บทวิเคราะห์ : “บิ๊กตู่” เดินสาย ครม.สัญจร กลเกมการเมือง “ดึง-ดูด-ล่อ” จับตาเยือนถิ่น “เนวิน”

เกมการเมืองของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มชัดขึ้นเมื่อแต่งตั้ง “เสี่ยแป๊ะ” สนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชล นั่งเก้าอี้ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านการเมือง และตั้งน้องชาย นายอิทธิพล คุณปลื้ม อดีตนายกเมืองพัทยา เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์และคณะได้ก่อร่างสร้างมา เริ่มค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างขึ้นทุกขณะ นั่นคือแผนใหม่ในเกมการเมืองการเลือกตั้ง ที่พยายามหลีกหนีข้อครหาว่าที่นายกฯ คนนอก ให้กลายเป็นนายกฯ คนใน ซึ่งมีความสง่างามมากกว่าหลายสิบเท่า

เพราะกุนซือหรือมือกฎหมายใกล้ตัว “บิ๊กตู่” วิเคราะห์แล้วว่า เส้นทางนายกฯ คนนอกนั้นไม่ง่ายอย่างที่คิด แม้จะมี ส.ว.สรรหาอยู่ในมือ 250 คน ก็ไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะถ้าพรรคการเมืองคิดการใหญ่รวมหัวโค่นล้ม คสช. เมื่อใด นั่นจะเป็นการปิดทางนายกฯ คนนอกไปโดยปริยาย

ด้วยเหตุนี้ พล.อ.ประยุทธ์จึงวางเกมใหม่ คือให้พรรคการเมืองในสังกัดเสนอชื่อเป็น 1 ใน 3 ของผู้ที่พรรคการเมืองจะเสนอเป็นนายกฯ แม้ในแง่ลบอาจดูเหมือนว่า พล.อ.ประยุทธ์ออกตัวแรงในความพยายามสืบทอดอำนาจ

แต่ในแง่บวกกลับมีมากมายหลายประการ ไหนจะเปิดตัวให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ ไหนจะสง่างามกว่านายกฯ คนนอก มาถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่แอบอิงข้างกำแพง

จึงไม่แปลกว่าทำไม พล.อ.ประยุทธ์ และ ครม. จึงได้โหมลงพื้นที่ถี่อยู่ในขณะนี้ เพราะการลงพื้นที่พบปะประชาชนของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นส่วนหนึ่งของแผนสร้างฐานเสียง เตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้ง ตั้งแต่ช่วงปี 2560 ต่อเนื่องถึงปี 2561

และโชคดีที่มีรองนายกฯ “นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ซึ่งอยู่ในเส้นทางการเมืองมานาน รู้จักมักคุ้นกับคนในแวดวงการเมืองมากมายหลายเหล่า ดังนั้น นอกจากงานด้านเศรษฐกิจแล้ว นายสมคิดจึงมีบทบาทสำคัญอยู่เบื้องหลังงานด้านการเมือง “บิ๊กตู่”

ยิ่งในเวลาที่ “บิ๊กตู่” ต้องการกองหนุนไว้เสริมทัพรอสู้ศึกเลือกตั้ง “นายสมคิด” ยิ่งมีความสำคัญมาก

ไล่เรียงไทม์ไลน์การลงพื้นที่ ครม.สัญจรของ “บิ๊กตู่” เริ่มจากปี 2560 วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2560 ประชุม ครม.สัญจรที่อยุธยา “บิ๊กตู่” นำคณะลงพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี แต่สิ่งที่แปลกกว่าครั้งไหนๆ คือมีนักการเมืองจากพรรคชาติไทยพัฒนามาต้อนรับอย่างอบอุ่น ไม่ว่าจะเป็น นายวราวุธ ศิลปอาชา, นายประภัตร โพธสุธน ,นายกรวีร์ และภราดร ปริศนานันทกุล ฯลฯ ทามกลางการคาดเดาว่า นั่นคือการเริ่มปฏิบัติการดูดนักการเมือง

ถัดมา 30 ตุลาคม พล.อ.ประยุทธ์ ยกเฮลิคอปเตอร์ไปตรวจน้ำท่วมที่ จ.อ่างทอง, วันต่อมา 31 ตุลาคม บินไปเยี่ยมประชาชนที่ประสบอุทกภัยที่ขอนแก่น, 3 พฤศจิกายน “บิ๊กตู่” สักการะพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช, จากนั้น 27-28 พฤศจิกายน ลงพื้นที่ปัตตานีและประชุม ครม.สัญจรที่ จ.สงขลา, ตามด้วย 8 ธันวาคม ตรวจสถานการณ์การระบายน้ำและมอบถุงยังชีพที่เมืองตรัง

13 ธันวาคม เยี่ยมประชาชนขึ้นรถอีแต๊กปราศรัยกับชาวกาฬสินธุ์ 25-26 ธันวาคม นำทีมลงพื้นที่พิษณุโลก และประชุม ครม.สัญจรเมืองกรุงเก่าสุโขทัย โดยถือโอกาสพบปะผู้บริหารและนักการเมืองในพื้นที่ มีคนดังอย่างนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มมัชฌิมาธิปไตยเข้าร่วมด้วย

ในระหว่างนั้นมีความเคลื่อนไหว อย่างวันที่ 29 ธันวาคม 2560 ปรากฏภาพ “บิ๊กตู่” “บิ๊กฉัตร” พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกฯ และ “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผช.ผบ.ทบ.) ถ่ายภาพร่วมกับนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ และพี่น้องครอบครัวสะสมทรัพย์ ระหว่างตีกอล์ฟที่สนามกอล์ฟของนายเผดิมชัยเมืองนครปฐม

เปิดศักราชปี 2561 เริ่มด้วย 17 มกราคม เดินทางไปมอบสมุดประจำตัวผู้ได้รับการคัดเลือกให้ทำกินในชุมชน โครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน (คทช.) ที่แม่ฮ่องสอน

5-6 กุมภาพันธ์ นำคณะลงพื้นที่เมืองตราด ประชุม ครม.สัญจร จ.จันทบุรี พร้อมถือโอกาสพบปะนักการเมืองในพื้นที่ตะวันออก มีอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์อย่างนายสาธิต ปิตุเตชะ,นายพงศ์เวช เวชชาชีวะ รวมถึงนายสนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชล เข้าร่วมด้วย

เมื่อรัฐบาลเดินหน้าโครงการไทยนิยมยั่งยืน 21 กุมภาพันธ์ พล.อ.ประยุทธ์ดีเดย์โครงการไทยนิยมที่ จ.นครปฐม, กระทั่ง 5-6 มีนาคม จึงได้นำทีมลงพื้นที่ จ.สมุทรสาคร และประชุม ครม.สัญจรที่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี, ต่อมา 22 มีนาคม เยี่ยมประชาชนชาวหนองบัวลำภู, และ 4 เมษายน จึงได้ไปสักการะหลวงปู่ทวด ที่เมืองใต้ปัตตานี

แม้ “บิ๊กตู่” จะประกาศตัวเป็นนักการเมืองที่เคยเป็นทหาร ส่วนอนาคตทางการเมืองนั้นยังไม่มีความชัดเจน เมื่อช่วง 5 มกราคม 2561

แต่เข้าสู่กลางเดือนมกราคม 2561 มีกระแสข่าวว่า “พล.อ.ประยุทธ์” ส่ง “บิ๊กจิน” พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ยุติธรรม ไปดีลการเมืองกับคนในตระกูล “คุณปลื้ม” โดยมีเงื่อนไขมีการปล่อยตัวพักโทษ “กำนันเป๊าะ” นายสมชาย คุณปลื้ม เป็นเครื่องมือต่อรอง

นั่นเป็นห้วงเวลาเดียวกับที่คนในรัฐบาลและ คสช. เดินสายพูดคุยกับนักการเมืองโดยไม่เว้นว่าจะเป็นพรรคการเมืองขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ ซึ่งเกมนี้มีการประเมินแล้วว่าไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป

เพราะการเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร เมื่อทุกการวิเคราะห์ต่างมองตรงกันว่า เป็นไปได้สูงที่ พล.อ.ประยุทธ์จะได้กลับมาเป็นนายกฯ อีกรอบ

มีหรือที่นักการเมืองจะไม่วิ่งเข้าหาขั้วอำนาจ

เกมนี้พุ่งไปที่นักการเมืองที่เกาะกันอยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อน แม้มีอำนาจต่อรองไม่มากนัก ทว่า เมื่อนำมามัดรวมกันแล้วจะกลายเป็นพลังทางการเมืองอย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นตระกูล “คุณปลื้ม” ซึ่งมีฐานเสียงเหนียวแน่นใน จ.ชลบุรี ตระกูล “สะสมทรัพย์” มีพลังและอิทธิพลในนครปฐม กลุ่มมัชฌิมาฯ ซึ่งมีความสมัครสมานสามัคคี รวมไปถึงกลุ่มของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคภูมิใจไทย

นี่ยังไม่รวมพรรคการเมืองใหม่ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ โดยมีพรรคตัวแทนของกลุ่ม กปปส. รวมอยู่ด้วย และเมื่อเอาเข้าจริง งานนี้ดูเหมือนจะเหลือแค่พรรคเพื่อไทย (พท.) เท่านั้นที่จะยังยืนยันอยู่ฝ่ายตรงข้าม คสช.

แม้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อย่าง “เดอะมาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะบอกไม่เอานายกฯ คนนอก และไม่สนับสนุนเผด็จการ แต่เมื่อถามว่า แล้วจะร่วมมือกับพรรคเพื่อไทยสลัดอำนาจ คสช. ให้พ้นการเมืองไทยหรือไม่

“นายกฯ มาร์ค” ก็ตอบอย่างหล่อว่า จุดยืนพรรคไม่เหมือนกัน

ดังนั้น ถ้าให้เลือกระหว่างเป็นฝ่ายค้านร่วมกับพรรคเพื่อไทย หรือเป็นรัฐบาลร่วมกับ คสช. เห็นทีอย่างหลังจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของ ปชป.

โดย ปชป. สามารถอ้างได้ว่า “ก็เขามาตามรัฐธรรมนูญ”

สิ่งที่ต้องจับตาคือพรรคหลักที่จะชู “บิ๊กตู่” ในเวทีการเลือกตั้ง คาดว่าจะเป็นพรรคที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อยู่เบื้องหลัง มีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ และนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เป็นตัวขับเคลื่อน

ข้อได้เปรียบของพรรคนี้ นอกจากจะกุมอำนาจรัฐไว้แล้ว ยังมีกลุ่มทุนใหญ่ๆ ในประเทศไทยให้การสนับสนุน เพราะพรรคนี้คือกลุ่มคนเดียวกับที่ขับเคลื่อนนโยบายประชารัฐ ซึ่งมีระดับ “บิ๊กเนม” ของภาคธุรกิจเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในทุกชุด

ไม่ต้องร้องขอกลุ่มทุนให้กดดันพรรคการเมืองที่ไม่ยอมสยบ คสช. อย่างที่นายอภิสิทธิ์บอก กลุ่มทุนก็พร้อมช่วยเหลือทุกเมื่ออยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ต้องจับตา “บิ๊กตู่” ระหว่าง 7-8 พฤษภาคมนี้ ที่มีกำหนดการลงพื้นที่เมืองช้าง จ.สุรินทร์ และประชุม ครม.สัญจรที่ จ.บุรีรัมย์ แน่นอนไฮไลต์คือการพบปะนักการเมืองเจ้าถิ่น ในฐานะเจ้าของพื้นที่ อย่างพรรคภูมิใจไทย

ซึ่งคงต้องจับตาดูทั้งหน้าฉาก หลังฉากว่าจะมีกลยุทธ์ “ดึง ดูด ล่อ” เกิดขึ้นอีกหรือไม่