คำถามระหว่าง “การเติบโต”

"เติบโตอย่างไรไม่เจ็บปวด" (Why Grow Up?) เขียนโดย Susan Neiman แปลโดย โตมร ศุขปรีชา ฉบับพิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์ Salt, มีนาคม 2561

หลังๆ มานี้ฉันได้ยินคนพูดแกมรำพึงในเชิงหวนหาอดีตอยู่บ่อยๆ รำพึงคิดถึงสมัยบ้านเมืองยังดี (ซึ่งเอาจริงๆ ก็อยากถามว่าคือสมัยไหนเหรอ บ้านเมืองเราก็ประมาณนี้มาตลอด แต่ก็กลัวโดนตบข้อหาไปหักความฝันของคนพูด เลยได้แต่เงียบเอาไว้) หรือเห็นคนรำพึงรำพันว่าอยากกลับไปเป็นเด็กอีกจัง

ช่วงชีวิตที่แสนสบาย ไม่ต้องทำอะไร กินๆ นอนๆ ไปโรงเรียน

คนถามฉันบ่อยเหมือนกัน ว่าทำงานเร็วขนาดนี้ รู้สึกว่าสูญเสียช่วงเวลาวัยเด็กไปบ้างหรือไม่?

ก็คงต้องถามกลับว่า “ช่วงเวลาวัยเด็ก” คืออะไรกันแน่?

เพราะหากจะวัดกันด้วยช่วงอายุ ฉันก็ไม่ได้อายุ 13 ย่าง 34 มาตั้งแต่แรก ขวบปีในการเจริญวัยของฉันก็ไล่ขึ้นทีละปีเหมือนคนอื่นนั่นล่ะ

แต่ถ้าชีวิตวัยเด็กหมายถึงการเป็นเด็ก ในแบบที่คนส่วนใหญ่เป็นกัน ก็ต้องยอมรับว่าฉันไม่ได้มีวัยเด็กอย่างคนอื่นๆ

ส่วนหนึ่งก็มาจากอุปนิสัยส่วนตัวของฉันเอง บวกด้วยการเลี้ยงดู คือฉันเป็นวิญญาณแก่เฒ่าที่สิงในร่างกายตัวเอง และนับวันรอเวลาให้ร่างกายโตทันจิตวิญญาณภายใน

 

เพราะหากจะมองในมุมกลับ ฉันก็ยังเห็นผู้ใหญ่หลายๆ คนยังมีจิตวิญญาณแบบเยาว์วัยอยู่เสมอ ยังสนุกกับเรื่องรอบตัว ยังพร้อมจะร่วมเฮฮาไปกับคนต่างวัย ยังรอเทศกาลรื่นเริง และเต็มใจอย่างยิ่งที่จะสนุกไปกับมัน

จิตวิญญาณแบบหลังนี่ดูจะเป็นสิ่งที่หลายคนชื่นชม จนกระทั่งหวังว่าจะขอให้ตนเองมีอะไรแบบนั้นบ้าง

แต่ฉันเองไม่คิดแบบนั้น

ฉันว่าวัยเด็กเป็นวัยที่น่าเบื่อและเต็มไปด้วยข้อจำกัดทางสังคม

เอาแค่จะเลือกตอบหรือไม่ตอบคำถามจากผู้ใหญ่ก็ทำไม่ได้แล้ว

นอกจากโดนบังคับให้ตอบทุกคำถามแล้ว ยังต้องตอบให้ดี สุภาพ ถูกใจคนฟัง จะมาเล่นตลกเบี่ยงประเด็นหรือทำมึนใส่ หรือยอกย้อนคนถามอย่างเวลาที่เราโตแล้วก็ทำไม่ได้ ทั้งที่ตัวคำถามก็ยังเป็นคำถามน่าเบื่อเดิมๆ

แต่วัยที่มากขึ้นก็สร้างทางเลือกให้เรามากขึ้น สร้างเกราะคุ้มกันตัวเราได้มากขึ้น (อย่างน้อย บางคนก็ไม่กล้าถามอะไรกับผู้ใหญ่ด้วยกันเรื่อยเปื่อยล่ะน่า)

บางทีก็เลยมีคำถามแว้บๆ เข้ามาบ้าง ว่าวัยเด็กนี่คืออะไร เพราะถ้าเทียบกับตอนฉันเด็กๆ แล้ว เด็กๆ (เอาเฉพาะลูกหลานของกลุ่มชนชั้นกลางก็แล้วกัน) ในยุคนี้จะถูกมอบวัยเด็กชนิดสะอาดสะอ้าน ลวกล้างด้วยน้ำร้อนแล้วอย่างดี ในขณะที่ตอนฉันยังเด็กจะมีความก้ำกึ่งระหว่างการจะเป็นเด็ก หรือเป็นผู้ใหญ่ตัวเล็กๆ มากกว่า

ซึ่งถ้าจะตอบไปแบบรวบๆ ก็คงจะเป็นคำตอบประเภทว่าเรามีชุดความรู้มากขึ้นว่าควรจะปฏิบัติต่อมนุษย์ตัวจิ๋วเหล่านี้อย่างไร เอะอะหวดด้วยไม้เรียวเหมือนแต่ก่อนไม่ได้นะ หรือคำสอนคุ้นหูประเภท “เป็นพี่ต้องเสียสละให้น้อง” ก็ไม่ควรใช้นะ เพราะจะสร้างบาดแผลและความกดดันให้พี่ ว่า, อะไรวะ ก็ไม่ได้เลือกจะเกิดเป็นลูกคนโตมั้ยอะ เกิดมาไม่ทันไรต้องยอมน้องทุกอย่างเลยเหรอ ไม่ยุติธรรมอะ

ชุดความรู้เหล่านี้ก็ไม่ได้อยู่ๆ งอกงามขึ้นมาเองบนโลก แต่ผ่านประสบการณ์ กระบวนคิด และการทดลองเชิงปรัชญามาแล้ว ที่พูดๆ กันว่า “เด็กสมัยนี้” นั้นมีมาทุกยุคสมัย และ “เด็กสมัยนี้” ไม่ว่าจะสมัยไหน ก็จะเติบโตมาด้วยสิ่งแวดล้อมและวิธีเลี้ยงที่ต่างกันออกไป

 

“เติบโตอย่างไรไม่เจ็บปวด” เป็นหนังสือที่มองการเติบโตด้วยสายตาของนักปรัชญา เพราะบนเส้นทางแห่งการเติบโต มนุษย์มักสงสัยเสมอ ว่าเราจะเดินหน้าไปทางไหน อย่างไร และทำไม

ระหว่างการเติบโต เราคล้ายคนหลงทางที่ดุ่มเดินไปในความไม่รู้

หนังสือเล่มนี้ชวนเราให้ใครครวญถึง “การเติบโต” ผ่านการตรึกตรองของนักปรัชญา ตั้งแต่เพลโต รุสโซ คานต์ จนถึงซีโมน เดอ โบวัวร์ อันจะทำให้เราได้เห็นการเติบโตในแง่มุมหลากหลายพรายเพริศไปในประวัติศาสตร์ความคิดอันลึกซึ้งยอกย้อน

ทุกการเติบโตย่อมเจ็บปวด แต่อาจเจ็บปวดมากยิ่งขึ้นหากได้รู้ว่าโลกหล่อหลอมการเติบโตของเรามาแบบไหน และกลับกัน – ตัวเราเองได้ใช้การเติบโตของเรา, เพื่อหล่อหลอมให้โลกกลายเป็นแบบไหน*

เด็กทุกคน (แน่นอน รวมถึงฉันด้วย) จะออกสตาร์ทที่จุดเริ่มต้นคล้ายๆ กัน คือการถูกทำให้ “เชื่อ” ในหลักความเชื่อแบบเชื่อมั่นศรัทธาที่ไม่อาจตั้งคำถามได้ (Dogmatic) เด็กเล็กๆ มักจะยอมรับสิ่งที่ถูกสอนว่าเป็นความจริงสัมบูรณ์

ก็พวกเขาจะกล้าไปตั้งคำถามอะไรได้เล่า อย่างคนที่ถูกพ่อ แม่กระทำทารุณตอนเด็กๆ (ไม่เฉพาะทางกาย แต่ยังรวมถึงความเสียหายในจิตใจ) ยังต้องใช้เวลาหลายปี กว่าจะเรียนรู้ว่าการกระทำเหล่านั้น ไม่ใช่เรื่องธรรมดาที่จะยอมรับได้

 

ฉันเองยังถูกเพื่อนบอกบ่อยๆ ว่า, หลายๆ อย่างที่ฉันเติบโตผ่านมานั้น ไม่ใช่เรื่องปกติของครอบครัวอื่นๆ

ซึ่งคิดไปก็น่าแปลก ว่าฉันก็คงรู้สึกอยู่บ้างมาตลอด ว่านี่มันไม่น่าจะปกติ แต่ในวัยที่ต้องพึ่งพิง คุณจะหาญไปตั้งคำถามหรือบิดเปลี่ยนวิถีแห่งการเลี้ยงดูนั้นได้อย่างไร คนที่ลุกขึ้นมาตั้งคำถาม ก็จะโดนย้อนความด้วยการให้ออกไปทำงานหาเงิน ดูแลตัวเองให้ได้เสียก่อน

แต่กว่าจะโตจนออกเดินทางได้ด้วยตัวเอง ความเสียหายนั้นก็เกิดไปแล้ว และอาจส่งผลต่อคนรุ่นต่อไปอีกเรื่อยๆ จนกว่าจะมีสักรุ่นหนึ่งที่ลุกขึ้นมาตัดสินใจว่า จะไม่สร้างผลผลิตแบบนี้ต่อไป

“นี่คือความหมายของคานต์เวลาที่เขาเขียนว่า การเติบโตไม่ใช่เรื่องของความรู้เท่ากับความกล้าหาญ ช่องว่างระหว่าง-สิ่งที่เป็น-กับ-สิ่งที่พึงเป็น-อาจกลายเป็นหุบเหวลึกได้”*

ฉันโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่แบบมีบาดแผล แต่ก็นั่นล่ะ ถ้าไม่ได้ตายเสียก่อน เราก็เป็นผู้ใหญ่กันได้ทุกคน เรากลายเป็นคนแบบที่ยอมรับ “สิ่งที่เป็น” และได้แต่ฝันถึง “สิ่งที่พึงเป็น”

และก็อาจจะเป็นลักษณะร่วมอีกอย่างของการเป็นผู้ใหญ่ ก็คือเลิกคิดจะทำอะไรๆ ด้วยตัวเอง แต่ฝากมันไว้บนบ่าของเด็กรุ่นต่อไป แต่ก็ไม่เปิดโอกาสให้เขาได้ตั้งคำถามถึงสิ่งที่พึงจะเป็น

————————————————————————————————————-

*ข้อความจากในหนังสือ