“การปฏิวัติสีเขียว”ในปากีสถาน – คุยกับทูต พันเอกราซา อุล ฮัซเนน

คุยกับทูต พันเอกราซา อุล ฮัซเนน ทหารกับการทูตเชิงวัฒนธรรมของปากีสถาน (จบ)

สัปดาห์นี้ พันเอกไซยิด มูฮัมหมัด ราซา อุล ฮัซเนน (Colonel Syed Muhammad Raza Ul Hasnain) ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานประจำประเทศไทย มาเล่าเรื่อง “การปฏิวัติสีเขียว”(The Green Revolution) ที่เกิดขึ้นในปากีสถาน

การปฏิวัติสีเขียว ชื่อ Billion Tree Tsunami

คำว่า “การปฏิวัติสีเขียว” ได้ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1968 โดย นายวิลเลียม เอส กาวด์ (William S. Gaud) ผู้บริหารองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (USAID) ซึ่งกล่าวถึงการแพร่กระจายของเทคโนโลยีใหม่ๆ ว่า การพัฒนาต่างๆ ในสาขาเกษตรกรรมมีองค์ประกอบของการปฏิวัติแบบใหม่ ที่ไม่ได้เป็นเช่นการปฏิวัติสีแดงอันรุนแรง (Red Revolution) ในโซเวียต หรือการปฏิวัติสีขาว (White Revolution) ในอิหร่าน ดังนั้น จึงเรียกการปฏิวัติแบบใหม่นี้ว่า เป็นการปฏิวัติสีเขียว

ส่วนผู้ที่ได้รับการยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งการปฏิวัติสีเขียว” ในฐานะที่เป็นผู้นำการคิดค้น และนำเสนอเทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตอาหารจากการเกษตรในประเทศปากีสถาน เม็กซิโก และอินเดีย คือ นอร์แมน เออร์เนสต์ บอร์ล็อก (Norman Ernest Borlaug) นักวิชาการการเกษตรชาวอเมริกัน ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเวิลด์ ฟู้ด ไพรซ์ (World Food Prize Foundation)

การปฏิวัติสีเขียว ชื่อ Billion Tree Tsunami .

ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 การค้นคว้าวิจัยของ ดร.บอร์ล็อก ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงต่อระบบอาหารของโลกอย่างมากมาย และนำมาซึ่งการพัฒนาต่อยอดจากความรู้ของเขาสืบมาถึงปัจจุบัน

การปฏิวัติสีเขียวของเขาทำให้ประเทศผู้ผลิตสามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตได้เป็นสองเท่า

และประมาณการว่า สามารถช่วยเหลือประชากรโลกจากความอดอยากได้มากกว่าพันล้านคน และช่วยชีวิตคนได้มากกว่า 245 ล้านคน

ดร.บอร์ล็อกได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี ค.ศ.1970

พันเอกราซา อุล ฮัซเนน ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารปากีสถานประจำประเทศไทย

“ปากีสถานได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ขึ้นโดยการปลูกต้นไม้ได้ถึงพันล้านต้นในระยะเวลาเพียงสองปี ซึ่งเกินกว่าความมุ่งมั่นของโลกในการพยายามฟื้นฟูผืนป่ากว่า 350,000 เฮกตาร์ โครงการสีเขียวของเรานี้มีชื่อเรียกว่า Billion Tree Tsunami ได้เปิดตัวที่แคว้นไคเบอร์ปัคตุนควา (Khyber Pakhtunkhwa : KP) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศในปี ค.ศ.2014” ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานกล่าว

โครงการระดับโลกเพื่อการฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมโทรม และผืนป่าที่ถูกทำลาย คือ Bonn Challenge เป็นโครงการที่มีเป้าหมายในการฟื้นฟูผืนป่า 150 ล้านเฮกตาร์ ให้เสร็จสิ้นภายในปี ค.ศ.2020 และ 350 ล้านเฮกเตอร์ภายในปี ค.ศ.2030

การปฏิวัติสีเขียว ชื่อ Billion Tree Tsunami

แคว้นไคเบอร์ปัคตุนควา (KP) ในปากีสถานเป็นหน่วยงานระดับประเทศแห่งแรกที่ได้ลงทะเบียนกับ Bonn Challenge เพื่อฟื้นฟูป่าไม้ใน KP และยังเป็นหน่วยงานแห่งแรกในโลกที่จะบรรลุความท้าทายนี้ภายในระยะเวลาเพียงครึ่งหนึ่งของที่มีการวางแผนไว้

“โครงการ Billion Tree Tsunami ของปากีสถานเปิดตัวใน KP มีเป้าหมายเพื่อชะลอผลกระทบจากภาวะโลกร้อนในปากีสถาน ซึ่งปากีสถานอยู่ในลำดับที่เจ็ดในรายชื่อประเทศที่น่าจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากมีอัตราการตัดไม้ทำลายป่าสูงที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย โดยมีพื้นที่ป่าปกคลุมน้อยกว่า 4% ของป่าที่เหลืออยู่ใน KP ซึ่งทำให้โครงการนี้มีความสำคัญมากขึ้น” พันเอกราซา อุล ฮัซเนน กล่าว

สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม (GreenNews) แจ้งว่า จากรายงานขององค์การสหประชาชาติ (UN) ปากีสถานเป็นประเทศอันดับ 7 ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนทั่วโลก ส่งผลกระทบโดยตรงต่อทรัพยากรน้ำในปากีสถาน กลายเป็นความท้าทายใหญ่ของรัฐบาลขณะนี้

พันเอกราซา อุล ฮัซเนน ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารปากีสถานประจำประเทศไทย

เมื่อปริมาณน้ำในประเทศสวนทางกับจำนวนประชากรที่มีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และหากต้องการจะหลีกเลี่ยงวิกฤตนี้ ปากีสถานจะต้องกักเก็บน้ำให้ได้มากกว่า 22,000 ล้านลูกบาศก์เมตรภายในปี ค.ศ.2025

อันเป็นความท้าทายยิ่งใหญ่ในการบริหารทรัพยากรเพื่อรองรับความต้องการขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะทรัพยากรน้ำและอาหาร

นอกจากสภาวะโลกร้อนที่ส่งผลให้ปากีสถานเผชิญกับวิกฤตดังกล่าวแล้ว สำนักข่าว The Nation ของปากีสถานอ้างว่า อีกหนึ่งปัญหาที่ซ้ำเติมสถานการณ์น้ำในประเทศ คือการที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินเดีย ซึ่งแม้จะมีสัมพันธไมตรีที่ดีต่อกันมาช้านาน ได้สร้างเขื่อนเหนือแม่น้ำเฌลัม (Jhelum) และจนาพ (Chenab) ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดสนธิสัญญากระจายแหล่งน้ำระหว่างอินเดียกับปากีสถาน (Indus Waters Treaty) เมื่อ19 กันยายน ค.ศ.1960 ที่มีการแบ่งการควบคุมแม่น้ำทั้ง 3 สายฝั่งตะวันออก ได้แก่ แม่น้ำ Ravi, Sutlej และ Bias เป็นของอินเดีย ส่วนฝั่งตะวันตก แม่น้ำ Jhelum และ Chenab เป็นของปากีสถาน และยังคงเป็นข้อพิพาทกันอยู่ทุกวันนี้

ปากีสถานเคยเป็นประเทศที่มีผืนป่าอันเขียวชอุ่มสวยงามกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา

แต่ในปัจจุบันพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศมีลักษณะรกร้าง เนื่องจากมีอัตราการตัดไม้ทำลายป่าสูงที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย

พื้นที่ป่าในปากีสถานลดลงเหลือไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับที่คาดไว้ 25 เปอร์เซ็นต์เป็นอย่างน้อย

ในปี ค.ศ.2015 ปากีสถานเข้าร่วมโครงการลดการปล่อยมลพิษจากการตัดไม้ทำลายป่าและการลดความเสื่อมโทรมของป่า (REDD +) ซึ่งมี 47 ประเทศที่กำลังพัฒนา อยู่ในโครงการนี้

กรมป่าไม้ แคว้น KP ในปากีสถานต่อต้านการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าโดยกลุ่ม Timber Mafia

“โครงการสีเขียวของเราได้บรรลุเป้าหมายในการฟื้นฟู โดยได้ตั้งเป้าทั้งการรักษาระบบนิเวศน์ (60%) และการปลูกป่าตามแผน (40%) ในจังหวัด นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งศูนย์เพาะชำกว่า 13,000 แห่งเพื่อเพาะต้นกล้าหลากหลายสายพันธุ์ มีทั้งพันธุ์ไม้ท้องถิ่นและพันธุ์ไม้ต่างถิ่น ไม่ว่าจะเป็นต้นสน ต้นวอลนัท หรือต้นยูคาลิปตัส ถือได้ว่าเป็นการส่งเสริมรายได้ในชุมชน มีการจ้างงานกว่า 500,000 ตำแหน่งสำหรับสตรีและเยาวชนในชุมชนที่ยังว่างงานเพื่อทำหน้าที่ปกป้องผืนป่า”

“นอกจากนี้ รัฐบาลได้ออกกฎหมายบังคับไม่ให้มีการตัดไม้ทำลายป่า ทั้งยังเดินหน้าปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิดที่ลักลอบตัดไม้ทำลายป่าอย่างเร่งด่วน และพยายามลดการกระทำที่ผิดกฎหมายในรูปแบบต่างๆ จากกลุ่ม Timber Mafia ซึ่งหมายถึง อาชญากรรมด้านการตัดไม้ทำลายป่าที่ผิดกฎหมาย มีการรื้อทำลายโรงเลื่อยเถื่อนกว่า 600 แห่ง และจับกุมคนลักลอบตัดไม้กว่า 300 คน รวมถึงการเพิ่มโทษปรับ พร้อมกันนี้ รัฐบาลยังได้เริ่มโครงการปากีสถานเขียว (Green Pakistan Program) ขึ้นทั่วทั้งประเทศด้วย” พันเอกราซา อุล ฮัซเนน ชี้แจง

พันเอกราซา อุล ฮัซเนน ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารปากีสถานประจำประเทศไทย

“โครงการปากีสถานเขียวนี้ นับได้ว่าเป็นโครงการที่ป้องกันธรรมชาติที่ดีที่สุดของปากีสถาน เพื่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และยังช่วยต่อสู้กับภาวะโลกร้อนโดยการเพิ่มพื้นที่ป่าให้มากขึ้นเพื่อช่วยในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จนถึง ณ เวลานี้มีการลงทุนไปกับโครงการนี้กว่า 123 ล้านเหรียญสหรัฐ และอีกกว่า 100 ล้านเหรียญที่จะนำมาลงทุนในการบำรุงรักษาจนถึงปี ค.ศ.2020”

สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (The World Conservation Congress) เดิมใช้ชื่อว่า องค์การระหว่างประเทศเพื่อการสงวนทรัพยากรธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature and Natural Resources : IUCN) เป็นองค์การระหว่างประเทศที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ.1948 มีสำนักงานใหญ่ ณ เมืองกลองด์ (Gland) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และสำนักงานประจำภูมิภาค (Regional Office) อยู่ทุกภูมิภาคทั่วโลก ได้ประกาศว่า

“โครงการปากีสถานเขียว (Green Pakistan Program) นี้เป็นความสำเร็จด้านการอนุรักษ์อย่างแท้จริง”

องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือกองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wide Fund for Nature : WWF) เป็นองค์การอนุรักษ์อิสระใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งยับยั้งการทำลายสิ่งแวดล้อม สนับสนุนให้มนุษย์อยู่ร่วมกับธรรมชาติ และใช้พลังงานทดแทน ปัจจุบันเน้นการทำงานในด้านป่าไม้ ระบบนิเวศวิทยาของพื้นน้ำ มหาสมุทรรวมทั้งชายฝั่งทะเล สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ การบำบัดสารพิษที่เกิดจากสารเคมี เชื่อว่า

“การรณรงค์ของปากีสถานครั้งนี้ เป็นความสำเร็จทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ที่มีอัตราการอยู่รอดสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก”

ธรรมชาติอันงดงามของปากีสถานตอนเหนือ

พันเอกราซา อุล ฮัซเนน ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานให้ความเห็นว่า

“โดยเหตุที่การทูตเชิงวัฒนธรรม เป็นการแลกเปลี่ยนศิลปะประจำชาติและท้องถิ่น รวมทั้งการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และมุมมองอื่นๆ ของวัฒนธรรม ซึ่งต้องหลากหลายและครอบคลุมมิติของวัฒนธรรมทุกด้าน ทั้งการศึกษา พุทธศาสนา ดนตรี กีฬา ภาษา วิถีชีวิต ฯลฯ เพราะวัฒนธรรมเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่ความสัมพันธ์ด้านอื่นๆ”

“เราจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ปากีสถานจะได้มีโอกาสร่วมมือกับประเทศไทย เช่น การนำความสำเร็จจากโครงการปากีสถานเขียว ตลอดจนโครงการอื่นๆ มาเผยแพร่ และแบ่งปันข้อมูลกัน อันก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน”

ธรรมชาติอันงดงามของปากีสถานตอนเหนือ

“ทั้งยังเป็นการสร้างความเข้าใจ และความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ระหว่างประชาชนชาวไทยและประชาชนชาวปากีสถานให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นต่อไป”