไทยรัฐบาลแล้วรัฐบาลเล่าปฏิเสธเรื่องการมีอยู่ของคุกลับ”

ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลภายใต้การนำของนายพลทหาร ซึ่ง “อาจมีส่วนรู้เห็น” หรือ “ลงนามในการเปิดใช้คุกลับ” เรื่อยไปจนถึงรัฐบาลพลเรือนภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

แอนเดรีย จิออร์เกตตา ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียของ อินเตอร์เนชั่นแนล เฟเดอเรชั่น ฟอร์ ฮิวแมนไรท์ส ในกรุงปารีส บอกกับแอลเอไทมส์ไว้ว่า

“การมีอยู่ของคุกลับของสหรัฐอเมริกาในประเทศไทยเป็นความลับที่เก็บรักษาเป็นความลับได้ย่ำแย่ที่สุด” แต่ถึงจะเป็นที่รู้กัน

“เรื่องนี้ก็ไม่มีทีท่าว่าจะกลายเป็นประเด็นผุดขึ้นมาในประเทศนี้แต่อย่างใดทั้งสิ้น เพราะไม่มีใครได้ประโยชน์จากการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมานั่นเอง”

 

ข้อมูลของแอลเอไทมส์ บอกว่า ไทยไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่ไม่สืบสาวเอาความกับกรณีนี้ เพราะโอเพ่น โซไซตีฯ ประมวลเอาไว้ว่ามี 54 ประเทศที่มีคุกลับของซีไอเอ มีเพียงไม่ถึงครึ่งเท่านั้นที่จริงจังกับกรณีนี้

ดังนั้น แม้กระทั่งสถานที่ตั้งคุกลับในไทย ก็ยังกลายเป็นความลับดำมืด ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งชี้ว่า สถานีข่าวกรองของสหรัฐอเมริกาในจังหวัดอุดรธานี น่าจะเป็นที่ตั้งของคุกลับดังกล่าว

แต่ก็มีบางคนบอกว่ามันน่าจะอยู่ภายในฐานทัพอากาศแห่งหนึ่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงเทพฯ ซึ่งถูกใช้เป็นศูนย์เติมน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับปฏิบัติการของทหารอเมริกันในอัฟกานิสถาน

บางคนถึงกับบอกว่า ไม่ได้อยู่ที่ไหนไกลๆ หรอก อยู่แค่ในดอนเมืองนี่เอง

แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุดที่ข้อเขียนของแอลเอ ไทมส์ หยิบยกมานำเสนอไว้ ก็คือ คำบอกกล่าวจากนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนหลายคนที่ชี้ว่า เจ้าหน้าที่ความมั่นคงของไทย สืบทอดการใช้ “วิธีการสุดโต่ง” ของซีไอเอ ทำนองนี้กับผู้ต้องหาเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการแบ่งแยกดินแดนทางภาคใต้และกลุ่มต่อต้านอื่นๆ

 

สุนัย ผาสุก นักวิจัยของฮิวแมนไรท์ วอทช์ ประจำประเทศไทย บอกเอาไว้ว่า ทุกสัปดาห์มีรายงานถึงกรณีการทารุณกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้น วิธีการที่ใช้ก็คล้ายคลึงกันมากอย่างยิ่งกับที่ได้รู้ได้เห็นจากสิ่งที่ซีไอเอทำ และถูกยึดถือว่าเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ

“มรดกในคุกลับซีไอเอก่อนหน้านี้ คือความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในไทยในปัจจุบัน”

สุนัยบอกไว้อย่างนั้นครับ